ทรราชน้ำมัน โดย วิวัฒน์ชัย อัตถากร จาก Thaipost.net
แม้กัมพูชาจะมีกรณีพิพาทดินแดนกับไทยมานานแล้ว แต่ต่อมาการรบพุ่งกันอย่างรุนแรงแทบไม่ค่อยเกิด ประชาชนทั้ง 2 ประเทศก็ยังไปมาหาสู่ติดต่ออย่างมีมิตรไมตรี และเครือญาติที่ดีต่อกัน รวมทั้งความสัมพันธ์ระดับกองทัพ แทบไม่น่าเชื่อว่าเรื่องการจับกุม 7 คนไทยในเขตแดนไทยแต่ต้องไปติดคุกเขมรส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงกับทำให้ประเทศกัมพูชาและประเทศไทยต้องใช้กำลังทหารรบพุ่งกันอย่างรุนแรงแถบชายแดนใกล้พื้นที่พิพาทเชิงเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แม้ขณะนี้จะหยุดยิงแต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ซ้ำร้ายนายกรัฐมนตรีกัมพูชายังกล่าวหาว่าสงครามครั้งนี้ฝ่ายไทยเป็นผู้ก่อขึ้น นายกรัฐมนตรีไทยจะต้องรับผิดชอบ สงครามระหว่างกัมพูชากับไทยจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ต่อไปนี้จะไม่มีการเจรจาระดับทวิภาคี การเจรจาต่อรองใดๆ ระหว่างไทยกับกัมพูชาในการสร้างสันติภาพบริเวณชายแดนสองประเทศ จะต้องมีประเทศที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง หากแต่แรกผู้นำรัฐบาลไทยช่วยเหลือ 7 คนไทยอย่างจริงจังและจริงใจ ดูแลสิทธิพลเมืองไทยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนบนกระบวนวิธีการพิจารณาคดีอย่างไร้มาตรฐาน ไร้ความยุติธรรม ถูกมัดมือชก ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติอย่างชัดเจน เรื่องเล็กๆ อย่างการจับกุม 7 คนไทยก็อาจเป็นเพียงคดีธรรมดาไม่ถูกนำไปเป็นเรื่องของการเมือง จนเปิดช่องให้กัมพูชานำการสู้รบปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้นไปเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศซึ่งมีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนซ่อนกลได้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงกับออกแถลง การณ์กรณีพิจารณาคดีนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ถูกพิพากษาจำคุก 8 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ โดยระบุว่าบุคคลทั้งสองไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม เช่น การไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเอกสารและพยานจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ในการต่อสู้ ทนายความและล่ามไม่สามารถสื่อสารเข้าใจได้ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อการที่บุคคลทั้งสองจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาดูแลคนไทยที่ยังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีตามพันธกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่ทั้งสองประเทศเป็นภาคี (เดลินิวส์ 4 ก.พ.2554 น.13) จนถึงวันนี้เงื่อนปมความจริงในการจับกุมตัวคนไทย 7 คนก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ได้ยินแต่ผู้นำรัฐบาลไทยพร่ำพูดว่าให้ความช่วยเหลือคนไทย 2 คนอย่างเดิมอยู่บ่อยๆ โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไป ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจนในการที่จะช่วยเหลือคนไทยอีก 2 คนนั้น ทางครอบครัว "สมความคิด" ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกผ่านสื่อมวลชนถึงนายกรัฐมนตรีไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงหรือหารือร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และมีผลในทางปฏิบัติ (เดลินิวส์ 5 ก.พ.2554 หน้า 2)
การยอมรับว่า 7 คนไทยถูกจับในแดนเขมร รวมทั้งการอ่อนข้อเรื่อง 7 คนไทยถูกจับติดคุกเขมร โดยไม่ทักท้วงใดๆ ทำให้รัฐบาลกัมพูชาได้ใจเปิดเกมรุกไม่หยุด นอกจากผู้นำรัฐไทยจะไม่ทักท้วงแล้ว กลับหันไปถามภาคประชาชนว่าจะใช้วิธีอะไร (ไทยโพสต์ 3 ก.พ.2554 หน้า 1) แทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นคำถามจากผู้นำสูงสุดของประเทศไทย ผู้ซึ่งมีหน้าที่แต่ไม่ทำหน้าที่ ในทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศมีหลายมาตรการทำได้ในแนวทางสันติภาพ แต่ไม่ทำ วิธีการทางการทูตของไทยล้าหลังหรือไม่ เพลี่ยงพล้ำ เสียเปรียบ เดินตามเกมของกัมพูชาทุกครั้งไป ปล่อยให้ฮุน เซน กร้าว ย่ำยีเหยียบย่ำ ดูถูก เป็นฝ่ายกระทำอยู่ร่ำไป ในสถานการณ์คอขาดบาดตายอย่างนี้ แค่พูดเก่งไม่สามารถตีฝีปากและรับมือกับเกมของผู้นำรัฐบาลกัมพูชาและบรรดารัฐมนตรี รวมทั้งโฆษกของรัฐบาลของเขาได้ ต้องลงมือทำจริงจังเสียทีอย่างเท่าทันเกมรุกของกัมพูชา ผู้นำรัฐบาลไทยต้องไวต่อปัญหา ไม่ใช่มีวุฒิภาวะการเป็นผู้นำแบบเย็นตาโฟรสเด็กๆ อย่างเช่นเรื่อง 7 คนไทยถูกจับมีท่าทีคลุมเครือมาตั้งแต่ต้น พูดกลับไปกลับมา ส่งสัญญาณที่ผิดให้กัมพูชาและประชาคมโลก เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่อย่างน่าเสียใจ บานปลายกลายเป็น "สงคราม" ปะทะกันหลายระลอก (4/5/6/7 ก.พ.54) ล้มตายบาดเจ็บหลายสิบ รอบแรกที่ทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงปืนใหญ่ถล่มหมู่บ้านที่ศรีสะเกษ เกิดขึ้นในวันเดียวกัน (4 ก.พ.54) ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกับของกัมพูชากำลังประชุมกันในประเทศกัมพูชา เรียกว่าไม่ไว้หน้า หยามกันชัดๆ ผู้นำไทยหงอไม่กล้าแสดงท่าทีตอบโต้บ้าง ชั้นเชิงเป็นรองลีลาผู้นำเขมรหลายขุม
รัฐไทยไร้น้ำยาในสายตาเขมร เขาอ่านทางขาด เดินเกมรุกเก็บแต้มได้ตลอด ผู้นำรัฐบาลไทยต้องเตรียมรับพร้อมรุกเอาไว้เลย การทดสอบจะตามมาอีกหลายระลอก การที่ผู้นำรัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจสั่งทหารรบ แถมเปิดตัวให้ลูกชายคนโตพลโทฮุน มาเนต ซึ่งจบการศึกษาจากสถาบันทหารเวสต์ปอยต์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาเข้ามาบัญชาการรบชายแดนไทย-กัมพูชาด้วยตนเอง ฮุน เซนหวังเอาชนะทางการเมืองไม่ใช่ทางการทหาร เขามีวาระแฝงเร้นที่จะนำปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาขึ้นสู่เวทีสากล จึงร้องเรียนไปที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นการยกระดับเจรจาจากทวิภาคีสู่พหุภาคี โดยคาดหวังให้ยูเอ็นและประเทศสมาชิกขาใหญ่เข้ามาดูแลและแก้ปัญหาให้กัมพูชาเรียนรู้การต่อสู้ในลักษณะนี้แล้วจากอดีตที่ชาติมหาอำนาจในยูเอ็นชี้ขาดให้กัมพูชาชนะคดีศาลโลกกรณีตัวปราสาทพระวิหารตามแผนที่ที่ฝรั่งเศสเขียนให้ อย่างไรก็ดี เมื่อฟ้องไปยังยูเอ็นว่าไทยรุกรานกัมพูชา ทางยูเอ็นมิได้จัดการประชุมให้ตามที่กัมพูชาร้องขอ การดึงปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาเข้าสู่โต๊ะเจรจาพหุภาคี นายกรัฐมนตรีกัมพูชารู้ดีว่ากัมพูชาจะได้เปรียบ เพราะประเทศใหญ่ๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาจะเป็นแบ็กชั้นดีให้กัมพูชา ทั้งนี้เพราะประเทศใหญ่เหล่านี้ล้วนจดจ้องมองหาผลประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลและผลประโยชน์อื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมัน เขาเห็นจุดอ่อนรัฐบาลไทยไร้เอกภาพ บางส่วนแตกแยกมีเอี่ยวในผลประโยชน์ และของเถื่อนตามแนวชายแดน (บ่อนเถื่อน-น้ำมันเถื่อน-ไม้เถื่อน-มันเถื่อน-แรงงานผิดกฎหมาย) กลายเป็นเรื่องประจำวันธรรมดา หากแต่ผลประโยชน์ธุรกิจน้ำมันมหาศาลต่างหากคือจุดแตกหักที่พวกเสือหิวจะไล่เถือแย่งชิงสัมปทาน เพราะรู้อยู่แก่ใจดีว่าน้ำมันในโลกค่อนข้างร่อยหรอและจำกัดลงทุกที อาจหมดไปจากโลกในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว ทุนนิยมโลกาภิวัตน์จะไล่ล่าทองคำสีดำ (น้ำมัน) จะเขย่ารัฐบาลไทยอย่างถึงรากถึงโคน รัฐบาลต้องแก้เกมด้วยการจัดการคนมีเอี่ยวทุจริตเสียที กล้าปราบคนโกงบ้าง
บัดนี้ประเทศใหญ่ๆ เข้ามามีอิทธิพลเหนือทรัพยากรก๊าซน้ำมัน ให้เงินบริจาคและเงินกู้สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกกับการได้สัมปทานน้ำมันจากรัฐบาลกัมพูชา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีนถือกัมพูชาเป็นพวกชัดเจน ยังมีฝรั่งเศส รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม อีกต่างหาก โดยเฉพาะชาวรัสเซียทำธุรกิจหลายแขนงในกัมพูชาปัจจุบัน ช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และไม่พอใจต่อรัฐไทยรุนแรงกรณีจับกุมตัวคนของเขา (นายวิกเตอร์ บูธ) ส่งไปสหรัฐอเมริกา กัมพูชาใช้เป็นนโยบายโดดเดี่ยวไทย เพื่อทำให้ไทยไร้พลังต่อรองในเวทีสากล จับตาดู "ยุทธศาสตร์โลกล้อมไทย" ให้ดี รัฐบาลไทยควรแก้เกมให้ได้ ควรพูดน้อยแต่ทำให้หนัก ไม่ต้องหวาดวิตกเกินเหตุ
ข้อมูลธนาคารโลกพบว่า พลังงานสำรอง (2 พันล้านบาเรล) และก๊าซธรรมชาติ (10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต) จะทำรายได้ให้กัมพูชาปีละกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี กัมพูชาจะกลายเป็นประเทศเศรษฐีน้ำมันรายใหม่ของโลกในสองทศวรรษนี้ ยิ่งหากได้น้ำมันจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับไทย กัมพูชายิ่งจะรับเละยิ่งรวยไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว ดังนั้นเบื้องลึกของความขัดแย้งไทย-กัมพูชาคือผลประโยชน์จากก๊าซและน้ำมัน นี่คือต้นเหตุแห่งสงคราม
บารัก โอบามา คือผู้บัญญัติศัพท์ "ทรราชน้ำมัน" เขาประกาศจะปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาจากทรราชน้ำมันในวันที่เขาได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงชัยประธานาธิบดี เขาสัญญาจะยุติสงครามอิรักนำทหารอเมริกันกลับบ้านถ้าได้เป็นประธานาธิบดี ณ วันนั้น (3 ม.ค.51) ราคาน้ำมันที่นครนิวยอร์กแตะสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบาเรล ซึ่งเป็นราคาสูงสุดครั้งที่สอง อดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ อีกทั้งผู้ร่วมรัฐบาลเขาคืออดีตรองประธานาธิบดีดิก เชนีย์ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคอนโดลีซซา ไรซ์ ล้วนแล้วแต่เคยทำงานระดับผู้บริหารหรือบอร์ดบริษัทน้ำมันมาก่อนทั้งนั้น จึงทำนโยบายทับซ้อน การออกคำสั่งให้กองทัพสหรัฐไล่ล่าบ่อน้ำมันอิรัก จับตัวอดีตประธานาธิบดีอิรักคือซัดดัม ฮุสเซน ไปแขวนคอตาย โดยไม่มีโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในอิรักตามที่กล่าวหา หลังก้าวลงจากตำแหน่งบุชยอมรับความจริงเรื่องนี้ในหนังสือของบุชเอง
"ทรราชน้ำมัน" ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือ "The Tyranny of Oil" ของแอนโทเนีย จูฮาสซ์ หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์เจาะลึกเปิดโปงขบวนการเอาเปรียบประชาชนโดย "สามทรราช" ได้แก่ "รัฐ/ข้าราชการ-นักการเมือง-บริษัทน้ำมัน" ขบวนการผูกขาดธุรกิจน้ำมันก่อกรรมทำเข็ญด้วยการตั้งราคาน้ำมันแพงลิ่ว ทำลายชั้นบรรยากาศทำโลกร้อน ต้นเหตุสงครามแย่งชิงบ่อน้ำมันทำลายสันติภาพโลก จูฮาสซ์เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่หาญกล้าวิพากษ์อุตสาหกรรมน้ำมันที่ทรงพลังอำนาจสูงสุดของโลกอย่างตรงไปตรงมา กล้าฉีกหน้ากาก "ทรราชน้ำมัน" ไร้พรมแดน เธอชี้ว่าขณะที่ทรัพยากรน้ำมันในโลกถูกถลุงจนร่อยหรอ บรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รุกคืบขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลทั่วโลก ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย แองโกลา ลิเบีย บราซิล เม็กซิโก ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย และแถบทะเลแคนเปียน โลกจะปั่นป่วนวุ่นวาย หลายแห่งจะเป็นสมรภูมิสงครามแย่งชิงบ่อน้ำมันอย่างดุเดือด ผู้บริหารประเทศของไทยจึงต้องเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำ สามารถมองไกลให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้
พรมแดนไทย-กัมพูชามีความยาวเกือบ 800 กิโลเมตร ทางบกมีข้อพิพาทระหว่างกันกว่า 10 จุด ทางทะเลกำลังจะกลายเป็นจุดเดือด การยึดแผนที่คนละฉบับจะยังผลได้-ผลเสียอย่างมาก การไม่ยอมกันชนพื้นที่ทับซ้อนแถบอ่าวไทยอาจเป็นชนวนศึกรอบใหม่ในอนาคต ในการปักปันเขตแดนหากกัมพูชาได้พื้นที่บ่อน้ำมันบ่อใหญ่ (ริมตะเข็บชายแดนติดไทย) การขุดเจาะบ่อใหญ่ (กัมพูชา) ตามหลักวิทยาศาสตร์จะดูดน้ำมันจากบ่อเล็ก (ไทย) ที่อยู่ติดกัน เอาไปใช้อย่างสบายๆ อาจถึงกับเกลี้ยงบ่อ ประเทศคงเสียค่าโง่เอาได้จากการขาดความสามัคคีและการฉ้อฉลของบางคนบางกลุ่ม ทำไทยเสียเปรียบ พวกนี้หากินกับทุกรัฐบาล
นโยบายพลังงานของไทยเสียเปรียบต่างชาติมาโดยตลอด เป็นนโยบายที่มีประโยชน์ทับซ้อนกับชนชั้นนำอำนาจรัฐ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับแรกปี 2514 ของไทยที่ร่างโดยนายวอลเตอร์ ลีวาย มันสมองสำคัญของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งตระกูลร็อกกี เฟลเลอร์ และเป็นที่ปรึกษาธนาคารโลกอีกด้วย หนังสือเรื่อง "เมืองไทยมีไว้ขาย" โดยประสงค์ เจริญสิน เรียกกฎหมายน้ำมันฉบับนี้ว่า "ฝรั่งร่างฝรั่งรวย" ไมเคิล แทนเซอร์ นักเศรษฐศาสตร์พลังงานชั้นนำของโลกวิจารณ์ว่ากฎหมายน้ำมันของไทยเป็นกฎหมายที่ล้าหลังมากที่สุดในยุคนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นปฐมบทของการเสียเปรียบต่างชาติด้วยการสยบยอมให้สัมปทานบริษัทต่างชาติยาวนานถึง 52 ปี ประเทศไทยมีน้ำมัน แต่ประชาชนแทบไม่ได้รับประโยชน์เพราะถูกทรราชน้ำมันฉกฉวยปล้นไปหมด
แม้ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายน้ำมันของไทยอีกหลายฉบับ แต่ก็ยังคงความไม่เป็นธรรม ทำให้ส่วนแบ่งระหว่างต่างชาติกับไทยเสียเปรียบ คนไทยต้องซื้อน้ำมันแพงเกินจริง รัฐไทยที่อ่อนแอชอบเดินตามก้นฝรั่งกำหนดราคาเอาเปรียบประชาชนพร้อมปกปิดข้อมูล แต่รัฐที่เข้มแข็งอย่างประเทศเวเนซุเอลาภายใต้การนำของประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ หาญกล้าออกนโยบายให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของตนเข้าไปมีส่วนแบ่งอย่างน้อย 60% กับกิจการน้ำมันของบริษัทต่างชาติในเขตโอรินโนโก ประเทศเวเนซุเอลา ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำมัน ผู้นำของเขากล้าพิทักษ์ผลประโยชน์ชาติและประชาชน แต่ผู้นำของเรานอกจากไม่กล้าแล้ว ยังขาดวิสัยทัศน์อีกด้วย
รัฐไทยไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล ตอกย้ำการเมืองกึ่งเผด็จการให้เห็น ยิ่งไปแก้ไขมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการกำหนดกรอบการทำสัญญากับต่างประเทศ ยิ่งจะทำให้การไปทำสัญญาระหว่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น อาจรวมถึงการทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงเรื่องผลประโยชน์ธุรกิจน้ำมันทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งจะสะดวกรอดพ้นการตรวจสอบจากรัฐสภา รอดพ้นจากสายตาประชาชน ทั้งนั้นการปล้นทรัพยากรของชาติจะทำได้ง่ายดาย ฉลุย อย่างเงียบเชียบ
รัฐบาลไทยมักติดนิสัยปากปราศัย น้ำใจเชือดคอ พูดเอาแต่ได้ อะไรไม่ดีก็โทษประชาชน ทั้งๆ ที่สงครามไทย-กัมพูชาในเขตชายแดนครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะผู้นำประเทศบริหารนโยบายผิดพลาด ขาดข้อมูลรอบด้าน ไม่ไวต่อปัญหา แถมขาดขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการผ่อนคลายความร้อนแรงของวิกฤติปัญหาลงเพื่อกรุยแนวทาง
นำไปสู่ภาวะ "สันติภาพ" รัฐไทยไร้เอกภาพเพราะลูกน้องบางคนบางพวกไม่โปร่งใสคดโกงแต่ผู้บริหารประเทศกลับเพิกเฉย มองข้ามบ้าง มองไม่เห็นบ้าง ปล่อยให้บุคลากรที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนโดยตรงปฏิบัติหน้าที่โดยฉ้อฉล ทุจริต มีผลประโยชน์ทับซ้อน ฉ้อราษฎร์บังหลวงต่อไป การปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมเกิดขึ้น ผู้บริหารประเทศจะยังคงอ้างว่าตนมีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ เพราะความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม (Integrity) หากผู้นำประเทศขาดการยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม ไม่พยายามป้องกัน ยับยั้งหรือต่อต้านการทุจริต ถือว่าผู้นั้นทำผิดจริยธรรมไร้ภาวะผู้นำ (ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ปาถกฐาพิเศษเรื่อง "จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ" 31 ก.ค.51) มีเสียงร่ำลือหนาหูว่ามีนักการเมืองบิ๊กๆ แอบไปเจรจาหาผลประโยชน์เรื่องก๊าซ-น้ำมันในอ่าวไทย ผู้นำจะรู้อย่างนี้บ้างหรือเปล่า
ผู้นำจะเป็นแค่ในนามไร้อำนาจไร้อิสรภาพไม่ได้ ในหลักการรัฐบาลต้องชี้นำกองทัพ แต่ในทางพฤตินัยกองทัพกลับชี้นำ (ไม่ฟัง) รัฐบาลหรือไม่ รัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือแล้ว รัฐไทยอ่อนแอเป็นรัฐที่ล้มเหลวแล้วมิใช่หรือ โครงสร้างสังคมไทยง่อนแง่น ระบบการเมืองชั่วร้ายผลิตนักการเมืองฉ้อฉลวนเวียนในอ่างอำนาจเลวร้ายตลอดศก เมื่อหมดสภาพแล้วต้องยกเครื่องทั้งระบบหรือไม่
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจน 7 คนไทยต้องทุกข์ทรมานติดคุกเขมรก็ดี โดยที่ไม่ทำให้เขมรเกรงใจตั้งแต่ต้น จึงเกิดการปะทะเป็นสงครามไทย-เขมรจนชาวบ้านและทหารไทยต้องตายและบาดเจ็บ อีกทั้งพี่น้องชาวอีสานต้องอพยพหนีตายเดือดร้อนแสนสาหัสเกือบ 2 หมื่นคนก็ดี ผู้นำต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมในมาตรฐานสากล ควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อการล้มเหลวในทางการบริหารราชการที่เป็นความรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่กลับนิ่งเฉยทั้งที่ในความเป็นจริงได้พ่ายแพ้ทางการทูตและทางการเมืองอย่างหมดรูป
ในทางการเมืองชาวญี่ปุ่นยามรถไฟตกราง/เครื่องบินแห่งชาติเกิดอุปัทวเหตุ รัฐมนตรีคมนาคมลาออก แม้แต่ยามเรือขนส่งสินค้า รถยนต์ส่งออกไปเพื่อขายในสหรัฐอเมริกา รถยนต์บนเรือเกิดเป็นสนิมกลางท้องทะเล กัปตันเรือถึงประกาศจะทำ "เซ็บปุกุ" (หรือ "ฮาราคิรี"-การคว้านท้องฆ่าตัวตาย) แต่ลูกเรือต้องช่วยกันยื้อยุดดึงตัวห้ามเอาไว้ "ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องเหนือกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายเสมอ" พูดสวยแต่ไม่กล้าทำ ไม่ใช่ภาวะผู้นำปากพลิ้วเฉไฉรื่นไหลไปเรื่อยไม่ละอายแก่ใจ ขาดหิริโอตตัปปะ สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเอาตัวรอดแบบไทย หากแต่วิสัยของสุภาพบุรุษชายชาติซามูไรญี่ปุ่น อย่างน้อยที่สุดเขาจะกล่าวคำ "ขอโทษ" (ไม่ใช่ "เสียใจ") พร้อมกับเอาศีรษะโขกกับโต๊ะดังโป๊กๆ หลายครั้งเพื่อแสดงสำนึกอย่างลึกซึ้งถึงการบริหารงานผิดพลาด เพราะมีวัฒนธรรมทางสังคมกำกับความดีงามในฐานะ "บุคคลสาธารณะ" ประชาชนในฐานะใดก็ตามที่ต้องการเห็นวิถีที่จะนำไปสู่การยุติการสู้รบไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประเทศทั้งสองควรแสวงหาความจริง ทำความเข้าใจสาเหตุของการเกิดสงครามครั้งนี้ในหลากหลายด้าน (ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม เชื้อชาติของทั้ง 2 ประเทศ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เป็นต้น) ในหลากหลายมิติ หากพิจารณาสาเหตุของการเกิดสงครามในครั้งนี้ในมิติประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ คนไทยก็คงไม่พ้นที่จะด่าคนไทยด้วยกันเอง ที่ไม่ใช่มีความคิดแบบตนว่าเป็นพวกคลั่งชาติ ชาตินิยมหัวรุนแรง ทั้งๆ ที่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์และการเมืองภายในของกัมพูชาก็มีส่วนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดสงครามครั้งนี้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันการรับรู้ของคนไทยสะดวกรวดเร็วในยุคเทคโนโลยีข่าวสาร ไม่อาจปิดบังกันได้ง่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจะช่วยให้มนุษย์มองโลกได้กว้างขึ้น ยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้น การอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพและสันติสุขก็มีมากขึ้น
ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ ประชาชนคนไทยควรตั้งสติประคับประคองสังคมไทยสู่สันติภาพ ใช้ปัญญาคัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ ประณามความผิดพลาดของรัฐที่ผลักประชาชนและทหารให้เป็น "เบี้ย" ต้องบาดเจ็บล้มตายในสงครามไทย-กัมพูชา ทั้งคนไทยและคนเขมรนับหมื่นนับแสนต้องอพยพหนีตาย ได้รับความเดือดร้อน "ทรราชน้ำมัน" คือตัวการสร้างความวุ่นวาย พวกนี้อยู่ในโครงสร้างอำนาจทั้งภาคการเมือง-ภาครัฐ-ภาคบรรษัทน้ำมัน มาช่วยกันกระชากหน้ากากและช่วยกันทำสังคมให้เป็นธรรมก่อนสังคมจะยุ่งเหยิงไร้ระเบียบมากกว่านี้ โดยเฉพาะจักต้องปฏิรูปใหม่ทำให้ส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ก๊าซ-น้ำมันส่วนใหญ่สู่มือประชาชนไทยและการพัฒนามากกว่าจะไปสู่มือทรราชน้ำมันและต่างชาติซึ่งเอาเปรียบคนไทยตลอดศก.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น