หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มาตรฐานการเรียนรู้วิชาภูมิศาสตร์

สังคมทุกวันนี้มีประเด็นที่พึงให้ความสำคัญให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้เยาวชนได้มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ (The Nature of Geographic Literacy) ให้เป็นความรู้ในลักษณะที่กว้างออกไปและลุ่มลึกมากขึ้น มากกว่าแค่เพียงแต่ตอบคำถามว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ที่ไหน หรือแค่ว่าเกาะบริติช ไอส์แลนด์หรือประเทศนิคารากัวอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก หรือแค่ว่าแม่น้ำไนล์ไหลผ่านประเทศใดบ้าง หรือแค่ว่าเมืองแอตแลนต้าตั้งอยู่ที่ไหน
การมีความรู้แค่ว่าสิ่งใดตั้งอยู่ตรงไหนบ้างนั้น เป็นแค่เพียงขั้นแรกของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ท้ายที่สุดของภูมิศาสตร์ คือ ความใส่ใจที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจว่า เพราะเหตุใดสิ่งต่างๆ จึงตั้งอยู่ในที่ที่มันตั้งอยู่ เพื่อตอบคำถามดังกล่าวนั้น จำเป็นจะต้องใช้ประเด็นสำคัญ กรอบแนวความคิด และทักษะสำคัญทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเรื่องนี้สตีเฟน เอส เบิร์ดซาล (1986) กล่าวไว้ในบทความเรื่อง ความไม่ประสาด้านภูมิศาสตร์ของสังคมอเมริกัน (America's Geographic Illiteracy) ไว้ว่า “เราจะต้องมีกรอบแนวความคิดและหลักการสำคัญต่างๆ ทางภูมิศาสตร์ที่ดีและเหมาะสมอย่างเพียงพอ เพื่อที่เราจะได้สร้างและปรับปรุงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่และประชาชนอย่างไม่มีข้อจำกัด” บทความบทนี้เขียนขึ้นมาเพื่อที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การคิด การสืบค้น และการกำหนดเป็นกรอบเนื้อหาสาระ/เทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ ให้มีประสิทธิภาพสอดรับการเป้าหมายการจัดการศึกษาในแต่ละระดับต่อไป

ประเด็นสำคัญของภูมิศาสตร์

ประเด็นสำคัญของภูมิศาสตร์ ทั้ง 5 ประเด็นเกิดจากความประสงค์ของสมาคมภูมิศาสตร์สหรัฐอเมริกา ในการกำหนดกรอบมุมมองต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งหมด เพื่อที่นักภูมิศาสตร์จะได้ทำการศึกษาและแบ่ง/จำแนกประเภท โดยประเด็นสำคัญเหล่านั้นประกอบด้วย ทำเลที่ตั้ง (Theme I Location) สถานที่ (Theme II Place) ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (Theme III Human/Environment Interaction) การเคลื่อนที่ (Theme IV Movement) และภูมิภาค (Theme V Region)

ทำเลที่ตั้ง

ทำเลที่ตั้ง แบ่งได้ 2 ส่วน คือ ที่ตั้งเฉพาะ และที่ตั้งทั่วไป ทั้งนี้ที่ตั้งเฉพาะ (Specific Location) เป็นการระบุชี้ชัด ด้วยที่อยู่หรือที่ตั้งที่แน่นอน บางครั้งนักภูมิศาสตร์เรียกที่ตั้งแบบนี้ว่า “ที่ตั้งสมบูรณ์” (Absolute Location) ดังตัวอย่างที่แสดงทำเลที่ตั้งที่มีอยู่จริงทั้งสองนี้
· ที่อยู่บนถนน: เลขที่ 22/43 ถนนพุทธบูชา อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
· ที่อยู่บนแผนที่: 15 องศา 20 ลิปดาเหนือ 102 องศา 12 ลิปดาตะวันออก
ที่ตั้งทั่วไป (General Location) เป็นทำเลที่ตั้งที่บอกกล่าวกันถึงบางสิ่งบางอย่าง ที่ตั้งอยู่อย่างสัมพันธ์กับอีกบางสิ่งบางอย่าง อย่างนี้นักภูมิศาสตร์หลายคนเรียกว่า “ที่ตั้งสัมพันธ์” (Relative Location) ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
· อยู่ห่างจากนี้ไปอีก 10 นาทีโดยรถราง
· อยู่ด้านหน้าของธนาคาร

สถานที่

สถานที่ เป็นการอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากสิ่งแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในอีกที่แห่งหนึ่ง โดยความแตกต่างนี้มีทั้งด้านกายภาพและมนุษย์ (Physical and Human Differences)
1. ลักษณะด้านกายภาพ ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ชนิดของดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า ภูมิอากาศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หากมองในแง่ของความสัมพันธ์กัน ให้ลองจินตนาการว่า บนพื้นที่ราบ ดินมักมีความอุดมสมบูรณ์ และมีแม่น้ำไหลผ่านเข้ามาหลายสาย ขณะที่บริเวณเชิงเขา มักอุดมไปด้วยป่าไม้ ซึ่งหากประชาชนเข้าไปถากถาง ก็จะทำให้หน้าดินถูกชะล้างให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปได้ง่าย
2. ลักษณะด้านมนุษย์ เป็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ทั้งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และส่วนที่เป็นการเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมที่เป็นธรรมชาติอยู่ก่อน เช่น ถนน อาคาร เขื่อน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตและสร้างสรรค์วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของตนขึ้นมาในสถานที่ต่างๆ

ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสิ่งแวดล้อมของพวกเขา ซึ่งมีคำตอบมากมายต่อคำถามต่างๆ เหล่านี้ อย่างเช่น กิจกรรมของประชาชนจะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่ประชาชนพึ่งพาอยู่จะส่งผลอย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่ประชาชนดำเนินการขึ้นมาเพื่อทำให้มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดี/เรียบง่ายขึ้น ความสัมพันธ์ที่ว่านี้มี 3 ส่วน
· ประชาชนทั้งหลายถูกเปลี่ยนแปลง/ควบคุมโดยสิ่งแวดล้อมอย่างไร
· สิ่งแวดล้อมถูกประชาชนเปลี่ยนไปอย่างไร
· ประชาชนพึ่งพิงสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ประชาชนถูกเปลี่ยนแปลง/ถูกควบคุมโดยสิ่งแวดล้อม เรียกว่า “การปรับตัว” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีของมนุษย์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เช่น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีอากาศหนาว สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายหนาแน่นเพื่อรักษาความร้อนของร่างกายเอาไว้ หรือการขนส่งสิ่งของของประชาชนในเขตทะเลทรายด้วยอูฐที่มีความอดทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี
ประชาชนเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลง” ที่ประชาชนเข้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น การวางระบบชลประทานบริเวณลุ่มน้ำไซร์ ดาร์ยา ของคาซัคสถาน และอามู ดาร์ยา ของอูซเบกิสถาน เพื่อเป็นแหล่งปลูกฝ้ายใหญ่ที่สุดของโลก หรือการถางป่าในบอร์เนียว เพื่อรองรับการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ของโลก
ประชาชนพึ่งพิงสิ่งแวดล้อม ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อ ประชาชนต้องพึ่งพิงสิ่งแวดล้อมบางสิ่งบางอย่างเพื่อประโยชน์หรือความอยู่รอดของพวกเขาเอง เช่น การใช้ไม้หรือถ่านหินเพื่อเป็นเชื้อเพลิง การใช้แม่น้ำเพื่อการคมนาคมขนส่งสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติ

การเคลื่อนย้าย

การเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายประชาชน สิ่งของต่างๆ เช่นสินค้า และรวมถึง การคมนาคมสื่อสาร ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายความรู้ ความรู้สึก และความคิด เราสามารถอธิบายถึงประเภทของการสื่อสารคมนาคมและรูปแบบหลักๆ ของการคมนาคมขนส่งที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งหนึ่งได้ เช่นเดียวกับการอธิบายถึงลักษณะของการขนส่งสินค้าในรูปแบบการนำเข้าและการส่งออก ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาสาระของการเคลื่อนย้าย

ภูมิภาค

ภูมิภาค หมายถึง บริเวณพื้นที่ที่เราสามารถรวมกลุ่มเอาสิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะที่มีรูปแบบเดียวกันเข้าด้วยกัน อย่างเช่น ประเทศแต่ละประเทศที่ถูกปกครองโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ มักจะเป็นบริเวณพื้นที่ที่พูดภาษาเดียวกัน หรือนับถือศาสนาเดียวกัน หรือตัวอย่างของบริเวณพื้นที่ที่รองรับการบริการเฉพาะอย่าง เช่นเขตบริการของโรงเรียนมัธยมศึกษา ภูมิภาคแบ่งออกได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ การแบ่งภูมิภาคด้วยลักษณะของรํฐหรือสภาพทางกายภาพ (Government or Physical Characteristics) การแบ่งภูมิภาคตามบทบาทหน้าที่ของภูมิภาค (A Function of Region) และการแบ่งภูมิภาคตามสภาพความต้องการของนักภูมิภาคศึกษา (Loosely Defined)
1. ภูมิภาคที่ถูกแบ่งด้วยลักษณะของรัฐหรือสภาพทางกายภาพ เป็นภูมิภาคที่มีลักษณะแน่นอนตายตัวไม่มีการ เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น ประเทศ หรือทวีป เป็นต้น
2. ภูมิภาคแบ่งตามบทบาทหน้าที่ บริเวณพื้นที่จะถูกกำหนดด้วยการบริการเฉพาะอย่าง เช่น เขตพื้นที่บริการของโรงเรียนจุฬาภรณ์วิทยาลัยที่มีกฎเกณฑ์ในการให้บริการชัดเจน ทั้งนี้หากกฎเกณฑ์เหล่านั้นถูกยกเลิก จะ ทำให้บริเวณพื้นที่ที่เป็นภูมิภาคนี้สูญหายตามไปด้วย
3. ภูมิภาคแบ่งตามความต้องการของนักภูมิภาคศึกษา ซึ่งกรณีนี้มีความหลากหลายอย่างยิ่ง เช่น การแบ่งซีก โลกเหนือ ย่านมิดแลนด์ โลกที่สาม โลกของชาวพุทธ ตะวันออกกลาง ตะวันออกไกล ฯลฯ

เกณฑ์มาตรฐานของนักภูมิศาสตร์

ปรากฏการณ์ทางกายภาพและมนุษย์มีการกระจายอยู่บนพื้นที่ต่างๆ ของโลก หนังสือ Geography for Life ของ Geography Education National Implementation Project (1994) บอกให้ทราบว่านักภูมิศาสตร์เป็นบุคคลที่มีการจัดการตนเองในเชิงภูมิศาสตร์โดยมีความสามารถพื้นฐาน 4 ประการ คือ 1) สามารถแสดงความหมายของการจัดวางสิ่งต่างๆ ลงบนพื้นที่ได้ 2) สามารถแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สถานที่ และสิ่งแวดล้อมได้ 3) สามารถใช้ความเชี่ยวชาญทางภูมิศาสตร์ได้ และ 4) สามารถประยุกต์มุมมองด้านพื้นที่และนิเวศวิทยาให้เข้ากับสถานการณ์แห่งชีวิตได้ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาก้าวเข้าสู่ความเป็นนักภูมิศาสตร์ได้ตามพื้นฐานดังกล่าว ผู้จัดการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตร จึงควรรู้และเข้าใจเกณฑ์มาตรฐานของนักภูมิศาสตร์ทั้ง 6 กลุ่มหลัก จำนวน 18 มาตรฐาน ดังนี้

การมองโลกในเชิงพื้นที่

ภูมิศาสตร์เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สถานที่ และสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำแผนที่แสดงข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในรูปข้อมูลเชิงพื้นที่ ดังนั้นบุคคลจึงควรรู้และเข้าใจในเชิงภูมิศาสตร์ ดังนี้
1. รู้และเข้าใจว่าจะใช้แผนที่ รวมทั้งสื่อทางภูมิศาสตร์ เครื่องมือทางภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์อย่างไร เพื่อที่จะได้สามารถสืบเสาะ สร้างกระบวนการและทำรายงานข่าวสารข้อมูลเหล่านั้นออกมาในเชิงพื้นที่ ได้
2. รู้และเข้าใจว่าจะใช้แผนที่ในเชิงจิต (Mental Maps) ยอย่างไร เพื่อที่จะจัดการข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับประชาชน สถานที่ และสิ่งแวดล้อมในเชิงพื้นที่
3. รู้และเข้าใจในการวิเคราะห์การจัดการเชิงพื้นที่ของประชาชน สถานที่ และสิ่งแวดล้อมบนพื้นบนผิวโลก

สถานที่และภูมิภาค

ความมีตัวตนและการมีชีวิตรอดของสิ่งต่างๆ และประชาชนเป็นรากฐานและเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละสถานที่ รวมถึงเป็นการสร้างกลุ่มก้อนของมนุษย์ซึ่งเรียกว่าภูมิภาค ดังนั้นบุคคลจึงควรเรียนรู้และเข้าใจในเชิงภูมิศาสตร์ ดังนี้
4. รู้และเข้าใจลักษณะทางกายภาพ และลักษณะเชิงมนุษย์ของสถานที่นั้นๆ
5. รู้และเข้าใจว่าประชาชนได้สร้างภูมิภาคต่างๆ ขึ้นมาอย่างซับซ้อน
6. รู้และเข้าใจว่าวัฒนธรรมและประสบการณ์มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อสถานที่และภูมิภาค

ระบบทางกายภาพ

กระบวนการทางกายภาพได้ก่อรูปให้เกิดพื้นผิวโลกและได้สร้างให้มีปฏิสัมพันธ์ของพืชและสัตว์ ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างสรรค์ จรรโลง และปรับแปลงระบบนิเวศน์ ดังนั้นบุคคลจึงควรเรียนรู้และเข้าใจในเชิงภูมิศาสตร์ดังนี้
7. รู้และเข้าใจว่ากระบวนการทางกายภาพนั้นได้ก่อรูปและสร้างรูปแบบพื้นผิวโลก
8. รู้และเข้าใจคุณลักษณะและการกระจายทางพื้นที่ของระบบนิเวศบนพื้นผิวโลก

ระบบมนุษย์

ประชาชนเป็นแกนกลางสำคัญสำหรับภูมิศาสตร์ในกรณีที่กิจกรรมของมนุษย์ช่วยสร้างสรรค์รูปทรงของพื้นผิวโลก การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และโครงสร้างของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของพื้นผิวโลก และยังมีการแข่งขันแก่งแย่งของมนุษย์ที่มีส่วนในการควบคุมพื้นผิวโลกด้วย ดังนั้นบุคคลจึงควรเรียนรู้และเข้าใจในเชิงภูมิศาสตร์ ดังนี้
9. รู้และเข้าใจว่าคุณลักษณะ การกระจาย และการเคลื่อนย้ายประชาชน เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งบนพื้นผิวโลก
10. รู้และเข้าใจว่าคุณลักษณะ การกระจาย และความซับซ้อนของวัฒนธรรมบนพื้นผิวโลก เป็นไปด้วยความซับซ้อน
11. รู้และเข้าใจรูปแบบและโครงข่ายความผูกพันพึ่งพิงทางเศรษฐกิจบนพื้นผิวโลก
12. รู้และเข้าใจกระบวนการ รูปแบบ และองค์ประกอบของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
13. รู้และเข้าใจว่าอิทธิพลของความร่วมแรงร่วมใจ และความขัดแย้งระหว่างประชาชนมีบทบาทสำคัญต่อการแบ่งแยกและควบคุมพื้นผิวโลก

สิ่งแวดล้อมและสังคม

สภาพแวดล้อมทางกายภาพถูกปรับแปลงโดยกิจกรรมของมนุษย์ และยังมีผลสืบเนื่องไปสู่วิถีในการกำหนดคุณค่าแห่งสังคมมนุษย์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งกิจกรรมของมนุษย์ยังคงได้รับอิทธิพลจากลักษณะและกระบวนการทางกายภาพของโลกด้วย ดังนั้นจึงควรที่จะรู้และเข้าใจในเชิงภูมิศาสตร์ ดังนี้
14. รู้และเข้าใจกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อการปรับแปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
15. รู้และเข้าใจว่าระบบทางกายภาพมีผลต่อระบบมนุษย์อย่างไร
16. รู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยความหมาย การใช้ การกระจาย และความสำคัญของทรัพยากร

การใช้ประโยชน์ภูมิศาสตร์

ความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ช่วยให้ประชาชนพัฒนาความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สถานที่และสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นการมองโลกที่เป็นอยู่และการมองโลกว่าจะเป็นอย่างไร จึงควรที่จะรู้และเข้าใจในเชิงภูมิศาสตร์ ดังนี้
17. รู้และเข้าใจว่าควรประยุกต์ภูมิศาสตร์ในการตีความถึงความเป็นมาในอดีตได้อย่างไร
18. รู้และเข้าใจว่าควรประยุกต์ภูมิศาสตร์ในการตีความถึงลักษณะปัจจุบัน เพื่อวางแผนสำหรับอนาคตอย่างไร
จึงหมายความว่า “เรียนภูมิศาสตร์เพื่อให้คนที่เป็นคน เพื่อให้รู้ปัจจุบัน เพื่อให้ย้อนอดีตความเป็นมาได้ และเพื่อให้คาดการณ์อนาคตได้ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดแห่งมวลมนุษย์ชาตินั่นเอง”

ทักษะสำคัญของภูมิศาสตร์

เราสามารถใช้ทักษะสำคัญของภูมิศาสตร์ช่วยให้กระบวนการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) ได้ดีและรอบคอบขึ้น ทั้งในการเลือกย่านพื้นที่ซื้อบ้าน หางานทำ หาร้านจับจ่าย หาแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน หรือแม้กระทั่งเลือกโรงเรียนให้ลูก ซึ่งการตัดสินใจต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยความสามารถในการเก็บรวบรวม จัดเรียง และใช้สารสนเทศภูมิศาสตร์ นอกจากนี้การตัดสินใจและการประกอบกิจกรรมประจำวัน ทั้งหลายยังเชื่อมโยงกับการคิดเกี่ยวกับประเด็นของสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเป็นระบบด้วย ขณะที่การตัดสินใจของชุมชน มักมีความสัมพันธ์ปัญหามลพิษด้านอากาศ น้ำ และดิน/ที่ดิน หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง เช่น ที่ตั้งของอุตสาหกรรม โรงเรียน และย่านที่อยู่อาศัย ซึ่งเหล่านี้ต้องการความชำนาญในการใช้สารสนเทศภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น สำหรับการตัดสินใจของธุรกิจและของภาครัฐนั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับการเลือกสรรหาทำเลที่ตั้งที่ดีที่สุดสำหรับห้างสรรพสินค้าหรือท่าอากาศยานระดับภูมิภาค การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการค้ากับต่างชาติ ซึ่งต้องการข้อมูลทางภูมิศาสตร์สนับสนุนการตัดสินใจ
ทักษะสำคัญของภูมิศาสตร์จะช่วยให้เราตัดสินใจตามเหตุผลด้านการเมืองได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ต้องมีการประเมินนโยบายด้านการต่างประเทศ เศรษฐกิจระหว่างชาติ การกำหนดย่านพื้นที่และการใช้ที่ดินระดับท้องถิ่น ซึ่งทักษะต่างๆ ของภูมิศาสตร์จะทำให้สามารถเก็บและวิเคราะห์สารสนเทศ อันจะทำให้ได้บทสรุปและดำเนินกิจกรรมอย่างสมเหตุสมผล อีกทั้งทักษะสำคัญของภูมิศาสตร์ยังช่วยในการพัฒนาและนำเสนอประเด็นต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือไปสู่เวทีนโยบายสาธารณะต่อไป
ทักษะสำคัญของภูมิศาสตร์มี 5 ประเด็นหลัก ที่ประยุกต์มาจาก Guidelines for Geographic Education: Elementary and Secondary Schools ที่คณะกรรมาธิการจัดการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ เตรียมร่างเพื่อให้สมาคมนักภูมิศาสตร์อเมริกัน และสภาการศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ไว้เมื่อปี ค.ศ.1984 ประกอบด้วย การถามคำถามทางด้านภูมิศาสตร์ (Asking Geographic Questions) การเก็บรวบรวมสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Acquiring Geographic Information) การจัดการสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Organizing Geographic Information) การวิเคราะห์สารสนเทศภูมิศาสตร์ (Analyzing Geographic Information) และการตอบคำถามทางด้านภูมิศาสตร์ (Answering Geographic Information)

1. การถามคำถามทางด้านภูมิศาสตร์

การค้นหาความรู้ทางภูมิศาสตร์จะประสบผลสำเร็จด้วยดีนั้น ต้องอาศัยความสามารถและความสมัครใจที่จะตั้งคำถามอย่างใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ และหาคำตอบทั้งหลายเกี่ยวกับว่า เพราะเหตุใดสิ่งต่างๆ จึงปรากฏและเป็นอยู่ที่ตรงนั้น นักเรียนนักศึกษาจำเป็นต้องตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว - บางสิ่งบางอย่างปรากฏอยู่ที่ไหนบ้าง (Where is something located?) เพราะเหตุใดมันจึงอยู่ที่นั่น (Why is it there?) บางสิ่งบางอย่างนั้นสัมพันธ์กับอะไรบ้าง (With what is it associated?) อะไรที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากทำเลที่ตั้งและความสัมพันธ์เหล่านั้น (What are the consequences of its location and associations?) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนี้คล้ายกับที่ไหนบ้าง (What is this place like?)
สำหรับคำถามต่างๆ นักเรียนนักศึกษาจะต้องทดลองหาคำตอบที่เป็นไปได้ เพื่อให้คำตอบทางเลือกเหล่านั้นนำไปพัฒนาเป็นสมมุติฐาน ที่จะเชื่อมโยงกับขั้นตอนของกระบวนการตั้งคำถามและหาคำตอบ โดยสมมติฐานที่ว่านี้จะนำไปสู่การสืบค้นหาสารสนเทศต่อไป
ว่ากันจริงๆ แล้ว วิชาภูมิศาสตร์ถูกแบ่งออกด้วยประเภทของคำถามที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเป็นปัญหาเกี่ยวกับคำถามที่ถามว่า ที่ไหน และเพราะเหตุใดจึงต้องเป็นที่นั่น (Where and Why There) จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่นักเรียนนักศึกษาจะต้องพัฒนาและฝึกทักษะเกี่ยวกับการตั้งคำถามดังกล่าวด้วยตัวของพวกเขา/เธอเอง ซึ่งสามารถฝึกได้ไม่ยาก ด้วยการเริ่มต้นแยกคำถามทางด้านภูมิศาสตร์ออกจากคำถามที่ไม่ใช่ภูมิศาสตร์ จากนั้นครูผู้สอนก็นำเสนอให้นักเรียนนักศึกษากำหนดประเด็นและฝึกตั้งคำถามทางด้านภูมิศาสตร์ สำหรับนักเรียนนักศึกษาระดับชั้นสูงๆ ก็จะต้องจัดให้ฝึกทักษะให้สามารถจำแนกคำถามและวิธีทางด้านภูมิศาสตร์ เพื่อให้เกิดการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ

2. การเก็บรวบรวมสารสนเทศภูมิศาสตร์

สารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information) เป็นข่าวสารข้อมูลที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง คุณลักษณะทางกายภาพและมนุษย์ของทำเลที่ตั้งเหล่านั้น และกิจกรรมและสถานการณ์ทางภูมิศาสตร์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในสถานที่เหล่านั้น เมื่อย้อนกลับไปมองที่การตอบคำถามทางภูมิศาสตร์ นักเรียนนักศึกษาควรจะเริ่มต้นด้วยการเก็บรวบรวมสารสนเทศจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากการอ่านและแปลความหมายให้ได้สารสนเทศจากแผนที่ทุกชนิด ทำการรวบรวมและใช้ข้อมูลชั้นต้นและชั้นสองเพื่อเตรียมการบรรยายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงการเก็บข้อมูลจากการสอบถาม การสำรวจภาคสนาม การใช้เอกสารอ้างอิง และการทบทวนงานวิจัยต่างๆ ในห้องสมุด

ทักษะต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ได้มาซึ่งสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่ผ่านกระบวนการกำหนดทำเลที่ตั้งและรายละเอียดของปรากฏการณ์ การสังเกตและบันทึกสารสนเทศอย่างมีระบบระเบียบ การอ่านและแปลความหมายแผนที่หรือภาพแสดงพื้นที่และสถานที่ การสัมภาษณ์ และการใช้วิธีการทางสถิติต่างๆ
แหล่งข้อมูลชั้นต้นของสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการสำรวจภาคสนามของนักเรียนนักศึกษา นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในการศึกษาทางภูมิศาสตร์ โดยการสำรวจภาคสนามเป็นส่วนที่นักเรียนนักศึกษาจะต้องดำเนินการจริงในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัยด้วยการกระจายแบบสอบถามออกไปในชุมชน มีการบันทึกภาพ บันทึกสิ่งที่สำคัญในพื้นที่ สัมภาษณ์ประชาชน และเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง งานสำรวจภาคสนามจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความอยากรู้อยากเห็น และทำการศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางภูมิศาสตร์ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน ช่วยให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) จากการสังเกต การตั้งคำถาม การจำแนกประเด็นปัญหา และรับรู้ถึงลักษณะทางกายภาพและกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ นอกจากนี้การสำรวจภาคสนามยังจะช่วยเชื่อมโยงกิจกรรมในโรงเรียนของนักเรียนนักศึกษากับโลกที่พวกเขา/เธออาศัยอยู่ด้วย

3. การจัดการสารสนเทศภูมิศาสตร์

เมื่อสารสนเทศภูมิศาสตร์ถูกเก็บรวบรวมมาแล้ว ก็ควรจะมีการจัดการและนำเสนอออกไปด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้มีการนำเอาไปวิเคราะห์และแปลความหมายในขั้นตอนต่อไป ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นควรจะถูกจัดระเบียบอย่างเป็นระบบ ความต่างประเภทกันของข้อมูลจะต้องถูกแบ่งแยกออกและจัดกลุ่มให้อยู่ในรูปแบบแผนภาพที่มองเห็นและเข้าใจได้ชัดเจน เช่น รูปภาพ ภาพถ่ายทางอากาศ กราฟ ภาพตัดขวาง กราฟอากาศประจำปี (Climograph) แผนผัง ตาราง แผนที่ผัง (Cartogram) และแผนที่ ทั้งนี้การนำสารสนเทศจากเอกสารหรือจากการสัมภาษณ์มาเขียนนั้น ควรจะจัดการในลักษณะการคัดลอกมาไว้ในเครื่องหมายคำพูดหรือในรูปของตารางแสดงสารสนเทศ
มีวิธีการหลายอย่างมากในการจัดการกับสารสนเทศภูมิศาสตร์ อย่างเช่นแผนที่ที่เป็นเครื่องมือหลักของการศึกษาหาความรู้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงยังมีวิธีการอื่นๆ ในการแปลข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่มองเห็นเป็นภาพได้ (Visual Form) เช่น การใช้กราฟทุกชนิด ตาราง แผ่นแสดงข้อมูล (Spreadsheets) และเส้นแสดงเหตุการณ์ตามลำดับเวลา (Timeline) โดยวิธีการเหล่านี้จะเป้นประโยชน์อย่างมากเพราะทำให้เห็นภาพสรุปที่ชัดเจน รวมทั้งสามารถแสดงข้อความที่ต้องการอธิบายเพิ่มเติมได้อย่างเหมาะสม ในการจัดการสารสนเทศภูมิศาสตร์มให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะ การตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบ การให้สี การแสดงภาพ การกำหนดขนาด และการสร้างความชัดเจน ทั้งหลายเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาแผนที่และสื่อแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่ชนิดอื่นๆ ให้สามารถสะท้อนข้อมูลออกไปได้ชัดเจนตามวัตถุประสงค์
วิชาภูมิศาสตร์นั้น ถูกเรียกขานบ่อยครั้งว่า เป็นวิชาที่ว่าด้วยศิลปะการเขียนแผนที่ (The Art of Mappable) ดังนั้นการทำแผนที่ จึงควรจะจัดให้เป็นกิจกรรมปรกติพื้นฐานอย่างหนึ่งของนักเรียนนักศึกษาทุกคน พวกเขา/เธอควรจะอ่านแผนที่ด้วยการตีความสัญลักษณ์ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่เก็บบันทึกไว้ในนั้น และทำการวิเคราะห์รูปแบบต่างๆ ของสารสนเทศเหล่านั้น และจัดทำสัญลักษณ์ ในแผนที่เพื่อให้สอดรับกับการจัดการสารสนเทศต่างๆ ซึ่งการทำแผนที่ อาจหมายถึงการใช้ระบบการร่างแผนที่ เพื่อสร้างจุดๆ หนึ่งในการแสดงข้อความหรือบันทึกจากการสำรวจที่ต้องการนำเสนอไว้ในแผนที่ หรืออาจหมายถึงการใช้สัญลักษณ์แสดงข้อมูลในแผนที่เกี่ยวกับทำเลที่ตั้งของทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกหรือแสดงระดับรายได้ของมณฑลต่างๆ ในประเทศหนึ่งๆ หรืออาจหมายถึงการทำแผนที่การกระจายของรังมดในหรือจุดตั้งถังขยะในสนามของโรงเรียน ต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นได้ทั้งนั้น ดังนั้นนักเรียนนักศึกษาจึงจะต้องเกี่ยวพันกับการทำแผนที่ในฐานะที่เป็นกิจกรรมพื้นฐาน พวกเขา/เธอควรที่จะมีทักษะในการแปลความหมายและสร้างสรรค์สัญลักษณ์ในแผนที่ การค้นหาทำเลที่ตั้งบนแผนที่ที่ใช้ระบบอ้างอิงเชิงพื้นที่ที่หลากหลาย การจัดวางแผนที่และการกำหนดทิศทางที่เหมาะสม การใช้ขนาดและมาตราส่วนเพื่อกำหนดระยะทางในแผนที่ และการคิดเชิงแย้งเกี่ยวกับสารสนเทศที่ปรากฎอยู่ในแผนที่

4. การวิเคราะห์สารสนเทศภูมิศาสตร์

การวิเคราะห์สารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นการค้นหารูปแบบ ความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นของปรากฏการณ์ต่างๆ เมื่อได้มีการวิเคราะห์และแปลความหมายสารสนเทศแล้ว รูปแบบหรือกระบวนการบางอย่างก็จะผุดขึ้นมาให้เห็น จากนั้นนักเรียนนักศึกษาก็ทำการสังเคราะห์ผลจากการการสังเกตของตัวเองให้เข้ากับระบบการบรรยายของตน ในขั้นตอนนี้อาจจะทำการบันทึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์สอดคล้องกันและลักษณะที่คล้ายกันระหว่างพื้นที่ มีการพิจารณารูปแบบด้วยการเปรียบเทียบกับข้อมูลจากแผนที่ กราฟ แผนภาพ ตาราง และอื่นๆ ด้วยการใช้สถิติอย่างง่ายๆ นักเรียนนักศึกษาสามารถระบุถึงแนวโน้ม ความสัมพันธ์ และความต่อเนื่องของปรากฏการณ์ได้
การวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์เกี่ยวพันกับกิจกรรมต่างๆ หลากหลาย มีบางครั้งที่เกิดความยุ่งยากที่จะแบ่งแยกกระบวนการที่จะใช้ในการจัดการสารสนเทศภูมิศาสตร์ออกจากขั้นตอนที่ใช้ในการวิเคราะห์ กระบวนการทั้งสองดังกล่าวคงเกิดขึ้นกับหลายๆ กรณี แต่ในบางสถานการณ์ การวิเคราะห์ก็ทำไปด้วยความรู้และความเข้าใจแบบง่ายๆ ซึ่งนักเรียนนักศึกษาควรจะตรวจสอบและพินิจพิเคราะห์แผนที่เพื่อค้นหาและเปรียบเทียบรูปแบบและความสัมพันธ์ทางพื้นที่ ศึกษาตารางและกราฟเพื่อกำหนดแนวโน้มและความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นต่างๆ ตรวจสอบข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติเพื่อระบุชี้แนวโน้ม ความต่อเนื่อง สหสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ศึกษาจากเอกสารตำราเพื่อแปลความหมาย อธิบาย และสังเคราะห์คุณลักษณะของแต่ละสิ่งที่สนใจ ด้วยกระบวนการวิเคราะห์นี้จะทำให้ได้คำตอบสำหรับคำถามมาเป็นลำดับแรก จากนั้นจะนำไปสู่การพัฒนาแบบจำลองและคำอธิบายที่เป็นสากลทางภูมิศาสตร์ (GMG: Geographic Models and Generalizations) ที่กล่าวมาทั้งหมดตรงนี้ คือ ทักษะในการวิเคราะห์ที่นักเรียนนักศึกาทุกคนจำเป็นจะต้องพัฒนาขึ้นมาในตัวเองให้ได้

5. การตอบคำถามทางด้านภูมิศาสตร์

เป้าหมายสูงสุดของการแสวงหารู้ทางภูมิศาสตร์ จะประสบผลสำเร็จไปสู่การพัฒนาคำอธิบายที่เป็นสากลและการสรุปบนฐานข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมมา มีการจัดการและการวิเคราะห์เป็นขั้นตอน ทักษะทั้งหลายที่สัมพันธ์กับการตอบคำถามทางภูมิศาสตร์ด้วยรูปแบบการกล่าวอ้างอิงถึงสารสนเทศในลักษณะภาพ (ทั้งที่เป็นแผนที่ ตาราง และกราฟ) ควบคู่ไปกับการบอกกล่าวด้วยวาจาและข้อเขียนต่างๆ ทักษะเหล่านี้เกี่ยวกับเชื่อมโยงกับความสามารถในการแยกแยะคำอธิบายที่เป็นสากล เพื่อประยุกต์ใช้ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก
การสร้างคำอธิบายที่เป็นสากล ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของกระบวนการแสวงหาความรู้ และยังจะช่วยสร้างความเข้าใจในเชิงสัญลักษณ์ได้มากขึ้นด้วย การพัฒนาเพื่อสร้างคำอธิบายที่เป็นสากลนั้น ต้องการให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้สารสนเทศที่พวกเขา/เธอเก็บรวบรวม จัดการ และวิเคราะห์เพื่อสร้างคำอธิบายทางภูมิศาสตร์ในรูปแบบทั่วไป และบางครั้งพวกเขา/เธออาจจะใช้เหตุการณ์นั้นๆ ไปช่วยในการตัดสินใจ แก้ปัญหา หรือสร้างข้อยืนยันเกี่ยวกับการตอบปัญหา การกำหนดประเด็น หรือการบ่งชี้ความสำคัญของปัญหาต่างๆ ได้
การสร้างคำอธิบายที่เป็นสากลทางภูมิศาสตร์ สามารถสร้างขึ้นมาด้วยการใช้วิธีการให้เหตุผลเชิงอุปนัยหรืออนุมานก็ได้ โดยวิธีให้เหตุผลเชิงอุปนัย นักเรียนนักศึกษาจะต้องทำการสังเคราะห์สารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อตอบคำถามและให้ได้ข้อสรุปเฉพาะเรื่องที่กำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนั้น ขณะที่วิธีให้เหตุเชิงอนุมานนั้น พวกเขา/เธอจะต้องระบุชี้ชัดในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับข้อคำถาม สังเกตและประเมินเหตุการณ์ และตัดสินใจหาคำอธิบายที่เป็นสากลที่เหมาะสมด้วยการทดสอบข้อสรุปเหล่านั้นเปรียบเทียบกับโลกที่เป็นจริง ซึ่งนักเรียนนักศึกษาควรที่จะได้รับการฝึกฝนให้มีประสบการณ์ในทั้งสองวิธี
นอกจากนี้นักเรียนนักศึกษายังควรจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เพื่อที่จะตอบปัญหาทางภูมิศาสตร์ ในประเด็นนี้ มีทักษะสำคัญอันหนึ่งที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการเป็นพลเมืองที่ดี (Good Citizenship) ซึ่งพวกเขา/เธอสามารถพัฒนาความรู้สึกนึกคิดในด้านความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง ด้วยการแผ่ขยายคำตอบที่พวกเขา/เธอได้รับจากการศึกษาค้นคว้าออกไปสู่สังคม เพราะพวกเขา/เธอสามารถนำเสนอสารสนเทศภูมิศาสตร์ได้หลายๆ วิธี อย่างเช่น การใช้มัลติมีเดียที่เป็นการผสมผสานเอารูปภาพ แผนที่ กราฟ เชื่อมโยงไปพร้อมๆ กับการนำเสนอเรื่องราวหรือถ้อยแถลงที่เข้าใจได้อย่างเป็นสากล นอกจากนี้ สารสนเทศภูมิศาสตร์ยังสามารถถูกนำเสนอได้ด้วยกวีนิพนธ์ ศิลปะตัดต่อ การละเล่น บทความ และเรียงความ โดยสื่อทุกๆ สื่อที่ถูกเลือกใช้ในการนำเสนอสารสนเทศภูมิศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อให้ได้คำตอบ และการบ่งชี้ประเด็นหรือปัญหาที่จะต้องค้นหาความรู้มาเป็นคำตอบและทำการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจกระจ่างชัดมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า การเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการตอบคำถามทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่ง
นักเรียนนักศึกษาควรจะต้องเข้าใจว่า ยังคงมีวิธีการที่เป็นทางเลือกอีกหลายๆ วิธี สำหรับการอธิบายและสรุปที่เป็นสากล เพราะมีความรู้ ความจริง และความหมายของสิ่งต่างๆ อยู่หลายประเภทหลายระดับ ครูผู้สอนจึงควรจะกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาพัฒนาและมีมุมมองหลากหลาย และค้นหาผลลัพธ์ที่หลากหลายหรับปัญหาต่างๆ
จะเห็นได้ว่าทักษะที่ห้านี้ เป็นขั้นตอนท้ายสุดของกระบวนการค้นหาความรู้ทางภูมิศาสตร์ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะสิ้นสุดแค่เพียงแต่การดำเนินการศึกษาตามขั้นตอนนี้เท่านั้น เพราะปัญหาต่างๆ ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ข้อสรุปหลายๆ อย่างมีเหตุและปัจจัยอื่นเพิ่มเติมเข้ามา ทำให้คำอธิบายที่เป็นสากลที่เคยอธิบายไว้แต่เดิมไม่ครอบคุลมประเด็นปัญหา มีการทดสอบสมมติฐานใหม่ๆ ด้วยการทบทวนข้อความคำอธิบายที่เคยเป้นสากล คำตอบแต่ละคำตอบ การตัดสินใจแต่ละอย่าง หรือการแก้ปัญหาแต่ละครั้ง เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดประเด็น มุมมอง และปัญหาใหม่ การศึกษาเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ทรงพลังและท้าทาย

การพัฒนาทักษะสำคัญของภูมิศาสตร์

ถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากที่นักเรียนนักศึกษาจะต้องพัฒนาทักษะทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อที่จะทำให้พวกเขา/เธอสามารถทำการสังเกตรูปแบบ ความสัมพันธ์ และระเบียบทางพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างเข้าใจ มีทักษะหลายอย่างที่ถูกคาดหวังให้นักเรียนนักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้นำไปสู่การเลือกใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาหาความรู้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งแผนที่คือเครื่องมือที่จำเป็นของภูมิศาสตร์ เนื่องจากว่าในแผนที่ได้บรรจุเอาสาระต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนพื้นที่ โดยนำแสดงให้ผู้ใช้แผนที่เห็นเป็นภาพที่ง่ายแก่การทำความเข้าใจ กราฟ ภาพร่าง แผนผัง และรูปภาพ ล้วนยังคงทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากการวิเคราะห์อัตราการเติบโตของพื้นที่เมือง ที่เราสามารถตรวจสอบได้จากการเปรียบเทียบรูปถ่ายเก่าและใหม่ หรือตัวอย่างของการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากการเปรียบเทียบข้อมูลภาพจากดาวเทียมที่บันทึกในปีที่แตกต่างกัน
เครื่องมือชนิดใหม่ที่มีความสำคัญในการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์ คือ ฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Database) หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS: Geographic Information System) ระบบนี้จะทำให้กระบวนการนำเสนอและวิเคราะห์สารสนเทศภูมิศาสตร์ง่ายขึ้น อันเป็นการเพิ่มความเร็วในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ทางภูมิศาสตร์ ฐานข้อมูลเชิงพื้นที่นี้ สามารถนำไปพัฒนาในห้องเรียนได้ด้วยการใช้กระดาษและดินสอธรรมดาๆ
มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหลายอย่างที่นักเรียนนักศึกษาจำเป็นต้องใช้ในการพัฒนาทักษะสำคัญทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอยู่ในรูปทักษะทางความคิดเชิงวิกฤติ (Critical Thinking Skills) โดยทักษะที่ว่านี้จะไม่มีการจัดอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ หากแต่จะอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในกระบวนการสร้างความรู้ การอ้างอิง การวิเคราะห์ การยืนยัน การทดสอบสมมติฐาน การสรุปให้เข้าใจอย่างเป็นสากล การทำนาย และการตัดสินใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ทุกระดับ และสามารถสร้างเป็นทักษะพื้นฐานให้นักเรียนนักศึกษามีศักยภาพในการประยุกต์ใช้ทักษะสำคัญทางภูมิศาสตร์ในการศึกษาหาความรู้ได้เป็นอย่างดี
ทักษะสำคัญทางภูมิศาสตร์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สามารถจัดให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของแต่ชั้นปีการศึกษาได้ ซึ่งครูผู้สอนและผู้พัฒนาหลักสูตรจำเป็นจะต้องพินิจพิจารณาจัดวางให้เหมาะสมและเป็นลำดับขั้นตอน ให้นักเรียนนักศึกษาเรียนรู้และเก็บทักษะไว้กับตัวเอง และเสริมสร้างในส่วนที่เป็นการประยุกต์ให้สามารถเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ประโยชน์ที่เกิดจากการเรียนรู้ภูมิศาสตร์อย่างเป็นระบบ

มีผลลัพธ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ หากว่าเยาวชนของเราได้รับการสอนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้พวกเขา/เธอมีมุมมอง มีสารสนเทศ มีแนวความคิด และมีทักษะสำคัญทางภูมิศาสตร์ ข้อความต่อไปนี้คือคำตอบ
ประการแรกสุด นักเรียนนักศึกษาจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่ตั้งสมบูรณ์และที่ตั้งสัมพันธ์ ว่าเป็นประเด็นสาระที่สำคัญอย่างยิ่งในการอธิบายลักษณะทางกายภาพและมนุษย์ทุกๆ อย่างที่ปรากฏบนพื้นผิวโลก ตัวอย่างเช่น การมีความรู้ถึงทำเลที่ตั้งสมบูรณ์ของประเทศอัฟานิสถาน และที่ตั้งสัมพันธ์ของประเทศนี้ที่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมของรัสเซียอาศัยอยู่ ซึ่งจะช่วยในเกิดความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันของประเทศนี้
ประการที่สอง นักเรียนนักศึกษาจะมีความสามารถในการกำหนดความสำคัญของสถานที่ต่างๆ ในบริบทที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและมนุษย์ รวมถึงการสร้างความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานนี้นั้นๆ เมื่อเวลาผ่านไป ตัวอย่างเช่น นักเรียนจะสามารถระบุชี้ชัดว่าปัจจัยทางธรรมชาติและมนุษย์อะไรบ้างที่ทำให้มหานครนิวยอร์กเติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นศูนย์กลางของโลก และสามารถอธิบายได้ว่า มหานครแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป
ประการที่สาม นักเรียนนักศึกษาจะมีความตระหนักรู้ว่า ประชาชนอาศัยอยู่กันอย่างไร ปรับปรุงเพิ่มเติมในพื้นที่นั้นๆ กันอย่างไร และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพและมนุษย์กันอย่างไร ตัวอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษาจะรู้ซึ้งว่าป่าฝนในที่ต่างๆ นั้นถูกใช้สำหรับเป็นแหล่งล่าสัตว์และเก็บของป่า ใช้เพื่อทำการเกษตรไร่เลื่อนลอย ใช้เพื่อกิจการป่าไม้ และใช้เพื่อการเกษตรขนาดใหญ่
ประการที่สี่ นักเรียนนักศึกษาจะได้ทำการไตร่สวนว่า สถานที่ต่างๆ นั้นมีการพึ่งพิงกันและกันอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษาจะสามารถตรวจสอบการพึ่งพิงกันของประเทศญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา และเกิดความคิดอะไรบางอย่างที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตปรกติของครอบครัวชาวอเมริกันและชาวญี่ปุ่น
ประการที่ห้า นักเรียนนักศึกษาจะต้องได้เรียนรู้ถึงการใช้แนวความคิดด้านภูมิภาคเพื่อสร้างถ้อยแถลงทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษาจะสามารถบ่งชี้พื้นที่ต่างๆ บนโลกใบนี้ได้ว่า มีบริเวณใดบ้างที่ประชาชนตัดไม้จากป่าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการดำรงชีวิต พวกเขาและเธอจะสามารถอธิบายและประเมินสภาพแวดล้อมทางกายภาพและมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก รวมถึงสามารถแสดงความสัมพันธ์ของพวกเขาและเธอเองที่มีต่อการตัดไม้ทำลายป่าไม้เหล่านั้น
การมุ่งเข้าไปหาความสำเร็จทั้งหมดตามเป้าหมายที่กล่าวมานี้ นักเรียนนักศึกษาจะต้องมีทักษะและความสามารถในการใช้แผนที่ทั้งหลายเพื่อสร้างและตอบข้อคำถามเกี่ยวกับความสำคัญของประเด็นต่างๆ อย่างเช่น พวกเขาและเธอจะสามารถพินิจพิเคราะห์แผนที่ให้เห็นสารสนเทศเกี่ยวกับประชากร การใช้ประโยชน์ที่ดิน รูปลักษณ์สัณฐานภูมิประเทศ และการเปาะปลูกที่เกิดขึ้นอย่างน่าพิศวงในภูมิภาคที่แห้งแล้งอย่างยิ่งในอัฟริกา