หน้าเว็บ

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

เอา “ภูมิศาสตร์” กลับมาได้รึยัง

เอา “ภูมิศาสตร์” กลับมาได้รึยัง
Bring Back Geography!
By Jerome E. Dobson, University of Kansas, USA
Illustrations by Jay Merryweather, ESRI
พัฒนา ราชวงศ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แปลและเรียบเรียง


การทดสอบครั้งย่อยๆ หลังจากที่มีการทดสอบย่อยๆ แล้ว แสดงอะไรบางอย่างให้เห็นเกี่ยวกับว่า เด็กๆ สมัยนี้ ไม่รู้ตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ คงเคยได้ยินกันบ่อยๆ เกี่ยวกับคำเสียดสีที่ว่า สมัยนี้เราละเลยไม่ให้ความใส่ใจต่อวิชาภูมิศาสตร์ (Geographic Ignorance) หรือไม่รู้เรื่องรู้ราวทางด้านภูมิศาสตร์ (Geographic Illiteracy)

ทุกวันนี้วิชาภูมิศาสตร์อาจถูกอธิบายด้วยสิ่งที่ปรากฏรอบๆ กาย แต่จะต้องมาถามกันชัดๆ อีกทีว่า วิชาภูมิศาสตร์นั้นเกี่ยวถึงเรื่องอะไรกันแน่ บางคนก็บอกว่าภูมิศาสตร์ หมายถึง การรู้ว่าสถานที่ใดตั้งอยู่ที่ไหน ซึ่งอันนั้นนักภูมิศาสตร์เขาจะเรียกว่า ภูมิศาสตร์นามของสถานที่ (Place-Name Geography) มันก็ดูสื่อสารให้เห็นภาพได้ดี แต่ว่านั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ เพียงเสี้ยวเดียวที่นักภูมิศาสตร์เขาศึกษาเล่าเรียนกัน

ภูมิศาสตร์เป็นอะไรมากมายกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดกัน ภูมิศาสตร์เป็นเรื่องของพื้นที่ ขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของเวลา ภูมิศาสตร์เป็นวิถีของความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีวิธีการและเครื่องมือ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ และมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาการต่อเนื่องยาวนานมาหลายศตวรรษ ภูมิศาสตร์เป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาชนและสถานที่ และเป็นการรับรู้ถึงปัจจัยเชิงสถานที่ที่จะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ภูมิศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ดูได้จากคำกล่าวของศาสตราจารย์ เจ โรว์แลนด์ อิลลิกค์ (J. Rowland Illick) ที่ว่า “เพราะเหตุใดประชาชนจึงทำสิ่งเหล่านั้น พวกเขากำลังทำอะไร และทำอะไรกันที่ไหน” ภูมิศาสตร์ถือเป็นมิติหนึ่งของวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่มีรากฐานอยู่บนตรรกะทางพื้นที่ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง การเคลื่อนที่เลื่อนไหล และความสัมพันธ์ทางพื้นที่ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นประเด็นสำคัญของกระบวนการบนพื้นโลกทั้งทางด้านกายภาพและวัฒนธรรม จุดเน้นหลักของภูมิศาสตร์ คือ การวิเคราะห์ทางพื้นที่ (Spatial Analysis) เป็นการวิจัยที่วางอยู่บนฐานของพื้นที่ (Place-Based Research) ทั้งด้านภูมิภาคศึกษา พื้นที่ศึกษา และพาราศึกษา และเป็นบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Integration)

แรงอธิษฐานยังคงแรงกล้า เพราะว่า วิชาภูมิศาสตร์ยังคงเป็นวิชาที่มีความสำคัญกับเด็กๆ ถ้าหากโชคดี ก็จะพบว่าบางสิ่งบางอย่างที่คุณได้เรียนรู้มาจากโรงเรียนประถมศึกษาหรือโรงเรียนมัธยมศึกษา และใช้สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของคุณโดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างนี้แล้วคุณคิดว่าวิชาภูมิศาสตร์มีเนื้อหาสาระจริงๆ สำหรับการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ของเด็กๆ หรือเปล่าล่ะ แน่นอนต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ดังกรณีตัวอย่างที่ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะทางภูมิศาสตร์ ที่จะเป็นตัวไปก่อร่างสร้างนโยบายต่างประเทศ ออกแบบและใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมที่เป็นเรื่องของทำเลที่ตั้ง การเคลื่อนย้าย และการเลื่อนไหล

การประดิษฐ์ที่อัจฉริยะมาก
วิชาภูมิศาสตร์ได้รับการจัดตั้งมาตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีก่อน และมีการประยุกต์ให้ก้าวหน้าขึ้นโดยนักปราชญ์สมัยกรีก โรมัน และจีน นั่นเรียกว่าพัฒนาการของภูมิศาสตร์ในยุคโบราณ (Classical Age) เมื่อเข้าสู่สมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) วิชาภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะทั้งสองวิชานี้มีหลักการสำคัญเกี่ยวกับพื้นที่ ก็ได้กลายเป็นวิชาที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก นับได้เป็นเวลาหลายพันปีแล้วที่วิชาภูมิศาสตร์ได้รับความสนใจและให้คุณค่าจากนักปราชญ์ พ่อค้าวาณิชย์ และนักปกครอง ดังข้อเขียนของเซ้นต์ ออกัสตีน (Saint Augustine) ในบทที่ว่าด้วยเมืองของพระเจ้า (The City of God) เมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 5 “เหล่านี้เป็นการประดิษฐ์ที่อัจฉริยะอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิชาภูมิศาสตร์ เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และศาสตร์ต่างๆ”

และแล้วก็ก้าวเข้าสู่ยุคกลาง (Middle Age) เป็นยุคที่มีการเข้ามาแทรกแซงของศาสนจักรอย่างมาก เชื่อหรือไม่ว่า วิชาภูมิศาสตร์ถูกทำให้กลายเป็นแฟนตาซีไปเสียแล้ว แม้ว่ายุคนี้จะกินเวลายาวนานเป็นพันปี แต่ก็ยังดีที่ตัวองค์ความรู้จริงๆ ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยพระชาวไอริช และมีกาประยุกต์ให้ก้าวหน้าเรื่อยๆ โดยปราชญ์อาหรับและเปอร์เซีย จนกระทั่งมารื้อฟื้นกันใหม่โดยปราชญ์ชาวยุโรปที่เป็นศูนย์กลางของการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ จนทำให้เกิดการสำรวจดินแดนต่างๆ ทั่วโลกในยุคสำรวจ (Exploration Age) ที่อยู่ในช่วง ค.ศ.1450-1948 การค้นหาข้อมูลสารสนเทศและขยายดินแดนไปทางตะวันตก ในช่วง ค.ศ.1600-1900 และยุคของการใช้แนวทางภูมิรัฐศาสตร์ ในช่วง ค.ศ.1915-1947 สำหรับประวัติศาสตร์ของวิชาภูมิศาสตร์ที่เป็นปัจจุบันๆ หน่อยนั้น ก็ดูได้จากรายการข้างล่างต่อไปนี้

o มีข้อเสนอฉบับแรกเกี่ยวกับการเลื่อนของทวีป (Continental Drift) ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1596 โดยนักภูมิศาสตร์ที่ชื่อว่า อับราฮัม ออร์เทลิอุส (Abraham Ortelius) และผู้ที่ทำให้ความรู้นี้แพร่หลายออกไปก็คือ อัลเฟรด เวเจเนอร์ (Alfred Wegener) ที่เป็นนักภูมิอากาศวิทยา (วิชาภูมิอากาศวิทยาเป็นสาขาย่อยที่สำคัญของวิชาภูมิศาสตร์)
o อัลเฟรด รัสเซลล์ วอลเลซ (Alfred Russell Wallace) นักชีวภูมิศาสตร์ (Biogeographer) ร่วมค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ ในปี ค.ศ.1859 หากยังยืนยันความเชื่อต่อกฎที่ว่าด้วยการทำมาก่อน (Rules of Precedence) อย่างที่เชื่อกันอยู่ทุกวันนี้ เขาจะกลายเป็นผู้ค้นพบหลักของเรื่องนี้ แต่ว่าชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ที่เป็นเพื่อนรักของเขากลับเขียนเอกสารขึ้นมาเสร็จก่อนหน้าที่วอลเลซจะได้นำไปเสนอต่อที่ประชุมราชสมาคม
o ไอซาห์ โบว์แมน (Isaiah Bowman) นักภูมิศาสตร์ที่ทำงานให้กับประธานาธิบดีวูดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson) เป็นผู้เสนอนโยบายโลกาภิวัตของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้อเมริกากลายเป็นผู้นำของโลกผ่านทางการเมืองและเศรษฐกิจ มากกว่าการใช้กำลังทหาร นอกจากนี้โบว์แมนยังทำงานให้กับประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ในฐานะสำคัญหนึ่งในหกสถาปนิกออกแบบการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติด้วย
o คาร์ล ซาวเออร์ (Carl Sauer) นักภูมิศาสตร์คนสำคัญที่นำเอาวิธีการสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับอเมริกาโบราณ และการที่ทวีปอเมริกาเป็นศูนย์รวมการหลั่งไหลเข้ามาของประชาชนจำนวนมหาศาล โดยข้อเฉลียวใจของเขาได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในทศวรรษ 1930 ต่อมานักภูมิศาสตร์นามว่า บิลล์ เดเวแวน (Bill Denevan) ได้ค้นพบเหตุการณ์สนับสนุนจำนวนมากในปี ค.ศ.1961 นักภูมิศาสตร์ทั้งหลายให้การยอมรับอย่างกว้างขวางต่อข้อค้นพบของเขาในทศวรรษ 1970 และนักเขียนสารคดีวิทยาศาสตร์ ชาร์ลส์ มันน์ (Charles Mann) นำข้อค้นพบนี้มาประกาศต่อหน้าสาธารณชนจนได้รับการสรรเสริญอย่างมากในปี ค.ศ.2005
o โรเจอร์ ทอมลินสัน (Roger Tomlinson) นักภูมิศาสตร์ที่รู้กันเป็นสากลว่าเป็นบิดาของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาตั้งแต่ตอนต้นของทศวรรษ 1960 ขณะเดียวกันดูแอน มาร์เบิล (Duane Marble) และนักภูมิศาสตร์คนอื่นๆ ก็ทำการสอนและทำงานอย่างหนักโดยใช้หลักการพื้นฐานทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สำหรับจอห์น เค ไรท์ (John K. Wright) แห่งสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกัน (American Geographical Society) ก็ได้ตีพิมพ์แนวคิดที่ทรงอิทธิพลมากเกี่ยวกับการแสดงจุด เส้น และพื้นที่ ที่กลายเป็นหัวใจสำคัญของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการบุกเบิกใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อสนับสนุนให้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มีชีวิตชีวาอย่างแท้จริง

การล้างมลทินภูมิศาสตร์ (The Purge of Geography)
อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานวิชาภูมิศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาก็ถึงคราวต้องจมลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ โดยระหว่างปี ค.ศ.1948-1988 วิชาภูมิศาสตร์ได้ล้มหายไปจากมหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยฮาร์วาด มหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยเยล และอีกหลายมหาวิทยาลัย โดยไม่มีใครรู้ความจริงเลยว่า ทำไมสาขาวิชาภูมิศาสตร์จึงเป็นที่เพ่งเล็งและถูกกระทำเช่นนี้ หลายสิบปีต่อมา ไม่ปรากฏว่ามีภาควิชาภูมิศาสตร์อยู่ในมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวี (Ivy League) ยกเว้นแต่ที่มหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์ (Dartmouth) เท่านั้นที่มีภาควิชาและเปิดสอนในระดับปริญญาตรี สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของสหรัฐ 20 อันดับ พบว่าทุกวันนี้มีเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่มีภาควิชาภูมิศาสตร์ ส่วนมหาวิทยาลัยชั้นนำ 20 อันดับนั้น มีภาควิชาภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ถึง 15 แห่ง การล้างมลทินนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันเท่านั้น ในสหราชอาณาจักรเองทุกวันนี้ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ก็ยังคงมีโปรแกรมวิชาการที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับการผลิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาภูมิศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง

ต่อมาสาขาวิชาภูมิศาสตร์ก็กระดี๊กระด๊ากับการผุดขึ้นมาใหม่ของอะไรบางอย่าง นั่นก็คือ ความสำเร็จอย่างเป็นปรากฏการณ์ของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และความจำเป็นต่อการทำความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับดินแดนและประชาชนในต่างประเทศภายใต้ยุคโลกภิวัติ และยุคที่มีการรวมตัวกันในกรอบของภูมิรัฐศาสตร์ วิชาภูมิศาสตร์ได้รับการยอมรับร่วมกับสาขาวิชาอื่นๆ มากขึ้น และบางคนก็ให้การยอมรับต่อจุดเด่นที่สำคัญของวิชาภูมิศาสตร์ นั่นก็คือ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ การวิจัยที่เน้นสถานที่เป็นสำคัญ และการบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งการโผล่ผุดขึ้นมาที่ว่านี้ในวิชาภูมิศาสตร์มีความหมายเป็นที่ทราบทั่วกันว่า ภาควิชาภูมิศาสตร์ที่มีอยู่กำลังเพิ่มบุคลากรและจัดการเรียนการสอนภายใต้ชื่อปริญญาใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้มี่เฉพาะ 4 สาขาใหม่ในระดับปริญญาตรีที่มีการเพิ่มเข้ามาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และยังได้เกิดภาควิชาใหม่ขึ้นมาให้เป็นถกเถียงอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการไม่ให้เครดิตกันบ้างเลยเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่าการจมสลายสาขาวิชาภูมิศาสตร์จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป และก็จะได้เห็นการปิดตัวเองลงไปอีกแห่งหนึ่งของภาควิชาภูมิศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเซ้าเทิร์น โอเรกอน (Southern Oregon University)

เครื่องห่อหุ้มเป็นเราะกำกับกายของสาขาวิชาจะต้องมีการวิวัฒน์ และสิ่งใดที่คร่ำครึล้าสมัยก็ควรที่จะขจัดมันออกไป อย่างไรก็ตาม หลังจากคำสรรเสริญต่อสาขาวิชาภูมิศาสตร์ที่พร่างพรูออกมาจากปากของท่านเซ้นต์ ออกัสตีน (Saint Augustine) แล้ว คงไม่มีสิ่งรบกวนอะไรที่ยิ่งใหญ่นับจากปี ค.ศ.1948 - ปัจจุบัน ที่จะเป็นเครื่องเตือนให้นึกถึงการตกต่ำของวิชาการในยุคกลาง ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่มีความภาคภูมิใจต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้างกับสาขาวิชาภูมิศาสตร์ที่ด้อยโชคชะตา ราวๆ ครึ่งทศวรรษที่องค์ความรู้ของวิชาภูมิศาสตร์และกลุ่มของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายได้ถูกอนุรักษ์และประยุกต์โดยนักวิชการอเมริกันที่อยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง รวมถึงนักวิชาการในประเทศอื่นๆ ด้วย นักภูมิศาสตร์เก็บกรุเหล่านี้ได้อนุรักษ์ม้วนหนังสือโบราณหลายฉบับแบบเดียวกับพระชาวไอริชได้ทำในสมัยกลาง แต่ที่ดีกว่า ก็คือ พวกเขาได้ดำเนินการประยุกต์สาขาวชา และนำเสนอให้วิทยาศาสตร์สังคมได้เกิดความประทับใจในภารกิจของพวกเขา ทุกวันนี้ผลกระทบโดยรวมจากการทำงานของพวกเขาดูยิ่งใหญ่มาก เรียกว่ามากกว่าที่ใครบางคนจะไปคาดคั้นให้ลดจำนวนนักภูมิศาสตร์และจำนวนสถาบันที่สอนวิชาภูมิศาสตร์ลง

ขณะที่การศึกษาทางด้านภูมิศาสตร์ได้ถูกกำจัดออกไปจากหลักสูตรในระดับชั้น K2 ของสหรัฐอเมริกา ในโรงเรียนประถมศึกษาถือเป็นการสูญเสียที่จัดทำรายวิชาจับฉ่ายขึ้นมา คือ วิชาสังคมศึกษา (Social Studied) ที่ละเลยในส่วนที่เป็นเนื้อหาทางด้านภูมิศาสตร์กายภาพและแนวความคิดเชิงพื้นที่ ในแต่ละภาคการศึกษา ผู้เขียนเคยถามนักศึกษาที่เข้าเรียนในช่วงกล่าวนำเข้าสู่บทเรียนในชั้นเรียนขนาดใหญ่ว่า มีใครบ้างเคยเรียนวิชาภูมิศาสตร์มาก่อนที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีนักศึกษาไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ยกมือแสดงตน ในระดับชั้นมัธยมศึกษามีการลงทะเบียนเรียนวิชาภูมิศาสตร์มากขึ้น แต่จำนวนก็ยังน้อยอยู่ (21,000 คนในปี ค.ศ.2006) สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนนั้น ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่รู้มาก่อนว่า มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาภูมิศาสตร์ที่สามารถเรียนให้จบและรับปริญญาบัตรในสาขาวิชานี้ได้ มีกฎหมายว่าด้วยการไม่ทอดทิ้งให้เด็กอยู่อย่าล้าหลัง (The No Child Left Behind Program) ที่จัดสรรงบประมาณมาให้ปรับปรุงการสอนในทุกสาขาวิชาที่จำเป็น ยกเว้นวิชาภูมิศาสตร์ ซึ่งสภาได้กล่าวถึงวิชาภูมิศาสตร์ว่า เป็นวิชาที่จำเป็น แต่ไม่มีงบประมาณให้เพื่อการนี้แม้แต่ดอลลาร์เดียว

สถานการณ์ของรัฐบาลแบบนี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นในวงวิชาการ สมัยจักรพรรดิชู (Chou Emperor) ของจีนโบราณ พระองค์ทรงมีคณะนักภูมิศาสตร์ประจำราชสำนัก พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระองค์ก็ทรงมีคณะนักภูมิศาสตร์ประจำพระองค์เช่นกัน สำหรับสภาภาคพื้นทวีป (The Continental Congress) ก็ได้แต่งตั้งนักภูมิศาสตร์เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ ท่านประธานาธิบดีวิลสันเองก็มีโบว์แมนเป็นนักภูมิศาสตร์ประจำตัว เช่นเดียวกับท่านประธานาธิบดีรูสเวลท์ที่ใช้บริการโบว์แมนเป็นนักภูมิศาสตร์ประจำตัว อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใดที่มีนักภูมิศาสตร์ทำงานให้แบบตรงๆ อีกเลย ภาวการณ์ขาดแคลนอย่างว่า เป็นปรากฏการณ์เฉพาะของชาวอเมริกัน แต่ว่าในสหราชอาณาจักรนั้น เจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทของราชบัลลังก์อังกฤษ พระองค์ทรงเป็นนักภูมิศาสตร์ ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเซ้นต์ แอนดรู (St Andrews University) เมื่อปี ค.ศ.2005

ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เป็นสาขาวิชาสำคัญของการวิจัยทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นการวิจัยที่ทำโดยนักภูมิศาสตร์ และยังมีอิทธิพลต่อภาคการเมืองในโลกของความเป็นจริงที่มีขนาดใหญ่มหึมา ครั้นพอถึงช่วงที่สองของศตวรรษเดียวกัน ภูมิรัฐศาสตร์ได้ถูกปรับแปลงเป็นวิชารัฐศาสตร์และกิจการต่างประเทศ (Political Sciences and International Affairs) ปัจจุบันมีวิทยาลัยกิจการต่างประเทศอยู่ในมหาวิทยาลัยอเมริกัน 9 แห่งจากมหาวิทยาลัยที่มีอันดับสูงสุด 15 แห่ง ซึ่งไม่ใช่ภาควิชาภูมิศาสตร์แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ต่อมาบิล วูด (Bill Wood) นักภูมิศาสตร์อเมริกัน ได้จัดทำรายงานจุดนั้น และได้ร่วมแลกเปลี่ยนสั้นๆ กับผู้เขียนก่อนที่จะเสียชีวิต วูดตระหนักดีถึงการขาดแคลนความรู้ทางภูมิศาสตร์ของผู้ที่จบการศึกษาด้านกิจการต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับการที่นักภูมิศาสตร์ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องรัฐศาสตร์นั่นเอง ครั้งหนึ่งวูดเคยแสดงความจำนงจะจ้างงานคนที่มีความรู้ความเข้าใจแบบกว้างๆ ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในด้านภูมิศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งวูดก็ไม่สามารถหาคนที่มีคุณสมบัติแบบนั้นเข้ามาทำงานให้ได้

การบ่งชี้อย่างหนึ่งที่เป็นสาระด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเมื่อพิจารณาการเตือนของโบว์แมนเมื่อ ค.ศ.1949 ที่ว่า “เราอาจสูญเสียเสื้อที่เราสวมอยู่ไปในหนองน้ำหรือหุบเขาแห่งดินแดนอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งสองทศวรรษต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกากระโจนเข้าสู่สงครามเวียดนามอย่างเต็มตัว ตามสัญญายืนยันของจอร์จ เอฟ แคนนาน (George F. Kennan) แต่ว่าข้อคำเตือนของโบว์แมนกลับถูกหลงลืม โดยไม่มีการบรรจุให้เป็นวาระในการถกแถลงกันเลย

ระหว่าง 26 ปีที่ผู้เขียนทำงานอยู่ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอ๊กริดจ์ (Oak Ridge National Laboratory) และ 6 ปีที่มหาวิทยาลัยแคนซัส ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในการให้คะแนนระหว่างการประชุมของคนภายในที่จะให้การสนับสนุนในการตัดสินใจต่อผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศ และผู้กำหนดยุทธศาสตร์ทางการทหาร ผู้เขียนใช้เวลา 2 ปี เพื่อนั่งคิดให้ลึกๆ เพื่อที่จะเปิดประวัติศาสตร์ให้เกิดการฟื้นฟูสาขาวิชาภูมิศาสตร์ขึ้นมา ปัจจุบันนี้ บุคคลภายในจำนวนมากที่ยอมรับอย่างเปิดเผยว่ากำลังเกิดความผิดพลาดอย่างมหันต์ต่อความเข้าใจทางด้านภูมิศาสตร์ จากการทำตัวเป็นผู้สุขุมเรียบร้อยอย่างกับผ้าพับไว้ของพวกเขา ซึ่งนั่นเป็นเพราะมีความรู้น้อยมากในสิ่งที่เรียว่าภูมิศาสตร์ ตามที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาอย่างนั้น ผู้เขียนรู้สึกว่าจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ให้ชนะแพ้กันไปข้างหนึ่ง อย่างเดียวกับที่ท่านประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1 และท่านประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี รูสเวลท์ต้องสู้รบการอริในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งเมื่อสงครามสิ้นสุดด้วยชัยชนะที่ทุกวันนี้มองกันว่า เป็นชัยชนะทางปัญญา (Intelligence Triumphs) ประธานาธิบดีทั้งสองท่านค้นพบทางออกของปัญหาในวันที่ท่านต้องเผชิญ และผู้นำในปัจจุบันเองก็ควรที่จะใช้ภูมิปัญญาในการที่จะต้องตั้งคำถามต่างๆ ว่า สิ่งต่างๆ นั้นเป็นอะไร

คำมั่นสัญญาของท่านประธานาธิบดีวิลสัน คือ การสร้างสารสนเทศที่เป็นความรู้ขึ้นมาให้ได้ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ สงบลง เขาจึงรู้ว่าสหรัฐอเมริกาก้าวเดินอย่างสมดุลไปสู่การเป็นมหาอำนาจของโลก สงครามครั้งใหญ่ต่อด้วยสันติภาพเป็นสิ่งที่ปรากฏต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในเวทีโลก เขาเพลิดเพลินกับบทบาทผู้นำของโลกเป็นอย่างมาก แต่จะมีใครบ้าง ที่คอยเล่นบทสนับสนุนตลอดกาลให้แก่เขา 140 ปีที่สหรัฐอเมริกาปฏิบัติตัวตามแนวผู้นำเดี่ยวนิยม (Isolationism) ไม่มีใครในรัฐบาล ไม่มีเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ในหน่วยงานราชการ หรือหน่วยปัญญาของกองทัพ ที่พร้อมที่จะวิเคราะห์ปัญญาของต่างประเทศ หรือพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับประเทศยุโรปที่ริเริ่มเรื่องพวกนี้มาก่อน ประธานาธิบดีวิลสันเอง เป็นนักวิชาการที่ลุ่มลึกพอ เขามองเห็นปัญหาในเชิงภูมิศาสตร์เหล่านี้ และเขาก็เรียกร้องให้สมาคมภูมิศาสตร์อเมริกันมาช่วยงานของเขา

ผู้อำนวยการสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกัน คือ โบว์แมน ได้ทำการไต่สวน ทำการวิเคราะห์อะไรเยอะแยะ เกี่ยวกับปัญญาต่างๆ ในต่างประเทศ โดยมีคณะทำงานนักวิชาการกว่า 150 คนจากสาขาวิชาภูมิศาสตร์และสาขาวิชาอื่นๆ โดยงานของพวกเขาคือ จะต้องเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับการสร้างสันติภาพเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Peace) ณ วันที่สงครามสิ้นสุดลง ในส่วนของการไต่สวนนั้น สมาคมภูมิศาสตร์อเมริกันรับผิดชอบในการจัดทำร่างประเด็นที่สำคัญของประธานาธิบดีวิลสัน 14 ประเด็น ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งของบรรดาข้อความที่ทำให้รู้สึกดีที่สุดและเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่ถูกเขียนขึ้นมา และเมื่อประธานาธิบดีวิลสันและตัวแทนของอเมริกกันเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศส ซึ่งโบว์แมนก็เดนทางร่วมคณะไปกับท่านด้วย เมื่อกลับมาโบว์แมนได้ถอนตัวออกมาและปฏิรูประบบงานในสำนักงาน ประธานาธิบดีวิลสันประกาศกฤษฎีกาออกมาว่า นักวิเคราะห์ทุกคนจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรทางปัญญาของกองทัพ และหน่วยงานสถิติส่วนกลาง ทั้งหมดนี้จะต้องรายงานต่อท่านประธานาธิบดีโดยผ่านมาทางโบว์แมน ในเดือนมกราคม ค.ศ.1919 นักภูมิศาสตร์และนักทำแผนที่ของสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกัน นำโดยมาร์ก เจฟเฟอร์สัน (Mark Jefferson) ได้ร่วมกันผลิตแผนที่มากกว่า 300 ฉบับต่อสัปดาห์ โดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เก็บรวบรวมมา ครอบคุลมทั้งด้านภาษา ชาติพันธุ์ ทรัพยากร ขอบเขตทางประวัติศาสตร์ และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ตัวแทนของอเมริกันจึงกลายเป็นที่หมั่นไส้ของที่ประชุมที่แวร์แซลส์เป็นอย่างยิ่ง

ท่านประธานาธิบดีรูสเวลท์เองก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ชื่นชอบวิชาภูมิศาสตร์ และก็ได้ให้การสนับสนุนสภาของสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกันมากกว่าหนึ่งทศวรรษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โบว์แมนซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับท่านประธานาธิบดี และเป็น 1 ใน 6 สถาปนิก ผู้ร่วมร่างและก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ และเขายังเป็นผู้โน้มน้าวท่านประธานาธิบดีวินสตัน เชอร์ชิลล์ ให้เห็นความสำคัญของการจัดการองค์กรต่างๆ ให้อยู่ในกรอบโลกาภิวัติหนึ่งเดียว ว่าจะเป็นผลดีกว่าการแบ่งองค์กรออกตามส่วนทั้งสามของภูมิภาคแบบเดิม

ระหว่างสงคราม นักภูมิศาสตร์หนึ่งในสามของนักภูมิศาสตร์ถูกเรียกตัวเข้าไปที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อทำงานสนับสนุนสำนักงานวางแผนยุทธศาสตร์ (OSS: Office of Strategic Services) และองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานเพื่อรองรับภาวะสงคราม ในการทำหน้าที่เหล่านั้น โบว์แมนมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันนี้ มีการพิจารณาถึงศักยภาพใหม่ของอเมริกันในภาวะที่สงครามพร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเวลาว่า บทบาทของสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และบทบาทของโบว์แมนที่โดดเด่นมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็นการดำเนินการไปเพื่อให้เกิดสันติภาพ มากกว่าเป็นไปเพื่อก่อสงคราม ความรู้สำคัญต่างๆ ที่จะพาให้เรามุ่งสร้างสันติภาพได้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งที่เราได้ทำกันขึ้นมาเพื่อการสงคราม

การตั้งสมญานามภูมิศาสตร์
ถ้าหากว่าในโลกนี้ไม่มีวิชาภูมิศาสตร์ปรากฏอยู่ อาจจะต้องมีการค้นพบวิชาภูมิศาสตร์ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่ามี 4 กรณีที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากจากการค้นพบที่ไม่ได้ตั้งใจ
o สิบปีของการล้มสาขาวิชาภูมิศาสตร์ลง สภาสูงได้มีมติผ่านมาตรา VI ของกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ค.ศ.1958 (NDEA: National Defense Education Act) ที่มีผลต่อการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนองค์กรเพื่อสร้างโปรแกรมด้านพื้นที่ศึกษา (Area Studies Programs) ขึ้นในมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะเป็นแหล่งอบรมผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอสำหรับการสร้างความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา
o สี่สิบปีของการล้มสาขาวิชาภูมิศาสตร์ลง หน่วยงานของรัฐบาลกลางอย่างน้อย 3 หน่วยงาน ได้ลงนามในเค้าโครงการสร้างวิชาวิทยาศาสตร์ใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “วิทยาศาสตร์ระบบของโลก” (Earth System Science) หลายวันต่อมา หลังจากที่มีรายงานของเบรเธอร์ตัน (Bretherton Report) ปรากฏออกมาในตอนปลายทศวรรษ 1980 ผู้เขียนได้อ่านข้อกำหนดที่กล่าวไว้อย่างสมบูรณ์ ณ ที่ประชุมนานาชาติของนักภูมิศาสตร์ และพวกเขาก็ได้พิจารณากันในที่นั้นว่า วิชาภูมิศาสตร์ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งแล้ว ซึ่งที่ประชุมก็ได้ระเบิดเสียงหัวเราะกันสนั่น
o มหาวิทยาลัยโคลัมเบียล้มล้างภาควิชาภูมิศาสตร์ออกไปจากสาระบบเมื่อปี ค.ศ.1986 และเก้าปีต่อมาก็ได้สร้างสถาบันโลก (Earth Institute) ขึ้นมา เพื่อบูรณาการการสอนเกี่ยวกับโลก สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งจะเห็นว่าวิชาภูมิศาสตร์ไม่ใช่สาขาวิชาหลักสำหรับที่นี่อีกต่อไปแล้ว
o มหาวิทยาลัยฮาร์วาดไม่เปิดสอนสาขาวิชาภูมิศาสตร์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 และผลลัพธ์หลายอย่างก็ได้แสดงอยู่ในรายงานการทบทวนหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยฉบับปี ค.ศ.2004 รายงานดังกล่าวต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังเกี่ยวกับเครื่องหมายแสดงมาตรฐานขั้นสูงของวิชาภูมิศาสตร์ ที่จะต้องให้ความรู้แบบกว้างๆ ของศาสตร์ที่หลากหลาย และจะต้องทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเกี่ยวกับวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของต่างชาติ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงชื่อของสถานที่แห่งนั้นๆ

ทั้งสี่ประเด็นที่กล่าวมาเป็นเสมือนแถลงการณ์สำหรับวิชาภูมิศาสตร์ แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงอย่างตั้งใจที่จะใช้คำต่างๆ ให้เป็นภาษาธรรมดาๆ

เมื่อปี ค.ศ.2005 มหาวิทยาลัยฮาร์วาดประกาศเลยว่า จะมีเรียนการสอนในด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ แต่ไม่ใช่วิชาภูมิศาสตร์ โดยมีการตั้งศูนย์ใหม่ขึ้นมารองรับ คือ ศูนย์สำหรับงานวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Center for Geographic Analysis) ทำหน้าที่เป็นส่วนที่ทำงานตามความต้องการด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่มาจากทุกสาขาวิชา โดยไม่มีโครงสร้างสถาบันทางวิชาการที่เป็นตัวตนที่แน่นอน คล้ายๆ กับการสร้างศูนย์ประดิษฐ์โปรแกรมพิมพ์คำ โดยไม่จำเป็นต้องมีภาควิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะไม่มีหน่วยงานใดเลยที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประยุกต์ใช้งานด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1970 นอกจากนี้ การขาดหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดทางวิชาการ ยังเป็นตัวหยุดยั้งการพัฒนาการของงานด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่ทำให้ถูกหลลงเข้าใจผิดว่าเป็น “คอมพิวเตอรกราฟิก” และทำให้สูญเสียโอกาสใหญ่ๆ ไป

หลายปีมานี้ ผู้เขียนได้เฝ้าเตือนว่า “ด้วยการประยุกต์ในสาขาวิชาภูมิศาสตร์เองนั้น สามารถกำหนดตำแหน่งของสาขาวิชาให้แสดงบทบาทหลักในประเด็นสำคัญได้ เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในยุโรปตะวันออก ในทางตรงกันข้าม การประยุกต์อย่างก้าวหน้าในด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียวนั้น กลับจะพาให้พวกเราเข้ามุมอับด้วยการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่จัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนนักนิเวศวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้นำทางวิชาการสาขาอื่นๆ ในประเด็นเหล่านี้” ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาดเกี่ยวกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และทิศทางปัจจุบันของมันกำลังมีการปรับปรุงในจุดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง ด้วยความร่วมมือกันของทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ และการหลั่งเลือดของพวกเราเองออกมาบ้างในบางครั้ง อย่างนี้เท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถสร้างการยอมรับนับถือจากวิทยาศาสตร์อื่นที่ถือตนเหนือกว่า นโยบายศาสตร์ และนโยบายสาธารณะ ที่วิทยาศาสตร์มีอิทธิพลอย่างยิ่ง นั่นหมายความว่า ทฤษฎีแบบเดิมๆ จำนวนมากที่มีการพัฒนาขึ้นมาเดี่ยวๆ โดยสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเฉพาะ ที่ไม่ได้ใช้หรือใช้ความรู้ความสัมพันธ์กับวิชาภูมิศาสตร์ ตรรกะทางพื้นที่ หรือบูรณาการกับสิ่งอื่นเพียงเล็กน้อย นั่นจะไม่ใช่สิ่งท้าทายอีกต่อไปในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

ความจริงแล้วผู้บริหารมหาวิทยาลัยฮาร์วาด เปิดประตูให้โอกาสสาขาวิชาภูมิศาสตร์ได้รื้อฟื้นกลับมาอีก แต่กระบวนการต่างๆ กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่แน่นอน จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีความสนใจของใครสักคนหนึ่ง ที่เห็นในพลังของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เชื่อในความสามารถของวิชาการในการชี้นำสังคม ที่เป็นผู้เกิดมาทันกาลเวลานี้พอดี ที่จะมาช่วยชี้ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยนั้น มีบทบาทและอิทธิพลอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ วิชาภูมิศาสตร์นั้นถือได้ว่าเป็นพลังแฝงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และเป็นเสมือนกับบ้านทางวิชาการตามธรรมชาติของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์อีกด้วย ยืนยันเรื่องได้จากสถาบันสมาชิกของกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ทำงานด้านภูมิสารสนเทศศาสตร์ (UCGIS: University Consortium for Geographic Information Science) รวม 80 แห่งนั้น ร้อยละ 85 เป็นผู้นำหรือผู้นำร่วมจากภาควิชาภูมิศาสตร์

พฤติกรรมการแดกดันที่ผิดมารยาทและน่าขัน
มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าขบขันยิ่งจากการแสดงออกในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้ได้เลยกับสาขาวิชาภูมิศาสตร์ นั่นก็คือในปี ค.ศ.1897 สภาผู้แทนราษฎรแห่งมลรัฐอินเดียน่าผ่านเสียงเป็นเอกฉันท์ในการปรับแก้กฎหมายลำดับที่ 246 เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงค่าพาย (π) จากที่มีความหมายทางคณิตศาสตร์ว่ามีค่าเท่ากับ 3.1415 ให้เหลือค่าแค่เท่ากับ 3 เท่านั้น เคราะห์ดีอย่างยิ่งที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องม้วยลงก่อนที่จะไปถึงวุฒิสภา ผู้ที่เป็นตัวการที่เข้าไปขวางวันได้อย่างฉับพลัน คือ คลาเรนซ์ เอ วัลโด (Clarence A. Waldo) ศาสตราจารย์สาขาวิชาคณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเปอร์ดู (Purdue University) ที่ถือร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าไปในสภานิติบัญญัติพร้อมกับเย้ยหยันในปัญญาของสมาชิกสภาที่ต้องเปลี่ยนค่าทางคณิตศาสตร์โดยไม่ได้คิดถึงความเป็นจริงทางวิชาการแม้แต่น้อย หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเราคงได้รับรู้กันทั่วไปแล้วว่า ค่าพายนั้นมีค่าเท่ากับ 3 ไม่ใช่ 3.1415 อย่างที่วิชาคณิตศาสตร์เคยสอนพวกเรามา

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ นักการเมืองและบัณฑิตทั้งหลาย ล้วนสามารถกล่าวอ้างหรือออกแถลงการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาเพลิดเพลินกับการใช้ประโยชน์จากวิชาภูมิศาสตร์ได้ด้วยตัวเองทุกคน แต่ว่านั่นดูค่อนข้างไร้สาระ และพวกเขาไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ทางภูมิศาสตร์อย่างพอเพียงที่จะกล่าวอ้างอะไรแบบนั้นได้ทุกๆ เรื่อง แน่นอนว่า ประชาชนมีความเฉลียวฉลาดด้วยฐานความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในหน่วยงานของรัฐ โรงเรียน ธุรกิจ และตามบ้านเรือนทั่วไป แต่พวกเขาก็มีจำนวนน้อยนิดเท่านั้นเอง ดูอย่างการกำหนดขนาดของเขตเลือกตั้งก็ได้ ทุกวันนี้นักการเมืองจัดเขตดังกล่าวอย่างไม่เหมาะสม แล้วก็ไม่ค่อยมีสื่อสารมวลชนคนไหนสนใจถามคำถามจากปัญหาที่ว่านี้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างดูไร้ค่าไปเสียทั้งหมด วิชาภูมิศาสตร์ได้ก้าวผิดพลาดไปไกลเกินกว่าที่สาธารณะจะได้หันมาร่วมตระหนัก เห็นได้จากการที่ไม่มีนักการเมืองหรือนักข่าวที่พยายามจะค้นหาข้อความสนทนาทางด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นทางการ อันเป็นสาระสำคัญในการสร้างสันติภาพหรือการก่อสงครามเลยแม้แต่น้อย

ทุกวันนี้ไม่มีความรู้อะไรที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าสิ่งที่จะวางอยู่ระหว่างความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนในด้านภูมิศาสตร์และความจริงที่นักภูมิศาสตร์ต้องทำจริงๆ นักภูมิศาสตร์ทุกคนยังคงช่วยเตือนความทรงจำของประชาชนที่ทนทุกข์ทรมานจากการเข้าใจผิดอย่างจงใจ บางคนก็สนุกสนานกับมัน บางคนก็แดกดันมันอย่างเสียมิได้ มีตัวอย่างที่ครั้งหนึ่งผู้เขียนหลงเข้าไปในวงสนทนาของนักการขายในร้านแห่งหนึ่งที่เมืองแคนซัส สตรีผู้มากประสบการณ์คนหนึ่ง ซึ่งบุตรสาวของเธอได้รับคัดเลือกให้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนสอนอยู่ สตรีผู้นี้ถามว่าผู้เขียนสอนอะไร ผู้เขียนตอบว่า “สอนวิชาภูมิศาสตร์” ซึ่งเธอก็พูดว่า “โอ้ วิชานั้นเขาไม่ใช่สอนกันในระดับมหาวิทยาลัยหรอก ไม่ใช่รึ รึว่าใช่” ผู้เขียนตอบกลับไปว่า “แน่นอนครับ เราสอนและให้ปริญญาทั้งศิลปศาสตรบัณฑิต ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” จากนั้นก็มาถึงจุดที่เลวร้ายและเจ็บแปลบเป็นที่สุดของสถานการณ์ “เอาล่ะ ถามหน่อยนะว่า พวกเขาเรียกมันว่าอะไรกันรึ” เธอถามด้วยคำถามที่ไม่น่าเชื่อว่าจะหลุดออกมาได้จากปากคน

เชื่อหรือไม่ว่า คนบางคนคิดว่าวิชาภูมิศาสตร์นั้น เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับรัฐและเมืองหลวงของรัฐที่คุณอาศัยอยู่ บางคนคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพรมแดน บางคนคิดว่าเป็นเรื่องทางกายภาพเพียงอย่างเดียว มีบ้างบางคนที่คิดว่าเป็นเรื่องทางสังคมสุดๆ ซึ่งความจริงแล้ว สาระสำคัญของวิชาภูมิศาสตร์ที่ประกาศไว้เป็นประเด็นทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ราวร้อยละ 47 เป็นภูมิสารสนเทศศาสตร์ ร้อยละ 21 ประเด็นทางกายภาพ ร้อยละ 10 ประเด็นของภูมิภาค ร้อยละ 8 ประเด็นสาระทางด้านระเบียบวิธีการ ร้อยละ 5 และเป็นสิ่งที่ผสมผสานกันของประเด็นทั้งหมดที่กล่าว ร้อยละ 9

การผิดมารยาทของบุคคลส่วนใหญ่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และเราก็ปฏิบัติต่อๆ กันมาด้วยการกันคนเหล่านั้นออกไปเสีย แต่โดยรวมแล้วคนที่เข้าใจผิดเหล่านี้หลายคนเป็นผู้กำหนดทิศทางของสังคม ทั้งๆ ที่เป็นการกำหนดไปด้วยความไม่เข้าใจ จึงเป็นเหตุให้ได้นโยบายที่ไม่ดี ธุรกิจที่เลว และวิทยาศาสตร์ที่เหลว คนบางคนให้ข้อเสนอที่เป็นอันตรายและก่อให้เกิดการต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ อย่างกรณีตัวอย่างของการขืนใจกันที่ฮาร์วาร์ด เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1948 เมื่ออธิการบดี เจมส์ โคแนนท์ (James Conant) ประกาศว่า “ภูมิศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่จะต้องสอนกันในระดับมหาวิทยาลัย” อิทธิพลในเชิงสถาบันของเขาแผ่ซ่านออกมาผ่านคำพูดที่หลุดปากออกมา เป็นไกรปืนที่ถูกลั่นออกไปให้เกิดการสลายในระดับชาติอีกหลายต่อหลายแห่ง

แทนที่ทั้งหลายทั้งปวงจะช่วยกันแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดจากการริเริ่มต้นของโคแนนท์ บางคนกลับยังคงไม่รับรู้ต่อสัญญาณอันตรายอันนั้น ทุกวันนี้ รองอธิการบดีที่รับผิดชอบดูแลวิทยาลัยศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ถึงขนาดกับตั้งคำถามต่อสถานะของวิชาภูมิศาสตร์มนุษย์ว่า เป็นวิชาการประยุกต์ในการวางตำแหน่ง (Advanced Placement Course) วิชาหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดนี้ ก็มีจดหมายที่ใช้คำสวยเป็นวาทศิลป์จำนวนมากที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยนักภูมิศาสตร์ ไปถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย และก็มีหลายฉบับที่ถูกคัดเลือกไปตีพิมพ์ในวารสารสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกัน
สมัครสมานสามัคคี

การฟื้นฟูภูมิศาสตร์กลับคืนมาดูจะเป็นผลประโยชน์อย่างมากสำหรับพวกเราในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เราอาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วย ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องยืนอยู่บนขาของสาขาวิชาเดิมของเราไม่ว่าเราจะจบปริญญาในสาขาวิชาภูมิศาสตร์หรือไม่ก็ตาม ไม่มีสาขาวิชาใดที่จะเป็นอยู่ทุกอย่างโดยง่ายดายไปทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อสาขาวิชานั้นที่อยู่ในภาวะล่มสลายจะต้องถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง นักปราชญ์ผู้รู้ทุกคนควรจะปรีดาร่าเริงกับการที่วิชาภูมิศาสตร์จะได้ฟื้นกลับมาอีก จะได้กลับมาเยียวยาภาวะล่มสลายที่เคยเกิดขึ้นที่พวกเราต้องอดทนอยู่กันอย่างหดหู่ และนั้นคือความจริงที่ใครก็ตามที่ไม่ชอบสาขาวิชาภูมิศาสตร์จะต้องรับรู้เอาไว้ด้วย

จะปกป้องสาขาวิชาอื่นจาการจู่โจมแบบเดียวกับสาขาวิชาภูมิศาสตร์ถูกกระทำได้อย่างไรดี อาจจะจินตนาการเกินเลยไปถึงการต่อต้านของมวลชนที่ดูดุร้าย และมีกองกำลังขุนนางผู้ทรงปัญญาถือพร้าอาวุธครบมือบุกเข้ามา แต่ว่าเหตุการณ์อย่างนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีของเราหรอก หรืออาจจะจิตนาการว่าสาขาวิชาของเราอาจจะต้องล้มลงโดยไม่มีการต่อสู้แต่นักภูมิศาสตร์ทั้งหลายมักจะเลือกยอมรับโชคชะตามองว่าเป็นความสวยงามของชีวิตเสียมากกว่า ตอนต้นปี 2007 ที่ผู้เขียนตีพิมพ์ข้อคำถามที่ค่อยจ้างล้าสมัยว่า “การล่มสลายไปทั้งชาติของสาขาวิชาใดๆ เกิดขึ้นได้อย่างไรเพราะอะไร” คำตอบที่กลับเข้ามามีเยอะแต่มีนักภูมิศาสตร์ตอบมาเพียงคนเดียว ส่วนใหญ่กล่าวตำหนิตัวสาขาวิชานั้นๆ ซึ่งทุกเหตุผลผู้ตอบได้เสนอลักษณะของสาขาวิชาอื่นๆ หลายสาขา แต่ไม่มีสาขาวิชาไหนเลยที่ถูกลงโทษแบบที่สาขาวิชาภูมิศาสตร์ถูกระทำ

หากมองว่าผู้เขียนยึดมั่นตัวตนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาภูมิศาสตร์ ผู้เขียนก็ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นพวกคลั่งชาติคลั่งวิชาแต่อย่างใด ผู้เขียนตระหนักดีกว่า สาขาวิชาภูมิศาสตร์ไม่ใช่คำตอบเท่านั้น การปฏิวัติขึ้นมาของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยปราศจากการให้ความรู้จำนวนมาก จากนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สถาปนิกภูมิสถาปัตย์ นักคณิตศาสตร์ วิศวกรไฟฟ้า และสาขาอื่นๆ เช่นเดียวกับ ความจริงสำหรับสาขาวิชาภูมิศาสตร์ที่มีองค์ความรู้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ การที่นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมเขามีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับวัฒนธรรม และพวกเขาก็ชอบในสิ่งที่เขารู้เข้าใจได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ฉะนั้นผู้เขียนจึงสนับสนุนทั้งหมดทุกสาขาวิชาได้ดำเนินการต่อไป โดยที่พวกเขาจะไม่ต้องถูกล้มให้ฟุบลงแบบเดียวกับภูมิศาสตร์

จุดของผู้เขียนอย่างแรกก็คือว่า สาขาวิชาภูมิศาสตร์นั้นมีมุมมองและวิธีการที่จำเป็นอย่างน้องก็มีความสำคัญเท่าๆ กับวิชาอื่นๆ แต่ภูมิศาสตร์ถูกล้างผลาญ ถูกต้องสมญานาม และถูกแยกส่วน และส่วนต่างๆ ที่ถูกแยกสลายออกไปไม่มีเลยที่จะได้รับการผนวกเข้ากับภาพรวม โปรแกรมพื้นที่ศึกษา (Area Studies Programs) ดูจะเป็นศูนย์รวมของการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ที่มีความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคต่างๆ อย่างแท้จริง เพราะพวกเขาไม่ได้คิดให้เป็นปรกติ เกี่ยวกับพื้นที่และหานิยามพื้นที่แบบที่นักภูมิศาสตร์ทำอย่างเป็นปรกติ นั้นจึงเป็นคำตอบว่า เพราะเหตุใด แทนที่เงินทุกๆ ดอลลาร์ของรัฐที่ถมลงไปนับตั้งแต่ปี 1958 กับโปรแกรมพื้นที่ศึกษา แต่โปรแกรมนี้กลับไม่ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เลยแต่อย่างใด ขณะนี้สาขาวิชาภูมิศาสตร์กลับเป็นตัวหลักในการทำสิ่งนั้น

อย่างที่สองคือว่า สาขาวิชาภูมิศาสตร์นั้นได้ถูกละเลยที่จะขยายความรู้ออกไป ขณะที่สาขาวิชาอื่นๆ ไม่เคยต้องเผชิญแบบเดียวกันเลยในสมัยปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นเฉพาะมหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีก ที่พยายามจะทำอย่างนั้นกับสาขาวิชาภูมิศาสตร์ โดยไม่กระทำต่อสาขาวิชามานุษยวิทยา ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมวิทยา ซึ่งแน่นอนว่าเราสามารถพบเห็นว่ามีการเรียนการสอนระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาเหล่านั้นทั้งหมด และก็ยังมีปริญญาเอกสาขาอื่นๆ อีก แต่ไม่มีสาขาภูมิศาสตร์เลย ยกเว้นก็แต่เพียงที่มหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์ ที่เดียวที่มีระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภูมิศาสตร์

เราสามารถช่วยอะไรกันได้บ้าง
ช่วยกันกล่าวคำนั้น - ทุกวันนี้ มีความไม่เต็มใจอย่างเห็นได้ชัด ในการที่จะกล่าวถึงภูมิศาสตร์หรือคำนามที่เริ่มต้นการสะกดด้วยพยัญชนะ G คำว่า “ศาสตร์ทางพื้นที่” หรือ Spatial หรือ Geospatial ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันมากกว่าคำว่า “ภูมิศาสตร์” หรือคำว่า Geography และ Geographic ดูได้จากเมื่อนักภูมิศาสตร์ค้นพบอะไรใหม่ๆ ด้วยการใช้วิธีการทางภูมิศาสตร์เป็นฐานของการค้นพบอย่างแท้จริง แต่สิ่งเหล่านั้นกลับถูกระบุว่าเป็นเรื่องราวของศาสตร์เฉพาะที่ใกล้เคียง มากกว่าที่จะเป็นงานทางภูมิศาสตร์ นักภูมิศาสตร์มักไม่เอ่ยนามตัวเองบ่อยๆ แบบเดียวกับที่นักธรณีวิทยาชอบเอ่ย แม้ว่าจะมีบ้างเพียงร้อยละ 10 ของพวกเราที่อ้างว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านกายภาพ ที่อาจจะสับสนปนเปไปกันธรณีวิทยาได้

บอกประชาชนว่า ภูมิศาสตร์คืออะไร - นักภูมิศาสตร์กลุ่มใหญ่กำหนดให้วิชาของพวกเขาวางอยู่บนมุมมองและวิธีการเชิงพื้นที่ (Spatial Perspective and Methods) มากกว่าที่จะเป็นเนื้อหาสาระ ดังนั้นจึงให้บอกทุกคนว่า ภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่ ขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวกับเวลา คงไม่มีใครจะเสนอแนะอย่างเคร่งเครียดว่า มหาวิทยาลัยหนึ่งๆ ควรจะตั้งอยู่ได้โดยปราศจากภาควิชาประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงจะต้องถามกันให้แน่ใจอีกครั้งว่า เพราะเหตุใดมหาวิทยาลัยจึงควรตั้งอยู่ได้โดยไม่มีภาควิชาภูมิศาสตร์

อธิบายให้ผู้บริหารฟังให้ได้ - หากว่ามหาวิทยาลัยที่คุณรักไม่มีภาควิชาภูมิศาสตร์ ลองถามผู้บริหารดูซิว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงไม่มีภาควิชาภูมิศาสตร์ ถ้าหากว่ามี แต่ว่าไปรวมอยู่กับสาขาวิชาอื่น ก็ลองถามผู้บริหาร เพื่อให้เขาอธิบายเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการจัดโครงสร้างแบบนั้น ขณะเดียวกันเราก็จะต้องส่งการสื่อสารที่ชัดเจนว่า ทุกๆ สาขาวิชาสามารถช่วยอธิบายรายละเอียดต่างๆ ของโลกให้กับทุกคนทราบได้ เราและสาขาวิชาอื่นๆ ที่สามารถช่วยสังคมได้นั้น จะต้องวางแนวทางโดยปราศจากนักการเมืองหรือนักบริหารที่จะมาก่อกวนให้วุ่นวายข้ามสายงาน บุคคลทุกคนทำงานข้ามหน้าข้ามตาดังกล่าวจะต้องถูกตรวจสอบและแสดงความรับผิดชอบ แน่นอนละว่า ส่วนที่หนักที่สุด คือ การจะต้องกำหนดกลุ่มความสนใจที่เร่งด่วนของสาระวิชาของคุณใน ........... แต่ความสามัคคีกันไว้ก็เป็นความหวังที่ดีที่สุดของเราที่จะห้ามหรือหยุดยั้งการล่มสลายของสาขาวิชาภูมิศาสตร์ และเราจะต้องต่อสู้กับอุปสรรคทุกอย่าง ด้วยการเริ่มต้นกับจุดใดจุดหนึ่งที่สุกงอมที่สุดที่พร้อมจะเกิดขึ้น

ใช้วิธีการล๊อบบี้ให้เกิดระเบียบวาระเชิงนิติบัญญัติอย่างสมเหตุสมผล - การสนับสนุนทุนสำหรับการศึกษา การพัฒนา และการวิจัยทางด้านภูมิศาสตร์ จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่า เพราะส่วนหนึ่งต้องนำไปแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และอีกส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับให้การศึกษากับสาธารณชนทั่วไป ทุนสนับสนุนเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเติมเต็ม 6 ประเด็นที่สำคัญที่สุด ประกอบด้วย

1. นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกคน จะต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้หลักการพื้นฐานทางภูมิศาสตร์และประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
2. อย่างน้อยที่สุดสิ่งหนึ่ง ก็คือ บุคคลที่พร้อมแก่การเรียนรู้ทุกคน ควรที่ได้รับโอกาสในการทราบว่าในมหาวิทยาลัยนั้น มีการเรียนการสอนในวิชาภูมิศาสตร์ที่เป็นสาขาวิชาที่มั่นคงด้วยการมีอาชีพรองรับอย่างมั่นคงหลังจากที่จบการศึกษาออกไปแล้ว
3. นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทุกคน จะต้องมีการเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ในหลักสูตรภูมิศาสตร์อย่างเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเรื่องเฉพาะ ภูมิภาค ระเบียบวิธี และเทคโนโลยีที่อยู่ภายในกลุ่มของเป้าหมายปลายทางของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่พวกเขาหรือเธอเป็นผู้เลือกเอง
4. นักวิชาการจะต้องทำทุกทางเพื่อสนับสนุนนักศึกษาที่ดีที่สุดและฉลาดที่สุด ที่เลือกทางเดินเข้าสู่การได้รับปริญญาตรีและปริญญาที่สูงกว่านั้นในสาขาวิชาภูมิศาสตร์
5. ทุนสนับสนุนการวิจัย จะต้องเอื้อให้เกิดการทำงานวิจัยด้านภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้น รวมถึงส่วนที่จะต้องนำมาใช้เพื่อการทำงานในภาคสนามทั้งในประเทศและต่างประเทศ ของทั้งอาจารย์และนักศึกษา
6. ทุนสำหรับการพัฒนา จะต้องเอื้อต่อการปรับปรุงและสร้างสรรค์บุคลากรด้านภูมิศาสตร์ทั้งประเทศ โดยให้ครอบคลุมทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านประเด็นสำคัญๆ ภูมิภาค ระเบียบวิธี และเทคโนโลยี เพื่อเป็นการยกระดับระบบและโครงสร้างของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมเรียนรู้ตลอดเวลา

วางเป้าหมายให้ใหญ่เข้าไว้ - ด้วยเหตุด้วยผลแล้ว รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาจะรีบให้เงินทุนสนับสนุนโปรแกรมการศึกษาที่ล่มลง เพื่อที่จะเร่งรัดให้เกิดความก้าวหน้าของสังคมด้วยวิชานั้นๆ อย่างที่เคยดำเนินการกับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เมื่อทศวรรษ 1950 แทนที่พลังอำนาจที่มีอยู่อย่างมากในวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ และนโยบายศาสตร์ จะได้ทำหน้าที่ต่อต้านอย่างแน่วแน่มั่นคงตลอดหกทศวรรษที่ผ่านมา ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงกำลังคืบเข้ามา แต่จะเพียงพอหรือไม่ จะเกิดขึ้นเร็วพอหรือไม่ นักภูมิศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จะมีอิทธิพลมากพอต่อผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือไม่
เอาสาขาวิชาภูมิศาสตร์กลับมา

ความจริงแล้ว ผู้เขียนไม่คิดว่า การล่มสลายของสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งจะต้องถูกละเลยด้วยการไม่มีคำถามตามมา สังคมอาจจะตระหนักดีต่อความเขลาของวิธีการต่างๆ และความพยายามที่จะฟื้นฟูวิชาภูมิศาสตร์กลับคืนมา ด้วยการแก้ไขอะไรๆ ที่ผู้เขียนได้นำเสนอเอาไว้แล้ว ผู้นำของชาติอาจจะตระหนักขึ้นมาทันทีถึงความผิดพลาดที่จะทำให้ปัญญาจากต่างชาติ นโยบายต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ และประเด็นสาระอื่นๆ ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการได้รับข่าวสารของเราผ่านไปยังประชาชนเป้าหมาย ทันที่พวกเขาอยู่ในที่นั้น แต่ละคนจะได้ยินเสียงของเรา การเปิดใจจะทำให้สามารถจับและเข้าใจประเด็นได้

เหตุผลหนึ่งสำหรับการเตือนแบบมองโลกในแง่ดีของผู้เขียน ก็คือ ผู้เขียนมองเห็นว่า ผู้นำแต่ละคนสามารถปรับแปลงความประทับใจส่วนบุคคลอย่างรวดเร็วต่อสาขาวิชาภูมิศาสตร์ได้อย่างไร อะไรก็ตาม ผุ้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงสามครั้งกับพลเอกเดวิด เอช เปเตรอุส (General David H. Petraeus) ผู้บัญชาการกองกำลังอเมริกันในอิรักคนใหม่ และเขานี่เองที่เป็นตัวอย่างของความเป็นผู้นำที่เฉลียวฉลาดเข้าประเด็นได้ดีที่สุด เขาเองได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสถาบันกิจการสาธารณะและนานาชาติวูดโรว์ (Woodrow Wilson School of Public and International Affairs) มหาวิทยาลัยปรินส์ตัน ทุกคำที่เขากล่าวออกมาล้วนแสดงความฉลาดหลักแหลมทั้งสิ้น ความรู้สึกที่มีมาแต่กำเนิดของเขาเกี่ยวกับวิชาภูมิศาสตร์ แสดงออกมาได้จากหลักการทหารในสนามของกองกำลังของเขา 14 ประการ ตัวอย่างเช่นหลักการ 9 ที่ว่า “การรับรู้ด้านวัฒนธรรมเป็นกำลังทวีคูณอย่างหนึ่ง” พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่า “ความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างด้านวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก และบางครั้งมีความสำคัญยิ่งเสียกว่าความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของภูมิประเทศเสียอีก” ครั้งแรกที่เราพูดคุยกัน ผู้เขียนสนับสนุนอย่างจริงจังในการส่งนักภูมิศาสตร์ไปทำงานภาคสนามในดินแดนต่างประเทศ เพื่อที่จะได้เข้าถึงประเด็นสำคัญที่จะนำมาวางเป็นนโยบายต่างประเทศภายใต้สถานการณ์วิกฤติเยี่ยงนี้ อย่างที่สมาคมภูมิศาสตร์อเมริกันเคยทำมาก่อนสมัยที่มีโบว์แมนเป็นนักภูมิศาสตร์ผู้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ปฏิกิริยาตอบสนองทันทีทันใดของท่านนายพล คือ “คุณควรจะส่งบางคนที่เป็นผู้มีความเข้าใจทางวัฒนธรรมที่ดีเข้าไปด้วย” คำกล่าวทั้งสองนี้บอกนัยยะว่า วิชาภูมิศาสตร์เป็นเรื่องของลักษณะทางกายภาพเพียงอย่างเดียว ท่านนายพลไม่ใช่คนๆ เดียวในโลกที่เห็นวิชาภูมิศาสตร์เป็นแบบนี้ ต่อมาสภาสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกันได้มีโอกาสพบกับท่านนายพลผู้นี้ ใช้เวลาสนทนากันราว 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปจากการเข้าพบครั้งนั้น ท่านนายพลกล่าวว่า เขามีความประทับใจใหม่ต่อวิชาภูมิศาสตร์อยู่อย่างหนึ่ง ในฐานะที่วิชาภูมิศาสตร์เป็นแหล่งสร้างความเข้าใจที่สำคัญ และได้รับข้อเสนอที่จะสร้างความกระจ่างชัดในการใช้คำที่เหมาะเกี่ยวกับหลักการที่ 9 ในอนาคต มหาวิทยาลัยปรินส์ตันไม่ได้สอนบทเรียนนั้น เพราะว่าที่นั่นไม่มีภาควิชาภูมิศาสตร์ แต่ท่านนายพลก็สามารถรับรู้สิ่งนั้นได้ ด้วยข้อความของเราที่สื่อสารกับท่านนายพลเอาไว้ก่อนหน้านี้

แน่นอนว่า มีความท้าทายที่จะต้องประกาศข้อความจากสามัญสำนึกเดียวกันออกไปให้เป็นประเด็นวิกฤติสู่ผู้สร้างประเด็นวินิจฉัย และผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

หมดเวลาเป็น “คุณชายที่แสนดี” กันเสียที (No More Dr. Nice Guy)
นักภูมิศาสตร์เป็นผู้ที่มีมารยาทงดงามทั้งที่ถูกเนรเทศออกไปให้อยู่อย่างห่างไกลแสนไกล และวันนี้คงถึงเวลาแล้วล่ะ ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กันเสียที ตอนนี้เป็นห้วงเวลาที่มีโอกาสสูงมาก ในการสลัดคราบไคลของการรับรู้ของสังคมที่มีความเชี่ยวชาญในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วระบบดังกล่าวนั้นถูกโอบล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาภูมิศาสตร์เท่านั้นเอง จึงจะต้องร่วมกันต่อสู้ให้สาขาวิชาภูมิศาสตร์ฟื้นกลับมาให้จงได้ ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเพราะว่า เรากำลังแสวงหาความเท่าเทียมกันกับสาขาวิชาอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลกวิชาการ จึงเป็นสิ่งที่แน่นอนเหลือเกินว่า ไม่ใช่ว่าเป็นคนเรื่องมากเกินไปหรอกที่จะถาม และเป็นสิ่งที่ทุกคนในชาติต้องให้ความสนใจ ไม่ใช่เฉพาะแต่พวกเรานักภูมิศาสตร์เท่านั้น

เกี่ยวกับผู้เขียน
เจโรม อี ดอบสัน (Jerome E. Dobson) เป็นประธานสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกัน (American Geographical Society) และเป็นศาสตราจารย์สาขาวิชาภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคนซัส ลอว์เรนซ์ เขาเขียนบทความลงใน ArcNews Online ในฐานะสมาชิกเครือข่ายนักเขียนของสมาคมภูมิศาสตร์อเมริกัน