หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การเรียนการสอนแบบนักเรียนมีส่วนร่วมในห้องเรียนใหญ่

การเรียนการสอนแบบนักเรียนมีส่วนร่วมในห้องเรียนใหญ่
เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาวิชาการการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย เครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย
วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2560 ณ โรงละครเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

เบื้องต้นอาจรู้สึกได้ว่าการสอนถูกจัดขึ้นในห้องเรียนที่มีขนาดเดียว ที่พอเหมาะกับการเรียนรู้ทุกๆ อย่าง และแม้ว่าเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพจะสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีทั้งสำหรับห้องเรียนเล็กและห้องเรียนใหญ่ แต่ว่าการสอนห้องเรียนใหญ่กลับต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายที่จำเป็นจะต้องใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า การสอนแบบบรรยายในห้องเรียนใหญ่ต้องการใช้กลยุทธ์และเทคนิคมากมาย ซึ่งสามารถหาอ่านและเรียนรู้ได้จากหนังสือและคู่มือการสอนทั่วไป เช่น หนังสือ Tools for Teaching ของ Davis (2009) หนังสือ Teaching Tips for College and University Instructors ของ Royse (2001) และหนังสือ McKeachies Teaching Tips ของ Svinicki and McKeachie (2011) และหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เช่น หนังสือ Teaching the Large College Class ของ Heppner (2007) และหนังสือ Engaging Large Classes ของ Staley and Porter (2002) สำหรับบทความบทนี้ เป็นการนำเสนอสิ่งท้าทายในภาพกว้างๆ ของการสอนห้องเรียนใหญ่ และจะเน้นลงไปที่การสร้างนักเรียนให้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ในห้องเรียนใหญ่


ก่อนเปิดเรียน

มีสิ่งสำคัญเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนหลายอย่างที่จะต้องตัดสินใจก่อนเปิดชั้นเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องเรียนใหญ่ โดยเราจะต้อง

        กำหนดผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนรู้และต้องระบุให้ชัดเจนว่าวิชานี้ต้องการให้นักเรียนได้อะไรออกไปจากชั้นเรียน
        ออกแบบชั้นเรียนที่จะสามารถทำให้นักเรียนบรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายการเรียนรู้ ชั้นนี้ควรจะมีหนังสือหรือสื่อการอ่านที่มีสารัตถะครอบคลุมทุกหัวข้อ ระบบการทดสอบนี้จะใช้ และรูปแบบการสอบทุกอย่างต้องชัดเจน
        ตัดสินใจเสียตั้งแต่ต้นว่าจะใช้วิธีการสอนแบบใดตอนไหน โครงสร้างของห้องเรียนเป็นอย่างไร จะจัดให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนอย่างไร และการบรรยายจะเป็นอย่างไร

แม้คำถามเหล่านี้จะถูกถามไปยังคุณครูเสมอๆ แต่ทุกครั้งก่อนจะเปิดชั้นเรียนใหม่ ทุกคำถามจะต้องถูกนำมาทบทวน เพราะการเปลี่ยนแปลงระหว่างที่ชั้นเรียนเปิดไปแล้วนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก

นักเรียนอาจไม่รับรู้สิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง (อาจด้วยการที่พวกเขาไม่ได้เข้าห้องเรียนหรืออาจเพราะพวกเขาไม่สนใจฟัง ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอในห้องเรียนใหญ่) ส่วนในห้องเล็กที่มีความใกล้ชิดระหว่างครูกับนักเรียนมากกว่านั้น พวกเขาจะสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ได้ง่ายกว่า อีกทั้งนักเรียนจะไม่หลบซ่อนทั้งกายและใจแบบที่ชอบทำกันในห้องเรียนใหญ่ ด้วยปริมาณงานที่สอดสัมพันธ์กับการจัดการเกรด และการสื่อสารกับห้องเรียนใหญ่ ทำให้มีความยุ่งยากที่จะต้องทำหลายๆสิ่งที่คิดและตระเตรียมการเรียนการสอนในชั้นเรียน ดังนั้นจึงต้องเตรียมการทุกอย่างเสียก่อนเปิดชั้นเรียน

ข้อพิจารณาทั่วไปบางอย่างที่ต้องเตรียมการก่อนเปิดชั้นเรียนวันแรก

        ต้องกำหนดประเด็นสารัตถะการเรียนรู้ให้ชัดเจน ในห้องเรียนใหญ่ นักเรียนจะมีแรงบันดาลใจ ความรู้ความสามารถ และสติปัญญาแตกต่างกันเยอะมาก หากเราวางแผนการสอนให้ครอบคลุมทุกประเด็น เราจะไม่มีเวลาอธิบายลงลึกในรายละเอียด หรือหากวางแผนครอบคลุมประเด็นเนื้อหาไม่มากนัก ก็จะสามารถอธิบายแนววความคิดหลักและลงรายละเอียดที่ควรที่เหมาะสมได้ นั่นทำให้นักเรียนบางคนไม่สามารถเข้าใจแจ่มชัดต่อสิ่งที่เราสอนพวกเขา จึงเป็นการยากสำหรับนักเรียนห้องเรียนใหญ่ที่จะบอกกล่าวกับครู ให้สอนให้ช้าลง เมื่อพวกเขาไม่เข้าใจหลักการหรือแนวความคิดที่ครูกำลังสอนอยู่ มีตัวอย่างการศึกษาวิชาเคมีและชีววิทยาในห้องเรียนใหญ่ ที่จะไม่สามารถแสดงให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการแนวความคิดได้มากนัก นั่นจึงทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้นักเรียนสนใจเรียนรายละเอียดที่ลึกซึ้ง และที่จำเป็นของรายวิชาเหล่านั้นได้มากนัก
        จัดการสาระการเรียนรู้ให้เป็นลำดับ ครูจะต้องไม่ยึดติดกับลำดับเนื้อหาสาระตามหนังสือหรือคู่มือ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องจัดลำดับใหม่ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และช่วยให้ทำการสอนได้ง่ายขึ้นในห้องเรียนใหญ่ที่มีนักเรียนมานั่งเรียนเป็นจำนวนมาก
        ไม่ควรกังวลกับวัสดุอุปกรณ์มากเกินไป แม้ว่านักเรียนในห้องเรียนใหญ่จะสามารถถามคำถามรูที่กำลังสอนอยู่หน้าชั้นเรียนได้ (และมีการทำให้นักเรียนห้องเรียนใหญ่สามารถมีส่วนร่วมตามเป้าหมายได้อย่างดี) แต่ด้วยความไม่รู้หรือความไม่มั่นใจ อาจทำให้นักเรียนเกิดความยุ่งยากในการเข้าถึงเนื้อหาสาระที่ครูกำลังทำการสอนอยู่หน้าชั้น บางครั้งผลลัพธ์นี้ อาจจบลงด้วยการให้เวลากับพวกเขา และอาจต้องจัดระบบการบรรยายเสียให้ตรงจุดกับความรู้ความเข้าใจและความสนใของนักเรียน โดยเอาบางสิ่งบางอย่างที่จะก่อให้เกิดความสับสนของนักเรียนออกไป เพราะเรารู้จักเนื้อหาสาระที่ทำการสอนมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีโอกาสหงุดหงิดน้อยลง
   บอกผู้เรียนด้วยว่าเขาสามารถบันทึกอะไรได้บ้างระหว่างเรียน บางครั้งนักเรียนในห้องเรียนใหญ่อาจจะข้ามความสนใจขณะที่เราสอนอยู่หน้าชั้น แล้วไปขอคัดลอกบทเรียนภายหลัง อีกทางหนึ่ง นักเรียนบางคนอาจยุ่งยากที่จะเน้นในชั้นเรียนขนาดใหญ่ แต่ว่าพวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ได้มากจากการฟังบันทึกการบรรยายของเราภายหลังนอกห้องเรียน ดังนั้นจึงจะต้องพัฒนาและใช้นโยบายการจัดการเรียนการสอนที่เราสะดวกแก่การให้การเรียนรู้กับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักเรียนที่มีปัญหาการเรียร็ในชั้นเรียน
        สนในความสามารถและความสนใจของนักเรียน ในห้องเรียนใหญ่ เราจะไม่สามารถคาดหวังนักเรียนให้สูงเกินไปหรือต่ำเกินไปได้ เพราะมันจะทำให้เราสูญเสียนักเรียนจำนวนหนึ่งไป จึงจำเป็นจะต้องสร้างทัศนคติที่ดีต่อความรู้ความสามารถและความถนัดของนักเรียนทุกกลุ่ม หากไม่มั่นใจพวกเขาจะสามารถจัดการอะไรได้ ให้วางแผนการประเมินเอาไว้เสียตั้งแต่ต้น และทำการประเมินผลอย่างจริงจังด้วยการวัดการสอนและหลักสูตร เพื่อช่วยให้นักเรียนทราบว่าจะเรียนวิชานี้กันอย่างไร
        เตรียมแผนการเรียนรู้ (syllabus) ไว้ให้นักเรียนด้วย เป็นเรื่องสำคัญที่ครูจะต้องนำเอานโยบาย เป้าหมายการเรียนรู้ และความคาดหวังสูงสุดของการเรียนการสอนมาอธิบายให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบการเข้าชั้นเรียน ระบบการตัดเกรด การสอนกลางภาค-ปลายภาค หรือแม้แต่ช่องทางที่นักเรียนจะสามารถติดต่อครูผู้สอน ซึ่งอันหลังสุดนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับห้องเรียนใหญ่ เพราะนักเรียนอาจไม่พูดในชั้นเรียนด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่พวกเขาจะอยากไปสอบถามหรือขอคำอธิบายเพิ่มเติมหลังจากนั้น
        เข้าไปดูห้องเรียนเสียก่อนที่จะเข้าไปสอนจริง เราจะสามารถลดแรงกดดันต่อตัวเองลงได้ และยังเพิ่มระดับความรู้สึกสบาย เพราะได้รับรู้ว่าห้องเรียนที่จะไปสอนเป็นอย่างไร ก่อนที่จะลงมือทำการสอน หากเราจะใช้เทคโนโลยี ก็ต้องให้แน่ใจให้ได้ว่า จะทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นทำงานได้อย่างไร คงเป็นเรื่องน่าอายและหมดความน่าเชื่อถือในตัวเรา หากว่าเรามัวแต่คลำหาวิธีใช้เทคโนโลยีตั้งแต่วันแรกของการเรียน การมาห้องเรียนก่อนเวลาแล้วเรียนรู้ผังเทคโนโลยีและผังทั่วไปของห้องเรียน จะทำให้เรารู้สึกสบายขึ้นก่อนลงมือสอนนักเรียน

เปิดห้องเรียนวันแรก

ห้องเรียนแระเป็นอะไรที่สำคัญสุดๆ บ่อยครั้งที่ความประทับใจแรกพบกลับกลายเป็นความประทับใจที่ลืมเลือน การประเมินผลเบื้องต้นหลังจากที่ให้นักเรียนดูคลิปสั้นๆ 5 วินาที ในการเข้าห้องเรียนวันแรก จะช่วยให้เราสามารถจัดระดับผลลัพธ์ตอนปลายภาคเรียนได้ (Ambady & Rosenthal, 1992) วางแผนให้ดีว่าจะใช้เวลาทุกๆ นาที ในชั้นเรียนวันแรกอย่างไร นักเรียนของห้องเรียนใหญ่มักคาดหวังว่าจะสามารถไปนั่งอยู่ท้ายห้องและไม่ต้องมีส่วนร่วมอะไรกับชั้นเรียนเลย ซึ่งถ้าหากนักเรียนไม่ได้เข้ามาในห้องเรียนวันแรกหรือไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรามาก่อน พวกเราก็จะอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสไตล์การเรียนการสอนของวิชานี้ นักเรียนหลายคนไม่คาดคิดว่าจะสามารถมีส่วนร่วมในชั้นเรียนได้ เพราะขนาดขงห้องเรียนใหญ่เกินกว่าที่จะคิด แต่เราก็สามารถจัดระบบการเรียนรู้ที่ดีได้ด้วยการทำให้ห้องเรียนวิชาแรกดูกระฉับกระเฉง เป็นกันเอง น่าสนใจ โดยมีข้อแนะนำบางอย่างเพิ่มเติม ดังนี้

·        กำหนดและประกาศมารยาทของห้องเรียน ความไม่สุภาพของห้องเรียนจำพวกที่ชอบคุยกัน มาเรียนสาย ออกห้องเรียนก่อนเวลาเลิก ส่งข้อความหากัน และเอาอะไรขึ้นมาทาน ล้วนสร้างความรำคาญให้ทั้งครูและนักเรียน จึงใช้เวลาในวันแรกบอกกล่าวให้ชัด และให้เป็นที่ยอมรับกันทั้งหมดว่าอะไรบ้างที่ทำได้ อะไรบ้างที่ห้ามทำในห้องเรียนนี้
·        ครูบางคนจะแจกเฉพาะ Syllabus ในคาบแรก ซึ่งการทำแบบนั้น มันเป็นการละเลยการบอกกล่าวถึงสิ่งที่น่าตื่นเต้นอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งจากหนังสือ เอกสาร เวบไซต์ คลิป ฯลฯ ที่เป็นอุปกรณ์การเรียนรู้
ü ตั้งแต่ต้น ควรเริ่มชั้นเรียนด้วยตัวอย่างเรื่องตื่นเต้นที่เกี่ยวเนื่องกับรายวิชานี้ราว 15 นาที หรือมากกว่านั้นค่อยแจก Syllabus แล้วก็ตอบคำถาม
ü มีสาระมากกมายที่สามารถนำมาแสดงในวันเปิดชั้นเรียน พึงทำให้ชั่วโมงนี้เป็นวันที่น่าตื่นเต้นที่สุด อาจเป็นคลิปซัก 1 หรือ 2 คลิปสั้นๆ ก็ได้
ü เชิญชวนนักเรียนหลายๆ คนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ให้พวกเขาได้เคลื่อนย้ายตำแหน่ง ยกมือ หรือยืนขึ้น เพื่อตอบปัญหาต่างๆ ปัญหาที่ถามนักเรียนแต่ละคนไม่ควรซ้ำกัน
·        ทำรายการช่วยจำเสียตั้งแต่วันแรก การสอนห้องใหญ่นั้นจำนวนนักเรียนจริงๆ จะต้องถูกระบุชัดเจนตั้งแต่ต้นเพื่อจัดระบบอะไรหลายๆ อย่าง รายชื่อนักเรียนจะต้องพร้อม การอ่านสะกดชื่อให้ถูกต้องก็ควรทำ

ทำให้การเรียนรู้เข้าถึงบุคคล

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนการสอนห้องเรียนใหญ่ ที่มีนักเรียนมากกว่า 60 คนขึ้นไป คือ นักเรียนมักรู้สึกว่าผู้สอนไม่มีความสนใจการมีตัวตนของนักเรียนในชั้นเรียนนั้นๆ อย่างจริงจัง ขนาดของชั้นเรียนอาจเป็นอุปสรรคที่จะให้ผู้สอนใส่ใจนักเรียนเป็นรายบุคคล แต่ก็มีวิธีการอีกหลายอย่างที่จะทำให้ผู้เรียนอยู่ในห้องเรียนใหญ่รู้สึกว่าห้องเรียนเล็กลง เป็นต้นว่า

·        พยายามเรียนรู้นักเรียนจาก ชื่อ-สกุล ของพวกเขา บางทีวิธีที่ทรงพลังที่สุดในการทำให้นักเรียนแต่ละคนสนใจเรียน คือ การเรียนรู้จาก ชื่อ-สกุล ของพวกเขา ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเข้มงวดว่าต้องจำได้ทั้งหมด โดยมีเคล็ดง่ายๆ ดังนี้
ü ถ่ายรูปนักเรียนเป็นกลุ่มๆ ในระหว่างเข้าห้องเรียนวันแรก โดยที่นักเรียนแต่ละคนมีป้ายชื่อติดด้านหน้า (อาจออกแบบและทำกันในห้องเรียนวันนั้นเลย) แล้วใช้ภาพเหล่านี้สร้างความจำกับชื่อ-สกุลบางคนก่อนเข้าห้องเรียนในคราวถัดไป อาจใช้เวลาสักสัปดาห์หนึ่งเพื่อจำชื่อ-สกุลให้ได้มากที่สุดเพราะพวกเขาจะรู้สึกดีกับเรา ด้วยเห็นว่าเอาใจใส่พวกเขาอย่างจริงจัง
ü ให้นักเรียนนั่งตำแหน่งเดิม โดยกำหนดไว้ในแผ่นชาร์ต ระบุชื่อ-สกุลของแต่ละคนเอาไว้ โดยให้เป็นแบบนี้ตลอดภาคการศึกษา
·        แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ หลายๆ กลุ่ม พยายามกำหนดให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน แล้วทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันสัปดาห์ละครั้งเป้นอย่างน้อย พวกเขาจะได้รู้จักเพื่อนร่วมชั้น มีโอกาสพูดคุยทำให้บรรยากาศดีขึ้น
·        ส่งอีเมลถึงนักเรียน อันนี้ให้ทำก่อนเปิดห้องเรียนวันแรก เพื่อบอกข้อมูลบางอย่างเล็กๆ เกี่ยวกับตัวผู้สอนและชั้นเรียน
·        ทำอะไรบางอย่างหลังการสอนแต่ละครั้ง โดยเฉพาะกับใครบางคน เป็นต้นว่า ส่งอีเมลถึงนักเรียนที่สอบตก เพื่อหาสาเหตุที่เขาสอบตก เช่น ไม่ค่อยมาเรียน ไม่พยายามเรียนรู้ หรือไม่เข้าใจ หรือส่งอีเมลถึงนักเรียน 5 คน หรือมากกว่านี้ (ถ้าทำได้) ที่สอบได้คะแนนสูงที่สุด ทั้งหมดนี้จะแสดงให้เห็นว่าพวกเราเอาใจใส่พวกเขา ทั้งนักเรียนเก่งและนักเรียนไม่เก่ง ไม่ได้เห็นพวกเขาแค่ที่มีรายชื่อผู้ลงทะเบียนเรียนวิชานี้เท่านั้น
·        เข้าห้องก่อนและอยู่จนกระทั่งจบ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามาพูดคุยต่อหน้า นอกจากนี้การเข้ามาในห้องเรียนก่อนเวลายังแสดงว่าเราเปิดรับคำถาม โดยให้รีบจัดอุปกรณ์การสอนแล้วเดินไปรอบๆ ห้องทักทายนักเรียนที่นั่งอยู่แต่ละจุด
·        ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงกับนักเรียน ใช้ซอฟแวร์จัดการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียน เปิดให้มีการสนทนากลุ่ม หรือการตอบคำถามเกี่ยวกับชั้นเรียน หากมี TA ก็กำหนดให้ TA แต่ละคนดูและกลุ่มนักเรียนที่จัดเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายๆ กลุ่ม และให้ TA รับผิดชอบในการสร้างกลุ่มสนทนา
ü บางครั้งอาจก่อตั้งกลุ่มสื่อสารออนไลน์ของนักเรียนทั้งหมดในชั้น เพื่อแลกเปลี่ยนวิดีโอและข่าวสารที่แต่ละคนค้นพบ หรือที่ได้จากการสื่อสารกับบุคคลอื่นนอกห้องเรียน

ออกแบบการเรียนให้น่าสนใจ

สร้างความตรึงใจให้กับนักเรียนเป็นสำคัญ สำหรับห้องเรียนทุกขนาด แต่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับห้องเรียนใหญ่ เราต้องการให้นักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนอย่างคุ้มค่า ต้องการให้นักเรียนกลับมาเข้าห้องเรียนอีกในวันข้างหน้า และต้องการให้พวกเขาได้ประโยชน์จากห้องเรียนมากๆ การทำให้ได้ทุกอย่างดังกล่าวในห้องเรียนใหญ่เป็นเรื่องยาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เอาเสียเลย ทำได้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้แบบกระตือรือร้น (active learning activities) ของผู้สอน ที่จะสามารถจัดการบรรยายให้ดีได้มากน้อยเพียงใด มีข้อแนะนำเป็นกลางๆ ดังนี้

·        ในห้องเรียนเราสามารถนำเสนออะไรต่อมิอะไรได้ตั้งหลายรูปแบบ อย่าใช้เสียงระดับเดียวตลอดระหว่างการบรรยาย อาจสร้างห้องเรียนให้มีปัญหาซักถามหรือตอบโต้กันบ้าง ควรใช้แบบฝึกหัดที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้หลายๆ อย่าง
ü ลดความเร็วและระดับเสียงลงเพื่อให้นักเรียนที่ไม่คุ้นเคยกับเสียงเราได้ปรับตัว
ü ใช้ท่าทางการทำมือ เพื่อสร้างความสนใจให้กับนักเรียน
·        ใช้ประโยชน์จากการสอนแบบบรรยายที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว: โดยกำหนดประเด็นหัวข้อที่มีอยู่แล้วในเอกสาร/หนังสือ เพื่อกำกับและควบคุมให้การเรียนรู้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
·        หาทางจัดการกับข้อจำกัดของการบรรยาย: เป็นเรื่องยากที่ที่จะทำให้นักเรียนที่ชอบนั่งอยู่ท้ายห้อง และคัดลอกอะไรก็แล้วแต่ที่ครูกำลังพูดโดยไม่ได้ประมวลสารสนเทศให้เป็นความรู้ หรือคิดให้ลึกๆ เสียก่อน ให้หยุดพูดทันทีหลังจากที่บรรยายประเด็นสำคัญของตอนนั้นจบลง และพยายามสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนว่าเราต้องการให้รู้ให้เข้าใจสิ่งใด
·        อย่าบรรยายอย่างเดียวหมดทั้งคาบเรียน: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้อธิบายการบรรยายด้วยภาพตัวอย่าง และพยายามตรวจสอบดูว่าได้ให้นักเรียนทำงานในรายวิชานี้ หรือไม่ก็ให้มีการถามคำถามเพื่อให้พวกเขาค้นหาคำตอบร่วมกันกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ กัน
ü ทำการสาธิตหรือแสดงตัวอย่างที่ดูแล้วน่าตื่นเต้นอย่างน้อยหนึ่งอย่างในการบรรยายแต่ละเรื่องแต่ละครั้ง ซึ่งภาพตัวอย่างหรือเรื่องเล่าที่ดูมีชีวิตชีวา จะช่วยทำให้นักเรียนจดจำบทเรียนตรงนั้นได้ดีกว่าการบรรยายธรรมดาๆ อีกทั้งยังทำให้มีความเข้าใจต่อเรื่องนั้นชัดเจนขึ้นด้วย
·   เตรียมการบรรยายเพื่อให้คนฟัง ไม่ใช่ให้คนดู: ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วยว่า เราได้ใส่ข้อมูลสารสนเทศในสไลด์หรือสื่อการสอนอย่างอื่นมากเกินไปหรือไม่ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่จะคัดลอกสิ่งต่างๆ จากการบรรยายลงสมุดบันทึกอย่างรวดเร็วเท่าที่พวกเขาจะทำได้ ฉะนั้นจึงควรทำสไลด์ให้สั้นกระชับ และทำให้เป็นคำพูด ให้นักเรียนได้ฟังว่าเราพูดอะไร แล้วค่อยบันทึกเฉพาะประเด็นหลักที่สำคัญๆ ต่อเรื่องนี้ มีงานวิจัยยืนยันว่า สไลด์ที่ใส่ภาพลงไปจะชักจูงใจนักเรียนให้ละจากตัวหนังสือที่ปรากฏอยู่ในสไลด์นั่น
·        จัดโครงสร้างการบรรยายแต่ละครั้งให้ดีๆ: เป็นเรื่องง่ายมากที่นักเรียนในห้องเรียนใหญ่จะถูกชักชวนให้หลุดออกจากการเรียนรู้ ฉะนั้นผู้สอนจะต้องมีกรอบการเรียนรู้ที่ชัดเจนในทุกๆ บทเรียน รวมทั้งอะไรก็ตามที่ต้องการบรรลุผล และตรงไหนที่จะต้องไปให้ถึง เขียนสรุปสั้นๆ เอาไว้ให้ทุกคนรับรู้ เมื่อบรรยายเสร็จก็บอกกล่าวให้นักเรียนทราบอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งเกริ่นนำไปถึงประเด็นที่จะมีการเรียนรู้ในคราวต่อไปด้วย
·        ให้เดินไปรอบๆ ห้องเรียน: สิ่งหนึ่งที่จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าเราให้ความใส่ใจต่อการเรียนรู้ของพวกเขามาก คือ การเดินเข้าไปหาพวกเขาใกล้ๆ เข้าไประหว่างช่องทางเดินระหว่างเก้าอี้นั่งของพวกเขา นักเรียนจะชอบตอบคำถามของเรา เมื่อเราไปยืนอยู่ตรงหน้าเขา ส่วนการยืนอยู่หน้าชั้นเรียนหรือบนโพเดียมของครู จะทำให้นักเรียนที่นั่งเรียนอยู่รู้สึกถอยห่างออกจากการเรียนรู้ในชั้นเรียน

การสร้างการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ

แม้ว่าจะสามารถจัดการห้องเรียนใหญ่ด้วยการสอนแบบบรรยายอย่างดีเท่าไรก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถทำให้นักเรียนมีความกระตือรือล้นต่อการเรียนได้ทั้งหมดทั้งมวล นักเรียนจึงต้องได้รับโอกาสเข้าถึงเนื้อหาตั้งแต่ในชั้นเรียน และร่วมเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นในชั้นเรียน มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (active learning) นี้ว่า

·        วางแผนแบบฝึกหัดที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบกระตือรือร้นเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเปิดห้องเรียนวันแรก โดยพยายามกำหนดรูปแบบห้องเรียนและนักเรียนให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาอย่าให้นักเรียนนั่งฟังเฉยๆ หรือไม่มีส่วนร่วม
·        จับคู่เรียนรู้ร่วมกัน มอบหมายงานใหม่ให้นักเรียนไปทำให้เสร็จก่อนการเรียนคราวต่อไปพร้อมอ่านและเตรียมคำถามที่เกี่ยวข้องมาด้วย โดยการเรียนในคราวต่อไปจัดให้นักเรียนจับคู่สอบถามปัญหาระหว่ากันและกัน
·        ใช้วิธีการสอนกันเอง การเรียนการสอนช่วงแนะนำรายวิชาฟิสิกส์และเคมีในระดับมหาวิทยาลัย ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนในห้องเรียนใหญ่โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันศึกษาค้นคว้า และนำมาสอนกันและกัน อย่างนี้เรียกว่า “การสอนกันเอง” เพราะในห้องเรียนใหญ่ เราสามารถแบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ และให้แต่ละกลุ่มสอนกลุ่มอื่นในประเด็นที่กลุ่มตนรับผิดชอบ โดยครูผู้สอนทำหน้าที่ดำเนินกระบวนการและตอบคำถามยากๆ ที่นักเรียนอาจไม่สามารถตอบได้
·        สร้างกลุ่มทำงาน เพื่อให้เกิดการประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรายวิชานี้ไปแก้ปัญหา
·        จัดให้มีการถกแถลงในชั้นเรียน ด้วยการแบ่งกลุ่มความคิด/ ประเด็น ออกเป็น 2 ส่วน ให้ได้ร่วมกันคิดค้นและเขียนจาดนั้นก็เปิดเวที ให้ทั้งสองฝ่ายได้ถกแถลงกันหน้าชั้นเรียน
·        จัดให้มีการระดมสมองขึ้นในชั้นเรียน ด้วยการท้าทายนักเรียนให้ร่วมกันสร้างหรือเสนอแนวทางการแก้ปัญหาบางอย่างที่เป็นไปได้ โดยมีแนวชี้แนะให้เกิดเป้าหมายเชิงตัวเลข ไม่ยกใครคนใดคนหนึ่งให้เด่นกว่าใครๆ และสุ่มแนวคิดของคนใดคนหนึ่งขึ้นมาแสดงในชั้นเรียน
·   สร้างปรากฏการณ์แปลกประหลาด ด้วยการสอนจบก่อนหมดเวลา 30 นาที แล้วใช้เวลาที่เหลือนั้นสนทนากันกับนักเรียนแบบไม่เป็นทางการ

ใช้เครื่องมือสื่อสารการสอนแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำสไลด์ให้สวยงามและมีภาพประกอบในการสอนห้องเรียนใหญ่ จะช่วยดึงดูดและตรึงความสนใจของนักเรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งยังมีวิธีการอื่นอีกหลายอย่างที่จะสามารถนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียนใหญ่ เป็นต้นว่า

·        ใส่ใจรายละเอียดของสไลด์: เราจะต้องแน่ใจว่า ไม่ได้ใส่ข้อมูลสารสนเทศในสไลด์มากเกินไป และมีการออกแบบสไลด์ให้สวยงามน่าดูแล้ว เป็นต้นว่าการไม่ใช้อักษรสีดำบนพื้นหลังสีเหลือง และต้องแน่ใจด้วยว่าขนาดอักษรไม่ได้น้อยกว่า 24
·        อย่าใช้ภาพและวิดีโอมากเกินจำเป็น: สไลด์ที่มีภาพอยู่ในนั้นหลายๆ ภาพ อาจรบกวนสิ่งสำคัญที่นักเรียนต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ รวมถึงการนำวิดีโอหลายๆ คลิปมาเปิดในห้องเรียน ก็ไม่ควรทำเช่นกัน
·   ใช้ระบบตอบสนองในชั้นเรียน (CRS: classroom response systems): ระบบตอบสนองในชั้นเรียนเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถตอบคำถามที่ผู้สอนโพสต์เอาไว้ ซึ่งครูจะสามารถวัดความรู้ความเข้าใจของนักเรียนได้ และมีข้อมูลอะไรที่ควรจะตั้งเป็นหัวข้อใหม่หรือย้ายไปยังหัวข้ออื่น หากจำเป็นต้องมีการอภิปรายหรือคำอธิบายเพิ่มเติม
·        ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปจัดการรายวิชา: ทุกวันนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่เข้าไปใช้โปรแกรมสำเร็จรูปจัดการรายวิชา ทำให้สามารถโพสต์ข้อคำถามที่ต้องการให้เกิดการถกแถลง การตั้งกลุ่มนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้น และโพสต์ตัวอย่างสื่อสร้างสรรค์ประกอบการเรียนรู้อื่นๆ เอาไว้ให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่าง
·        จัดระบบมีเดียแต่ละอย่างให้ดี: เราจะต้องแน่ใจว่าได้นำเอาคลิปสื่อสร้างสรรค์ที่มีคำอธิบายถึงสิ่งที่นักเรียนจะได้เห็น และบางทีอาจเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังค้นหากันอยู่ก็เป็นได้ หากว่าเราต้องการแสดงคลิปดีมีประโยชน์ที่มีความยาวมากๆ ก็สามารถทำได้ตรงนี้ โดยหลังจากที่นักเรียนได้ดูคลิปทั้งหลายแล้ว พวกเขาจะสามารถตอบคำถามที่ครูโพสต์เอาไว้ได้

สรุป

การสอนห้องเรียนขนาดใหญ่ ต้องใช้ทักษะอันจำเป็นคล้ายกับการสอนห้องเรียนขนาดเล็ก เพียงแต่ว่า มีสาระและปัจจัยที่จะต้องใส่ใจมากกว่า ดังกล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น รวมทั้งบทความย่อยๆ ที่สอดแทรกแนบมา และสุดท้าย Heppner (2007) ได้สรุปให้เห็นถึงหัวใจสำคัญที่จะต้องตระหนักให้ดี ดังนี้

·        รายวิชาที่สอนกันในห้องเรียนใหญ่ ไม่สามารถสอนสดๆ โดยไม่มีการเตรียมการได้ และไม่สามารถจัดการได้ในรูปแบบเดียวทั้งหมดตลอดภาคการศึกษาได้
·        ความสอดคล้องและตรงไปตรงมา เป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น ข้อกำหนดที่ระบุในแผนการเรียน (syllabus) หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องถือปฏิบัติตามนั้นตลอดทั้งภาคเรียน
·        อะไรที่เป็นนโยบายของรายวิชาทั้งหมดจะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องส่งให้นักเรียนโดยจัดเป็นส่วนหนึ่งของแผนจัดการเรียนรู้
·        อย่าเน้นที่นักเรียนที่เรียนอ่อนสุดมากเกินไป รวมถึงอย่าปฏิเสธคนที่สนใจเรียนมากกว่าคนอื่น
·        ต้องให้เวลาเตรียมการสอนห้องใหญ่อย่างเพียงพอ
·        ต้องสะท้อนออกมาว่าห้องเรียนเป็นอย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในอนาคต แม้ว่าจะสอนในเรื่องเดิมก็ตาม

การสอนห้องใหญ่ต้องใช้เวลาเยอะ ด้วยมีงานหลายๆ อย่างที่เตรียม ต้องทำอย่างจริงจัง แตกต่างจากการสอนห้องเล็ก แล้วก็ต้องวางแผนการดำเนินการตามนั้นทั้งหมด ซึ่งก็เหมือนการสอนในรูปแบบต่างๆ ที่ทำกันอยู่ การสอนห้องใหญ่ต้องใช้พลังทำงานเยอะ ต้องทำอย่างมีสติ และจะต้องปฏิบัติและสะท้อนกลับที่ดี

บรรณานุกรม

Barkley, E. F. (2010). Student engagement techniques: A handbook for college faculty. San Francisco, CA: Jossey-Bass.
Davis, B. G. (2009). Tools for teaching. San Francisco, CA: Jossey-Bass.
Golding, J. (2001). Teaching the large lecture course. In D. Royse (Ed.) Teaching tips for college and university instructors: A practical guide (pp. 95-120). Boston, MA: Allyn & Bacon.
Heppner, F. (2007).Teaching the large college class: A guidebook for instructors with multitudes. San Francisco, CA: Jossey-Bass.
Lowman, J. (1995). Mastering the techniques of teaching. San Francisco, CA: Jossey-Bass.
Staley, C. A., & Porter, M. E. (Eds.). (2002). Engaging large classes: Strategies and techniques for college faculty. San Francisco, CA: Anker (Jossey-Bass).

Svinicki, M. D., & McKeachie, W. J. (2011). McKeachies Teaching tips: Strategies, research, and theory for college and university teachers (13th ed,). San Francisco, CA: Wadsworth Cengage Learning.

เมืองระดับโลก - Global Cities

เมืองเป็นสถานที่ที่มีผลกระทบอย่างมากจากโลกาภิวัตน์ ซึ่งนับว่าน่าสนใจที่จะต้องทำการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในท้องถื่นที่ความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของโลก วรรณกรรมเกี่ยวกับเมืองส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอทฤษฎีเมืองที่ค่อนข้างโบราณด้วยการเน้นให้เห็นระบบระเบียบเชิงพื้นที่ภายในประเทศ ทั้งๆ ที่เมืองควรถูกมองไปในมิติของการพัฒนายุคใหม่ในฐานะศูนย์กลางการค้า อุตสาหกรรม และการบริหารจัดการ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการตลาดและการสร้างความเป็นปึกแผ่นของชาติ เมืองหลวงหลายแห่งจะเชื่อมโยงกับเมืองหลักที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ที่ติดต่อสัมพันธ์กันพื้นที่ในอาณัติโดยรอบ (hinterland) ทำให้โครงข่ายของเมืองเป็นสิ่งสนับสนุนส่งเสริมการบูรณาการเศรษฐกิจภายในเขตขัณฑสีมาของชาติ

แต่ว่ามันกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถป้องกันได้มากขึ้น ที่จะจำกัด “นคราศึกษา” (urban studies) เอาไว้แค่ในกรอบของประเทศใดประเทศหนึ่ง Janet Abu-Lughod (1971, 1989, 1994) นักชาติพันธุ์ศาสตร์เมือง (urban ethnographer) ที่มีชื่อเสียง ได้ทำการโต้แย้งและแสดงในงานของเธอว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาเมืองเดี่ยวๆ จากระบบนานาชาติ ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 มีนักวิชาการคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Hall (1984), Friedmann and Wolff (1982), Friedmann (1986) และ Knox and Taylor (1995) ที่มีบทบาทต่อการสร้างทฤษฎีระบบโลก เขียนถึง “เมืองของโลก” (world cities) ทฤษฎีลำดับศักย์ของเมืองที่เคยสร้างกันไว้เมื่อก่อน ได้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถจัดกลุ่มเมืองให้อยู่ในแต่ละลำดับศักย์ได้เป็นชั้นแรก ชั้นที่สอง และชั้นที่สาม และนั่นเป็นการจัดลำดับเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่สมมุมิตฐานที่ว่าด้วยเมืองของโลกเกิดขึ้นภายใต้มุมมองระดับนานาชาติ บอกเราว่า ลำดับศักย์ของเมืองในระดับนานาชาติก็มีให้เห็นอยู่ กล่าวคือ มีเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า ศูนย์กลางการเงิน หรือศูนย์กลางความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในระบบการแบ่งงานทำตามความถนัดในระดับนานาชาติ (international division of labor) นั้น มีเมืองที่อยู่ในพื้นที่แกนกลาง (core) เมืองบริเวณกึ่งกลางระหว่างแกนกับขอบ (semi-periphery) และเมืองบริเวณพื้นที่ชายขอบ (periphery) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มประเทศแกนกลาง กลุ่มประเทศชายขอบ และกลุ่มประเทศบริเวณกึ่งกลาง ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการศึกษาเพียงไม่กี่ฉบับที่ชี้ลงไปว่า มีความขัดแย้งระหว่างการผลิตแบบโลกาภิวัตน์ภายในกรอบการเมืองแบบรัฐชาติกับประโยชน์เหนือดินแดนมากขึ้น หากสมมุติฐานว่าด้วยเมืองของโลกถูกดำเนินการภายในกรอบรัฐชาติ/ระบบข้ามชาติ

ข้อเสนอของ Sassen เกี่ยวกับเมืองระดับโลก ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในบริบทของวิวัฒนาการพาราศึกษาที่เน้นความเป็นนานาชาติและข้อเสนอ “เมืองสารสนเทศ” (informational city) ของ Castelles (1989) เพียแต่ว่า Sassen นำเอาโครงการสร้างความเป็นนานาชาติ (internationalization) มาใช้ทำการศึกษา นำเอาทุกๆ สิ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาแบบนานาชาติเป็นการศึกษาข้ามชาติ หรือการศึกษาระดับโลก เธอได้สร้างทฤษฎีเป็นระเบียบทางพื้นที่ระดับโลกใหม่ ที่มีการเคลื่อนย้ายเงิน สารสนเทศ และผู้คนทั่วโลก ผ่านโครงข่ายเมืองข้ามชาติ (transnational networks of cities) แล้วขมวดเป็นคำเฉพาะเพื่อใช้อธิบายว่า “เมืองระดับโลก” เมื่อปี 1984 เพื่อเคลื่อนหน่วยการวิเคราะห์ข้ามจากระบบรัฐชาติ/ระบบระหว่างรัฐ และเพื่อแยกแยะความแตกต่างของความเป็นสากลของโลกเมื่อได้รับการจัดโครงสร้างในยุคปัจจุบัน ระเบียบทางพื้นที่ใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้โลกาภิวัตน์บนฐานโครงข่ายเมืองระดับโลก มีมหานครนิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว เป็นตัวแทน เมืองระดับโลกเหล่านี้มีการเปลี่ยนผ่านที่แสดงออกทางพื้นที่ที่มีการสะสมและมีการจัดวางโครงสร้างเชิงสถาบันเอาไว้ด้วย Sassen ระบุว่าทุกอย่างที่กล่าวข้างบนนี้ทำให้สามารถแบ่งประเภทของรูปแบบเชิงพื้นที่ของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ 4 ประเภท ประกอบด้วย ย่านบริเวณอุตสาหกรรมส่งออก (export-processing zones) เช่น Maquiladora ที่อยู่ตลอดแนวชายแดนสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก ศูนย์กลางการธนาคารนอกประเทศ (offshore banking centers) เช่น เกาะไกแมน ประเทศบาห์เรน ย่านอุตสาหกรรมไฮเทค (high-tech districts) เช่น ซิลิกอนแวลเล่ย์ และเมืองระดับโลก (global cities)

ในการพัฒนาข้อเสนอของเธอนั้น Sassen ได้เน้นย้ำถึงทวิลักษณ์ของเศรษฐกิจโลก คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการกระจายไปตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก ขณะเดียวกันก็มีการจัดการกิจกรรมเศรษฐกิจแบบบูรณาการทั่วทั้งโลก การผลิตข้ามชาติจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแตกตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปมากมายข้ามโลก หรือเชื่อมต่อกันเป็นห่วงโซ่ จึงมีคำถามอยู่ว่า ความเชื่อมโยงแต่ละชั้นเหล่านี้กับการกระจายอยู่รอบโลกของกระบวนการเศรษฐกิจ สัมพันธ์กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับโลกอย่างไร มันเป็นการผสมเอาการกระจายทางพื้นที่และบูรณาการระดับโลก ที่สร้างบทบาทใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของเมืองสำคัญๆ การเชื่อมเมืองเหล่านี้เข้าด้วยกันจึงกลายเป็นกลไกการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับโลกขึ้นมา

ข้อเสนอของ Sassen มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเมืองที่อาจยอมรับได้ยากบางอย่าง เพื่อทำความเข้าใจกับข้อแถลงไขที่เป็นประโยชน์ของเธอ จะต้องนึกย้อนกลับไปที่บทบาทสำคัญในการขยายตัวทางการเงินที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งมีงานวิจัยโลกาภิวัตน์จำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการครอบครองโลกของทุนทางการเงิน ที่เรียกกันว่า “ธนากิจภิวัตน์” (financialization) โดยนับแต่ทศวรรษ 1970 ธนกิจข้ามเขตแดนเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วราวกับจรวด มีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980-1990 จาก $3.24 หมื่นล้าน เป็น $7.5 ล้านล้าน (Robinson, 2004) ในแต่ละวันของช่วงต้นศตวรรษที่ 21 มีปริมาณเงินตราที่ใช้ทำการค้าเก็งกำไรและกิจกรรมทางการเงินแบบอื่นหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อย่างเมื่อปี 1994 คาดว่าผลประกอบการรายวันในตลาดหุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 10 แห่งมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ส่วนปริมาณเงินตราที่ใช้ทำการค้าขายสินค้าและบริการมีเพียงร้อยละ 1 ของปริมาณทั้งหมดเท่านั้น (Pettman, 1996) ด้วยปริมาณ ความเข้มข้น และความซับซ้อนของการซื้อขายธนกิจระดับโลกมีมากขึ้นตลาดห้วงเวลาที่กล่าวมา ดังนั้น การเงินการธนาคารจึงถูกแยกออกจากการผลิตไปเป็นอีกส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ

โลกาภิวัตน์ทางการเงิน (financial globalization) นี้ ได้รับการส่งเสริมอย่างมากในทศวรรษ 1980 และ 1990 โดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยการปรับลดกฎระเบียบเกี่ยวกับระบบการคลังและตลาดหลักทรัพย์ จัดประเด็นเหล่านี้เป็นนโยบายของประเทศที่จะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้เอื้อต่อการเปิดรับและขยายตัวสู่ระบบเศรษฐกิจระดับโลก อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญที่เป็นกลไกในการอนุญาตให้เกิดธนกิจภิวัตน์ระดับโลกขึ้น คือ การสร้างเครื่องมือทางการเงินใหม่ที่เรียกว่า “ตราสารอนุพันธ์” (derivative) โดยตราสารอนุพันธ์การเงินเป็นวิธีแปลงเงินตราไปเป็นเครื่องมือในการค้าขายสินค้า เช่น หุ้นและพันธบัตรในตลาดแลกเปลี่ยนนานาชาติ การลงทุนสถาบัน (ได้แก่ บริษัทประกันภัย กองทุนบำเหน็จบำนาญ ผู้จัดการการลงทุน ธนาคารทรัสต์) การเงินในตลาดสินเชื่อ และรูปแบบอื่นๆ ของการสร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยการสร้างวความมั่นคงทางการเงิน (securitization) หมายถึง รูปแบบต่างๆ ของการออม (เช่น การจำนอง หนี้สินภาครัฐ) ที่สามารถเปลี่ยนรูปไปสู่การเป็นเครื่องมือทำการค้าขายได้ หมายถึงสร้างกำไรจากการทำกิจกรรมเศรษฐกิจได้ เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาพิจารณาในการทำกิจกรรมการเงินที่ไม่ต้องพึ่งพาธนาคาร หากแต่ดำเนินการในสถานบันการเงินแบบใหม่ ณ สำนักงานนายหน้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในระบบเศรษฐกิจระดับโลก การกระจุกตัวอยู่ของกองเงินต่างๆ กลายเป็นแรงจูงใจแก่ผู้ค้า หรืออาจเป็นผลในแง่ลบกรณีที่ต้องเป็นหนี้ หรือไม่ก็อาจเป็นผลบวกในกรณีของกองทุนบำนาญ ทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นอย่างหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จหลักของนวัตกรรมทางการเงินในทศวรรษ 1980

หากว่าทั้งหมดนี้ยังเป็นสิ่งที่สับสนอยู่ ให้นึกถึงนักลงทุนข้ามชาติที่สะสมเงินเอาไว้ แต่ยังไม่สามารถหรือไม่ต้องการลงทุนผลิตสินค้าใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือสร้างการค้าขายอะไรบางอย่างขึ้นมา พวกเขากลับนำเงินไปลงทุนในภาคการเงินแทน มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเก็งกำไรเงินตรา แต่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตราสารอนุพันธ์การเงินที่เพิ่งโผล่ออกมาให้โลกเห็นเมื่อทศวรรษ 1970 และรุ่งเรืองอยู่จนทุกวันนี้ ตราสารอนุพันธ์การเงินเหล่านี้ก่อให้เกิดสถาบันการเงินแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อสร้างกำไรจากการจัดการหมุนเววียงเงินตรารอบโลกผ่านเศรษฐกิจโลก รูปแบบใหม่ของการสร้างกำไรจากกิจกรรมการเงินจึงมีความสัมพันธ์กับทุนนิยมระดับโลก

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือเป็นพื้นฐานทำให้เข้าใจถึงการเพิ่มความมสำคัญของเมืองระดับโลก ในฐานที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก การเติบโตและความสำคัญที่มีมหาศาลของอุตสาหกรรมการเงินภายใต้โลกาภิวัตน์นั้น ต้องการโครงสร้างพื้นฐานของการบริการเฉพาะอย่างที่มีขนาดใหญ่มากมาสนับสนุน ทำให้สำนักงานใหญ่ของธุรกิจแบบนี้เลือกตั้งอยู่ในเมืองระดับโลก คอมเพล็กซ์ทุนทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองที่สำคัญที่สามารถสร้างการประสานงานให้กับระบบการเงินแบบบูรณาการทั่วโลก แต่ว่าเนื่องจากกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติโดยทั่วไปยังคงพึ่งพาและบูรณาการกับระบบการเงินระดับโลก เมืองระดับโลกจึงกลายเป็นผู้อำนวยให้มีสิ่งบริการที่เป็นปัจจัยสำหรับบรรษัทข้ามชาติที่มีมักมีสำนักงานอยู่ในเมืองแห่งเดียวกัน

การบริการเฉพาะอย่างที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองระดับโลกที่รู้จักกันดี คือ การบริการผู้ผลิต (producer services) เป็นการบริการและปัจจัยนำเข้าที่ถูกใช้ไม่ใช่เพียงแค่ภาคสาธารณะเท่านั้น แต่บรรษัทก็จำเป็นต้องใช้เพื่อกิจกรรมการผลิตและการค้า เป็นผลผลิตขั้นกลางให้แก่ผู้ผลิต เป็นบริการปัจจัยสำหรับธุรกิจมากกว่าเป็นวัตถุดิบให้กับการผลิต การบริการผู้ผลิตประกอบด้วย บริการทางการเงิน (เช่น ธนาคาร) บัญชี โฆษณา ประกันภัย ที่ปรึกษาการจัดการ วิจัยและพัฒนา บริการกฎหมาย ประชาสัมพันธ์ เทคโนโลยีการผลิต สื่อสารคมนาคม บำรุงรักษา บริการทำความสะอาด ความปลอดภัย และอื่นๆ โดยการบริการผู้ผลิตเหล่านี้จะถูกปรับแปลงให้สามารถอำนวยประโยชน์ทั้งในแบบจำหน่ายและจำหน่ายซ้ำ Sassen (1991) กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า “หัวใจของการวิเคราะห์ คือ ต้องเน้นเกี่ยวกับชนิดการผลิตที่พึ่งพาการบริการเพิ่มขึ้น และต้องเน้นเกี่ยวกับนวภิวัตน์และอุตสาหกรรมิวัตน์ของเทคโนโลยีการบริการเป็นอย่างมาก”

Sassen นำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อให้เห็นว่า ธนาคารระดับโลก บรรษัทด้านความปลอดภัย ธุรกิจบริการทางกฎหมาย การบัญชี และการบริการผู้ผลิตอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในโลก กระจุกตัวกันอยู่ในเมืองระดับโลกที่สำคัญ แม้ว่าธุรกิจบริการผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ใกล้กับลูกค้า แต่ว่าก็จะต้องตั้งอยู่อย่างสัมพันธ์กับสิ่งบริการ เช่น ธุรกิจบัญชีจำเป็นต้องอยู่ใกล้กับธุรกิจบริการกฎหมาย และใกล้กับธุรกิจบริการด้านการจัดการ ซึ่งจะต้องรวมตัวกันอยู่ในเมืองระดับโลก การบริการผู้ผลิตที่รวมตัวกันอยู่ในเมืองใหญ่ๆ มีการเติบโตขึ้นเร็วมากๆ ในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ขณะเดียวก็เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคที่กำลังพัฒนา เอกสารของ Sassen หลายฉบับ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมากของธุรกิจบริการผู้ผลิตในหลายประเทศ เหตุผลหนึ่งที่เป็นตัวหนุนหลังการเติบโตที่ว่านี้ คือ ความต้องการใช้บริการเพื่อการจัดการของทุกๆ อุตสาหกรรมและของระบบเศรษฐกิจทั่วไปที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง การบริการผู้ผลิตจึงมีการเชื่อมกันเป็ฯโครงข่ายในเมืองระดับโลก โดยสรุปแล้ว Sassen กล่าวว่า การกระจายตัวของบรรษัทข้ามชาติ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการผลิตแบบนานาชาติ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องใช้การบริการผู้ผลิตนานาชาติที่มีอยู่ ซึ่งจะมีอยู่ในเมืองระดับโลกเป็นส่วนใหญ่

Sassen ต้องการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเมืองระดับโลกในการควบคุมการผลิตของโลก (global control) โดยเธอกล่าวถึงพลังอำนาจของบรรษัทขนาดใหญ่ว่า ไม่เพียงพอที่จะใช้อธิบายศักยภาพในการควบคุมระดับโลกได้ การกระจายตัวในดินแดนต่างๆ ของกิจกรรมเศรษฐกิจที่เป็นเครื่องหมายตีตราเศรษฐกิจระดับโลก ทำให้เกิดความจำเป็นต้องขยายศูนย์กลางการควบคุมและการจัดการ ซึ่งนำไปสู่การรวมตัวกัน หรือเกิดตรรกะใหม่ของการรวมตัวกันขึ้น โครงข่ายของเมืองระดับโลก คือ ระบบใหม่ของความร่วมมือกันเพื่อปฏิบัติกิจกรรมเศรษฐกิจระดับโลก เศรษฐกิจระดับโลกอีกนัยหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระจายระบบการผลิตออกไปทั่วโลก พร้อมๆ กับการรวมศูนย์กลางการกำกับและควบคุมระบบการผลิตเอาไว้ภายในเมืองระดับโลก ตรงนี้ Sassen (1991) ใช้ความเข้าใจพื้นฐานทางสังคมวิทยาขององค์กร อธิบายว่า มีความซับซ้อนของกลไกการประสานงานเพิ่มขึ้น เมืองระดับโลกจะเชื่อมโยงสิ่งหนึ่งเข้าด้วยกันกับสิ่งอื่น จนกลายเป็นศูนย์บัญชาการระบบการผลิตที่หลากหลายและที่แตกกระจายออกไปสู่ภูมิภาคส่วนต่างๆ มีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ที่ตั้งหลายแห่งเชื่อมโยงกัน ธุรกิจบริการ และธุรกิจธนาคาร ได้ร่วมกันสร้างอุปสงค์ต่อการบริการผู้ผลิตและศูนย์รวมการควบคุมระดับโลกขึ้นมา แล้วยังนำไปสู่การรื้อฟื้นขั้วความเจริญ หรือ growth pole กลับมาใช้ประโยชน์ในระดับเศรษฐกิจระดับโลกกลับมาอีกครั้ง

Sassen (1991) ได้ระบุถึงบทบาทสำคัญ 4 อย่างของเมืองระดับโลก คือ

1) เป็นศูนย์ควบคุมการจัดการเศรษฐกิจโลก
2) เป็นที่ตั้งหลักของธุรกิจบริการทางการเงินและบริการเฉพาะอย่าง ให้บริการการผลิต ได้แก่ การบริการแบบมืออาชีพ การบริการปัจจัยแก่บรรษัทข้ามชาติ เพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจระดับโลก
3) เป็นที่ตั้งของการผลิตสินค้าและนวัตกรรม และสำนักงานใหญ่ของธุรกิจบริการการผลิต (producer-service firm) และ
4) เป็นตลาดสำหรับสินค้าและนวัตกรรมที่ผลิตอยู่ในเมือง

เมืองระดับโลกไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ที่เป็นอาณาเขตดินแดนภายในประเทศ แต่จะเชื่อมโยงกับเมืองศูนย์ระดับโลกอื่นๆ รอบโลก และพื้นที่บริเวณชายของของระบบโลกหรืออาณาเขตดินแดนข้ามชาติ มีความไม่ต่อเนื่องเป็นระบบบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่ใช้เป็นฐานความคิดของการเติบโตระดับชาติกับรูปแบบต่างๆ ของการเติบโตในเมืองระดับโลก จากการวิเคราะห์ของ Sassen ชี้ให้เห็นความสำคัญมากที่สุดของเมืองระดับโลก 3 แห่ง คือ นิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว ที่มีการปรับโครงสร้างใหม่จากเมืองอุตสาหกรรมยุคก่อน ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการการผลิตที่เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจระดับโลก ที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับเมืองระดับโลกอย่างเป็นระบบ ไม่ได้มุ่งสร้างความหลากหลายเพื่อการแข่งขันระหว่างกันและกัน

 Sassen ให้ความสนใจอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบสังคมและวัฒนธรรมของเมืองและชายขอบของเมือง ที่โลกาภิวัตน์มีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยกระบวนการของโลกจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมของเมือง การปรับแปลงการจัดการแรงงาน การกระจายความมั่งคั่งร่ำรวย ความสัมพันธ์ของชนชั้นกับการบริโภค และนำไปสู่การจัดลำดับศักย์ทางสังคมและความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ สำหรับชนชั้นทางสังคมในเมืองระดับโลกนั้น Bell (1976) และ Toffler (1980) ระบุว่าถูกป่นจนละเอียดจากเศรษฐกิจบริการ ส่วน Sassen มองเห็นว่าเกิดมีงานบริการการผลิตที่ถือเป็นงานในระบบเศรษฐกิจระดับโลกขึ้น ด้านหนึ่งจึงทำให้เกิดภาคการผลิตที่สร้างรายได้สูงขึ้นมาใหม่ เป็นงานในลักษณะมืออาชีพ ได้แก่ การจัดการการลงทุน วิจัยและพัฒนา บริหารจัดการและงานบุคคล ฯลฯ ทุกอย่างเป็นงานที่สร้างความสนุกสนานตื่นเต้นให้กับชีวิตแต่ละสไตล์ เกิดชนชั้นมืออาชีพรุ่นใหม่ของเมือง (young urban professional) นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ทำงานด้วยการใช้ทักษะน้อย ได้แก่ เสมียน คนทำความสะอาด รักษาความปลอดภัย และงานบริการบุคคล ยังมีประเด็นเชิงทฤษฎีที่สำคัญที่ Sassen ได้นำเสนออีก นั่นคือ พลวัตของความเก่งกล้าแบบใหม่ (new valorization dynamic) ที่มีอยู่ในเมืองระดับโลก ด้วยเหตุที่มีคนงานบางกลุ่ม ธุรกิจบางแห่ง และภาคการผลิตบางอย่างอาจหาญ แต่ส่วนอื่นกลับไม่กล้าเปลี่ยนแปลง การปลูกฝัง (สร้าง) กระบวนการผลิตและตลาดระดับโลกนี้ Sassen (2000) ชี้ว่าคือการกำหนดพลวัตของความกล้าหาญแบบใหม่ ที่เป็นเงื่อนไขชุดใหม่สำหรับการกำหนดค่าหรือราคาให้กับกิจกรรมและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า ระดับราคาและกำไรที่สูงของภาคการผลิตระดับโลกและกิจกรรมเสริม เช่น ส่วนบนสุดของไลน์ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม จะมีความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้นกว่าธุรกิจอื่นที่เป็นคู่แข่งขันในพื้นที่และการลงทุน ร้านอาหารใกล้บ้านแบบเดิมจะถูกแทนที่ด้วยภัตตาคารบูติกและคาร์เตอร์แบบใหม่ ที่สามารถสร้างรายได้ให้สูงขึ้นสำหรับชนชั้นสูงในเมือง ใครก็ตามที่มีประสบการณ์เดินทางเข้าไปในนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว และเมืองระดับโลกอื่นๆ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีการพูดถึงชุมชนที่ผู้มีรายได้น้อย วันๆ ต้องปากกัดตีนถีบ อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้แพงมาก รวมไปถึงค่าเดินทางและค่าอาหารแบบที่คนคนจนไม่สามารถหารับประทานได้ด้วย

ยังมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในเมืองเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้สูงที่หลั่งไหลเข้ามาอาศัยใหม่ (gentrification) และการเพิ่มค่าของทุนทรัพย์ด้วยการปรับรูปแบบการใช้แรงงานในการผลิต (valorization dynamic) ด้วยการผลักราคาขึ้นไปสู่ระดับบนแต่ว่าใช้แรงงานราคาถูกที่มีอยู่จำนวนมาก การรวมตัวกันอยู่ของแรงงานค่าจ้างสูงในเมืองระดับโลกจึงอำนวยให้เกิดการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและย่านการค้าในเขตเมืองขึ้นมาใหม่ นั่นก็เป็นเหตุให้เกิดการสร้างหรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยของแรงงานบริการราคาถูก ที่ทำงานดูแลที่พักอาศัย คนงานในร้านอาหาร คนเตรียมอาหาร คนเลี้ยงสุนัข คนประคองวิ่ง คนทำความสะอาด คนเลี้ยงเด็ก ฯลฯ จึงมีความจริงที่ว่า งานจำนวนมากเหล่านี้อยู่นอกเหนือรายการที่กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การขยายตัวของงานในสังคมสารสนเทศ การได้รับค่าจ้างน้อย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย และหน้าที่การงาน ผูกพันอยู่กับกิจกรรม 4 อย่าง ประกอบด้วย 1) งานบริการผู้ผลิต เช่น เสมียน คนทำความสะอาด 2) งานบริการไลฟ์สไตล์ให้แก่คนทำงานที่ใช้ทักษะขั้นมืออาชีพ 3) งานบริการภายในชุมชนใหม่ที่ได้ค่าจ้างค่อนข้างต่ำ และ 4) งานอุตสาหกรรมที่ลดระดับไปผลิตในประเทศด้อยพัฒนา

Sassen (1998) ต้องการนำวาทกรรมของเธอเกี่ยวกับทุนระดับโลกและการอพยพข้ามชาติมารวมกัน ซึ่งทำให้ต่อมาเธอได้ข้อสรุปออกมาเป็น “โลกาภิวัตน์ของแรงงาน” (globalization of labor) โดยทั้งสองอย่างที่นำมารวมกันอยู่ในทวิลักษณ์ของการบูรณะย่านใจกลางเมืองและย่านศูนย์กลางธุรกิจในเมืองระดับโลกที่เก่า-ทรุดโทรม ให้มีความงดงามขึ้นมา กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย พยุหะของแรงงานบริการราคาถูก และคนงานในอุตสาหกรรมลดชั้น เหล่านี้ล้วนเป็นผู้อพยพมาจากประเทศโลกที่สามเพื่อเข้ามาทำงานที่ไม่เป็นทางการ หรืออาจเป็นงานนอกระบบ งานชั่วคราว งานพาร์ทไทม์ งานคอนแทรค ฯลฯ ที่ไม่ค่อยมีความมั่นคง และได้รับประโยชน์ตอบแทนน้อย การหลั่งไหลในโลกาภิวัตน์ของแรงงานถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาการเงินและการหมุนเวียนทุนระดับโลก ดังนั้น โลกของความแตกต่างทั้งหลายจึงถูกนำมาแสดงให้เห็นได้ในเมืองระดับโลก

 Sassen สังเกตุเห็นเสน่ห์ของเมืองระดับโลกที่เป็นสิ่งดึงดูดประชากรจำนวนมากให้อพยพเข้ามาเป็นช่างฝีมือ ทำงานอุตสาหกรรม ทำงานค่าจ้างราคาถูก ทำงานรับใช้ในครัวเรือน ทำงานสกปรกในระบบเศรษฐกิจระดับโลก มีการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นระหว่างคนงานฝีมือดีที่มีอยู่ราวร้อยละ 20 ของประชากรเมือง กับอีกร้อยละ 80 ที่เหลือที่เป็นคนทำงานบริการ ซึ่งไม่ได้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกัน เพราะแต่ละกลุ่มมาจากต่างชาติต่างวัฒนธรรม Sassen (1991) นิยามกลุ่มหลากหลายวัฒนธรรมนี้ว่า “การแตกกลุ่มออกจากประเทศ” ความเชื่อมโยงของบริเวณพื้นที่กลางมหานครนิวยอร์ก ซิตี้ ที่มีกับใจกลางมหานครเซา เปาโล นั้น มีมากมายกว่าการเชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบของเมืองเอง เมืองระดับโลกเป็นกลไกการสกัดส่วนเกินใหม่ที่มีต่อพื้นที่ห่างไกลข้ามชาติ การจัดการทางพื้นที่และสังคมใหม่เพื่อการผลิตมีความสัมพันธ์กับการกระจายการเข้าถึงของตลาดแรงงานบริเวณชายขอบ ที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานหรือรับงานกลับไปทำที่บ้าน โดยไม่ต้องทำลายสถานการณ์อันไม่เอื้ออำนวยบริเวณชายขอบลงแต่อย่างใด” การลดลงของค่าจ้างจะลงไปสู่จุดที่การผลิตสินค้าแบบโรงงานนรกในมหานครนิวยอร์กหรือลอนดอน

ดังนั้น เราจะเห็นการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นของกลุ่มแรงงานข้ามชาติหญิงชายและชาติพันธุ์ในเมืองระดับโลกเหล่านี้ ซึ่งพวกเขาต้องทำงานแบบไม่เป็นทางการและใช้สารสนเทศอย่างเข้มข้น ภูมิศาสตร์สังคม (social geography) เกี่ยวกับเมืองระดับโลก เป็นหนึ่งประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งแยกสีผิวและชนชั้นเชิงพื้นที่ที่ Mike Davis (1992) ให้ความสนใจและเขียนหนังสือคลาสสิคสมัยใหม่ City of Quartz แสดงพื้นที่ของมหานครลอส แองเจลีส ในรูปแบบเมืองระดับโลกที่แสดงความหลากหลายของดินแดน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนารัฐขึ้นมาใหม่ การลดขนาดของการฟื้นฟูเมือง ความหลากหลายของสำนักงานและบ้านเรือนที่หรูหรา วัฒนธรรมการค้าแบบใหม่ และรูปแบบการบริโภคที่เด่นๆ อีกทั้งความยากจนยังคงกระจุกตัวกันในบางพื้นที่มากขึ้นมาก มีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของคนผิวดำที่เข้ามสอยู่ก่อนในย่านชานเมือง ภาวะยากจนทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ผู้คนไร้บ้านมีจำนวนมาก และการสลายตัวทางสังคมควบคู่ไปกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของชั้นบน

Source: Robinson, William I. (2009). “Saskia Sassen and the Sociology of Globalization: A Critical Appraisal.” Sociological Analysis. Volume 3, No. 1, (Spring): pp.5-29.