หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีอุปนิสัยของบุคลิกภาพ (Trait Theory of Personality)

ทฤษฎีอุปนิสัยของบุคลิกภาพ (Trait Theory of Personality)

รองศาสตราจารย์พัฒนา ราชวงศ์
Email Address: pathanar@nu.ac.th
ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ระบบวิธีการศึกษาอุปนิสัยเป็นกรอบทฤษฎีหลักของการศึกษาบุคลิกภาพ โดยทฤษฎีอุปนิสัย (Trait Theory) นี้ระบุว่า ลักษณะเฉพาะของบุคคลมีการผสมผสานของอารมณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ด้วยการพิจารณาว่า เราจะบรรยายบุคลิกภาพของเพื่อผู้ใกล้ชิดกับเราว่าอย่างไรบ้าง มีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะต้องจัดทำรายการแสดงคุณลักษณะส่วนบุคคลเอาไว้เป็นดัชนี อย่างเช่น ไม่ชอบสมาคม เมตตา และสงบนิ่ง นอกจากนี้อุปนิสัยยังสามารถพิจารณาเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับลักษณะความมั่นคงสัมพันธ์ (Stable Characteristic) ที่เป็นเหตุให้บุคคลแต่ละคนแสดงพฤติกรรมที่เป็นแบบฉบับของตน

แตกต่างออกไปจากทฤษฎีบุคลิกภาพอื่นๆ อย่างเช่น ทฤษฎีจิตวิทยาวิเคราะห์ หรือทฤษฎีมานุษยวิทยา (Psychoanalytic or Humanistic Theories) ที่วิธีการศึกษาอุปนิสัยเน้นไปที่ความแตกต่างระหว่างบุคคล การประสมและปฏิสัมพันธ์กันของลักษณะต่างๆ เพื่อก่อรูปบุคลิกภาพอันเป็นลักษณะสำคัญของบุคคลแต่ละคน ดังนั้น ทฤษฎีอุปนิสัยเน้นการระบุ/จำแนก และการตรวจวัดบุคลิกลักษณะเฉพาะของบุคคล

ทฤษฎีอุปนิสัยของกอร์ดอน ออลพอร์ต (Gordon Allport’s Trait Theory)

ปี ค.ศ.1936 กอร์ดอน วิลลาร์ด ออลพอร์ต (Gordon Willard Allport) นักจิตวิทยา ค้นพบว่า ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งเดียวนั้น มีคำบรรยายเกี่ยวกับอุปนิสัยมากกว่า 4,000 คำเลยทีเดียว ทั้งนี้เขาได้แบ่งประเภทของอุปนิสัยออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

อุปนิสัยที่สำคัญหรืออุปนิสัยเด่น (Cardinal or Eminent Traits) อุปนิสัยแบบนี้มีความโดดเด่นในมนุษย์ทุกคน บ่อยครั้งยังเป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลจะเป็นที่รู้จักของคนอื่นภายใต้อุปนิสัยเฉพาะต่างๆ เหล่านี้ จนอาจถูกกล่าวขานหรือเรียกสมญานามตามคุณลักษณะแบบนั้นๆ ออลพอร์ตเสนอว่า อุปนิสัยที่สำคัญนี้ใช่ว่าจะค้นหาจากบุคคลได้ง่ายๆ แต่เหล่านี้ก็จะพัฒนาในระยะต่อมาสำหรับชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ใน http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/ อธิบายอุปนิสัยแบบนี้ว่า จะมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมเกือบทุกด้านของบุคคล เป็นลักษณะเด่นที่แสดงออกชัดเจนเหนือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่สามารถปิดบังซ่อนเร้นได้ เป็นอุปนิสัยที่มากำหนดอารมณ์ ความรู้สึก และชี้นำวิถีทางชีวิต ควบคุมแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้บุคคลเกิดพลังในการแสดงพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีความกล้าหาญ เป็นอุปนิสัยที่โดดเด่นที่มีอยู่ในพระองค์ จนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป เป็นต้น อุปนิสัยสำคัญนี้ อาจไม่ปรากฏกับทุก ๆ คนก็ได้ แต่ถ้าผู้ใดมีอุปนิสัยสำคัญเพียงลักษณะเดียวที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้น ก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพอ้างอิง (Reference Personality) ที่มักจะใช้เรียกผู้อื่นที่มีลักษณะเหมือนเขา เช่น เรามักจะอ้างอิงคนที่มีความตระหนี่ขี้เหนียว ว่าเหมือนกับไซล็อค หรือผู้ชายที่เจ้าชู้ว่าเป็นขุนแผน เป็นต้น

อุปนิสัยร่วม (Central Traits) เป็นลักษณะทั่วไปที่ก่อตัวขึ้นเป็นพื้นฐานลักษณะบุคลิกภาพ แต่ว่าอุปนิสัยร่วมเหล่านี้ จะไม่ใช่ลักษณะเด่นแบบเดียวกับอุปนิสัยที่สำคัญ หากแต่จะเป็นลักษณะหลักของบุคคลที่จะใช้อธิบายบุคคลแต่ละคน อุปนิสัยเหล่านี้ได้แก่ ความฉลาดหลักแหลม ความซื่อสัตย์สุจริต การประหม่า/ขี้อาย และความวิตกกังวล ใน http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/ อธิบายอุปนิสัยแบบนี้ว่า เป็นกลุ่มของอุปนิสัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่มีอยู่ภายในตัวบุคคล เป็นอุปนิสัยที่สังเกตได้ง่ายเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มั่นคงอยู่ในบุคลิกภาพ แต่อาจแสดงออกมาเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นคุณลักษณะที่มีความสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล เช่น ความทะเยอทะยาน การแข่งขัน ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา และความเมตตากรุณา ลักษณะเหล่านี้จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เป็นการจะเข้าใจอุปนิสัยนี้ต้องสังเกตมาก เพราะบางอย่างไม่สามารถสังเกตอย่างตรงไปตรงมาจากท่วงทีอากัปกิริยาและการแสดงออกภายนอกได้ ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงความถี่ และความเข้มของพฤติกรรมนั้น ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างหลากหลายในขณะเดียวกัน

อุปนิสัยทุติยะหรืออุปนิสัยเชิงทัศนคติ (Secondary Traits) เป็นอุปนิสัยที่บางครั้งสัมพันธ์กับทัศนคติหรือความชอบพึงพอใจ และบ่อยครั้งที่ปรากฏอยู่ในสถานการณ์ที่แน่นอนหรือภายใต้บรรยากาศพิเศษ อย่างเช่นบางกรณีอาจทำให้เกิดข้อวิตกกังวลเมื่อมีการพูดคุยอยู่กับคนบางกลุ่ม หรือหุนหันพลันแล่นขณะรอสายโทรศัพท์นานๆ ใน http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/ อธิบายอุปนิสัยแบบนี้ว่า เป็นคุณลักษณะที่อยู่บริเวณรอบนอก (Peripheral) ที่ผลักดันให้บุคคลแสดงออกโดยทั่วไป เป็นลักษณะที่มีอยู่มากในตัวบุคคล ได้แก่ ความสนใจ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เมื่อบุคคลชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาก็มักจะแสดงความคิดเห็นที่ดีที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ทำให้เขาเกิดความชอบ และสนใจ หรือเป็นเจตคติซึ่งบางครั้งเรียกอุปนิสัยชนิดนี้ว่า เป็นอุปนิสัยเชิงเจตคติ (Attitudinal Traits)

แบบสอบถามปัจจัยบุคลิกภาพสิบหกประการของคัตเทลล์ (Cattell’s Sixteen Personality Factor Questionnaire)

เรย์มอนด์ เบอร์นาร์ด คัตเทลล์ (Raymond Bernard Cattell) นักทฤษฎีบุคลิกภาพ ได้ทำการลดจำนวนลักษณะบุคลิกภาพจากรายการทั้งหมด 4,000 รายการของออลพอร์ต เหลือเพียง 171 รายการเท่านั้น โดยรายการส่วนใหญ่ที่ถูกตัดออกไปนั้น พิจารณาแล้วเป็นบุคลิกภาพที่ไม่เป็นปรกติ พร้อมนี้ยังได้รวมเอาบุคลิกภาพที่คล้ายกันเข้าด้วยกัน คัตเทลล์ก็ได้จัดกลุ่มอย่างหยาบๆ ให้กับบุคคลให้อยู่ภายใน 171 ลักษณะนี้ จากนั้นจึงใช้วิธีการทางสถิติที่รู้จักกันดี คือ การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) เพื่อระบุถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของลักษณะบุคลิกภาพ พร้อมกับลดรายการให้เหลือลักษณะบุคลิกภาพหลักๆ 16 ลักษณะเท่านั้น ตามเหตุผลของคัตเทลล์นี้ ถือได้ว่ารายการทั้งสิบหกลักษณะนี้ เป็นฐานแสดงลักษณะบุคลิกภาพของมนุษย์ทั้งมวล นอกจากนี้คัตเทลล์ยังได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับประเมินบุคลิกภาพที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง เรียกว่า แบบสอบถามปัจจัยบุคลิกภาพสิบหกประการ (16PF: Sixteen Personality Factor Questionnaire)

มิติบุคลิกภาพทั้งสามของไอย์เซงก์ (Eysenck’s Three Dimensions of Personality)

ฮานส์ เจอร์เกน ไอย์เซงค์ (Hans Jurgen Eysenck) นักจิตวิทยาอังกฤษ ได้พัฒนาแบบจำลองแสดงลักษณะบุคลิกภาพของบุคคล (Model of Personality) ขึ้นมาตามหลักการทั่วไป 3 ประการ คือ
1. ความสนใจอย่างยิ่งต่อประสบการณ์ภายในของตนเอง/ความสนใจอย่างยิ่งต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อมภายนอก (Introversion/Extroversion) ความสนใจแต่ภายในตัวเองเกี่ยวพันอย่างตรงไปตรงมากับความตั้งใจและใส่ใจอยู่กับแต่ประสบการณ์ภายในของบุคคลหนึ่งๆ ขณะที่ความสนใจต่อสภาพแวดล้อมภายนอกนั้น จะมีความสัมพันธ์กับการมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปของบุคคลอื่น และสภาพแวดล้อมภายนอกอื่นๆ ดังนั้น บุคคลที่มีลักษณะสนใจภายในตัวเองสูงมากๆ จะเป็นคนเงียบขรึมและเก็บเนื้อเก็บตัว ขณะที่บุคคลที่มุ่งสนใจสภาพแวดล้อมภายนอกสูงนั้น จะชอบออกสังคมและเข้ากับคนอื่นได้ง่าย
2. ความเอนเอียงของอารมณ์/ความมั่นคงของอารมณ์ (Neuroticism/Emotional Stability) มิตินี้ตามทฤษฎีอุปนิสัยของไอย์เซงก์ เป็นความสัมพันธ์กันของความรู้สึกหงุดหงิดกับการสงบสติอารมณ์ โดยที่ความเอนเอียงของอารมณ์จะหมายถึงแนวโน้มของแต่ละบุคคลจะกลายไปเป็นคนที่กลัดกลุ้ม อารมณ์เสีย หรือเอาแต่อารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้ง ขณะที่ความมั่นคงของอารมณ์หมายถึงแนวโน้มที่บุคคลจะมีอารมณ์คงที่ แน่นอน และมั่นคง
3.ภาวะโรคจิต (Psychoticism) ภายหลังเมื่อได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับบุคคลที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับอาการป่วยทางจิตแล้ว ไอย์เซงค์จึงได้เพิ่มมิติลักษณะบุคลิกภาพเข้าไปในทฤษฎีของเขาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นภาวะโรคจิต ทั้งนี้บุคคลใดที่มีอุปนิสัยแบบนี้สูง ก็เป็นความยุ่งยากที่จะจินตนาการให้เห็นถึงความเป็นจริงใดๆ ได้ เพราะบุคคลเหล่านี้อาจจะต่อต้านสังคม ทำตัวเป็นปรปักษ์กับทุกอย่าง ทำตัวไม่น่าสงสาร และอารมณ์แปรปรวนตลอดเวลา
ทฤษฎีบุคลิกภาพตามปัจจัยห้าประการ (The Five-Factor Theory of Personality)

นักวิจัยด้านลักษณะบุคลิกภาพได้นำเสนอ ห้ามิติพื้นฐานสำหรับอธิบายลักษณะบุคลิกภาพ (Big Five Dimensions of Personality) ซึ่งเป็นลำดับเหตุการณ์ที่มีการนำมาอธิบายอย่างต่อเนื่องกันมามากกว่า 50 ปี เริ่มต้นด้วยงานวิจัยของฟิสเก้ (D. W. Fiske, 1949) และต่อมาก็ได้นำมาขยายความโดยนักวิจัยคนอื่นๆ ได้แก่ นอร์แมน (Norman, 1967) สมิธ (Smith, 1967) โกลด์เบิร์ก (Goldberg, 1981) และแมคแครกับคอสต้า (McCrae & Costa, 1987)

ทฤษฎีของทั้งคัตเทลล์และไอย์เซงค์ มีลักษณะเป็นอัตพิสัยของการวิจัย นักทฤษฎีบางคนเชื่อและยืนยันว่า คัตเทลล์ให้ความสำคัญอย่างมากต่อลักษณะบุคลิกภาพ ขณะที่ไอย์เซงค์ก็เน้นบ้างแต่ไม่มากเท่า ทำให้เกิดทฤษฎีลักษณะบุคลิกภาพใหม่ที่หลายคนอ้างถึงภายใต้ชื่อว่า “ทฤษฎีบุคลิกภาพห้าแบบ” (Big Five Theory) ซึ่งแบบจำลองแสดงลักษณะบุคลิกภาพห้าแบบนี้ ได้นำเสนอลักษณะหลัก 5 แบบที่ปฏิสัมพันธ์กับรูปแบบของลักษณะบุคลิกภาพของมนุษย์ ข้างล่างต่อไปนี้เป็นคำบรรยายลักษณะทั้งห้าแบบง่ายๆ

1. การเข้าสังคม (Extraversion, Sometimes Called Surgency) เป็นลักษณะกว้างๆ ของคนที่ชอบพูดมาก ทรงพลัง และก้าวร้าว บุคคลที่มีอุปนิสัยแบบนี้มักจะมีอะไรตื่นเต้นตลอดเวลา (Excitability) ชอบเข้าสังคม (Sociability) ชอบพูดและพูดได้ทุกเรื่อง (Talkativeness) ชอบเปิดเกมรุก (Assertiveness) และชอบแสดงออกทางอารมณ์ (Emotional Expressiveness)
2. ความเป็นมิตร/ยอมรับกันและกัน (Agreeableness) ลักษณะบุคลิกภาพแบบนี้จะเป็นคนที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) มีหลักปฏิบัติที่เห็นแก่ผู้อื่นอยู่เสมอ (Altruism) มีความกรุณา (Kindness) มีความเมตตา (Affection) และมีพฤติกรรมชอบสังคม (Prosocial Behaviors)
3. ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (Conscientiousness) ลักษณะพื้นฐานของบุคคลที่จัดอยู่ในมิตินี้ คือ เป็นผู้ที่มีระดับการคิดตรึกตรองสูง (Thoughtfulness) เป็นคนที่มีลักษณะเจ้ากี้เจ้าการ รอบคอบ และเจ้าแผนการ มีการควบคุมสิ่งกระตุ้นดี (Good Impulse Control) และมีพฤติกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมายเป็นสำคัญ (Goal-Directed Behaviors) บุคคลที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนี้มักจะถูกจัดการและเตรียมจิตใจในรายละเอียดต่างๆ มาเป็นอย่างดี
4. ความเอนเอียงของอารมณ์ (Neuroticism, Sometimes Reversed and Called Emotional Stability) บุคคลที่มีอุปนิสัยแบบนี้จะเป็นผู้มีอารมณ์ไม่มั่นคง (Emotional Instability) มีความกังวลอยู่เสมอ (Anxiety) มีอารมณ์ขุ่นหมองเสมอ (Moodiness) ฉุนเฉียวง่าย (Irritability) และซึมเศร้า (Sadness)
5. ความจริงใจตรงไปตรงมา (Openness to Experience, Sometimes Called Intellect or Intellect/Imagination) เป็นลักษณะของคนที่สามารถให้ความสนใจต่อโลกกว้าง และสามารถมองทะลุ/เข้าใจอะไรได้ง่ายๆ เป็นคนมีจินตนาการและมองทะลุในสิ่งที่สนใจ (Imagination and Insight) และมีความสนใจหลายหลาก (Broad Range of Interests)
จะเห็นได้ว่า มิติที่กล่าวมานี้เป็นภาพรวมของลักษณะบุคลิกภาพ งานวิจัยหลายฉบับได้แสดงให้เห็นถึงการจัดกลุ่มลักษณะของบุคคลที่นำไปสู่การมีลักษณะอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันตามมา ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ชอบเข้าสังคมก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนชอบพูดด้วย อย่างไรก็ตาม อุปนิสัยเหล่านี้มีความซับซ้อนและแปรปรวน และบุคคลแต่ละคนอาจจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาผ่านมิติต่างๆ เหล่านี้

การประเมินบุคลิกภาพด้วยวิธีการศึกษาอุปนิสัย (Assessing the Trait Approach to Personality)

ขณะที่คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า เราสามารถอธิบายเกี่ยวกับประชาชนบนพื้นฐานของลักษณะบุคลิกภาพ นักทฤษฎีกลับยังคงถกแถลงกันในเรื่องของอุปนิสัยที่จะมีส่วนปรุงแต่งบุคลิกภาพของมนุษย์ แม้ว่าทฤษฎีอุปนิสัยมีความเป็นวัตถุประสงค์ซึ่งทฤษฎีลักษณะบุคลิกภาพบางทฤษฎีไม่มี (อย่างเช่นทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์) แต่ก็ยังคงมีข้อด้อยอยู่หลายอย่าง ซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่ดูจะเป็นจุดวิกฤติเบื้องต้นของทฤษฎีอุปนิสัย ก็คือ การมุ่งเน้นอยู่ที่ความจริง ที่บ่อยครั้งอุปนิสัยเป็นตัวทำนายพฤติกรรมที่ไม่ดีนัก ขณะที่บุคคลแต่ละคนอาจจะให้คะแนนสูงมากในการประเมินอุปนิสัยเฉพาะ เขาหรือเธออาจจะไม่ได้มีความประพฤติไปตามสถานการณ์หลายๆ อย่างเหล่านั้น ปัญหาอื่นๆ ยังมีให้เห็นอีก คือ ทฤษฎีอุปนิสัยไม่ได้เข้าไปมีส่วนอธิบายว่า ความแตกต่างในด้านบุคลิกลักษณะของบุคคลแต่ละคนพัฒนาหรือเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะอะไร

เอกสารอ้างอิง

Boeree, C.G. (2006). Gordon Allport. Personality Theories. Found online at http://webspace.ship.edu/cgboer/allport.html
Cattell, R.B. (1965). The scientific analysis of personality. Baltimore: Penguin Books.
Eysenck, H.J. (1992). Four ways five factors are not basic. Personality and Individual Differences, 13, 667-673.
McCrae, R.R., & Costa, P.T. (1997) Personality trait structure as a human universal. American Psychologist, 52, 509-516.

2 ความคิดเห็น: