บ่อยครั้งที่ประชาชนพื้นเมืองต้องสูญเสียที่ดินไป เพราะพวกเขาไม่สามารถปรับสถานะความเป็นเจ้าของที่ดินให้ถูกต้องได้ แต่ก็มีอยู่อีกสองโครงการที่จะสาธิตให้ได้เห็นว่า “การทำแผนที่แปลงที่ดิน” ช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิอันมีมาแต่โบราณของพวกเขาบนผืนแผ่นดินเหล่านั้น จากการรุกรานของผู้บุกเบิกที่เข้ามาทีหลัง
รองศาสตราจารย์พัฒนา ราชวงศ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แปลและเรียบเรียงจากงานของ Derek Denniston. “Defending the Land with Maps.” WorldWatch Institute. January/February 1994: pp.27-32.
การปกป้องแผ่นดินแม่ด้วยแผนที่
เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1989 เรือบรรทุกคนถือปืนยาว จำนวน 2 ลำ แล่นเข้ามาใกล้กับปากแม่น้ำปาทูกา (Patuca River) ทางตอนเหนือของฮอนดูรัส และจอดทอดสมออยู่บริเวณชายฝั่งกรัวตารา (Krautara) ที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวอินเดียนตาวาขา ซูมู (Tawakha Sumu Indians) คนแปลกหน้าลงมาจากเรือพร้อมปืนสั้น และปืนกลยาว พวกเขาขนถ่ายเอาเลื่อยโซ่และถุงบรรจุอาหารจำนวนมากลงมา พวกเขาประกาศครอบครองสิทธิเหนือที่ดินทั้งหมดโดยรอบ แม้ว่าจะไม่มีแผ่นกระดาษแสดงสิทธิ์ก็ตาม สามเดือนต่อมาพวกเขาได้เข้ายึดครองหมู่บ้านของชาวอินเดียน บีบบังคับให้ครอบครัวหนึ่ง ให้ละทิ้งบ้านเรือนแล้วเข้าไปถางป่าฝนเขตร้อนที่เขียวขจีเพื่อทำเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาด 20 เฮกแตร์ ปีต่อมาชาวอินเดียนต้องกลับเข้าไปเพื่อเผาป่าบริเวณภูเขาอีกลูกหนึ่ง ทุ่งหญ้าสำหรับปศุสัตว์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการทำไม้เพื่อการค้า และการไร้ที่ทำกินของชาวไร่ชาวนาก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเองที่ทำให้สภาพปัจจุบันที่พบเห็นกัน ก็คือ การบุกรุกแผ่นดินแม่ของชาวอินเดียนที่เป็นชนเผ่าที่ฝังตัวแน่นอยู่พื้นที่ป่าห่างไกลผืนสุดท้าย ป่าและทุ่งหญ้าซาวันนา และพื้นที่ชุ่มน้ำของอเมริกากลาง
นักสำรวจชาวยุโรปจากซีกโลกตะวันตกระบุและบ่งชี้ว่าที่ดินที่ยังไม่ได้มีการตั้งรกรากโดยพวกเขาเองว่า เป็นที่ดินว่างเปล่าไร้การตั้งถิ่นฐานรกราก น่าเศร้ายิ่ง ที่การปฏิเสธการมีตัวตนออยู่ของชนพื้นเมืองในโลกสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิงของเจ้าอาณานิคม แผ่นดินที่ไม่ได้มีการตั้งรกรากของชาวอินเดียนถูกกำหนดว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่า และยังคงไม่ได้รับการคำนึงถึงแม้แต่น้อยว่า ชนพื้นเมืองทั้งหลายเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านั้น ... ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ
มีสิ่งคุกคามหลายอย่างที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้เลวร้ายไปมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ มีการคาดการณ์กันว่าภายในระยะเวลา 25 ปีข้างหน้านี้ ประชากรในย่านอเมริกากลางจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 60 ล้านคน ด้วยสภาพที่เกิดการขาดแคลนพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทางเดียวที่ชาวไร่ชาวนาจะทำได้ ก็คือ การเข้าป่าหาที่ดินผืนใหม่แล้วถากถางทำไม้ เลี้ยงสัตว์ หรือทำการเกษตรต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกิน เนื่องจากว่าชาวไร่ชาวนาไม่ได้มีอำนาจหรือพลังมากพอที่จะปกปักษ์รักษาผืนที่ดินเอาไว้ แมค ชาแปง (Mac Chapin) ผู้อำนวยการโครงการจัดการที่ดินสำหรับคนพื้นถิ่นอาร์ลิงตัน (Arlington, Virginia-Based Native Lands) (ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิไทดส์ (Tides Foundation) ที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงในสิทธิที่ดินทำกินของคนพื้นถิ่น) ถึงกับกล่าวว่า “ความขัดแย้งหลายอย่างเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินกลายเป็นประเด็นก่อความไม่สงบสุขและประเด็นแห่งความตายที่ใหญ่หลวงของอเมริกากลาง และเป็นสิ่งคุกคามใหญ่ที่สุดที่เกิดกับวัฒนธรรมการดำรงอยู่ของคนพื้นเมืองที่นี่”
สองปีต่อมา ผู้นำอินเดียนหลายคนร่วมกับนักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฮอนดูรัส ตัดสินใจที่จะต้องทำการเมืองของพื้นที่มอสคิสเทีย (Mosquitia Region) ที่มองไม่เห็นตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมาตลอดให้ถูกต้องเสียที ด้วยการทำแผนที่อย่างปราณีตแสดงให้เห็นตำแหน่งที่อยู่อาศัยของชนเผ่าการิฟูนา (Garifuna) เปช (Pesch) มิสกิโต (Miskito) และตาวาห์กา สูมู (Tawahka Sumu) พวกเขาทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างขันแข็ง เพื่อที่จะช่วยให้ชาวอินเดียนสร้างสรรค์รายละเอียดและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินเกิดของพวกเขาให้อยู่ในรูปภาพที่มีตำแหน่งที่ตั้งชัดเจน แผนที่การใช้ที่ดิน (Land Use Map) ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องแสดงขอบเขตของการใช้แต่ละประเภท พวกเขาชี้แผ่นดินที่ทำกินของแต่ละคนและด้วยว่าที่ดินถูกใช้อย่างไร ขณะเดียวกันก็มีการยืนยันด้วยว่า แปลงที่ดินต่างๆ ไม่ได้ถูกทิ้งให้ว่างเปล่า แต่ถูกครอบครองโดยพวกเขาแต่ละคน
โครงการในฮอนดูรัสดำเนินการโดยมาสต้า (MASTA: Miskito Indian group) และโมปาวี (MOPAWI: Development of the Mosquitia) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานโครงการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างใกล้ชิดกับลุ่มชนพื้นถิ่นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 ในกระบวนการทำแผนที่นั้น จะต้องมีการอบรมเชิงปฏิบัติการหลายอย่างหลายครั้ง มีการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดิน และท้ายที่สุดก็จะจัดให้มีเวทีประชุมเสวนาระดับชาติขึ้นมาเพื่อให้แต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ได้นำผลการดำเนินงานมานำเสนอ ขั้นสุดท้ายจริงๆ จึงได้มีการทำสำเนาขึ้นมาใหม่ในภูมิภาคดาเรียนของปานามา อันเป็นถิ่นฐานที่แท้จริงของชนเผ่าเอมเบรา วูนัน และกูนา (Embera, Wounaan and Kuna Tribes.) เนื่องจากผู้นำของคนพื้นถิ่นในปานามามีความเข้มแข็งมากกว่าที่อื่นๆ ดังนั้น โครงการที่สองจึงได้รับการประสานงานให้ดำเนินการโดยกลุ่มอินเดียนร่วมเผ่า (Intertribal Group of Indians) กับกลุ่มนักพัฒนาเอกชนกลาง (CEASPA: Centro de Estudios y Accion Social Panameno) แต่ทั้งหมดใช้วิธีการเดียวกันกับที่ได้ดำเนินการไปแล้วในฮอนดูรัส
ขั้นที่หนึ่ง (ตามภาพหน้า 2 ) เริ่มต้นจากการร่างแผนที่การใช้ที่ดินด้วยมือของนักสำรวจชนพื้นเมืองและชาวบ้านในภูมิภาคมารีอา (Marea SubRegion) เมืองดาเรียน (Darien) ประเทศปานามา ผืนแผ่นดินที่คนข้างนอกดูเหมือนว่าเป็นป่าทึบที่ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ถูกคนในพื้นที่ร่วมกันจำแนกประเภทของการอยู่และใช้อย่างยั่งยืนในหลายๆ กิจกรรม
ขั้นที่สอง (ขวามือ) แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินของภูมิภาคมารีอา ที่ใช้ข้อมูลพื้นฐานจากแผนที่ของชาวอินเดียน แผนที่ของรัฐบาล และภาพถ่ายทางอากาศ แผนที่ของชาวอินเดียนให้รายละเอียดและความถูกต้องดีมากกว่าแผนที่ที่ผลิตขึ้นมาโดยหน่วยงานของรัฐ มาตราส่วนของแผนที่ คือ 1: 50,000 พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแผนที่แสดงขนาดพื้นที่โดยประมาณได้จากขั้นตอนที่หนึ่งที่กล่าวมาแล้ว ทั้งในภูมิภาคมอสกิเทียและดาเรียน (Mosquitia and Darien Regions) ไม่มีใครสามารถเดินผ่านเข้าไปในป่าฝน ป่าและทุ่งหญ้าซาวันนา หรือพื้นที่ชุ่มน้ำได้เลย จะมีก็แต่คนพื้นถิ่นที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำ มีหลายคนกล่าวขานถึงฤดูฝนล่าสุดว่าเป็นช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่เต็มไปด้วยเห็บและลิ้นไร นั่นเองที่ทำให้ชาวอินเดียนต้องสร้างบ้านเรือนตามลำน้ำ ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับการศึกษาและการบริการด้านสุขภาพ ทั้งสองภูมิภาคนี้ ชาวอินเดียนส่วนใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงจากผู้ที่เข้ามาทำปศุสัตว์ แน่นอนว่า ชนพื้นถิ่นพบเห็นผู้บุกรุกบริเวณชายขอบของพื้นที่
การประชุมสัมมนาครั้งแรกในฮอนดูรัสและปานามา ผู้มีส่วนร่วมกับโครงการได้เข้ามาถกแถลงกันอย่างเป็นกระบวนการ ปีเตอร์ เฮอร์ลิฮี (Peter Herlihy) นักภูมิศาสตร์วัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสที่ลอว์เรนซ์ ซึ่งได้ทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งในทั้งสองพื้นที่ โดยเขาทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดการทำแผนที่ร่วมกัน เขาแบ่งภูมิทัศน์ออกเป็นย่านๆ มีขนาดพอเหมาะสำหรับผู้ที่จะออกสำรวจจริงในพื้นที่ ซึ่งจะใช้เวลาในพื้นที่เพียงไม่กี่สัปดาห์สำหรับพื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางกิโลเมตร ผู้นำชาวอินเดียนจะช่วยคัดเลือกนักสำรวจพื้นเมือง โดยเลือกจากผู้ที่มีมีความรู้ที่แนบแน่นกับพื้นที่แต่ละย่าน และนักสำรวจเหล่านี้จะต้องมีความสามารถในการพูดและเขียนภาษาสเปนได้ด้วย ผู้ดำเนินการทั้งหลายจะต้องทำงานร่วมกันกับนักสำรวจพื้นเมืองเพื่อสร้างคำถามเกี่ยวกับการใช้ที่ดิน และกำหนดกระบวนการขั้นตอนในการบริหารงานสำรวจและทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน นักสำรวจแต่ละคนจะถือกระดาษแผ่นใหญ่และแบบสอบถาม พวกเขาจะต้องเดินผ่านเข้าไปในพื้นที่ทุกแห่ง ซึ่งบางแห่งมีโคลนลึกเหนือเข่าขึ้นมาเลยทีเดียว ในแต่ละหมู่บ้าน นักสำรวจจะต้องสำมะโนข้อมูลประชากรให้เรียบร้อย และได้สอบถามครอบครัวแต่ละครอบครัวเพื่อให้อธิบายเกี่ยวพื้นที่เกษตรกรรม ล่าสัตว์ จับปลา และเก็บสมุนไพรของพวกเขา รวมไปถึงพื้นที่พวกเขาไปตัดไม้มาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือคานู และทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ แต่ละหมู่บ้านจะสร้างสัญลักษณ์ของพวกเขาเองมาแสดงกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน นักสำรวจจะร่วมมือกับประชาชนในหมู่บ้านเขียนรายละเอียดของแผนที่ด้วยมือ เพื่อแสดงกิจกรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นในจุดต่างๆ โดยอ้างอิงข้อมูลทางพื้นที่จากแม่น้ำหลายสาย (ดูแผนที่ในหน้าตรงข้ามและปกหลังของรายงาน)
หลังจากที่ได้เก็บข้อมูลจากทุกๆ ครอบครัวแล้ว นักสำรวจจะเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 โดยมีคณะนักเขียนแผนที่เข้ามาช่วยจัดการ ปรับข้อมูลให้ถูกต้อง และวิเคราะห์สารสนเทศ ในขั้นนี้มีการเปรียบเทียบข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศกับแผนที่ที่ทำโดยหน่วยงานของรัฐบาล คณะทำงานจะผองถ่ายผลลัพธ์ที่ได้จากการสำรวจไปเป็นข้อมูลชุดใหม่ เป็นแผนที่สีผสมขนาดมาตราส่วน 1: 50,000 (ดูแผนที่ที่อยู่ในหน้านี้) จากนั้นนักสำรวจพื้นเมืองแต่ละคนจะกลับเข้าไปที่ชุมชนของพวกเขา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่ที่ทำด้วยมือและแผนที่สีผสมกับประชาชนในหมู่บ้าน ในกระบวนการเปรียบเทียบแผนที่ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นกับภาพถ่ายทางอากาศที่ประชาชนนำมาเป็นฐานในการทำแผนที่ด้วยมือนั้น คณะนักทำแผนที่พบว่ามีสิ่งประหลาดบางอย่างเกิดขึ้น กล่าวคือ ไม่เพียงแต่ว่าแผนที่ทำมือของประชาชนจะมีตำแหน่งและสัดส่วนพื้นที่ที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังพบว่าแผนที่ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดทำมีความไม่ถูกต้องอยู่หลายส่วน คณะทำแผนที่พบว่า พื้นที่หลายแห่งที่ประชาชนชาวอินเดียนอาศัยอยู่นั้นสอดรับอย่างพอดิบพอดีกับภูมิทัศน์ธรรมชาติที่จะต้องสงวนรักษาเอาไว้ และที่สำคัญที่สุด คือ แผนที่ของชาวอินเดียนได้ให้ภาพแท้ๆ เป็นภาพแรกสุดของพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ พร้อมๆ กับบอกด้วยว่าพวกเขาจะใช้ผืนที่ดินของเขาเหล่านั้นเพื่อทำอะไร “ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับแผ่นดินแม่ของชาวอินเดียน” เฮอร์ลิฮีกล่าว “แต่อย่างน้อยที่สุด วันนี้เราก็ได้ภาพแรกของพวกเราเกี่ยวกับขอบเขตการใช้พื้นที่ที่กระจ่างขึ้น”
ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 นักสำรวจทั้งหลายจะทำการรวบรวมแผนที่หลายฉบับ ภายใต้การแนะนำของคณะทำงานของเฮอร์ลิฮี เพื่อให้ได้แผนที่ฉบับปรับปรุงครั้งสุดท้ายที่มีมาตราส่วน 1: 250,000 (ดูแผนที่ในหน้า 30) แผนที่ฉบับนี้จะเรียกว่า แผนที่ต้นฉบับ (Master Map) ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ สำหรับการสัมมนาสองวันในเมืองหลวงของ 2 ประเทศ คือ เมืองเตกูซิกัลปา (Tegucigalpa) และปานามา ซิตี้ (Panama City)
จะเห็นได้ว่าการประชุมสัมมนาได้เปิดโอกาสเป็นครั้งแรก ให้กลุ่มประชาชนพื้นถิ่นหลายๆ กลุ่มเข้ามานำเสนอผลลัพธ์จากการทำงาน และการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานชุมชน ได้มีการรับฟังการนำเสนอต่อที่ประชุมของรัฐมนตรี ประชาชนพื้นที่ถิ่นกลุ่มอื่นๆ นักอนุรักษ์ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนประจำท้องถิ่นต่างๆ ด้วยการที่มีแผนที่และการประเมินด้วยเทคนิคเชิงวิทยาศาสตร์เป็นแกนกลาง ชาวอินเดียนได้สร้างระบบข้อมูลที่มีลักษณะเห็นได้ด้วยภาพและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่การรณรงค์ทางการเมืองในหลายประเด็น ประกอบด้วย การสร้างความถูกต้องเชิงกฎหมายให้กับแผนที่ดินแม่ของชุมชน (Legalizing Communal Homelands) การยับยั้งการโจมตีของเจ้าอาณานิคม (Stemming the Incursions of Colonization) ที่เข้ามาตั้งชุมชนใหม่และพัฒนาพื้นที่โดยบรรษัทข้ามชาติ และการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผืนแผ่นดินแม่ของชาวอินเดียนกับพื้นที่อนุรักษ์ของชาติ “ชาวอินเดียนไม่ได้รับอนุญาตให้พูด การประชุมสัมมนาเหล่านี้เปิดโอกาสให้ได้พูดในประเด็นที่พวกเขาต้องการพูด” นี่คือคำกล่าวของแมค ชาแปง ผู้อำนวยการโครงการจัดการที่ดินสำหรับคนพื้นถิ่น จากการประชุมทำให้เกิดการปรับปรุงสิ่งต่างๆ จนลุล่วงมากกว่าที่ผู้มีส่วนร่วมเคยคาดหวังเอาไว้ ที่มากที่สุดก็คือ ผลลัพธ์จากงานของโมปาวีที่ทำให้ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชนพื้นถิ่น ถูกนำเข้าไปสู่การรับรู้อย่างจริงจังของนักการเมืองระดับชาติของฮอนดูรัส ส่วนในปานามานั้น ชนเผ่าเอมเบรา วูนัน และกูนา ไม่เคยมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสัมมนาระดับนี้มาก่อนเลย ระหว่างการประเมินอย่างไม่เป็นทางการของสภาแห่งชาติปานามาหลังจากการประชุมสัมมนาได้เสร็จสิ้นไปแล้ว เอลปิดิโอ โรซาเลส (Elpidio Rosales) ผู้นำชุมชนระดับภูมิภาคอายุ 63 ปี จากนิคมเอมเบรา-วูนัน กล่าวว่า “เมื่อคืนลุงนอนไม่หลับทั้งคืน มันปลาบปลื้ม ในหัวของลุงเต็มไปด้วยสิ่งสวยงามที่ลุงได้ยินได้เห็นระหว่างการประชุมสัมมนา”
ชาวอินเดียนกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าร่วมเวทีประชุมสัมมนาล้วนแต่ให้การยอมรับ ชาวอินเดียนเผ่ามิสกิโตสองกลุ่มจากนิคารากัวเริ่มคลายกังวล พร้อมกับเข้าไปสอบถามผู้ประสานงานของชาวอินเดียนในที่ประชุมที่ปานามา ซิตี้ เพื่อให้ไปช่วยพวกเขาทำแผนที่ชุมชนที่จะเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ทั้งนี้โดยผู้ประสานงานโครงการที่ดินของชนพื้นถิ่นในภาคสนาม นิกานอร์ กอนซาเลส (Nicanor Gonzales) ได้ชักชวนให้ชาวมิสกิโตมามีส่วนร่วมในการสำรวจการใช้ที่ดิน และกระบวนการทำแผนที่จะทำให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ภายใต้การจัดการของชนพื้นถิ่นเองเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางวัฒนธรรมบางอย่าง โครงการที่ดินของชนพื้นถิ่นกำลังทำงานร่วมกับนักภูมิศาสตร์ คือ เบอร์นาร์ด นิตช์มัน (Bernard Nietchmann) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียที่เบอร์กเลย์ ซึ่งจะคอยให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคแก่โครงการ
เจอรัลเดส เฮอร์นานเดซ (Geraldes Hernandez) ผู้ประสานงานคนหนึ่งในการทำแผนที่ดาเรียนให้กับเผ่ากูนา ไม่สามารถกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้ ขณะที่เขาอธิบายความเป็นมาเป็นไปของโครงการที่เขาทำ “มันเป็นประสบการณ์ที่ผิดปรกติธรรมดาจริงๆ แต่ก็เป็นเวลานานมาเหลือเกินที่สิทธิของประชาชนคนพื้นถิ่นไม่เคยได้รับการเคารพ จนไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นเลยในประเทศนี้”
ขณะที่ ฮวน เชวาลิเยร์ (Juan Chevalier) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการปกครองและยุติธรรมของปานามา ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ฟังการประชุมสัมมนาที่ปานามา ซิตี้ ด้วยประเด็นสนับสนุนทางสาธารณะที่จะให้ความใส่ใจทางกฎหมายเกี่ยวกับแผ่นดินแม่ของชาวอินเดียนในดาเรียน ทำให้ชาวอินเดียนทั้งหลายเริ่มมองเห็นความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้น โดยเขาบอกกับที่ประชุมว่า รัฐบาลปานามาและโคลัมเบียได้พยายามแสวงหาเงินทุนระหว่างชาติ เพื่อที่จะสร้างทางหลวงสายแพน-อเมริกัน (Pan-American Highway) เชื่อมระหว่างสองประเทศ และทางหลวงสายดังกล่าวนี้จะไปจำกัดสิทธิในการอยู่กินบนแผ่นดินแม่ของชนเผ่าเอมเบรา วูนัน และกูนา
มีประจักษ์พยานเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงให้เห็นถึงการทำลายทางวัฒนธรรมและนิเวศวิทยา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนพลังน้ำบายาโน (Bayano Hydropower Dam) และโครงการสร้างทางหลวงไกลสุดขอบฟ้าลงไปทางใต้อย่างยาไวซ่า (Yaviza) ซึ่งแมค ชาแปง หวั่นวิตกว่า ในอนาคตการครอบครองที่ดินของชาวอินเดียนในดาเรียนจะเป็นอย่างไรเมื่อถนนสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว “ถ้าไม่มีกำลังตำรวจคอยปกป้องคุ้มครองประชาชนและป่าไม้ของคนพื้นถิ่น ถนนจะกลายเป็นคลื่นหนุนนำเอาชาวไร่ชาวนาที่ไร้ที่ทำกิน ยาเสพติด และการปล้นสดมภ์เข้ามา สิ่งสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นกับชาวปานามาและอเมริกากลางทั้งมวล ก็คือ การทำลายล้าง” นับตั้งแต่ทศวรรษ 1940 อย่างน้อยที่สุด 2/3 ของผืนป่าดั้งเดิมที่เคยห่อหุ้มอเมริกากลางถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง และก้าวย่างของการทำลายป่าไม้เพิ่มความเร็วขึ้นๆ อย่างน่าใจหาย ป่าฝนเขตร้อนผืนสุดท้ายที่ยังอยู่และชนอเมริกันพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่าแห่งนี้ กำลังลดลงไปก่อนที่ความก้าวหน้าของกิจการทำไม้ ปศุสัตว์ และเกษตรกร จะเข้ามาด้วยแรงบีบของการเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างมากและการสูญเสียแผ่นดินแม่ของพื้นที่ริมฝั่งแปซิฟิก ผืนป่าฝนที่ทำหน้าที่เป็นเข็มขัดรัดพื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์เหลือเกิน อีกทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง ที่เป็นเสมือนสะพานแห่งพืชพรรณ (Vegetational Bridge) เชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศพื้นทวีปขนาดใหญ่ทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน คือ อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ นักนิเวศวิทยาเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าหากแนวโน้มยังเป็นอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ภายในปลายทศวรรษนี้สะพานป่าแห่งนี้ ก็จะผุพังและสลายลลงไปอย่างไม่สามารถเยียวยาได้เลย
เรื่อยลงมาตามความยาวของอ่าวแคริบเบียนในอเมริกากลาง ชนพื้นเมืองกลุ่มอื่นๆ ได้มีการรวมตัวกันเพื่อจับกลุ่มวิพากษ์และถกแถลงกันในประเด็นสิทธิในที่ดิน ในเบไลซ์ตอนใต้ (Belize) สภาวัฒนธรรมมายากลุ่มโทเลโด (Toledo Maya Cultural Council) กำลังถูกชักชวนให้สร้างโครงการแผ่นดินแม่ของมายัน (Mayan Homeland) ในนิคารากัว กลุ่มมิสกิโตได้กำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นมาบนชายฝั่งแอตแลนติก เพื่อที่จะทำหน้าที่ควบคุมความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติของภูมิภาคของพวกเขา ในคอสตา ริกา ประชาชนชาวบริบรีและกาเบการ์ (Bribri and Cabecar) ร่วมกันก่อตั้งสภาพผู้สูงวัย (Councils of Elders) เพื่อให้ได้มาร่วมกันแสดงบทบาทผู้นำในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพในลา อมิสตาด (La Amistad Biosphere Reserve) ใกล้ๆ กับตาลามันกา (Talamanca) ด้วยเสียงครวญครางของเลื่อยโซ่ที่ดังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มประชาชนคนพื้นถิ่นเหล่านี้ ได้เริ่มต้นขยับเข้าหากันเพื่อที่จะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกันอย่างน้อยก็ร่วม 5 ปี 10 ปีผ่านมาแล้ว
เคราะห์ยังดีอยู่ ที่ยังคงมีความช่วยเหลือเข้ามาสู่หนทางของพวกเขาเหล่านี้บ้าง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีกลุ่มอนุรักษ์ระดับนานาชาติเริ่มเห็นความสำคัญ อันเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับการอนุรักษ์สิ่งขาดแคลนที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างของป่าฝนเขตร้อน ที่วางตัวอยู่เป็นส่วนๆ เพื่อสนับสนุนค้ำจุนสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับนักอนุรักษ์จะทำการตัดสินใจอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับป่าฝนเขตร้อน ในการที่จะสงวนรักษาเอาไว้จนกระทั่งได้รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้อาศัยอยู่ภายในนั้น และรู้ว่าพวกเขาได้ใช้ประโยชน์จากป่าอย่างไร ความพยายามที่จะทำแผนที่ออกมาจึงเป็นขั้นตอนที่หนึ่งที่มีเหตุมีผลอย่างแท้จริง “แผนที่ที่ทำขึ้นมาโดยชาวอินเดียน เป็นสิ่งแรกเลยทีเดียวที่ช่วยสร้างยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ ในการพิทักษ์และคุ้มครองแผ่นดินแม่และความหลากหลายทางชีวภาพของคนพื้นถิ่น” แมค ชาแปง กล่าว
อันที่จริงแล้ว นักทำแผนที่หลายคนจากสถาบันภูมิศาสตร์แห่งชาติ (National Institutes of Geography) ของทั้งประเทศฮอนดูรัสและปานามา ที่เข้ามาทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทำแผนที่ของชาวอินเดียน นั่นทำให้ถือได้ว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่วิเศษมากที่แผนที่ฉบับอื่นๆ ควรจะยึดเอาเป็นแบบอย่าง แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด จนกระทั่งแผนที่ของฮอนดูรัสได้ถูกผลิตขึ้นมา เป็นที่ยอมรับของนักอนุรักษ์ทั้งหลายต่อคุณค่าเชิงวิทยาศาสตร์ของแผนที่ของชาวอินเดียน จนทำให้คณะทำงานสามารถระดมทุนสนับสนุนสำหรับดำเนินการโครงการในปานามาต่อเนื่อง จากแหล่งทุนหลายๆ แหล่ง เป็นต้นว่า มูลนิธิอเมริกันนานาชาติ (Inter-American Foundation) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) กองทุนอนุรักษ์ธรรมชาติ (The Nature Conservancy) กองทุนคุ้มครองสัตว์ป่า (World Wildlife Fund) และสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute)
การทำแผนที่แผ่นดินแม่ของคนพื้นถิ่นได้มีส่วนอย่างมากในการลบล้างตำนานอันเลวร้ายของลัทธิล่าอาณานิคม ที่บอกกล่าวกันว่าผืนแผ่นเหล่านี้ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้และกำลังถูกบุกรุกทำลาย เพราะความจริงแล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังคงมีป่าไม้หลงเหลืออยู่ ป่าซาวันนาและพื้นที่ชุ่มน้ำยังคงสมบูรณ์อยู่ และเป็นพื้นที่ซ้อนทับกับขอบเขตของชาวอินเดียน อนุสาวรีย์ทางการเมืองถูกสร้างขึ้นมาด้วยกระบวนการเพิ่มความตระหนักของคนอินเดียนทั้งภูมิภาค เพื่อแสดงว่าพวกเขามีหลักคิดพื้นฐานที่จะอยู่กันอย่างแบ่งปันกับคนชนพื้นถิ่นเผ่าอื่นๆ และจะสร้างพลังให้แข็งแกร่งให้สามารถลุล่วงภารกิจในการพิทักษ์แผ่นดินแม่ของพวกเขาในทางกฏหมายให้ได้
สำหรับช่วงหนึ่งพันปีนี้ ประชาชนคนพื้นถิ่นได้มีการปรับวิถีชีวิตของตัวเองอย่างระมัดระวังภายใต้ความซับซ้อนทางนิเวศวิทยาของภูมิทัศน์ท้องถิ่น ด้วยจิตที่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยที่สุด พวกเขาจึงใช้ความมั่งคั่งของธรรมชาติเฉพาะแต่เพียงเพื่อการดำรงชีพให้สอดคล้องกับวิถีที่ยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่มนุษยชาติพึงจะทำได้ ณ จุดที่พวกเขาต้องการความอยู่รอดเท่านั้น จึงจะต้องให้ความสำคัญกับประชาชนคนพื้นถิ่นเท่านั้น ที่จะให้ความหวังที่ดีที่สุดแก่การอนุรักษ์ความหลากหลายของชีวิตที่ยังคงเหลืออยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น