หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คุณภาพการศึกษา

หลายปีมานี้ สังคมไทยเราปั่นป่วนมาก และรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากการขับขี่ยวดยานของผู้คน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนแก่ แต่ละคน เอาแต่ตัวเองเข้าว่า ไม่เคยรับรู้และเรียนรู้ที่จะใช้ร่วมกับผู้อื่น

มองเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย ยกเว้นคณะแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช นอกนั้นผลการเรียนไม่น่ารอด อาจารย์บางคนถึงกลับคิดไปไกลเลยว่า "เด็กพวกนี้ ถ้าขืนปล่อยให้จบออกไป จะกลายเป็นอันตรายต่อชาติและสังคม" ก็อาจจะเป็นแบบบนั้นจริงๆ ก็ได้ เพราะรุ่นพี่รุ่นพ่อแม่ของเด็กพวกนี้ ก็กำลังสร้างปัญหาให้สังคมอยู่อย่างที่ว่า

โทษกันไปโทษกันมา ก็เปล่าประโยชน์ อย่างเช่น

ผอ.โรงเรียน เอาแต่ประจบเจ้านาย ไม่ใส่ใจการเรียนการสอนของครู

ครู มัวแต่ทำผลงานเพิ่มวิทยฐานะ จนไม่มีเวลาสอนเด็ก

หลักสูตรมั่วไปมั่วมา เมื่อไหร่จะนิ่ง แล้วจะได้ตั้งหน้าตั้งตาสอนเสียที

พ่อแม่ไม่ได้ช่วยพัฒนาเด็กเลย

มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรอะไรไม่รู้ ขายปริญญากันเกร่อ

ฯลฯ

เลิกโทษกันเถอะครับ มาช่วยกันพัฒนาคุณภาพของเด็กไทย มาช่วยกัน

วันนี้มีบทความดีๆ ของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทรวาณิช ใน manager online เขียนดีครับ

การศึกษาที่มีคุณภาพ
โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 27 กุมภาพันธ์ 2554 14:38 น.


วันก่อนผมไปดูละครเรื่อง “Annie” แสดงโดยเด็กนักเรียนโรงเรียนสาธิตรังสิตสองภาษา มีความประทับใจมาก เพราะเด็กๆ ที่เล่นละครพูดภาษาอังกฤษนี้เป็นเด็กไทยเกือบหมด จะมีลูกครึ่งก็เพียงไม่กี่คน โรงเรียนสาธิตรังสิตโชคดีที่ได้ครูซึ่งเคยเป็นนักแสดงละครบรอดเวย์มาสอน เด็กๆ รักครูคนนี้มาก ครูก็ฉลาดที่เลือกละครเรื่องนี้มาเล่นเพราะมีผู้แสดงมาก เด็กๆ จำนวนมากได้มีส่วนร่วม

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีความเชื่อว่าโรงเรียนสองภาษาก็ดีเท่ากับโรงเรียนอินเตอร์ และเด็กยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยด้วย ดังนั้นแม้โรงเรียนในเครือ คือ British International School ที่ภูเก็ตจะเน้นโรงเรียนอินเตอร์ แต่ก็นำเอาวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน วันที่ผมไปร่วมงานฉลองครบรอบ 15 ปี ก็มีเด็กผู้หญิงฝรั่งออกมาขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี น่าประทับใจมาก

การแสดงละครเวที จัดว่าเป็นกิจกรรมสำคัญของการเรียนเด็กๆ ได้เรียนรู้มากมาย หากมีส่วนร่วมจัดแสดงละครที่แต่งบทกันเอง ออกแบบการแต่งกาย จัดฉาก กำกับการแสดงเองก็ยิ่งดี สมัยผมเด็กๆ ทุกปี เราจะมีโอกาสแสดงละครสองครั้ง ในภาคแรก ทุกคณะจะต้องจัดแสดงบนหอประชุม และในภาคที่สอง ก็จะจัดเป็นพิเศษเฉพาะแต่ละคณะไป ในภาคสองนี้ มีการจัดเลี้ยงภายในด้วย โดยนักเรียนแต่ละคนจะช่วยนำอาหารมาจากบ้านคนละอย่างสองอย่าง และมีการจัดงานเลี้ยง แสดงละคร และดนตรี มีการเชิญครู และนักเรียนจากคณะอื่นมาร่วมงานด้วย

การทำเช่นนี้ ทำให้เด็กรู้จักแบ่งงานกันทำ และต้องคิดวางแผน คิดค่าใช้จ่าย จัดโต๊ะ และเตรียมการรับแขก เป็นการสอนการจัดการในตัวเอง โดยไม่ต้องมีการสอนการจัดการอย่างเป็นทางการ

ในโรงเรียนที่มีการทำเช่นนี้ เด็กๆ จะไม่เรียนในห้องแต่อย่างเดียว หากได้ลงมือทำด้วย นอกจากวิชาช่างไม้ งานปั้น การเล่นดนตรี การเล่นกีฬาแล้ว เด็กๆ ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ฟังการสอน และทำการบ้าน การเรียนจึงน่าเบื่อ

หากใครได้ไปดูโรงเรียน “อินเตอร์” หรือโรงเรียนฝรั่งในต่างประเทศแล้ว ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างโรงเรียนเหล่านี้กับโรงเรียนไทย เด็กในโรงเรียนอินเตอร์จะมีชีวิตชีวา เรียนและเล่นอย่างสนุกสนาน โรงเรียนมีสถานที่ อุปกรณ์ หนังสืออย่างครบครัน ต่างกับโรงเรียนไทยที่ส่วนใหญ่ยังมีความขาดแคลนอยู่

เราพูดถึง “การปฏิรูปการศึกษา” มาเป็นเวลานาน เราบ่นถึงคุณภาพครู เพราะคนที่เรียนอย่างอื่นไม่ได้ แล้วก็มาเรียนครู แม้จะยืดเวลาเรียนออกไปอีกหนึ่งปี ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ มิหนำซ้ำนักการศึกษาเองยังมีใจคับแคบบังคับไว้อีกว่า ผู้สอนจะต้องจบวิชาครูมาโดยตรง แต่ก่อนครูเลข ครูวิทยาศาสตร์ ครูศิลปะ ไม่จำเป็นต้องจบทางด้านครุศาสตร์มาโดยตรงก็ได้ บางคนจบปริญญาตรีเฉพาะทางมา หากอยากเป็นครูก็ไปเรียนครุศาสตร์เพิ่มเติมอีกเพียงปีเดียว

การศึกษาจะดีขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญๆ 3-4 ประการ คือ ในประการแรกสุด ครูต้องเก่งมีคุณภาพ และรักในอาชีพ โรงเรียนในต่างประเทศที่ดีก็เพราะครู ประการที่สอง หลักสูตรจะต้องดี ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ประการที่สาม อุปกรณ์การศึกษา และหนังสือต้องพร้อม และที่สำคัญก็คือ ภาวะผู้นำ และการจัดการโรงเรียนต้องดี เรื่องนี้รวมไปถึงสวัสดิการ เงินเดือนครู การฝึกอบรมครูด้วย

เรามีการปรับปรุงหลักสูตรหลายครั้ง จนพอจะกล่าวได้ว่าเวลานี้ หลักสูตรมีความยืดหยุ่นพอสมควร สามารถนำเรื่องใกล้ตัวของท้องถิ่นเสริมไว้ได้ แต่ที่ยังแข็งตัวขึงตึงอยู่ก็คือ สัดส่วนระหว่างการเรียนในห้องเรียนกับกิจกรรมที่เด็กสามารถลงมือทำด้วยตนเอง เนื่องจากมีวิชาบรรยายประจำวันมากเกินไป เด็กๆ ก็ไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรม นอกจากนั้นยังมองว่า กิจกรรมที่เด็กทำนั้นเป็น “กิจกรรมนอกหลักสูตร” ซึ่งไม่ควรจะแบ่งแยกอย่างนั้น กิจกรรมเป็นส่วนสำคัญ และเป็นเนื้อเดียวกับหลักสูตร

อีกเรื่องหนึ่งที่เรายังย่อหย่อนอยู่ก็คือ การพัฒนาครู ซึ่งต้องทำตั้งแต่การเรียนการศึกษาหรือครุศาสตร์ ครูจึงจะมีพื้นฐานที่ดี และจะได้พัฒนาต่อไป ในต่างประเทศการพัฒนาครูเป็นเรื่องของสมาคมวิชาชีพ นอกจากนั้นยังมีสมาคมวิทยาศาสตร์ ออกหนังสือที่ครูสามารถเพิ่มพูนความรู้ได้ตลอดเวลา วงการตำรวจก็ดีมีคุณภาพ หนังสือน่าอ่าน

ดังนั้น นอกจากการศึกษาจะเป็นเรื่องของโรงเรียนแล้ว สภาพแวดล้อมของสังคมยังต้องช่วยเกื้อกูลอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมีห้องสมุดประชาชน การมีพิพิธภัณฑ์ สรุปก็คือ จะต้องมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่จำเป็นจะต้องสร้างขึ้นพร้อมๆ กันไป ไม่ใช่คอยหวังพึ่งแต่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทรราชน้ำมัน

ทรราชน้ำมัน โดย วิวัฒน์ชัย อัตถากร จาก Thaipost.net

แม้กัมพูชาจะมีกรณีพิพาทดินแดนกับไทยมานานแล้ว แต่ต่อมาการรบพุ่งกันอย่างรุนแรงแทบไม่ค่อยเกิด ประชาชนทั้ง 2 ประเทศก็ยังไปมาหาสู่ติดต่ออย่างมีมิตรไมตรี และเครือญาติที่ดีต่อกัน รวมทั้งความสัมพันธ์ระดับกองทัพ แทบไม่น่าเชื่อว่าเรื่องการจับกุม 7 คนไทยในเขตแดนไทยแต่ต้องไปติดคุกเขมรส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงกับทำให้ประเทศกัมพูชาและประเทศไทยต้องใช้กำลังทหารรบพุ่งกันอย่างรุนแรงแถบชายแดนใกล้พื้นที่พิพาทเชิงเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แม้ขณะนี้จะหยุดยิงแต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ซ้ำร้ายนายกรัฐมนตรีกัมพูชายังกล่าวหาว่าสงครามครั้งนี้ฝ่ายไทยเป็นผู้ก่อขึ้น นายกรัฐมนตรีไทยจะต้องรับผิดชอบ สงครามระหว่างกัมพูชากับไทยจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ต่อไปนี้จะไม่มีการเจรจาระดับทวิภาคี การเจรจาต่อรองใดๆ ระหว่างไทยกับกัมพูชาในการสร้างสันติภาพบริเวณชายแดนสองประเทศ จะต้องมีประเทศที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง หากแต่แรกผู้นำรัฐบาลไทยช่วยเหลือ 7 คนไทยอย่างจริงจังและจริงใจ ดูแลสิทธิพลเมืองไทยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนบนกระบวนวิธีการพิจารณาคดีอย่างไร้มาตรฐาน ไร้ความยุติธรรม ถูกมัดมือชก ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติอย่างชัดเจน เรื่องเล็กๆ อย่างการจับกุม 7 คนไทยก็อาจเป็นเพียงคดีธรรมดาไม่ถูกนำไปเป็นเรื่องของการเมือง จนเปิดช่องให้กัมพูชานำการสู้รบปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้นไปเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศซึ่งมีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนซ่อนกลได้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงกับออกแถลง การณ์กรณีพิจารณาคดีนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ถูกพิพากษาจำคุก 8 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ โดยระบุว่าบุคคลทั้งสองไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม เช่น การไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเอกสารและพยานจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ในการต่อสู้ ทนายความและล่ามไม่สามารถสื่อสารเข้าใจได้ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อการที่บุคคลทั้งสองจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาดูแลคนไทยที่ยังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีตามพันธกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่ทั้งสองประเทศเป็นภาคี (เดลินิวส์ 4 ก.พ.2554 น.13) จนถึงวันนี้เงื่อนปมความจริงในการจับกุมตัวคนไทย 7 คนก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ได้ยินแต่ผู้นำรัฐบาลไทยพร่ำพูดว่าให้ความช่วยเหลือคนไทย 2 คนอย่างเดิมอยู่บ่อยๆ โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไป ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจนในการที่จะช่วยเหลือคนไทยอีก 2 คนนั้น ทางครอบครัว "สมความคิด" ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกผ่านสื่อมวลชนถึงนายกรัฐมนตรีไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงหรือหารือร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และมีผลในทางปฏิบัติ (เดลินิวส์ 5 ก.พ.2554 หน้า 2)

การยอมรับว่า 7 คนไทยถูกจับในแดนเขมร รวมทั้งการอ่อนข้อเรื่อง 7 คนไทยถูกจับติดคุกเขมร โดยไม่ทักท้วงใดๆ ทำให้รัฐบาลกัมพูชาได้ใจเปิดเกมรุกไม่หยุด นอกจากผู้นำรัฐไทยจะไม่ทักท้วงแล้ว กลับหันไปถามภาคประชาชนว่าจะใช้วิธีอะไร (ไทยโพสต์ 3 ก.พ.2554 หน้า 1) แทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นคำถามจากผู้นำสูงสุดของประเทศไทย ผู้ซึ่งมีหน้าที่แต่ไม่ทำหน้าที่ ในทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศมีหลายมาตรการทำได้ในแนวทางสันติภาพ แต่ไม่ทำ วิธีการทางการทูตของไทยล้าหลังหรือไม่ เพลี่ยงพล้ำ เสียเปรียบ เดินตามเกมของกัมพูชาทุกครั้งไป ปล่อยให้ฮุน เซน กร้าว ย่ำยีเหยียบย่ำ ดูถูก เป็นฝ่ายกระทำอยู่ร่ำไป ในสถานการณ์คอขาดบาดตายอย่างนี้ แค่พูดเก่งไม่สามารถตีฝีปากและรับมือกับเกมของผู้นำรัฐบาลกัมพูชาและบรรดารัฐมนตรี รวมทั้งโฆษกของรัฐบาลของเขาได้ ต้องลงมือทำจริงจังเสียทีอย่างเท่าทันเกมรุกของกัมพูชา ผู้นำรัฐบาลไทยต้องไวต่อปัญหา ไม่ใช่มีวุฒิภาวะการเป็นผู้นำแบบเย็นตาโฟรสเด็กๆ อย่างเช่นเรื่อง 7 คนไทยถูกจับมีท่าทีคลุมเครือมาตั้งแต่ต้น พูดกลับไปกลับมา ส่งสัญญาณที่ผิดให้กัมพูชาและประชาคมโลก เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่อย่างน่าเสียใจ บานปลายกลายเป็น "สงคราม" ปะทะกันหลายระลอก (4/5/6/7 ก.พ.54) ล้มตายบาดเจ็บหลายสิบ รอบแรกที่ทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงปืนใหญ่ถล่มหมู่บ้านที่ศรีสะเกษ เกิดขึ้นในวันเดียวกัน (4 ก.พ.54) ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกับของกัมพูชากำลังประชุมกันในประเทศกัมพูชา เรียกว่าไม่ไว้หน้า หยามกันชัดๆ ผู้นำไทยหงอไม่กล้าแสดงท่าทีตอบโต้บ้าง ชั้นเชิงเป็นรองลีลาผู้นำเขมรหลายขุม

รัฐไทยไร้น้ำยาในสายตาเขมร เขาอ่านทางขาด เดินเกมรุกเก็บแต้มได้ตลอด ผู้นำรัฐบาลไทยต้องเตรียมรับพร้อมรุกเอาไว้เลย การทดสอบจะตามมาอีกหลายระลอก การที่ผู้นำรัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจสั่งทหารรบ แถมเปิดตัวให้ลูกชายคนโตพลโทฮุน มาเนต ซึ่งจบการศึกษาจากสถาบันทหารเวสต์ปอยต์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาเข้ามาบัญชาการรบชายแดนไทย-กัมพูชาด้วยตนเอง ฮุน เซนหวังเอาชนะทางการเมืองไม่ใช่ทางการทหาร เขามีวาระแฝงเร้นที่จะนำปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาขึ้นสู่เวทีสากล จึงร้องเรียนไปที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นการยกระดับเจรจาจากทวิภาคีสู่พหุภาคี โดยคาดหวังให้ยูเอ็นและประเทศสมาชิกขาใหญ่เข้ามาดูแลและแก้ปัญหาให้กัมพูชาเรียนรู้การต่อสู้ในลักษณะนี้แล้วจากอดีตที่ชาติมหาอำนาจในยูเอ็นชี้ขาดให้กัมพูชาชนะคดีศาลโลกกรณีตัวปราสาทพระวิหารตามแผนที่ที่ฝรั่งเศสเขียนให้ อย่างไรก็ดี เมื่อฟ้องไปยังยูเอ็นว่าไทยรุกรานกัมพูชา ทางยูเอ็นมิได้จัดการประชุมให้ตามที่กัมพูชาร้องขอ การดึงปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาเข้าสู่โต๊ะเจรจาพหุภาคี นายกรัฐมนตรีกัมพูชารู้ดีว่ากัมพูชาจะได้เปรียบ เพราะประเทศใหญ่ๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาจะเป็นแบ็กชั้นดีให้กัมพูชา ทั้งนี้เพราะประเทศใหญ่เหล่านี้ล้วนจดจ้องมองหาผลประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลและผลประโยชน์อื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมัน เขาเห็นจุดอ่อนรัฐบาลไทยไร้เอกภาพ บางส่วนแตกแยกมีเอี่ยวในผลประโยชน์ และของเถื่อนตามแนวชายแดน (บ่อนเถื่อน-น้ำมันเถื่อน-ไม้เถื่อน-มันเถื่อน-แรงงานผิดกฎหมาย) กลายเป็นเรื่องประจำวันธรรมดา หากแต่ผลประโยชน์ธุรกิจน้ำมันมหาศาลต่างหากคือจุดแตกหักที่พวกเสือหิวจะไล่เถือแย่งชิงสัมปทาน เพราะรู้อยู่แก่ใจดีว่าน้ำมันในโลกค่อนข้างร่อยหรอและจำกัดลงทุกที อาจหมดไปจากโลกในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว ทุนนิยมโลกาภิวัตน์จะไล่ล่าทองคำสีดำ (น้ำมัน) จะเขย่ารัฐบาลไทยอย่างถึงรากถึงโคน รัฐบาลต้องแก้เกมด้วยการจัดการคนมีเอี่ยวทุจริตเสียที กล้าปราบคนโกงบ้าง

บัดนี้ประเทศใหญ่ๆ เข้ามามีอิทธิพลเหนือทรัพยากรก๊าซน้ำมัน ให้เงินบริจาคและเงินกู้สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกกับการได้สัมปทานน้ำมันจากรัฐบาลกัมพูชา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีนถือกัมพูชาเป็นพวกชัดเจน ยังมีฝรั่งเศส รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม อีกต่างหาก โดยเฉพาะชาวรัสเซียทำธุรกิจหลายแขนงในกัมพูชาปัจจุบัน ช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และไม่พอใจต่อรัฐไทยรุนแรงกรณีจับกุมตัวคนของเขา (นายวิกเตอร์ บูธ) ส่งไปสหรัฐอเมริกา กัมพูชาใช้เป็นนโยบายโดดเดี่ยวไทย เพื่อทำให้ไทยไร้พลังต่อรองในเวทีสากล จับตาดู "ยุทธศาสตร์โลกล้อมไทย" ให้ดี รัฐบาลไทยควรแก้เกมให้ได้ ควรพูดน้อยแต่ทำให้หนัก ไม่ต้องหวาดวิตกเกินเหตุ

ข้อมูลธนาคารโลกพบว่า พลังงานสำรอง (2 พันล้านบาเรล) และก๊าซธรรมชาติ (10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต) จะทำรายได้ให้กัมพูชาปีละกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี กัมพูชาจะกลายเป็นประเทศเศรษฐีน้ำมันรายใหม่ของโลกในสองทศวรรษนี้ ยิ่งหากได้น้ำมันจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับไทย กัมพูชายิ่งจะรับเละยิ่งรวยไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว ดังนั้นเบื้องลึกของความขัดแย้งไทย-กัมพูชาคือผลประโยชน์จากก๊าซและน้ำมัน นี่คือต้นเหตุแห่งสงคราม

บารัก โอบามา คือผู้บัญญัติศัพท์ "ทรราชน้ำมัน" เขาประกาศจะปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาจากทรราชน้ำมันในวันที่เขาได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงชัยประธานาธิบดี เขาสัญญาจะยุติสงครามอิรักนำทหารอเมริกันกลับบ้านถ้าได้เป็นประธานาธิบดี ณ วันนั้น (3 ม.ค.51) ราคาน้ำมันที่นครนิวยอร์กแตะสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบาเรล ซึ่งเป็นราคาสูงสุดครั้งที่สอง อดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ อีกทั้งผู้ร่วมรัฐบาลเขาคืออดีตรองประธานาธิบดีดิก เชนีย์ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคอนโดลีซซา ไรซ์ ล้วนแล้วแต่เคยทำงานระดับผู้บริหารหรือบอร์ดบริษัทน้ำมันมาก่อนทั้งนั้น จึงทำนโยบายทับซ้อน การออกคำสั่งให้กองทัพสหรัฐไล่ล่าบ่อน้ำมันอิรัก จับตัวอดีตประธานาธิบดีอิรักคือซัดดัม ฮุสเซน ไปแขวนคอตาย โดยไม่มีโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในอิรักตามที่กล่าวหา หลังก้าวลงจากตำแหน่งบุชยอมรับความจริงเรื่องนี้ในหนังสือของบุชเอง

"ทรราชน้ำมัน" ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือ "The Tyranny of Oil" ของแอนโทเนีย จูฮาสซ์ หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์เจาะลึกเปิดโปงขบวนการเอาเปรียบประชาชนโดย "สามทรราช" ได้แก่ "รัฐ/ข้าราชการ-นักการเมือง-บริษัทน้ำมัน" ขบวนการผูกขาดธุรกิจน้ำมันก่อกรรมทำเข็ญด้วยการตั้งราคาน้ำมันแพงลิ่ว ทำลายชั้นบรรยากาศทำโลกร้อน ต้นเหตุสงครามแย่งชิงบ่อน้ำมันทำลายสันติภาพโลก จูฮาสซ์เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่หาญกล้าวิพากษ์อุตสาหกรรมน้ำมันที่ทรงพลังอำนาจสูงสุดของโลกอย่างตรงไปตรงมา กล้าฉีกหน้ากาก "ทรราชน้ำมัน" ไร้พรมแดน เธอชี้ว่าขณะที่ทรัพยากรน้ำมันในโลกถูกถลุงจนร่อยหรอ บรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รุกคืบขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลทั่วโลก ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย แองโกลา ลิเบีย บราซิล เม็กซิโก ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย และแถบทะเลแคนเปียน โลกจะปั่นป่วนวุ่นวาย หลายแห่งจะเป็นสมรภูมิสงครามแย่งชิงบ่อน้ำมันอย่างดุเดือด ผู้บริหารประเทศของไทยจึงต้องเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำ สามารถมองไกลให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้

พรมแดนไทย-กัมพูชามีความยาวเกือบ 800 กิโลเมตร ทางบกมีข้อพิพาทระหว่างกันกว่า 10 จุด ทางทะเลกำลังจะกลายเป็นจุดเดือด การยึดแผนที่คนละฉบับจะยังผลได้-ผลเสียอย่างมาก การไม่ยอมกันชนพื้นที่ทับซ้อนแถบอ่าวไทยอาจเป็นชนวนศึกรอบใหม่ในอนาคต ในการปักปันเขตแดนหากกัมพูชาได้พื้นที่บ่อน้ำมันบ่อใหญ่ (ริมตะเข็บชายแดนติดไทย) การขุดเจาะบ่อใหญ่ (กัมพูชา) ตามหลักวิทยาศาสตร์จะดูดน้ำมันจากบ่อเล็ก (ไทย) ที่อยู่ติดกัน เอาไปใช้อย่างสบายๆ อาจถึงกับเกลี้ยงบ่อ ประเทศคงเสียค่าโง่เอาได้จากการขาดความสามัคคีและการฉ้อฉลของบางคนบางกลุ่ม ทำไทยเสียเปรียบ พวกนี้หากินกับทุกรัฐบาล

นโยบายพลังงานของไทยเสียเปรียบต่างชาติมาโดยตลอด เป็นนโยบายที่มีประโยชน์ทับซ้อนกับชนชั้นนำอำนาจรัฐ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับแรกปี 2514 ของไทยที่ร่างโดยนายวอลเตอร์ ลีวาย มันสมองสำคัญของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งตระกูลร็อกกี เฟลเลอร์ และเป็นที่ปรึกษาธนาคารโลกอีกด้วย หนังสือเรื่อง "เมืองไทยมีไว้ขาย" โดยประสงค์ เจริญสิน เรียกกฎหมายน้ำมันฉบับนี้ว่า "ฝรั่งร่างฝรั่งรวย" ไมเคิล แทนเซอร์ นักเศรษฐศาสตร์พลังงานชั้นนำของโลกวิจารณ์ว่ากฎหมายน้ำมันของไทยเป็นกฎหมายที่ล้าหลังมากที่สุดในยุคนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นปฐมบทของการเสียเปรียบต่างชาติด้วยการสยบยอมให้สัมปทานบริษัทต่างชาติยาวนานถึง 52 ปี ประเทศไทยมีน้ำมัน แต่ประชาชนแทบไม่ได้รับประโยชน์เพราะถูกทรราชน้ำมันฉกฉวยปล้นไปหมด

แม้ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายน้ำมันของไทยอีกหลายฉบับ แต่ก็ยังคงความไม่เป็นธรรม ทำให้ส่วนแบ่งระหว่างต่างชาติกับไทยเสียเปรียบ คนไทยต้องซื้อน้ำมันแพงเกินจริง รัฐไทยที่อ่อนแอชอบเดินตามก้นฝรั่งกำหนดราคาเอาเปรียบประชาชนพร้อมปกปิดข้อมูล แต่รัฐที่เข้มแข็งอย่างประเทศเวเนซุเอลาภายใต้การนำของประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ หาญกล้าออกนโยบายให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของตนเข้าไปมีส่วนแบ่งอย่างน้อย 60% กับกิจการน้ำมันของบริษัทต่างชาติในเขตโอรินโนโก ประเทศเวเนซุเอลา ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำมัน ผู้นำของเขากล้าพิทักษ์ผลประโยชน์ชาติและประชาชน แต่ผู้นำของเรานอกจากไม่กล้าแล้ว ยังขาดวิสัยทัศน์อีกด้วย

รัฐไทยไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล ตอกย้ำการเมืองกึ่งเผด็จการให้เห็น ยิ่งไปแก้ไขมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการกำหนดกรอบการทำสัญญากับต่างประเทศ ยิ่งจะทำให้การไปทำสัญญาระหว่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น อาจรวมถึงการทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงเรื่องผลประโยชน์ธุรกิจน้ำมันทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งจะสะดวกรอดพ้นการตรวจสอบจากรัฐสภา รอดพ้นจากสายตาประชาชน ทั้งนั้นการปล้นทรัพยากรของชาติจะทำได้ง่ายดาย ฉลุย อย่างเงียบเชียบ

รัฐบาลไทยมักติดนิสัยปากปราศัย น้ำใจเชือดคอ พูดเอาแต่ได้ อะไรไม่ดีก็โทษประชาชน ทั้งๆ ที่สงครามไทย-กัมพูชาในเขตชายแดนครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะผู้นำประเทศบริหารนโยบายผิดพลาด ขาดข้อมูลรอบด้าน ไม่ไวต่อปัญหา แถมขาดขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการผ่อนคลายความร้อนแรงของวิกฤติปัญหาลงเพื่อกรุยแนวทาง

นำไปสู่ภาวะ "สันติภาพ" รัฐไทยไร้เอกภาพเพราะลูกน้องบางคนบางพวกไม่โปร่งใสคดโกงแต่ผู้บริหารประเทศกลับเพิกเฉย มองข้ามบ้าง มองไม่เห็นบ้าง ปล่อยให้บุคลากรที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนโดยตรงปฏิบัติหน้าที่โดยฉ้อฉล ทุจริต มีผลประโยชน์ทับซ้อน ฉ้อราษฎร์บังหลวงต่อไป การปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมเกิดขึ้น ผู้บริหารประเทศจะยังคงอ้างว่าตนมีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ เพราะความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม (Integrity) หากผู้นำประเทศขาดการยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม ไม่พยายามป้องกัน ยับยั้งหรือต่อต้านการทุจริต ถือว่าผู้นั้นทำผิดจริยธรรมไร้ภาวะผู้นำ (ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ปาถกฐาพิเศษเรื่อง "จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ" 31 ก.ค.51) มีเสียงร่ำลือหนาหูว่ามีนักการเมืองบิ๊กๆ แอบไปเจรจาหาผลประโยชน์เรื่องก๊าซ-น้ำมันในอ่าวไทย ผู้นำจะรู้อย่างนี้บ้างหรือเปล่า

ผู้นำจะเป็นแค่ในนามไร้อำนาจไร้อิสรภาพไม่ได้ ในหลักการรัฐบาลต้องชี้นำกองทัพ แต่ในทางพฤตินัยกองทัพกลับชี้นำ (ไม่ฟัง) รัฐบาลหรือไม่ รัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือแล้ว รัฐไทยอ่อนแอเป็นรัฐที่ล้มเหลวแล้วมิใช่หรือ โครงสร้างสังคมไทยง่อนแง่น ระบบการเมืองชั่วร้ายผลิตนักการเมืองฉ้อฉลวนเวียนในอ่างอำนาจเลวร้ายตลอดศก เมื่อหมดสภาพแล้วต้องยกเครื่องทั้งระบบหรือไม่

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจน 7 คนไทยต้องทุกข์ทรมานติดคุกเขมรก็ดี โดยที่ไม่ทำให้เขมรเกรงใจตั้งแต่ต้น จึงเกิดการปะทะเป็นสงครามไทย-เขมรจนชาวบ้านและทหารไทยต้องตายและบาดเจ็บ อีกทั้งพี่น้องชาวอีสานต้องอพยพหนีตายเดือดร้อนแสนสาหัสเกือบ 2 หมื่นคนก็ดี ผู้นำต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมในมาตรฐานสากล ควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อการล้มเหลวในทางการบริหารราชการที่เป็นความรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่กลับนิ่งเฉยทั้งที่ในความเป็นจริงได้พ่ายแพ้ทางการทูตและทางการเมืองอย่างหมดรูป

ในทางการเมืองชาวญี่ปุ่นยามรถไฟตกราง/เครื่องบินแห่งชาติเกิดอุปัทวเหตุ รัฐมนตรีคมนาคมลาออก แม้แต่ยามเรือขนส่งสินค้า รถยนต์ส่งออกไปเพื่อขายในสหรัฐอเมริกา รถยนต์บนเรือเกิดเป็นสนิมกลางท้องทะเล กัปตันเรือถึงประกาศจะทำ "เซ็บปุกุ" (หรือ "ฮาราคิรี"-การคว้านท้องฆ่าตัวตาย) แต่ลูกเรือต้องช่วยกันยื้อยุดดึงตัวห้ามเอาไว้ "ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องเหนือกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายเสมอ" พูดสวยแต่ไม่กล้าทำ ไม่ใช่ภาวะผู้นำปากพลิ้วเฉไฉรื่นไหลไปเรื่อยไม่ละอายแก่ใจ ขาดหิริโอตตัปปะ สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเอาตัวรอดแบบไทย หากแต่วิสัยของสุภาพบุรุษชายชาติซามูไรญี่ปุ่น อย่างน้อยที่สุดเขาจะกล่าวคำ "ขอโทษ" (ไม่ใช่ "เสียใจ") พร้อมกับเอาศีรษะโขกกับโต๊ะดังโป๊กๆ หลายครั้งเพื่อแสดงสำนึกอย่างลึกซึ้งถึงการบริหารงานผิดพลาด เพราะมีวัฒนธรรมทางสังคมกำกับความดีงามในฐานะ "บุคคลสาธารณะ" ประชาชนในฐานะใดก็ตามที่ต้องการเห็นวิถีที่จะนำไปสู่การยุติการสู้รบไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประเทศทั้งสองควรแสวงหาความจริง ทำความเข้าใจสาเหตุของการเกิดสงครามครั้งนี้ในหลากหลายด้าน (ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม เชื้อชาติของทั้ง 2 ประเทศ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เป็นต้น) ในหลากหลายมิติ หากพิจารณาสาเหตุของการเกิดสงครามในครั้งนี้ในมิติประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ คนไทยก็คงไม่พ้นที่จะด่าคนไทยด้วยกันเอง ที่ไม่ใช่มีความคิดแบบตนว่าเป็นพวกคลั่งชาติ ชาตินิยมหัวรุนแรง ทั้งๆ ที่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์และการเมืองภายในของกัมพูชาก็มีส่วนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดสงครามครั้งนี้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันการรับรู้ของคนไทยสะดวกรวดเร็วในยุคเทคโนโลยีข่าวสาร ไม่อาจปิดบังกันได้ง่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจะช่วยให้มนุษย์มองโลกได้กว้างขึ้น ยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้น การอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพและสันติสุขก็มีมากขึ้น

ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ ประชาชนคนไทยควรตั้งสติประคับประคองสังคมไทยสู่สันติภาพ ใช้ปัญญาคัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ ประณามความผิดพลาดของรัฐที่ผลักประชาชนและทหารให้เป็น "เบี้ย" ต้องบาดเจ็บล้มตายในสงครามไทย-กัมพูชา ทั้งคนไทยและคนเขมรนับหมื่นนับแสนต้องอพยพหนีตาย ได้รับความเดือดร้อน "ทรราชน้ำมัน" คือตัวการสร้างความวุ่นวาย พวกนี้อยู่ในโครงสร้างอำนาจทั้งภาคการเมือง-ภาครัฐ-ภาคบรรษัทน้ำมัน มาช่วยกันกระชากหน้ากากและช่วยกันทำสังคมให้เป็นธรรมก่อนสังคมจะยุ่งเหยิงไร้ระเบียบมากกว่านี้ โดยเฉพาะจักต้องปฏิรูปใหม่ทำให้ส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ก๊าซ-น้ำมันส่วนใหญ่สู่มือประชาชนไทยและการพัฒนามากกว่าจะไปสู่มือทรราชน้ำมันและต่างชาติซึ่งเอาเปรียบคนไทยตลอดศก.