หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระบบนิเวศของทะเลใต้

ปัจจัยทางกายภาพและห่วงโซ่อาหารของแอนตาร์คติกา

ระบบนิเวศของแอนตาร์คติกาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากปัจจัยทางกายภาพ อันได้แก่ อากาศและภูมิอากาศ น้ำแข็ง และกระแสน้ำ ในมหาสมุทรแอนตาร์คติกานั้น เมื่อน้ำแข็งขยายตัวครอบคุลมพื้นที่กว้างขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในระบบนิเวศของฟีโตแพลงค์ตอน (Phytoplankton) ชนิดต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตชั้นต้นในระบบนิเวศ ผลลัพธ์จากการแข่งขันดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องไปถึงการแข่งขันระหว่างชนิดพันธุ์ของซูแพลงค์ตอน (Zooplankton) ที่เป็นผู้บริโภคชั้นต้นในระบบนิเวศ บางปีช่วงหน้าหนาวจะหนาวเย็นกว่าบางปี นั่นจะทำให้แผ่นน้ำแข็งปกคลุมหนาขึ้นๆ หน้าหนาวของปีที่หนาวเย็นนั้นเองที่จะทำให้ฟีโตแพลงค์ตอนจำพวกไดอะตอมส์ (Diatoms) เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งไดอะตอมส์นี่เองที่เป็นอาหารอันโอชะที่ตัวเคย (Krill) ชอบนักชอบหนา และตัวกริลนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นอาหารให้กับสัตว์ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดในสายใยอาหารของมหาสมุทรแห่งนี้ เมื่อหน้าหนาวมีความหนาวเย็นมากกว่าปรกติ ในมหาสมุทรก็จะมีน้ำแข็งปกคลุมมากตามไปด้วย ทำให้ทุกๆ กลุ่มในสายใยอาหารทำหน้าที่ในระบบนิเวศได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีพลังงานจากอาหารถูกส่งผ่านจากระดับการป้อนต่ำกว่าไปยังระดับการป้อน (Trophic Levels) ที่สูงกว่า

หากสถานการณ์ตรงข้าม หน้าหนาวไม่หนาวเย็นมากนัก น้ำแข็งส่วนใหญ่ละลายไปกับกระแสน้ำ และชนิดพันธุ์ต่างๆ ของฟีโตแพลงค์ตอนก็จะได้รับประโยชน์ ทำให้สามารถขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก

ฤดูหนาวที่อุ่นกว่าเป็นที่โปรดปรานของฟีโตแพลงค์ตอนขนาดเล็กจำพวกไครปโตไฟตส์ (Cryptophytes) โชคไม่ค่อยดีนัก ที่สิ่งเหล่านี้ไปถูกบริโภคจากตัวเคย ทำให้พลังงานอาหารจากไครปโตไฟตส์ถูกส่งผ่านเข้าไปในสายใยอาหาร ประชาชนของไครปโตไฟตส์จึงเพิ่มจำนวนขึ้นมหาศาล ขณะที่ไดอตอมกลับตรงกันข้าม เพราะทั้งของชนิดพันธุ์เป็นคู่แข่งกันในการหาอาหาร เมื่อไดอตอมมีจำนวนน้อยก็หมายความอาหารของตัวเคยก็น้อยลงไปด้วย ทำให้ตัวเคยที่เป็นอาหารของสัตว์มีกระดูกสันหลังก็มีจำนวนน้อยลง ผลกระทบจึงตกมาอยู่กับสัตว์ผู้ล่าชั้นสูง

ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา ความหนาวเย็นที่มีผลอย่างมากต่อพัฒนาการของน้ำแข็งในมหาสมุทรแผ่วลงๆ ทำให้ประชากรกริลลดลงอย่างมาก ปรากฎการณ์นี้พบเห็นได้ไม่ยากเลยในแอนตาร์คติกา เป็นปรากฎการณ์ที่สายใยอาหารได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่ยอมรับว่าแนวโน้มความร้อนบนโลกของเราในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของวัฎจักรที่เกิดขึ้นเป็นระยะยาวของความร้อนและความเย็นของโลก หรือว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ในศตวรรษปัจจุบันนี้มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากซากบรรพชีวิน (Fossil Fuels) เพิ่มมากขึ้นๆ ซึ่งทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มมากตามไปด้วย และก็เป็นที่รู้กันว่า ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์นี้เองที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน หากแนวโน้มความร้อนที่มีการเก็บข้อมูลเอาไว้ได้รับการยืนยันว่า เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบของภูมิอากาศบนโลก ความต่อเนื่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก็จะส่งสัญญาณอันตรายไม่เฉพาะแต่ทวีปแอนตาร์คติกาเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อโลกทั้งใบเลยทีเดียว

โครงสร้างทะเลแนวดิ่งและฟีโตแพลงค์ตอน

โครงสร้างแนวดิ่งของมหาสมุทรถูกกำหนดด้วยความหนาแน่นของน้ำ ซึ่งถูกกำหนดด้วยอุณหภูมิและความเค็มอีกชั้นหนึ่ง
• ความเค็ม คือ การสะสมตัวของเกลือที่ละลายน้ำอยู่
• หากเกลือสะสมอยู่มาก ความหนาแน่นของน้ำจะสูงตาม
• น้ำที่เย็นมากๆ ก็จะมีความหนาแน่นมากด้วย
ดังนั้น น้ำเย็นที่เค็มจะมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำจืดที่อุ่น ก็จะมุดจมลงไปอยู่ก้นสมุทร ขณะที่น้ำอุ่นจะผุดขึ้นมาอยู่ด้านบน การกระจายของน้ำทั้งสองแบบนี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในมหาสมุทร จนกลายเป็นย่านความหนาแน่นของน้ำที่ต่างกัน

ฟีโตแพลงค์ตอนจำเป็นต้องใช้แสงและธาตุอาหารในการเติบโตและสืบพันธุ์ ปัญหาหนึ่งที่พบเนื่องจากแหล่งแสงมาจากด้านบน แหล่งธาตุอาหารมาจากด้านล่าง การสังเคราะห์แสงจะเกิดขึ้นไปเฉพาะย่านที่เรียกว่ายูโฟติก (Euphotic Zone) การเคลื่อนไหวแบบปั่นป่วนของน้ำที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เป็นต้นว่าแรงลมที่ผิวหน้าน้ำทะเล หรือคลื่นใต้น้ำ เหล่านี้ทำให้เกิดการผสมปนเปกันของน้ำที่อยู่ในแต่ละระดับ ด้วยการผสมกันนี้ทำให้ธาตุอาหารจากน้ำชั้นล่างถูกดันขึ้นมาอยู่ในย่านยูโฟติก ที่ที่ฟีโตแพลงค์ตอนสามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และคลอโรฟิลล์เพื่อการเติบโตและสืบพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

เมื่อลมยังคงพัดแรงอย่างต่อเนื่องลงไปข้างล่าง การปั่นป่วนจะถูกกระทำโดยคลื่น ทำให้ชั้นน้ำที่มีการผสมกันนั้นลึกลงไปยิ่งขึ้น ณ จุดล่างสุดของชั้นน้ำที่มีการผสมกันอยู่นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้น เรียกว่า ปิคโนไคลน์ (Pycnocline) ซึ่งจะมีการแบ่งชั้นน้ำทะเลออกเป็นสองส่วนตรงนี้ น้ำที่มีน้ำหนักเบาของชั้นน้ำที่ผสมกันจะอยู่ด้านบนเหนือน้ำที่มีความหนาแน่นมากกว่า ปิคโนไคลน์นี้มีความสำคัญมากต่อฟีโตแพลงค์ตอนและการผลิตขั้นปฐมภูมิ เนื่องจากจะช่วยเก็บรักษาธาตุอาหารและส่งเข้าไปสู่ชั้นที่มีน้ำทะเลผสมกันอยู่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของฟีโตแพลงค์ตอน ระหว่างฤดูหนาวของแอนตาร์คติกา ผิวน้ำทะเลที่เย็นมากๆ จะมุดตัวลึกลงไป และกระแสลมจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการปั่นป่วนที่ว่านี้

เหตุการณ์ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นร่วมกันที่ชั้นที่มีน้ำทะเลผสมกันอยู่ในที่ลึก การปั่นป่วนลึกลงไปอีก นั่นทำให้มีการดึงธาตุอาหารต่างๆ ให้ขึ้นมาอยู่ที่ย่านยูโฟติก ในเวลาเดียวกัน ฟีโตแพลงค์ตอนที่อยู่ในน้ำชั้นบนก็จะถูกผลักให้เคลื่อนตัวลงมาจากย่านยูโฟติก

เมื่อฤดูหนาวสิ้นสุดลง กระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะย้อนกลับกันกับที่กล่าวมา โดยผิวหน้าของน้ำทะเลจะกลายเป็นน้ำอุ่น ชั้นที่มีน้ำทะเลผสมกันอยู่จะอยู่ที่ระดับตื้นกว่าเดิม ฟีโตแพลงค์ตอนจะถูกจับตรึงไว้เป็นเวลานานในย่านยูโฟติคด้วยธาตุอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่ยกตัวกลับขึ้นมาด้านบน การเพิ่มขึ้นของแสงและความอบอุ่น ทำให้ธาตุอาหารอุดมขึ้น ส่งผลสืบเนื่องต่อให้เกิดสปริงบลูม (Spring Bloom) และฟีโตแพลงค์ตอนเติบโตขึ้นจนถึงขีดสุด

ห่วงโซ่อาหารของทะเลแอนตาร์คติกา

ฟีโตแพลงค์ตอนและซูแพลงค์ตอน สำหรับฟีโตแพลงค์ตอนเป็นผู้ผลิตปฐมภูมิในสายใยอาหารของทะเลแอนตาร์คติกา พวกมันจัดสรรอาหารให้กับสัตว์ทุกระดับชั้นในลำดับขั้นอาหาร จากชั้นซูแพลงค์ตอนบางๆ อย่างตัวเคย ไปสู่ชั้นอาหารที่มีพื้นที่กว้างที่สุดของปลาวาฬสีน้ำเงิน ในฤดูหนาวที่ไม่ค่อยมีฟีโตแพลงค์ตอน ตัวเคยจะหากินพวกสาหร่ายน้ำแข็ง (Ice Algae) ที่อยู่ด้านล่างของก้อนน้ำแข็งในทะเล ผู้เลี้ยงดูอย่างซูแพลงค์ตอนและปลาบางชนิดจะทำหน้าที่เป็นผู้บริโภคขั้นต้นในสายใยอาหาร ซูแพลงค์ตอนอย่างเช่นตัวเคย จะถูกจับกินโดยปลา นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางอย่าง ตัวเคยเป็นสัตว์คล้ายๆ กุ้งตัวเล็กๆ ขนาดยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ตัวเคยจำนวนมากเกิดขึ้นในแอนตาร์คติกา ประมาณว่าระบบชีวมวลที่นี่มีจำนวนมากกว่าประชากรมนุษย์ทั้งโลกนี่เสียอีก ตัวเคยเป็นชนิดพันธุ์สำคัญที่เป็นกลไกกลางของสายไยอาหารในระบบนิเวศทางทะเลของแอนตาร์คติกา เนื่องจากสัตว์ที่มีชั้นอาหารสูงกว่าทั้งหมดต้องอาหารตัวเคยเป็นอาหาร อย่างปลาวาฬบาลีนที่อาศัยตัวเคยเป็นอาหาร ตอนนี้กำลังมีปัญหาถูกรบกวนอย่างหนักจากการลดจำนวนลงของตัวเคย เพราะตัวเคยมีปริมาณโปรตีนสูงมาก จึงถูกมนุษย์จับเพื่อการค้ามากขึ้นๆ ทุกวัน

ปลาหมึกและปลาตัวเล็ก เช่นเดียวกับปลาวาฬที่ทั้งปลาหมึกและปลาตัวน้อย ที่ได้อาศัยตัวเคย (Krill) เป็นอาหารโดยตรง ในทะเลทั้งหมดของแอนตาร์คติกาประมาณกันว่ามีปลาหมึกอยู่ราวๆ 100 ล้านตัน ซึ่งจำนวนนี้ 1/3 ของพวกมันถูกปลาวาฬ แมวน้ำ และนกทะเล จับเป็นอาหาร นอกจากนี้ปลาหมึกยังถูกจับเพื่อการค้าด้วย

ปลา ในทะเลโดยรอบทวีปแอนตาร์คติกานี้ มีปลาอยู่ประมาณ 120-200 ชนิดพันธุ์ ปลาส่วนใหญ่ที่นี่กินตัวเคยและสัตว์ตัวน้อยอื่นๆ เป็นอาหาร ทุกชนิดพันธุ์ของปลามีการปรับตัวให้สามารถอยู่ได้ในน้ำที่หนาวเย็น การปรับตัวดังกล่าวทำได้ด้วยการลดอัตราของเมตตาบอลิซึม และลดขนาดของโมเลกุลกลีโคเปปไทด์ (Glycopeptides) ของของเหลวในร่างกายลง โมเลกุลเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่อต้านการแข็งตัวของของเหลวในร่างกายเมื่ออุณหภูมิลดลงมากจนถึงจุดเยือกแข็ง

เพนกวิน ทั่วโลกเรานี้มีเพนกวินอยู่ทั้งหมด 17 สายพันธุ์ เฉพาะที่ทวีปแอนตาร์คติกามีเพนกวินอยู่ 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย อาดีลีย์ (Adelie Penguin) เอมเพอเรอร์ (Emperor Penguin) ชินสแทรป (Chinstrap Penguin) และเจนตู (Gentoo Penguin) ในจำนวนนี้เพนกวินเอมเพอเรอร์ ที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เป็นสายพันธุ์เดียวเท่านั้นที่ผูกพันอยู่อย่างแน่นแฟ้นกับน้ำแข็งเพื่อผสมพันธุ์และเพาะเลี้ยงอย่างฟูมฟักลูกน้อยของพวกมัน เพนกวินจับตัวเคยและปลาเป็นอาหาร ในทางกลับกันพวกมันยังทำหน้าที่เป็นอาหารให้กับแมวน้ำและปลาวาฬเพชฌฆาต รวมทั้งนกทะเลด้วย

แมวน้ำ มีแมวน้ำอาศัยอยู่ที่นี่ 4 สายพันธุ์ คือ เวดเดลล์ (Weddell Seal) แครบบีเอเตอร์ (Crabeater Seal) ลีโอปาร์ด (Leopard Seal) และ โรสส์ (Ross Seal) โดยแมวน้ำเวดเดลล์นั้นกินปลาหมึกและปลาเป็นอาหาร ขณะที่แมวน้ำแครบบีเอเตอร์ที่เป็นสายพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก แมวน้ำสายพันธุ์นี้กินตัวเคยเป็นอาหาร โดยที่ตัวมันเองเป็นอาหารอันโอชะของปลาวาฬเพชฌฆาต สำหรับแมวน้ำลีโอปาร์ดสายพันธุ์นี้เป็นศัตรูที่ร้ายกาจของเพนกวิน รวมถึงแมวน้ำตัวน้อยๆ ด้วยอีกทั้งมันยังขอบกินตัวเคย ปลาหมึก และปลาด้วย สุดท้ายคือแมวน้ำโรสส์ที่ดูเหมือนว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก พวกมันอาศัยปลาหมึกและปลาเป็นอาหาร

นกทะเล ประกอบด้วย นกปีกใหญ่ (Skuas) นกหิมะ (Snow Petrels) และนกอื่นๆ ทั้งนี้นกปีกใหญ่เป็นทั้งผู้ล่าและผู้กินซาก พวกมันมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินซากสัตว์ทั้งหลายและไข่ของสัตว์อื่น สิ่งที่มันชื่นชอบมากที่สุดดูเหมือนว่าจะเป็นลูกเพนกวินตัวน้อยๆ นกปีกใหญ่จะเพียรพยายามกวนใจฝูงเพนกวินเพื่อแยกลูกน้อยออกมาจากฝูง แล้วมันก็จะฉีกพุงควักไส้เพนกวินน้อยออกมากินอย่างรวดเร็วด้วยจะงอยปากที่คมและเป็นรูปตะขอ ส่วนนกหิมะจะกินซูแพลงค์ตอนในโปลินยาส (Polynyas) และบางครั้งก็จะกินอาหารที่นกเพนกวินสำรอกออกมา สำหรับนกประเภทอื่นๆ ที่บินมาเยือนแอนตาร์คติกาบ่อยๆ ส่วนใหญ่กินตัวเคย ปลา และปลาหมึกเป็นอาหาร

ปลาวาฬ มีปลาวาฬอยู่ในทะเลรอบๆ ทวีปแอนตาร์คติกอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ ปลาวาฬออร์กาส์ (Orgas Whales) ปลาวาฬสเปอร์ม (Sperm Whales) ปลาวาฬมิงเก (Minke Whales) และปลาวาฬสีน้ำเงิน (Blue Whales) ซึ่งปลาวาฬออร์กาส์กินเพนกวิน แมวน้ำ และปลา ทั้งสามอย่างนี้ที่อยู่บริเวณผิวน้ำเป็นอาหาร อย่างไรก็ดีเป็นที่ทราบทั่วกันว่า ปลาวาฬสายพันธุ์นี้ คือ ปลาวาฬเพชฌฆาต ที่มักโจมตีปลาวาฬสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาวาฬสเปอร์ม ตามตำแหน่งในสายใยอาหาร ปลาวาฬออร์กาส์อยู่ในตำแหน่งที่สูงมาก กล่าวคือ ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดในระบบนิเวศนี้ที่มาเป็นผู้ล่าปลาวาฬออร์กาส์ จะมีก้แต่เพียงมนุษย์ที่มาจากภายนอกเท่านั้น ส่วนปลาวาฬสเปอร์มกินปลาและปลาหมึกที่อยู่ในน้ำลึกเป็นอาหาร ปลาวาฬมิงเกที่จัดอยู่ในสายพันธุ์เดียวกับปลาวาฬบาลีน (Baleen Whales) ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด พวกมันกินตัวเคยเป็นอาหาร แต่พวกมันกำลังถูกรุกรานอย่างหนักจากนักล่าปลาวาฬชาวญี่ปุ่นและนอรเวย์ ทั้งหมดด้วยข้ออ้างว่าเป็นไปตามเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ และปลาวาฬสีน้ำเงินที่ถือกันว่าเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พวกมันกินตัวเคยเป็นอาหาร และเช่นเดียวกับปลาวาฬสเปอร์มที่มันถูกล่าโดยปลาวาฬเพชฌฆาต

สรุป

ในทวีปแอนตาร์คติกานั้น สิ่งมีชีวิตและส่วนอื่นๆ ที่สัมพันธ์กันในสายใยอาหารนั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ รวมถึงปัจจัยอื่น เช่น การปกคลุมของน้ำแข็ง กระแสน้ำ ลม อุณหภูมิ และสภาวะของอากาศและภูมิอากาศ

ห่วงโซ่อาหารในแอนตาร์คติกนั้นมีความสัมพันธ์กัน ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตหลายชนิดในลำดับขั้นการบริโภคอันน้อยนิด ผู้ผลิตขั้นปฐมภูมิของห่วงโซ่อาหารในแอนตาร์คติกคือแพลงตอนพืช และผู้บริโภคขั้นปฐมภูมิคือแพลงตอนสัตว์ สิ่งมีชีวิตที่เป็นแพลงตอนสัตว์ก็คือตัวเคย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สัตว์ชนิดอื่นต้องพึ่งพาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ในทวีปแอนตาร์คติกานั้นห่วงโซ่อาหารทางทะเลประกอบด้วย แพลงตอนพืช แพลงตอนสัตว์ และผู้บริโภคขั้นทุติยภูมิและขั้นตติยภูมิ และผู้ล่าเป็นจำนวนมาก สัตว์ที่อยู่ในลำดับขั้นการบริโภคขั้นสูงนั้นมีทั้ง ปลา เพนกวิน นกชนิดต่างๆ และวาฬ

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีอุปนิสัยของบุคลิกภาพ (Trait Theory of Personality)

ทฤษฎีอุปนิสัยของบุคลิกภาพ (Trait Theory of Personality)

รองศาสตราจารย์พัฒนา ราชวงศ์
Email Address: pathanar@nu.ac.th
ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ระบบวิธีการศึกษาอุปนิสัยเป็นกรอบทฤษฎีหลักของการศึกษาบุคลิกภาพ โดยทฤษฎีอุปนิสัย (Trait Theory) นี้ระบุว่า ลักษณะเฉพาะของบุคคลมีการผสมผสานของอารมณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ด้วยการพิจารณาว่า เราจะบรรยายบุคลิกภาพของเพื่อผู้ใกล้ชิดกับเราว่าอย่างไรบ้าง มีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะต้องจัดทำรายการแสดงคุณลักษณะส่วนบุคคลเอาไว้เป็นดัชนี อย่างเช่น ไม่ชอบสมาคม เมตตา และสงบนิ่ง นอกจากนี้อุปนิสัยยังสามารถพิจารณาเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับลักษณะความมั่นคงสัมพันธ์ (Stable Characteristic) ที่เป็นเหตุให้บุคคลแต่ละคนแสดงพฤติกรรมที่เป็นแบบฉบับของตน

แตกต่างออกไปจากทฤษฎีบุคลิกภาพอื่นๆ อย่างเช่น ทฤษฎีจิตวิทยาวิเคราะห์ หรือทฤษฎีมานุษยวิทยา (Psychoanalytic or Humanistic Theories) ที่วิธีการศึกษาอุปนิสัยเน้นไปที่ความแตกต่างระหว่างบุคคล การประสมและปฏิสัมพันธ์กันของลักษณะต่างๆ เพื่อก่อรูปบุคลิกภาพอันเป็นลักษณะสำคัญของบุคคลแต่ละคน ดังนั้น ทฤษฎีอุปนิสัยเน้นการระบุ/จำแนก และการตรวจวัดบุคลิกลักษณะเฉพาะของบุคคล

ทฤษฎีอุปนิสัยของกอร์ดอน ออลพอร์ต (Gordon Allport’s Trait Theory)

ปี ค.ศ.1936 กอร์ดอน วิลลาร์ด ออลพอร์ต (Gordon Willard Allport) นักจิตวิทยา ค้นพบว่า ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งเดียวนั้น มีคำบรรยายเกี่ยวกับอุปนิสัยมากกว่า 4,000 คำเลยทีเดียว ทั้งนี้เขาได้แบ่งประเภทของอุปนิสัยออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

อุปนิสัยที่สำคัญหรืออุปนิสัยเด่น (Cardinal or Eminent Traits) อุปนิสัยแบบนี้มีความโดดเด่นในมนุษย์ทุกคน บ่อยครั้งยังเป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลจะเป็นที่รู้จักของคนอื่นภายใต้อุปนิสัยเฉพาะต่างๆ เหล่านี้ จนอาจถูกกล่าวขานหรือเรียกสมญานามตามคุณลักษณะแบบนั้นๆ ออลพอร์ตเสนอว่า อุปนิสัยที่สำคัญนี้ใช่ว่าจะค้นหาจากบุคคลได้ง่ายๆ แต่เหล่านี้ก็จะพัฒนาในระยะต่อมาสำหรับชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ใน http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/ อธิบายอุปนิสัยแบบนี้ว่า จะมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมเกือบทุกด้านของบุคคล เป็นลักษณะเด่นที่แสดงออกชัดเจนเหนือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่สามารถปิดบังซ่อนเร้นได้ เป็นอุปนิสัยที่มากำหนดอารมณ์ ความรู้สึก และชี้นำวิถีทางชีวิต ควบคุมแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้บุคคลเกิดพลังในการแสดงพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีความกล้าหาญ เป็นอุปนิสัยที่โดดเด่นที่มีอยู่ในพระองค์ จนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป เป็นต้น อุปนิสัยสำคัญนี้ อาจไม่ปรากฏกับทุก ๆ คนก็ได้ แต่ถ้าผู้ใดมีอุปนิสัยสำคัญเพียงลักษณะเดียวที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้น ก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพอ้างอิง (Reference Personality) ที่มักจะใช้เรียกผู้อื่นที่มีลักษณะเหมือนเขา เช่น เรามักจะอ้างอิงคนที่มีความตระหนี่ขี้เหนียว ว่าเหมือนกับไซล็อค หรือผู้ชายที่เจ้าชู้ว่าเป็นขุนแผน เป็นต้น

อุปนิสัยร่วม (Central Traits) เป็นลักษณะทั่วไปที่ก่อตัวขึ้นเป็นพื้นฐานลักษณะบุคลิกภาพ แต่ว่าอุปนิสัยร่วมเหล่านี้ จะไม่ใช่ลักษณะเด่นแบบเดียวกับอุปนิสัยที่สำคัญ หากแต่จะเป็นลักษณะหลักของบุคคลที่จะใช้อธิบายบุคคลแต่ละคน อุปนิสัยเหล่านี้ได้แก่ ความฉลาดหลักแหลม ความซื่อสัตย์สุจริต การประหม่า/ขี้อาย และความวิตกกังวล ใน http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/ อธิบายอุปนิสัยแบบนี้ว่า เป็นกลุ่มของอุปนิสัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่มีอยู่ภายในตัวบุคคล เป็นอุปนิสัยที่สังเกตได้ง่ายเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มั่นคงอยู่ในบุคลิกภาพ แต่อาจแสดงออกมาเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นคุณลักษณะที่มีความสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล เช่น ความทะเยอทะยาน การแข่งขัน ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา และความเมตตากรุณา ลักษณะเหล่านี้จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เป็นการจะเข้าใจอุปนิสัยนี้ต้องสังเกตมาก เพราะบางอย่างไม่สามารถสังเกตอย่างตรงไปตรงมาจากท่วงทีอากัปกิริยาและการแสดงออกภายนอกได้ ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงความถี่ และความเข้มของพฤติกรรมนั้น ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างหลากหลายในขณะเดียวกัน

อุปนิสัยทุติยะหรืออุปนิสัยเชิงทัศนคติ (Secondary Traits) เป็นอุปนิสัยที่บางครั้งสัมพันธ์กับทัศนคติหรือความชอบพึงพอใจ และบ่อยครั้งที่ปรากฏอยู่ในสถานการณ์ที่แน่นอนหรือภายใต้บรรยากาศพิเศษ อย่างเช่นบางกรณีอาจทำให้เกิดข้อวิตกกังวลเมื่อมีการพูดคุยอยู่กับคนบางกลุ่ม หรือหุนหันพลันแล่นขณะรอสายโทรศัพท์นานๆ ใน http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/ อธิบายอุปนิสัยแบบนี้ว่า เป็นคุณลักษณะที่อยู่บริเวณรอบนอก (Peripheral) ที่ผลักดันให้บุคคลแสดงออกโดยทั่วไป เป็นลักษณะที่มีอยู่มากในตัวบุคคล ได้แก่ ความสนใจ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เมื่อบุคคลชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาก็มักจะแสดงความคิดเห็นที่ดีที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ทำให้เขาเกิดความชอบ และสนใจ หรือเป็นเจตคติซึ่งบางครั้งเรียกอุปนิสัยชนิดนี้ว่า เป็นอุปนิสัยเชิงเจตคติ (Attitudinal Traits)

แบบสอบถามปัจจัยบุคลิกภาพสิบหกประการของคัตเทลล์ (Cattell’s Sixteen Personality Factor Questionnaire)

เรย์มอนด์ เบอร์นาร์ด คัตเทลล์ (Raymond Bernard Cattell) นักทฤษฎีบุคลิกภาพ ได้ทำการลดจำนวนลักษณะบุคลิกภาพจากรายการทั้งหมด 4,000 รายการของออลพอร์ต เหลือเพียง 171 รายการเท่านั้น โดยรายการส่วนใหญ่ที่ถูกตัดออกไปนั้น พิจารณาแล้วเป็นบุคลิกภาพที่ไม่เป็นปรกติ พร้อมนี้ยังได้รวมเอาบุคลิกภาพที่คล้ายกันเข้าด้วยกัน คัตเทลล์ก็ได้จัดกลุ่มอย่างหยาบๆ ให้กับบุคคลให้อยู่ภายใน 171 ลักษณะนี้ จากนั้นจึงใช้วิธีการทางสถิติที่รู้จักกันดี คือ การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) เพื่อระบุถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของลักษณะบุคลิกภาพ พร้อมกับลดรายการให้เหลือลักษณะบุคลิกภาพหลักๆ 16 ลักษณะเท่านั้น ตามเหตุผลของคัตเทลล์นี้ ถือได้ว่ารายการทั้งสิบหกลักษณะนี้ เป็นฐานแสดงลักษณะบุคลิกภาพของมนุษย์ทั้งมวล นอกจากนี้คัตเทลล์ยังได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับประเมินบุคลิกภาพที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง เรียกว่า แบบสอบถามปัจจัยบุคลิกภาพสิบหกประการ (16PF: Sixteen Personality Factor Questionnaire)

มิติบุคลิกภาพทั้งสามของไอย์เซงก์ (Eysenck’s Three Dimensions of Personality)

ฮานส์ เจอร์เกน ไอย์เซงค์ (Hans Jurgen Eysenck) นักจิตวิทยาอังกฤษ ได้พัฒนาแบบจำลองแสดงลักษณะบุคลิกภาพของบุคคล (Model of Personality) ขึ้นมาตามหลักการทั่วไป 3 ประการ คือ
1. ความสนใจอย่างยิ่งต่อประสบการณ์ภายในของตนเอง/ความสนใจอย่างยิ่งต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อมภายนอก (Introversion/Extroversion) ความสนใจแต่ภายในตัวเองเกี่ยวพันอย่างตรงไปตรงมากับความตั้งใจและใส่ใจอยู่กับแต่ประสบการณ์ภายในของบุคคลหนึ่งๆ ขณะที่ความสนใจต่อสภาพแวดล้อมภายนอกนั้น จะมีความสัมพันธ์กับการมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปของบุคคลอื่น และสภาพแวดล้อมภายนอกอื่นๆ ดังนั้น บุคคลที่มีลักษณะสนใจภายในตัวเองสูงมากๆ จะเป็นคนเงียบขรึมและเก็บเนื้อเก็บตัว ขณะที่บุคคลที่มุ่งสนใจสภาพแวดล้อมภายนอกสูงนั้น จะชอบออกสังคมและเข้ากับคนอื่นได้ง่าย
2. ความเอนเอียงของอารมณ์/ความมั่นคงของอารมณ์ (Neuroticism/Emotional Stability) มิตินี้ตามทฤษฎีอุปนิสัยของไอย์เซงก์ เป็นความสัมพันธ์กันของความรู้สึกหงุดหงิดกับการสงบสติอารมณ์ โดยที่ความเอนเอียงของอารมณ์จะหมายถึงแนวโน้มของแต่ละบุคคลจะกลายไปเป็นคนที่กลัดกลุ้ม อารมณ์เสีย หรือเอาแต่อารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้ง ขณะที่ความมั่นคงของอารมณ์หมายถึงแนวโน้มที่บุคคลจะมีอารมณ์คงที่ แน่นอน และมั่นคง
3.ภาวะโรคจิต (Psychoticism) ภายหลังเมื่อได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับบุคคลที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับอาการป่วยทางจิตแล้ว ไอย์เซงค์จึงได้เพิ่มมิติลักษณะบุคลิกภาพเข้าไปในทฤษฎีของเขาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นภาวะโรคจิต ทั้งนี้บุคคลใดที่มีอุปนิสัยแบบนี้สูง ก็เป็นความยุ่งยากที่จะจินตนาการให้เห็นถึงความเป็นจริงใดๆ ได้ เพราะบุคคลเหล่านี้อาจจะต่อต้านสังคม ทำตัวเป็นปรปักษ์กับทุกอย่าง ทำตัวไม่น่าสงสาร และอารมณ์แปรปรวนตลอดเวลา
ทฤษฎีบุคลิกภาพตามปัจจัยห้าประการ (The Five-Factor Theory of Personality)

นักวิจัยด้านลักษณะบุคลิกภาพได้นำเสนอ ห้ามิติพื้นฐานสำหรับอธิบายลักษณะบุคลิกภาพ (Big Five Dimensions of Personality) ซึ่งเป็นลำดับเหตุการณ์ที่มีการนำมาอธิบายอย่างต่อเนื่องกันมามากกว่า 50 ปี เริ่มต้นด้วยงานวิจัยของฟิสเก้ (D. W. Fiske, 1949) และต่อมาก็ได้นำมาขยายความโดยนักวิจัยคนอื่นๆ ได้แก่ นอร์แมน (Norman, 1967) สมิธ (Smith, 1967) โกลด์เบิร์ก (Goldberg, 1981) และแมคแครกับคอสต้า (McCrae & Costa, 1987)

ทฤษฎีของทั้งคัตเทลล์และไอย์เซงค์ มีลักษณะเป็นอัตพิสัยของการวิจัย นักทฤษฎีบางคนเชื่อและยืนยันว่า คัตเทลล์ให้ความสำคัญอย่างมากต่อลักษณะบุคลิกภาพ ขณะที่ไอย์เซงค์ก็เน้นบ้างแต่ไม่มากเท่า ทำให้เกิดทฤษฎีลักษณะบุคลิกภาพใหม่ที่หลายคนอ้างถึงภายใต้ชื่อว่า “ทฤษฎีบุคลิกภาพห้าแบบ” (Big Five Theory) ซึ่งแบบจำลองแสดงลักษณะบุคลิกภาพห้าแบบนี้ ได้นำเสนอลักษณะหลัก 5 แบบที่ปฏิสัมพันธ์กับรูปแบบของลักษณะบุคลิกภาพของมนุษย์ ข้างล่างต่อไปนี้เป็นคำบรรยายลักษณะทั้งห้าแบบง่ายๆ

1. การเข้าสังคม (Extraversion, Sometimes Called Surgency) เป็นลักษณะกว้างๆ ของคนที่ชอบพูดมาก ทรงพลัง และก้าวร้าว บุคคลที่มีอุปนิสัยแบบนี้มักจะมีอะไรตื่นเต้นตลอดเวลา (Excitability) ชอบเข้าสังคม (Sociability) ชอบพูดและพูดได้ทุกเรื่อง (Talkativeness) ชอบเปิดเกมรุก (Assertiveness) และชอบแสดงออกทางอารมณ์ (Emotional Expressiveness)
2. ความเป็นมิตร/ยอมรับกันและกัน (Agreeableness) ลักษณะบุคลิกภาพแบบนี้จะเป็นคนที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) มีหลักปฏิบัติที่เห็นแก่ผู้อื่นอยู่เสมอ (Altruism) มีความกรุณา (Kindness) มีความเมตตา (Affection) และมีพฤติกรรมชอบสังคม (Prosocial Behaviors)
3. ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (Conscientiousness) ลักษณะพื้นฐานของบุคคลที่จัดอยู่ในมิตินี้ คือ เป็นผู้ที่มีระดับการคิดตรึกตรองสูง (Thoughtfulness) เป็นคนที่มีลักษณะเจ้ากี้เจ้าการ รอบคอบ และเจ้าแผนการ มีการควบคุมสิ่งกระตุ้นดี (Good Impulse Control) และมีพฤติกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมายเป็นสำคัญ (Goal-Directed Behaviors) บุคคลที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนี้มักจะถูกจัดการและเตรียมจิตใจในรายละเอียดต่างๆ มาเป็นอย่างดี
4. ความเอนเอียงของอารมณ์ (Neuroticism, Sometimes Reversed and Called Emotional Stability) บุคคลที่มีอุปนิสัยแบบนี้จะเป็นผู้มีอารมณ์ไม่มั่นคง (Emotional Instability) มีความกังวลอยู่เสมอ (Anxiety) มีอารมณ์ขุ่นหมองเสมอ (Moodiness) ฉุนเฉียวง่าย (Irritability) และซึมเศร้า (Sadness)
5. ความจริงใจตรงไปตรงมา (Openness to Experience, Sometimes Called Intellect or Intellect/Imagination) เป็นลักษณะของคนที่สามารถให้ความสนใจต่อโลกกว้าง และสามารถมองทะลุ/เข้าใจอะไรได้ง่ายๆ เป็นคนมีจินตนาการและมองทะลุในสิ่งที่สนใจ (Imagination and Insight) และมีความสนใจหลายหลาก (Broad Range of Interests)
จะเห็นได้ว่า มิติที่กล่าวมานี้เป็นภาพรวมของลักษณะบุคลิกภาพ งานวิจัยหลายฉบับได้แสดงให้เห็นถึงการจัดกลุ่มลักษณะของบุคคลที่นำไปสู่การมีลักษณะอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันตามมา ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ชอบเข้าสังคมก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนชอบพูดด้วย อย่างไรก็ตาม อุปนิสัยเหล่านี้มีความซับซ้อนและแปรปรวน และบุคคลแต่ละคนอาจจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาผ่านมิติต่างๆ เหล่านี้

การประเมินบุคลิกภาพด้วยวิธีการศึกษาอุปนิสัย (Assessing the Trait Approach to Personality)

ขณะที่คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า เราสามารถอธิบายเกี่ยวกับประชาชนบนพื้นฐานของลักษณะบุคลิกภาพ นักทฤษฎีกลับยังคงถกแถลงกันในเรื่องของอุปนิสัยที่จะมีส่วนปรุงแต่งบุคลิกภาพของมนุษย์ แม้ว่าทฤษฎีอุปนิสัยมีความเป็นวัตถุประสงค์ซึ่งทฤษฎีลักษณะบุคลิกภาพบางทฤษฎีไม่มี (อย่างเช่นทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์) แต่ก็ยังคงมีข้อด้อยอยู่หลายอย่าง ซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่ดูจะเป็นจุดวิกฤติเบื้องต้นของทฤษฎีอุปนิสัย ก็คือ การมุ่งเน้นอยู่ที่ความจริง ที่บ่อยครั้งอุปนิสัยเป็นตัวทำนายพฤติกรรมที่ไม่ดีนัก ขณะที่บุคคลแต่ละคนอาจจะให้คะแนนสูงมากในการประเมินอุปนิสัยเฉพาะ เขาหรือเธออาจจะไม่ได้มีความประพฤติไปตามสถานการณ์หลายๆ อย่างเหล่านั้น ปัญหาอื่นๆ ยังมีให้เห็นอีก คือ ทฤษฎีอุปนิสัยไม่ได้เข้าไปมีส่วนอธิบายว่า ความแตกต่างในด้านบุคลิกลักษณะของบุคคลแต่ละคนพัฒนาหรือเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะอะไร

เอกสารอ้างอิง

Boeree, C.G. (2006). Gordon Allport. Personality Theories. Found online at http://webspace.ship.edu/cgboer/allport.html
Cattell, R.B. (1965). The scientific analysis of personality. Baltimore: Penguin Books.
Eysenck, H.J. (1992). Four ways five factors are not basic. Personality and Individual Differences, 13, 667-673.
McCrae, R.R., & Costa, P.T. (1997) Personality trait structure as a human universal. American Psychologist, 52, 509-516.

การปกป้องแผ่นดินแม่ด้วยแผนที่

บ่อยครั้งที่ประชาชนพื้นเมืองต้องสูญเสียที่ดินไป เพราะพวกเขาไม่สามารถปรับสถานะความเป็นเจ้าของที่ดินให้ถูกต้องได้ แต่ก็มีอยู่อีกสองโครงการที่จะสาธิตให้ได้เห็นว่า “การทำแผนที่แปลงที่ดิน” ช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิอันมีมาแต่โบราณของพวกเขาบนผืนแผ่นดินเหล่านั้น จากการรุกรานของผู้บุกเบิกที่เข้ามาทีหลัง

รองศาสตราจารย์พัฒนา ราชวงศ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แปลและเรียบเรียงจากงานของ Derek Denniston. “Defending the Land with Maps.” WorldWatch Institute. January/February 1994: pp.27-32.

การปกป้องแผ่นดินแม่ด้วยแผนที่
เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1989 เรือบรรทุกคนถือปืนยาว จำนวน 2 ลำ แล่นเข้ามาใกล้กับปากแม่น้ำปาทูกา (Patuca River) ทางตอนเหนือของฮอนดูรัส และจอดทอดสมออยู่บริเวณชายฝั่งกรัวตารา (Krautara) ที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวอินเดียนตาวาขา ซูมู (Tawakha Sumu Indians) คนแปลกหน้าลงมาจากเรือพร้อมปืนสั้น และปืนกลยาว พวกเขาขนถ่ายเอาเลื่อยโซ่และถุงบรรจุอาหารจำนวนมากลงมา พวกเขาประกาศครอบครองสิทธิเหนือที่ดินทั้งหมดโดยรอบ แม้ว่าจะไม่มีแผ่นกระดาษแสดงสิทธิ์ก็ตาม สามเดือนต่อมาพวกเขาได้เข้ายึดครองหมู่บ้านของชาวอินเดียน บีบบังคับให้ครอบครัวหนึ่ง ให้ละทิ้งบ้านเรือนแล้วเข้าไปถางป่าฝนเขตร้อนที่เขียวขจีเพื่อทำเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาด 20 เฮกแตร์ ปีต่อมาชาวอินเดียนต้องกลับเข้าไปเพื่อเผาป่าบริเวณภูเขาอีกลูกหนึ่ง ทุ่งหญ้าสำหรับปศุสัตว์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการทำไม้เพื่อการค้า และการไร้ที่ทำกินของชาวไร่ชาวนาก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเองที่ทำให้สภาพปัจจุบันที่พบเห็นกัน ก็คือ การบุกรุกแผ่นดินแม่ของชาวอินเดียนที่เป็นชนเผ่าที่ฝังตัวแน่นอยู่พื้นที่ป่าห่างไกลผืนสุดท้าย ป่าและทุ่งหญ้าซาวันนา และพื้นที่ชุ่มน้ำของอเมริกากลาง

นักสำรวจชาวยุโรปจากซีกโลกตะวันตกระบุและบ่งชี้ว่าที่ดินที่ยังไม่ได้มีการตั้งรกรากโดยพวกเขาเองว่า เป็นที่ดินว่างเปล่าไร้การตั้งถิ่นฐานรกราก น่าเศร้ายิ่ง ที่การปฏิเสธการมีตัวตนออยู่ของชนพื้นเมืองในโลกสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิงของเจ้าอาณานิคม แผ่นดินที่ไม่ได้มีการตั้งรกรากของชาวอินเดียนถูกกำหนดว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่า และยังคงไม่ได้รับการคำนึงถึงแม้แต่น้อยว่า ชนพื้นเมืองทั้งหลายเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านั้น ... ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ

มีสิ่งคุกคามหลายอย่างที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้เลวร้ายไปมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ มีการคาดการณ์กันว่าภายในระยะเวลา 25 ปีข้างหน้านี้ ประชากรในย่านอเมริกากลางจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 60 ล้านคน ด้วยสภาพที่เกิดการขาดแคลนพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทางเดียวที่ชาวไร่ชาวนาจะทำได้ ก็คือ การเข้าป่าหาที่ดินผืนใหม่แล้วถากถางทำไม้ เลี้ยงสัตว์ หรือทำการเกษตรต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกิน เนื่องจากว่าชาวไร่ชาวนาไม่ได้มีอำนาจหรือพลังมากพอที่จะปกปักษ์รักษาผืนที่ดินเอาไว้ แมค ชาแปง (Mac Chapin) ผู้อำนวยการโครงการจัดการที่ดินสำหรับคนพื้นถิ่นอาร์ลิงตัน (Arlington, Virginia-Based Native Lands) (ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิไทดส์ (Tides Foundation) ที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงในสิทธิที่ดินทำกินของคนพื้นถิ่น) ถึงกับกล่าวว่า “ความขัดแย้งหลายอย่างเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินกลายเป็นประเด็นก่อความไม่สงบสุขและประเด็นแห่งความตายที่ใหญ่หลวงของอเมริกากลาง และเป็นสิ่งคุกคามใหญ่ที่สุดที่เกิดกับวัฒนธรรมการดำรงอยู่ของคนพื้นเมืองที่นี่”

สองปีต่อมา ผู้นำอินเดียนหลายคนร่วมกับนักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฮอนดูรัส ตัดสินใจที่จะต้องทำการเมืองของพื้นที่มอสคิสเทีย (Mosquitia Region) ที่มองไม่เห็นตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมาตลอดให้ถูกต้องเสียที ด้วยการทำแผนที่อย่างปราณีตแสดงให้เห็นตำแหน่งที่อยู่อาศัยของชนเผ่าการิฟูนา (Garifuna) เปช (Pesch) มิสกิโต (Miskito) และตาวาห์กา สูมู (Tawahka Sumu) พวกเขาทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างขันแข็ง เพื่อที่จะช่วยให้ชาวอินเดียนสร้างสรรค์รายละเอียดและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินเกิดของพวกเขาให้อยู่ในรูปภาพที่มีตำแหน่งที่ตั้งชัดเจน แผนที่การใช้ที่ดิน (Land Use Map) ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องแสดงขอบเขตของการใช้แต่ละประเภท พวกเขาชี้แผ่นดินที่ทำกินของแต่ละคนและด้วยว่าที่ดินถูกใช้อย่างไร ขณะเดียวกันก็มีการยืนยันด้วยว่า แปลงที่ดินต่างๆ ไม่ได้ถูกทิ้งให้ว่างเปล่า แต่ถูกครอบครองโดยพวกเขาแต่ละคน

โครงการในฮอนดูรัสดำเนินการโดยมาสต้า (MASTA: Miskito Indian group) และโมปาวี (MOPAWI: Development of the Mosquitia) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานโครงการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างใกล้ชิดกับลุ่มชนพื้นถิ่นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 ในกระบวนการทำแผนที่นั้น จะต้องมีการอบรมเชิงปฏิบัติการหลายอย่างหลายครั้ง มีการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดิน และท้ายที่สุดก็จะจัดให้มีเวทีประชุมเสวนาระดับชาติขึ้นมาเพื่อให้แต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ได้นำผลการดำเนินงานมานำเสนอ ขั้นสุดท้ายจริงๆ จึงได้มีการทำสำเนาขึ้นมาใหม่ในภูมิภาคดาเรียนของปานามา อันเป็นถิ่นฐานที่แท้จริงของชนเผ่าเอมเบรา วูนัน และกูนา (Embera, Wounaan and Kuna Tribes.) เนื่องจากผู้นำของคนพื้นถิ่นในปานามามีความเข้มแข็งมากกว่าที่อื่นๆ ดังนั้น โครงการที่สองจึงได้รับการประสานงานให้ดำเนินการโดยกลุ่มอินเดียนร่วมเผ่า (Intertribal Group of Indians) กับกลุ่มนักพัฒนาเอกชนกลาง (CEASPA: Centro de Estudios y Accion Social Panameno) แต่ทั้งหมดใช้วิธีการเดียวกันกับที่ได้ดำเนินการไปแล้วในฮอนดูรัส

ขั้นที่หนึ่ง (ตามภาพหน้า 2 ) เริ่มต้นจากการร่างแผนที่การใช้ที่ดินด้วยมือของนักสำรวจชนพื้นเมืองและชาวบ้านในภูมิภาคมารีอา (Marea SubRegion) เมืองดาเรียน (Darien) ประเทศปานามา ผืนแผ่นดินที่คนข้างนอกดูเหมือนว่าเป็นป่าทึบที่ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ถูกคนในพื้นที่ร่วมกันจำแนกประเภทของการอยู่และใช้อย่างยั่งยืนในหลายๆ กิจกรรม

ขั้นที่สอง (ขวามือ) แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินของภูมิภาคมารีอา ที่ใช้ข้อมูลพื้นฐานจากแผนที่ของชาวอินเดียน แผนที่ของรัฐบาล และภาพถ่ายทางอากาศ แผนที่ของชาวอินเดียนให้รายละเอียดและความถูกต้องดีมากกว่าแผนที่ที่ผลิตขึ้นมาโดยหน่วยงานของรัฐ มาตราส่วนของแผนที่ คือ 1: 50,000 พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแผนที่แสดงขนาดพื้นที่โดยประมาณได้จากขั้นตอนที่หนึ่งที่กล่าวมาแล้ว ทั้งในภูมิภาคมอสกิเทียและดาเรียน (Mosquitia and Darien Regions) ไม่มีใครสามารถเดินผ่านเข้าไปในป่าฝน ป่าและทุ่งหญ้าซาวันนา หรือพื้นที่ชุ่มน้ำได้เลย จะมีก็แต่คนพื้นถิ่นที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำ มีหลายคนกล่าวขานถึงฤดูฝนล่าสุดว่าเป็นช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่เต็มไปด้วยเห็บและลิ้นไร นั่นเองที่ทำให้ชาวอินเดียนต้องสร้างบ้านเรือนตามลำน้ำ ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับการศึกษาและการบริการด้านสุขภาพ ทั้งสองภูมิภาคนี้ ชาวอินเดียนส่วนใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงจากผู้ที่เข้ามาทำปศุสัตว์ แน่นอนว่า ชนพื้นถิ่นพบเห็นผู้บุกรุกบริเวณชายขอบของพื้นที่

การประชุมสัมมนาครั้งแรกในฮอนดูรัสและปานามา ผู้มีส่วนร่วมกับโครงการได้เข้ามาถกแถลงกันอย่างเป็นกระบวนการ ปีเตอร์ เฮอร์ลิฮี (Peter Herlihy) นักภูมิศาสตร์วัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสที่ลอว์เรนซ์ ซึ่งได้ทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งในทั้งสองพื้นที่ โดยเขาทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดการทำแผนที่ร่วมกัน เขาแบ่งภูมิทัศน์ออกเป็นย่านๆ มีขนาดพอเหมาะสำหรับผู้ที่จะออกสำรวจจริงในพื้นที่ ซึ่งจะใช้เวลาในพื้นที่เพียงไม่กี่สัปดาห์สำหรับพื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางกิโลเมตร ผู้นำชาวอินเดียนจะช่วยคัดเลือกนักสำรวจพื้นเมือง โดยเลือกจากผู้ที่มีมีความรู้ที่แนบแน่นกับพื้นที่แต่ละย่าน และนักสำรวจเหล่านี้จะต้องมีความสามารถในการพูดและเขียนภาษาสเปนได้ด้วย ผู้ดำเนินการทั้งหลายจะต้องทำงานร่วมกันกับนักสำรวจพื้นเมืองเพื่อสร้างคำถามเกี่ยวกับการใช้ที่ดิน และกำหนดกระบวนการขั้นตอนในการบริหารงานสำรวจและทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน นักสำรวจแต่ละคนจะถือกระดาษแผ่นใหญ่และแบบสอบถาม พวกเขาจะต้องเดินผ่านเข้าไปในพื้นที่ทุกแห่ง ซึ่งบางแห่งมีโคลนลึกเหนือเข่าขึ้นมาเลยทีเดียว ในแต่ละหมู่บ้าน นักสำรวจจะต้องสำมะโนข้อมูลประชากรให้เรียบร้อย และได้สอบถามครอบครัวแต่ละครอบครัวเพื่อให้อธิบายเกี่ยวพื้นที่เกษตรกรรม ล่าสัตว์ จับปลา และเก็บสมุนไพรของพวกเขา รวมไปถึงพื้นที่พวกเขาไปตัดไม้มาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือคานู และทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ แต่ละหมู่บ้านจะสร้างสัญลักษณ์ของพวกเขาเองมาแสดงกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน นักสำรวจจะร่วมมือกับประชาชนในหมู่บ้านเขียนรายละเอียดของแผนที่ด้วยมือ เพื่อแสดงกิจกรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นในจุดต่างๆ โดยอ้างอิงข้อมูลทางพื้นที่จากแม่น้ำหลายสาย (ดูแผนที่ในหน้าตรงข้ามและปกหลังของรายงาน)

หลังจากที่ได้เก็บข้อมูลจากทุกๆ ครอบครัวแล้ว นักสำรวจจะเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 โดยมีคณะนักเขียนแผนที่เข้ามาช่วยจัดการ ปรับข้อมูลให้ถูกต้อง และวิเคราะห์สารสนเทศ ในขั้นนี้มีการเปรียบเทียบข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศกับแผนที่ที่ทำโดยหน่วยงานของรัฐบาล คณะทำงานจะผองถ่ายผลลัพธ์ที่ได้จากการสำรวจไปเป็นข้อมูลชุดใหม่ เป็นแผนที่สีผสมขนาดมาตราส่วน 1: 50,000 (ดูแผนที่ที่อยู่ในหน้านี้) จากนั้นนักสำรวจพื้นเมืองแต่ละคนจะกลับเข้าไปที่ชุมชนของพวกเขา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่ที่ทำด้วยมือและแผนที่สีผสมกับประชาชนในหมู่บ้าน ในกระบวนการเปรียบเทียบแผนที่ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นกับภาพถ่ายทางอากาศที่ประชาชนนำมาเป็นฐานในการทำแผนที่ด้วยมือนั้น คณะนักทำแผนที่พบว่ามีสิ่งประหลาดบางอย่างเกิดขึ้น กล่าวคือ ไม่เพียงแต่ว่าแผนที่ทำมือของประชาชนจะมีตำแหน่งและสัดส่วนพื้นที่ที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังพบว่าแผนที่ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดทำมีความไม่ถูกต้องอยู่หลายส่วน คณะทำแผนที่พบว่า พื้นที่หลายแห่งที่ประชาชนชาวอินเดียนอาศัยอยู่นั้นสอดรับอย่างพอดิบพอดีกับภูมิทัศน์ธรรมชาติที่จะต้องสงวนรักษาเอาไว้ และที่สำคัญที่สุด คือ แผนที่ของชาวอินเดียนได้ให้ภาพแท้ๆ เป็นภาพแรกสุดของพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ พร้อมๆ กับบอกด้วยว่าพวกเขาจะใช้ผืนที่ดินของเขาเหล่านั้นเพื่อทำอะไร “ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับแผ่นดินแม่ของชาวอินเดียน” เฮอร์ลิฮีกล่าว “แต่อย่างน้อยที่สุด วันนี้เราก็ได้ภาพแรกของพวกเราเกี่ยวกับขอบเขตการใช้พื้นที่ที่กระจ่างขึ้น”
ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 นักสำรวจทั้งหลายจะทำการรวบรวมแผนที่หลายฉบับ ภายใต้การแนะนำของคณะทำงานของเฮอร์ลิฮี เพื่อให้ได้แผนที่ฉบับปรับปรุงครั้งสุดท้ายที่มีมาตราส่วน 1: 250,000 (ดูแผนที่ในหน้า 30) แผนที่ฉบับนี้จะเรียกว่า แผนที่ต้นฉบับ (Master Map) ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ สำหรับการสัมมนาสองวันในเมืองหลวงของ 2 ประเทศ คือ เมืองเตกูซิกัลปา (Tegucigalpa) และปานามา ซิตี้ (Panama City)

จะเห็นได้ว่าการประชุมสัมมนาได้เปิดโอกาสเป็นครั้งแรก ให้กลุ่มประชาชนพื้นถิ่นหลายๆ กลุ่มเข้ามานำเสนอผลลัพธ์จากการทำงาน และการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานชุมชน ได้มีการรับฟังการนำเสนอต่อที่ประชุมของรัฐมนตรี ประชาชนพื้นที่ถิ่นกลุ่มอื่นๆ นักอนุรักษ์ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนประจำท้องถิ่นต่างๆ ด้วยการที่มีแผนที่และการประเมินด้วยเทคนิคเชิงวิทยาศาสตร์เป็นแกนกลาง ชาวอินเดียนได้สร้างระบบข้อมูลที่มีลักษณะเห็นได้ด้วยภาพและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่การรณรงค์ทางการเมืองในหลายประเด็น ประกอบด้วย การสร้างความถูกต้องเชิงกฎหมายให้กับแผนที่ดินแม่ของชุมชน (Legalizing Communal Homelands) การยับยั้งการโจมตีของเจ้าอาณานิคม (Stemming the Incursions of Colonization) ที่เข้ามาตั้งชุมชนใหม่และพัฒนาพื้นที่โดยบรรษัทข้ามชาติ และการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผืนแผ่นดินแม่ของชาวอินเดียนกับพื้นที่อนุรักษ์ของชาติ “ชาวอินเดียนไม่ได้รับอนุญาตให้พูด การประชุมสัมมนาเหล่านี้เปิดโอกาสให้ได้พูดในประเด็นที่พวกเขาต้องการพูด” นี่คือคำกล่าวของแมค ชาแปง ผู้อำนวยการโครงการจัดการที่ดินสำหรับคนพื้นถิ่น จากการประชุมทำให้เกิดการปรับปรุงสิ่งต่างๆ จนลุล่วงมากกว่าที่ผู้มีส่วนร่วมเคยคาดหวังเอาไว้ ที่มากที่สุดก็คือ ผลลัพธ์จากงานของโมปาวีที่ทำให้ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชนพื้นถิ่น ถูกนำเข้าไปสู่การรับรู้อย่างจริงจังของนักการเมืองระดับชาติของฮอนดูรัส ส่วนในปานามานั้น ชนเผ่าเอมเบรา วูนัน และกูนา ไม่เคยมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสัมมนาระดับนี้มาก่อนเลย ระหว่างการประเมินอย่างไม่เป็นทางการของสภาแห่งชาติปานามาหลังจากการประชุมสัมมนาได้เสร็จสิ้นไปแล้ว เอลปิดิโอ โรซาเลส (Elpidio Rosales) ผู้นำชุมชนระดับภูมิภาคอายุ 63 ปี จากนิคมเอมเบรา-วูนัน กล่าวว่า “เมื่อคืนลุงนอนไม่หลับทั้งคืน มันปลาบปลื้ม ในหัวของลุงเต็มไปด้วยสิ่งสวยงามที่ลุงได้ยินได้เห็นระหว่างการประชุมสัมมนา”
ชาวอินเดียนกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าร่วมเวทีประชุมสัมมนาล้วนแต่ให้การยอมรับ ชาวอินเดียนเผ่ามิสกิโตสองกลุ่มจากนิคารากัวเริ่มคลายกังวล พร้อมกับเข้าไปสอบถามผู้ประสานงานของชาวอินเดียนในที่ประชุมที่ปานามา ซิตี้ เพื่อให้ไปช่วยพวกเขาทำแผนที่ชุมชนที่จะเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ทั้งนี้โดยผู้ประสานงานโครงการที่ดินของชนพื้นถิ่นในภาคสนาม นิกานอร์ กอนซาเลส (Nicanor Gonzales) ได้ชักชวนให้ชาวมิสกิโตมามีส่วนร่วมในการสำรวจการใช้ที่ดิน และกระบวนการทำแผนที่จะทำให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ภายใต้การจัดการของชนพื้นถิ่นเองเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางวัฒนธรรมบางอย่าง โครงการที่ดินของชนพื้นถิ่นกำลังทำงานร่วมกับนักภูมิศาสตร์ คือ เบอร์นาร์ด นิตช์มัน (Bernard Nietchmann) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียที่เบอร์กเลย์ ซึ่งจะคอยให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคแก่โครงการ

เจอรัลเดส เฮอร์นานเดซ (Geraldes Hernandez) ผู้ประสานงานคนหนึ่งในการทำแผนที่ดาเรียนให้กับเผ่ากูนา ไม่สามารถกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้ ขณะที่เขาอธิบายความเป็นมาเป็นไปของโครงการที่เขาทำ “มันเป็นประสบการณ์ที่ผิดปรกติธรรมดาจริงๆ แต่ก็เป็นเวลานานมาเหลือเกินที่สิทธิของประชาชนคนพื้นถิ่นไม่เคยได้รับการเคารพ จนไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นเลยในประเทศนี้”

ขณะที่ ฮวน เชวาลิเยร์ (Juan Chevalier) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการปกครองและยุติธรรมของปานามา ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ฟังการประชุมสัมมนาที่ปานามา ซิตี้ ด้วยประเด็นสนับสนุนทางสาธารณะที่จะให้ความใส่ใจทางกฎหมายเกี่ยวกับแผ่นดินแม่ของชาวอินเดียนในดาเรียน ทำให้ชาวอินเดียนทั้งหลายเริ่มมองเห็นความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้น โดยเขาบอกกับที่ประชุมว่า รัฐบาลปานามาและโคลัมเบียได้พยายามแสวงหาเงินทุนระหว่างชาติ เพื่อที่จะสร้างทางหลวงสายแพน-อเมริกัน (Pan-American Highway) เชื่อมระหว่างสองประเทศ และทางหลวงสายดังกล่าวนี้จะไปจำกัดสิทธิในการอยู่กินบนแผ่นดินแม่ของชนเผ่าเอมเบรา วูนัน และกูนา

มีประจักษ์พยานเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงให้เห็นถึงการทำลายทางวัฒนธรรมและนิเวศวิทยา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนพลังน้ำบายาโน (Bayano Hydropower Dam) และโครงการสร้างทางหลวงไกลสุดขอบฟ้าลงไปทางใต้อย่างยาไวซ่า (Yaviza) ซึ่งแมค ชาแปง หวั่นวิตกว่า ในอนาคตการครอบครองที่ดินของชาวอินเดียนในดาเรียนจะเป็นอย่างไรเมื่อถนนสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว “ถ้าไม่มีกำลังตำรวจคอยปกป้องคุ้มครองประชาชนและป่าไม้ของคนพื้นถิ่น ถนนจะกลายเป็นคลื่นหนุนนำเอาชาวไร่ชาวนาที่ไร้ที่ทำกิน ยาเสพติด และการปล้นสดมภ์เข้ามา สิ่งสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นกับชาวปานามาและอเมริกากลางทั้งมวล ก็คือ การทำลายล้าง” นับตั้งแต่ทศวรรษ 1940 อย่างน้อยที่สุด 2/3 ของผืนป่าดั้งเดิมที่เคยห่อหุ้มอเมริกากลางถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง และก้าวย่างของการทำลายป่าไม้เพิ่มความเร็วขึ้นๆ อย่างน่าใจหาย ป่าฝนเขตร้อนผืนสุดท้ายที่ยังอยู่และชนอเมริกันพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่าแห่งนี้ กำลังลดลงไปก่อนที่ความก้าวหน้าของกิจการทำไม้ ปศุสัตว์ และเกษตรกร จะเข้ามาด้วยแรงบีบของการเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างมากและการสูญเสียแผ่นดินแม่ของพื้นที่ริมฝั่งแปซิฟิก ผืนป่าฝนที่ทำหน้าที่เป็นเข็มขัดรัดพื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์เหลือเกิน อีกทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง ที่เป็นเสมือนสะพานแห่งพืชพรรณ (Vegetational Bridge) เชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศพื้นทวีปขนาดใหญ่ทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน คือ อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ นักนิเวศวิทยาเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าหากแนวโน้มยังเป็นอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ภายในปลายทศวรรษนี้สะพานป่าแห่งนี้ ก็จะผุพังและสลายลลงไปอย่างไม่สามารถเยียวยาได้เลย

เรื่อยลงมาตามความยาวของอ่าวแคริบเบียนในอเมริกากลาง ชนพื้นเมืองกลุ่มอื่นๆ ได้มีการรวมตัวกันเพื่อจับกลุ่มวิพากษ์และถกแถลงกันในประเด็นสิทธิในที่ดิน ในเบไลซ์ตอนใต้ (Belize) สภาวัฒนธรรมมายากลุ่มโทเลโด (Toledo Maya Cultural Council) กำลังถูกชักชวนให้สร้างโครงการแผ่นดินแม่ของมายัน (Mayan Homeland) ในนิคารากัว กลุ่มมิสกิโตได้กำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นมาบนชายฝั่งแอตแลนติก เพื่อที่จะทำหน้าที่ควบคุมความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติของภูมิภาคของพวกเขา ในคอสตา ริกา ประชาชนชาวบริบรีและกาเบการ์ (Bribri and Cabecar) ร่วมกันก่อตั้งสภาพผู้สูงวัย (Councils of Elders) เพื่อให้ได้มาร่วมกันแสดงบทบาทผู้นำในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพในลา อมิสตาด (La Amistad Biosphere Reserve) ใกล้ๆ กับตาลามันกา (Talamanca) ด้วยเสียงครวญครางของเลื่อยโซ่ที่ดังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มประชาชนคนพื้นถิ่นเหล่านี้ ได้เริ่มต้นขยับเข้าหากันเพื่อที่จะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกันอย่างน้อยก็ร่วม 5 ปี 10 ปีผ่านมาแล้ว

เคราะห์ยังดีอยู่ ที่ยังคงมีความช่วยเหลือเข้ามาสู่หนทางของพวกเขาเหล่านี้บ้าง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีกลุ่มอนุรักษ์ระดับนานาชาติเริ่มเห็นความสำคัญ อันเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับการอนุรักษ์สิ่งขาดแคลนที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างของป่าฝนเขตร้อน ที่วางตัวอยู่เป็นส่วนๆ เพื่อสนับสนุนค้ำจุนสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับนักอนุรักษ์จะทำการตัดสินใจอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับป่าฝนเขตร้อน ในการที่จะสงวนรักษาเอาไว้จนกระทั่งได้รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้อาศัยอยู่ภายในนั้น และรู้ว่าพวกเขาได้ใช้ประโยชน์จากป่าอย่างไร ความพยายามที่จะทำแผนที่ออกมาจึงเป็นขั้นตอนที่หนึ่งที่มีเหตุมีผลอย่างแท้จริง “แผนที่ที่ทำขึ้นมาโดยชาวอินเดียน เป็นสิ่งแรกเลยทีเดียวที่ช่วยสร้างยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ ในการพิทักษ์และคุ้มครองแผ่นดินแม่และความหลากหลายทางชีวภาพของคนพื้นถิ่น” แมค ชาแปง กล่าว

อันที่จริงแล้ว นักทำแผนที่หลายคนจากสถาบันภูมิศาสตร์แห่งชาติ (National Institutes of Geography) ของทั้งประเทศฮอนดูรัสและปานามา ที่เข้ามาทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทำแผนที่ของชาวอินเดียน นั่นทำให้ถือได้ว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่วิเศษมากที่แผนที่ฉบับอื่นๆ ควรจะยึดเอาเป็นแบบอย่าง แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด จนกระทั่งแผนที่ของฮอนดูรัสได้ถูกผลิตขึ้นมา เป็นที่ยอมรับของนักอนุรักษ์ทั้งหลายต่อคุณค่าเชิงวิทยาศาสตร์ของแผนที่ของชาวอินเดียน จนทำให้คณะทำงานสามารถระดมทุนสนับสนุนสำหรับดำเนินการโครงการในปานามาต่อเนื่อง จากแหล่งทุนหลายๆ แหล่ง เป็นต้นว่า มูลนิธิอเมริกันนานาชาติ (Inter-American Foundation) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) กองทุนอนุรักษ์ธรรมชาติ (The Nature Conservancy) กองทุนคุ้มครองสัตว์ป่า (World Wildlife Fund) และสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute)

การทำแผนที่แผ่นดินแม่ของคนพื้นถิ่นได้มีส่วนอย่างมากในการลบล้างตำนานอันเลวร้ายของลัทธิล่าอาณานิคม ที่บอกกล่าวกันว่าผืนแผ่นเหล่านี้ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้และกำลังถูกบุกรุกทำลาย เพราะความจริงแล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังคงมีป่าไม้หลงเหลืออยู่ ป่าซาวันนาและพื้นที่ชุ่มน้ำยังคงสมบูรณ์อยู่ และเป็นพื้นที่ซ้อนทับกับขอบเขตของชาวอินเดียน อนุสาวรีย์ทางการเมืองถูกสร้างขึ้นมาด้วยกระบวนการเพิ่มความตระหนักของคนอินเดียนทั้งภูมิภาค เพื่อแสดงว่าพวกเขามีหลักคิดพื้นฐานที่จะอยู่กันอย่างแบ่งปันกับคนชนพื้นถิ่นเผ่าอื่นๆ และจะสร้างพลังให้แข็งแกร่งให้สามารถลุล่วงภารกิจในการพิทักษ์แผ่นดินแม่ของพวกเขาในทางกฏหมายให้ได้

สำหรับช่วงหนึ่งพันปีนี้ ประชาชนคนพื้นถิ่นได้มีการปรับวิถีชีวิตของตัวเองอย่างระมัดระวังภายใต้ความซับซ้อนทางนิเวศวิทยาของภูมิทัศน์ท้องถิ่น ด้วยจิตที่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยที่สุด พวกเขาจึงใช้ความมั่งคั่งของธรรมชาติเฉพาะแต่เพียงเพื่อการดำรงชีพให้สอดคล้องกับวิถีที่ยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่มนุษยชาติพึงจะทำได้ ณ จุดที่พวกเขาต้องการความอยู่รอดเท่านั้น จึงจะต้องให้ความสำคัญกับประชาชนคนพื้นถิ่นเท่านั้น ที่จะให้ความหวังที่ดีที่สุดแก่การอนุรักษ์ความหลากหลายของชีวิตที่ยังคงเหลืออยู่