หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เมืองตรงขอบ

ทศวรรษ 1920 ด้วยระบบคมนาคมขนส่งในสหรัฐอมริกายังไม่ก้าวหน้า ไปไหนมาไหนต้องเดินเท้า อย่างดีสำหรับคนมั่งมีก็ใช้รถเทียมม้า มีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ สามารถไปไหนได้ทุกทิศทาง จะไปซ้ายไปขวา ไปตะวันตกตะวันออกเหนือใต้ ไปได้ทั้งนั้น เออร์เนสต์ เบอร์เจสส์ จึงนำเสนอแบบจำลองย่านพื้นที่แบบวงแหวน (concentric zone model) แสดงโครงสร้างการใช้ที่ดินของเมืองเป็นวงๆ ไล่เรียงกันออกจากศูนย์กลางที่เรียกว่า “ย่านกลางธุรกิจ” หรือ CBD: central business district

ครั้นเมื่อสังคมพัฒนาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การคมนาคมมีความสะดวกขึ้นด้วยมีรถราง รถไฟ ในช่วงปลายทศวรรษ 1930 รูปแบบโครงสร้างของเมืองจึงอธิบายให้ด้วยการปรับเปลี่ยนและขยายตัวไปตามเส้นทางขนส่ง โดยโอมเมอร์ ฮ้อยต์ ได้นำเสนอแบบจำลองรูปลิ่ม (sector zone model) หลังจากที่ค้นพบว่า ค่าเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยการค้า และอุตสาหกรรม จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแบบเดียวกันออกจากศูนย์กลางย่านธุรกิจเพียงแห่งเดียวไปจนถึงบริเวณขอบนอกของเมือง ทศวรรษ 1940 ชวนซี แฮร์รีส และเอดวาร์ด อูลแมน วิพากษ์ว่าแบบจำลองสองแบบที่ใช้อธิบายโครงสร้างของเมืองในสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงเสนอแบบจำลองหลายศูนย์กลาง (multi nuclei model) ขึ้นมาใหม่

แบบจำลองนี้มีพื้นฐานความคิดอยู่ว่า ศูนย์กลางที่เป็นย่านกลางธุรกิจเดิมถูกลดความโดดเด่นเดี่ยวที่เคยเป็นมาแต่เดิมลง เกิดศูนย์กลางเป็นจุดๆ ใหม่ขึ้นในหลายพื้นที่ของเมือง ด้วยความเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นเมืองสมัยใหม่ และเป็นเมืองสมัยใหม่ที่มีลักษณะซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน จึงทำให้แบบจำลองของเบอร์เจสต์และฮ้อยต์ไม่สามารถอธิบายได้ดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งจะใช้อธิบายก็จะมีความถุกต้องน้อยมาก 

เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาเมืองของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของบ้านเรา ยังคงใช้หลักการตามแบบจำลองอเมริกัน ๓ แบบนี้เป็นกรอบอยู่ ทั้งๆ ที่ระบบสังคมเปลี่ยนแปลงไปแทบไม่เหมือนเดิมแล้ว ศูนย์กลางเดี่ยวศูนย์กลางเดียวแทบหน้าไม่ได้แล้ว รวมทั้งการกระจายออกไปตามบริเวณต่างๆ ของศูนย์กลางย่านธุรกิจการค้าแบบที่อธิบายไว้ในทศวรรษ 1940 ก็ไม่อาจนำมาอธิบายได้อีกต่อไป จึงได้มีข้อเสนอแบบจำลองแสดงโครงสร้างการใช้ที่ดินของเมืองใหม่ เป็นแบบจำลองย่านบริเวณของเมือง (urban realms model) ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีองค์ประกอบเชิงบทบาทหน้าที่แยกออกจากกันชัดเจน แต่ก็จะเชื่อมโยงต่อกันเป็นมณฑลมหานคร โดยในช่วงช่วงทศวรรษ 1950 หลังสงครามโลกสงบลงใหม่ๆ ประชากรแพร่กระจายออกสู่บริเวณชานเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และลดปริมาณและระดับปฏิสัมพันธ์ที่เคยมีกับศูนย์กลางเมืองเดิมลง ทำให้เกิดการเติบโตของย่านบริเวณชานเมืองขึ้นในหลายๆ เมือง

โดยในช่วงทศวรรษ 1970 บริเวณพื้นที่รอบนอกของเมืองกำลังพัฒนากลายเป็นพื้นที่อิสระจากศูนย์กลางย่านธุรกิจกลางเมืองเดิม เมื่อมีการสร้างศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ของภูมิภาค (regional shopping mall) ในย่านชานเมือง จึงเกิดเป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจแห่งใหม่ขึ้น เป็นศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่ย่านกลางเมือง นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “เมืองตรงขอบ” (edge city) ที่ถูกเขียนขึ้นมาครั้งแรกโดยโจเอล การ์รู (Joel Garreau) นักหนังสือพิมพ์ของวอชิงตัน โพสต์ ในหนังสือ Edge City: Life on the New Frontier เมื่อปี ค.ศ.1991 ทำให้เราสามารถเขียนสมการแสดงการเติบโตของเมืองบริเวณพื้นที่ที่อยู่ตรงขอบของเมือง ณ จุดเชื่อมต่อของทางหลวงแผ่นดินระหว่างเมืองของอเมริกา

การเกิดขึ้นของเมืองใหม่ที่ว่านี้ ทำให้เกิดย่านพื้นที่สำหรับตั้งเป็นสำนักงานจำนวนมาก เป็นศูนย์การค้าขนาดมหึมา ทั้งนี้การ์รูได้เสนอกฎสำคัญของการเป็นเมืองตรงขอบว่าจะต้องมีลักษณะอย่างน้อย 4 ประการ คือ

1. พื้นที่ตรงขอบนั้นจะต้องมีบริเวณกว้างขวางมากกว่า 5 ล้านตารางฟุต ไว้เป็นที่สร้างอาคารสำนักงานที่สำคัญ และในจำนวนนั้นจะต้องแบ่งไว้ให้มากกว่า 6 แสนตารางฟุตเพื่อเป็นพื้นที่ค้าปลีกที่สำคัญ (ศูนย์การค้าระดับภูมิภาคขนาดใหญ่)

2. จำนวนประชากรในย่านบริเวณตรงขอบเมืองนั้น จะต้องมีลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเช้า และลดลงเกือบหมดในช่วงเย็น หรือนัยหนึ่งจะต้องมีแหล่งงานมากกว่ามีบ้าน

3. จะต้องเป็นสถานที่ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นปลายทางที่มีทุกอย่างพร้อม (single end destination: the place has it all) มีทั้งสวนสนุก แหล่งบันเทิง จับจ่ายสินค้า และบริการการเงินและธุรกิจ

4. พื้นที่นั้นจะต้องไม่มีอะไรที่เหมือนกับเมืองในทศวรรษ 1960 เลย พูดง่ายๆ คือ ต้องไม่มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสำหรับทำปศุสัตว์

การ์รูย้ำในหนังสืออีกกล่าวว่า ถือได้ว่าเมืองตรงขอบเป็นคลื่นลูกที่สามของพัฒนาการแบบจำลองอธิบายโครงสร้างการใช้ที่ดินในเมือง ที่ผลักชาวอเมริกันออกไปสู่ย่านบริเวณใหม่ในช่วงเวลาครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 โดยขั้นแรกพวกเขาเคลื่อนย้ายออกจากบ้านในเมืองที่เป็นอดีตแบบที่เคยอยู่กันต่อๆ กันมา ย้ายออกมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งสอง นั่นทำให้บริเวณชานเมืองของอเมริกาเติบโตขึ้น แล้วพวกเขาก็เบื่อหน่ายที่จะกลับเข้าไปทำธุรกิจ/ทำงาน/ไปอยู่/ไปใช้ชีวิตในย่านใจกลางเมือง พวกเขาจึงพากันย้ายตลาดออกมาด้วย ย้ายออกมาอยู่ใกล้ๆ กับย่านบริเวณที่พวกเขาอาศัยอยู่ นับได้ว่าทศวรรษ 1960 และ 1970 เป็นช่วงเวลาแห่งการเกิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของสังคมอเมริกันเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ ถือได้ว่าชาวอเมริกันได้เคลื่อนย้ายตัวเองออกมาสร้างความมั่งคั่ง สร้างสังคมเมือง สร้างงานของพวกเขา นอกย่านบริเวณพื้นที่ที่พวกเขาเคยอยู่ เคยทำงาน และเคยจับจ่ายมากว่าสองรุ่นคน และนี่เองที่นำไปสู่การเติบโตขึ้นของเมืองตรงขอบ มีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการอธิบายโครงสร้างการใช้ที่ดินของเมือง นั่นคือ บทบาทหน้าที่ของเมือง (urban functions) หมายถึงฐานเศรษฐกิจรองรับกิจกรรมหลักของเมือง ยกตัวอย่างเช่น คนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอันเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจหลัก (basic sectors) ของเมือง พวกเขาทำงานผลิตสินค้าเพื่อส่งออกและสร้างกระแสเงินไหลเวียนเข้า ส่วนคนงานอีกกลุ่มหนึ่งทำงานในภาคส่วนที่ไม่ได้เป็นเศรษฐกิจหลัก (nonbasic sectors) อาจเรียกว่าภาคบริการก็ได้ พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อกิจกรรมส่วนอื่นๆ ของเมือง เช่น เป็นครู คนทำความสะอาดถนน พนักงานในสำนักงาน ฯลฯ สัดส่วนของคนงานภาคส่วนเศรษฐกิจหลักกับภาคส่วนที่ไม่ใช่เศรษฐกิจหลัก แสดงถึงบทบาทหน้าที่หลักของเมืองนั้นๆ โดยสัดส่วนดังกล่าวสำหรับเมืองขนาดใหญ่เท่ากัน 1 ต่อ 2 ตัวอย่างเช่น เมื่อธุรกิจอย่างหนึ่งของเมืองสามารถสร้างงานให้กับคนงานในภาคการผลิตหลักได้ 50 คน นั่นเท่ากับว่าจะช่วยเพิ่มการจ้างงานให้กับคนงานในภาคส่วนอื่นอีก 100 คน เป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ผลกระทบทวีคูณ” จากการจ้างงาน และประชากรของเมืองที่เพิ่มขึ้น (เป็นผู้คนที่ต้องพึ่งพาคนงานเหล่านั้น เช่น เด็กอยู่ในการเลี้ยงดู ที่จะต้องจับจ่ายและบริโภคสินค้าและบริการในเมืองนั้นๆ)

ทั้งนี้ข้อมูลประชากรของเมืองที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจหลักและที่ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจหลัก (เรียกว่า โครงสร้างการจ้างงาน (employment structure)) จะทำให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองมองเห็นบทบาทหน้าที่หลักของเมืองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของเมืองในปัจจุบันจะมีลักษณะไม่เรียบง่ายอย่างที่กล่าวมาข้างบน แต่ว่าก็มีบางเมืองที่มีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งโดดเด่นด้วยกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว อย่างนี้เรียกว่า “มีบทบาทหน้าที่โดดเด่นเฉพาะอย่าง” (functional specialization) เช่น เมืองดีทรอยท์กับบทบาทอุตสาหกรรมยานยนต์ เมืองพิตต์สเบอร์กกับอุตสาหกรรมเหล็ก เมืองฮุสตันกับอุตสาหกรรมอากาศยาน แต่ว่าก็จะมีเมืองอยู่ไม่กี่แห่งที่มีบทบาทเด่นชัดอย่างที่กล่าว โดยทั่วไปเมืองทุกวันนี้จะมีบทบาทหลากหลายมาก แต่ก็อาจมีเมืองโดดเด่นเฉพาะอย่างให้เห็นบ้าง เช่น เมืองโอลันโดกับสวนสนุกและกิจกรรมวันหยุด เมืองลาสเวกัสกับการสิโน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น