หน้าเว็บ

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การสำรวจข้อมูลภูมิศาสตร์มนุษย์ด้วยแบบสอบถาม

การสำรวจข้อมูลภูมิศาสตร์มนุษย์ด้วยแบบสอบถาม 22 กรกฎาคม 2014 เวลา 0:37 น.

ได้รับมอบหมายให้อ่านหนังสือและใช้ประสบการณ์จากการทำงานวิจัย เพื่อมาบรรยายตามหัวเรื่องข้างบนนี้ ให้นิสิตสาขาวิชาภูมิศาสตร์ฟังในช่วงบ่ายวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา มีปัญหาอยู่นิดหนึ่ง ตรงที่ว่าหนังสือ key methods in geography เล่มใหญ่ ที่มี nicholas clifford, shaun french และ gill valentine (2010) เป็นบรรณาธิการนี้

หนังสือเล่มนี้มีสาระรวมๆ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ การวิจัยทางภูมิศาสตร์ (จำนวน 4 บท) การจัดการข้อมูลภูมิศาสตร์มนุษย์ (จำนวน 10 บท) การจัดการข้อมูลภูมิศาสตร์กายภาพ (จำนวน 6 บท) และการนำเสนอ/ตีความข้อมูลภูมิศาสตร์ (จำนวน 12 บท)

ปัญหาก็คือ ถ้าจะให้บรรยายเรื่องการสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถามอย่างเดียว ก็เท่ากับบรรยายแค่เนื้อหาบทเดียวในส่วนที่สอง ซึ่งมีเนื้อทั้งหมดตั้งสิบเรื่อง นั่นจึงเป็นที่มาของการใช้เวลาหลายวัน พยายามอ่านเนื้อหาในส่วนที่สองให้ครอบคลุมทั้ง 10 บท แล้วเอามาบรรยายให้นิสิตฟังภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับระดับความสนใจของนิสิต .. เดี๋ยวนี้การเรียนการสอนต้องพิจารณาตามความสนใจของนิสิตครับ ไม่สามารถทำตามความต้องการของผู้สอนทั้งหมดได้ เพราะไม่อย่างงั้นจะกลายเป็นสอนได้สอนไป จะคุยซะอย่าง ฟังไม่รู้เรื่องหลับดีกว่า อะไรแบบนั้น ซึ่งเท่ากับสูญเปล่า)

ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ได้อธิบายให้นิสิตได้รับรู้ถึงเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ โดยเขียนขึ้นมาเป็นกรอบแนวความคิด (conceptual framework) ให้เห็นดังภาพข้างบน และภาพนี้นิสิตสามารถใช้เป็นกรอบแสดงขั้นตอนการทำวิจัยทางภูมิศาสตร์ได้ด้วย โดยจะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การกำหนดปัญหาการวิจัย ซึ่งได้บอกนิสิตไปว่าปัญหาการวิจัยทางภูมิศาสตร์มี 2-3 รูปแบบด้วยกัน คือ ปัญหาที่ว่ามีปรากฏอยู่ข้างหน้าแล้วเราจะต้องหาคำอธิบายในรูปแบบเชิงพื้นที่ให้กระจ่าง (ทั้งในเชิงการวิเคราะห์พื้นที่ การแสดงรูปลักษณ์ของสถานที่ และการเกาะกลุ่มหรือแตกกลุ่มออกเป็นภูมิภาค) และปัญหาที่ว่ามีปรากฏการณ์อยู่ตรงนี้แล้วเราจะต้องทำนายการเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์นี้เมื่อเวลาผ่านไปสู่อนาคต

หลังจากที่ได้ประเด็นปัญหาแล้ว จะต้องทำการค้นคว้าวรรณกรรม หรือเอกสารงานเขียน (รวมถึงผลงานในรูปแบบอื่นๆ ด้วย) ที่เกี่ยวเนื่อง สอดคล้อง และ/หรือขัดแย้งกับประเด็นวิจัยที่กำหนด ตรงนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการทำวิจัย เรื่องนี้มีอาจารย์ได้บรรยายให้นิสิตฟังไปแล้วก่อนหน้านี้ เพียงแต่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ขั้นตอนนี้สำคัญต่อการวิจัยจริงๆ โดยการอ่านทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องพิจารณาใน 5 ส่วนสำคัญ คือ ชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ วิธีการวิจัย ผลลัพธ์ที่ได้ และข้อเสนอแนะจากงานชิ้นนั้น ซึ่งขอให้ระลึกไว้เสมอว่า เราเองเราก็ต้องการพิจารณาในห้าประเด็นที่กล่าว ดังนั้นเมื่อเราทำงานวิจัยเสร็จแล้ว หากมีคนสนใจงานของเรา เขาก็ย่อมต้องการพิจารณาห้าอย่างที่กล่าวมีนี้ด้วยเช่นกัน จึงจะต้องทำงานวิจัยให้ดีมีส่วนต่างๆ ให้ครบถ้วน

หลังจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นวิจัยของเราพอประมาณแล้ว คำว่าพอประมาณนี้หมายถึงพอได้น้ำได้เนื้อ พอได้สาระ สำหรับอธิบายประเด็นที่กำลังสนใจทำวิจัยอยู่นี้ ซึ่งจากการอ่านก็จะทำให้พบว่า ภายใต้ประเด็นวิจัยดังกล่าวนั้น ในแวดวงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (หรือเกือบทั้งหมด) มีสารัตถะสำคัญอะไรบ้างที่เป็นส่วนย่อยของประเด็นวิจัยของเรา ซึ่งอันนั้นละ คือ สิ่งที่จำเป็นจะต้องทำการศึกษาเพื่อให้สามารถอธิบายปัญหาการวิจัยได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน ถ้าจับเข้าไปอยู่ในกระบวนการวิจัย นี่ก็เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยแล้วละ จะมีวัตถุประสงค์กี่ข้อก็ว่าไปตามเหมาะสม หลังจากที่ได้วัตถุประสงค์การวิจัยแล้ว ยังจะไม่สามารถทำงานวิจัยได้ทันที เพราะวัตถุประสงค์ดูจะเป็นการเขียนข้อความกว้างเกินไป ไม่สามารถลงลึกถึงวิธีการในละเอียดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลที่จะนำมาใช้สนับสนุนประเด็น วิธีวิเคราะห์ข้อมูล และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำวัตถุประสงค์แต่ละข้อมาแตก spectrum สาระปลีกย่อยให้หมด แล้วเลือกส่วนที่สนใจและสามารถอธิบายวัตถุประสงค์ข้อนั้นๆ ได้จริงๆ หากจะถามว่าเลือกมาเท่าไหร่ ก็ไม่มีเกณฑ์ตายตัว อยู่ที่ความเหมาะสมเหมือนเดิม การดำเนินการส่วนนี้เรียกว่า “ขอบเขตการวิจัย” ซึ่งคนละความหมายกับ “พื้นที่ศึกษาวิจัย” หรือ “ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย” การสร้างและทำงานกับข้อมูลภูมิศาสตร์มนุษย์และภูมิศาสตร์กายภาพ ตรงนี้มีสองประเด็นใหญ่ แต่อยู่ในกรอบเดียวกัน คือการจัดการเกี่ยวกับข้อมูล ทั้งนี้ข้อมูลในการวิจัยภูมิศาสตร์มนุษย์จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากข้อมูลสำหรับการวิจัยภูมิศาสตร์กายภาพ นั่นจึงทำใหนังสือเล่มที่ว่านี้ ต้องแยกประเด็นนี้ออกเป็นสองส่วน โดยในส่วนของภูมิศาสตร์มนุษย์ได้บรรยายสิ่งสำคัญทั้ง 10 เรื่องให้นิสิตฟังแล้ว และได้นำมากล่าวถึงอย่างละเอียดอีกครั้งเกี่ยวกับการสำรวจด้วยแบบสอบถามในบทความนี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกเก้าเรื่องที่ได้คัดลอกส่วนสำคัญมาให้อ่านในตอนท้ายของบทความนี้ การตีความหมายและนำเสนอผลการดำเนินงานเกี่ยวกับข้อมูล หมายถึงว่า เมื่อจัดการกับข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดการฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิควิธีการที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และขอบเขตการวิจัย นักวิจัยทางภูมิศาสตร์จะต้องทำการตีความผลลัพธ์ที่ได้ทั้งหมด พร้อมๆ กับหารูปแบบการนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้นั้น อาจนำเสนอด้วยรูปแบบตารางแบบต่างๆ กราฟหรือชาร์ต ฮีสโตรแกรมแสดงการกระจาย รูปภาพ และสำคัญสุดสำหรับงานวิจัยทางภูมิศาสตร์ คือ การนำเสนอในรูปแผนที่แบบต่างๆ สุดท้ายของกระบวนการในภาพที่กล่าวมาเสียยืดยาวข้างต้น เป็นการสรุปผลการวิจัย นักวิจัยทางภูมิศาสตร์จะต้องย้อนกลับไปที่วัตถุประสงค์ของงานวิจัย พิจารณาให้ดีอีกครั้งว่า งานวิจัยที่ทำอยู่นี้มีวัตถุประสงค์อะไร แล้วก็มาพิจารณาผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด ค่อยๆ นำผลลัพธ์ที่ได้มาเขียนเป็นข้อสรุปให้ได้ใจความครบถ้วนตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อ มีอีกนิดหนึ่งในกล่องสุดท้ายของภาพข้างบน จะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการทบทวนวรรณกรรมกับการอภิปรายผลการวิจัย กล่าวคือ หลังจากที่ได้ผลการวิจัยเรียบร้อยและทำการสรุปผลมาเขียนรวบยอดแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำ คือ การอภิปรายผล (คำว่า discussion บางสาขาวิชาใช้คำว่าวิจารณ์ผล) ซึ่งหมายถึงการเทียบเคียงผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยครั้งนั้น กับงานวิจัยฉบับอื่นๆ ที่จัดทำไปก่อนหน้า ที่ได้มีการทบทวนนำมากล่าวอ้างไว้ในงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ ขั้นตอนนี้แม้ว่าจะอยู่ในกรอบเล็กๆ ของภาพข้างต้นบทความนี้ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเป็นการยืนยันว่ามีหลักฐานแน่นหนาถึงความสำคัญของงานวิจัยที่กำลังทำอยู่นี้อีกครั้งหนึ่ง เป็นการยืนยันว่างานวิจัยในประเด็นนี้มีนักวิชาการในสายที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจทำวิจัยกันอย่างจริงจัง มีผลลัพธ์การวิจัยเหมือนกันหรือแตกต่างกันตรงไหน อย่างไร กรณีที่ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันจึงเป็นการยืนยันถึงความน่าเชื่อถือ (reliability) และความคงที่ (consistency) ของเงื่อนไขที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ส่วนกรณีที่ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน นั่นเป็นเป็นการบ่งบอกให้ทราบว่า การค้นพบสิ่งใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว สำหรับเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้มาบรรยายจริงๆ ในวันนี้ หยิบยกมาจากบทที่ 6 ของหนังสือเล่มนี้ ชื่อบทว่า การสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถาม (conducting questionnaire surveys) เขียนโดยซารา แมคลาฟเฟอร์ตี (sara l. maclafferty) ศาสตราจารย์สาขาวิชาภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ที่เออบานา สหรัฐอเมริกา ซาราเขียนไว้ในบทเกริ่นนำว่า การวิจัยที่ใช้วิธีการสำรวจด้วยแบบสอบถาม เป็นวิธีการวิจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวทำการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณลักษณะ พฤติกรรม และ/หรือทัศนคติของประชากร โดยเครื่องมือที่ว่านี้เป็นชุดคำถามที่มีรูปแบบมาตรฐาน หรือเป็นแบบสอบถามสำหรับสอบถามกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งเป็นรายบุคคล ในสาขาวิชาภูมิศาสตร์นั้น การสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถามมักจะใช้เพื่อการค้นหาการรับรู้ (perception) ทัศนคติ (attitude) ประสบการณ์ (experience) พฤติกรรม (behaviour) และปฏิสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (spatial interaction) ที่ปรากฏอยู่อย่างหลากหลายบนพื้นที่ต่างๆ ก่อนเริ่มดำเนินการทำงานวิจัยด้วยการสำรวจแบบสอบถาม นักวิจัยทางภูมิศาสตร์จะต้องระบุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน เห็นไหม ว่าต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น และก็อย่าลืมว่า ภายใต้วัตถุประสงค์การวิจัย เราอาจจะยังไม่สามารถไปเก็บข้อมูลได้ทันที แต่จะต้องกำหนดขอบเขตการวิจัยในแต่ละวัตถุประสงค์เสียก่อน เพื่อให้แน่ชัดว่า วัตถุประสงค์แต่ละข้อนั้น เราต้องการอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ หรืออาจจะห้า หัวใจสำคัญของการสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถาม มี 3 อย่าง คือ การออกแบบแบบสอบถาม (designing the questionnaire) การเลือกกลยุทธ์ในการสำรวจ (choose a survey strategy) และการเลือกตัวอย่างที่จะเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม (choose the survey respondents) อย่างแรกที่เป็นการออกแบบแบบสอบถามนั้น ต้องเข้าใจร่วมกันถึงรูปแบบพื้นฐานของแบบสอบถามเสียก่อนว่า มีสองแบบด้วยกัน คือ แบบปลายเปิด (open ended questions) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบคำถามได้ตอบคำถามได้อย่างอิสระ อันนี้ถือว่าดี เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นความจริงอย่างครบถ้วน แต่ก็จะวุ่นวายในขั้นตอนการวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการวิเคราะห์สถิติด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป อีกแบบเป็นแบบปลายปิด (fixed response questions) อันนี้ผู้ออกแบบคำถามจะต้องสร้างตัวเลือกคำตอบให้กับผู้ตอบคำถาม ตรงนี้วันที่บรรยายได้กล่าวแบบรวมๆ อาจทำให้นิสิตไม่เข้าใจในสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญ นั่นก็คือ รูปแบบของคำตอบคำถามปลายปิดจะสอดคล้องกับมาตรวัดข้อมูล ซึ่งนิสิตเคยเรียนมาแล้วในวิชาหลักสถิติและวิชาการวิเคราะห์สถิติทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ มาตรวัดข้อมูลมี 4 ระดับ ประกอบด้วย ระดับแรกเป็นมาตรนาม (nominal scale) ที่ผู้ออกแบบคำถามจะสร้างตัวเลือกเป็นคำตอบให้เป็นประเภทๆ เช่น แบ่งกลุ่มอาชีพ ประเภทถือครองที่ดิน ประเภทการใช้ที่ดิน อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ระดับที่สองเป็นมาตรอันดับ (ordinal scale) อันนี้ใช้กันมาก เพราะการสำรวจการรับรู้ ทัศนคติ ประสบการณ์ ฯลฯ ไม่สามารถวัดระดับได้โดยตรง จึงต้องสร้างระดับความรู้สึกของผู้ตอบแบบสอบถามออกมาให้อยู่ในมาตรนี้ อาจแบ่งระดับออกเป็นสามหรือห้าก็ได้แล้วแต่ว่าต้องการความละเอียดแค่ไหน แต่การจัดระดับแบบนี้ก็เสี่ยงที่ผู้ตอบแบบสอบถามจะเลือกตอบตรงกลางเสียเป็นส่วนใหญ่ นักสังคมวิทยาบางท่านจึงแนะนำให้แบ่งออกเป็นสี่ระดับ เป็นการบังคับไม่ให้ผู้ตอบแบบสอนถามมีแนวโน้มจะเลือกคำตอบที่เป็นกลางๆ และระดับสามและสี่ สองอันนี้รวมกันเป็นมาตรช่วงและอัตราส่วน (interval/ratio scale) จะเป็นการสร้างคำตอบที่แสดงค่าที่แท้จริงของข้อมูลที่เป็นคำตอบ เช่น ระดับรายได้ ขนาดถือครองที่ดิน เป็นต้น แต่ว่าอย่างไรก็ตาม แบบสอบถามที่ใช้ในการเก็บข้อมูลมักไม่ได้มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่จะผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการข้อมูลของนักวิจัย มีข้อแนะนำสำหรับการออกแบบคำถามง่ายๆ 2 ประการ ประการแรกเป็นหลักการเบื้องต้น ในส่วนนี้ให้ตั้งคำถามง่ายๆ คำที่ใช้ในคำถามต้องชัดเจน และผูกประโยคให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ และประการที่สองเป็นสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยง มีห้าอย่างที่ต้องหลีกเลี่ยง คือ คำถามที่ยาวและซับซ้อน การใช้คำถามซ้อนและซ่อนในคำถามเดียวกัน คำถามที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ไม่ต้องเอาเข้ามา คำถามที่แสดงถึงความลำเอียงหรือแสดงอารมณ์ก็ไม่ควรใช้ และคำถามเชิงลบประเภท “ไม่อย่างโง้นอย่างงี้” ไม่ควรนำมาบรรจุในแบบสอบถามเด็ดขาด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การเลือกกลยุทธ์ในการสำรวจ หรือนัยหนึ่งคือวิธีการที่จะใช้สำหรับสอบถามกลุ่มตัวอย่างนั่นเอง อันนี้ในหนังสือ ก็กล่าวเหมือนๆ กับตำราการวิจัยทั่วไปว่า เป็นแบบสอบถามโดยตรง (face to face interview) การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (telephone interviews) การส่งแบบสอบถามไปทางไปรษณีย์แล้วให้ผู้ตอบแบบสอบถามส่งกลับ (postal surveys) การไปแจกแบบสอบถามไว้และกลับมาเก็บภายหลัง (drop and pick-up questionnaire) และการสำรวจด้วยแบบสอบถามทางอินเตอร์เนต (internet surveys) แต่ละวิธีการมีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่านักวิจัยจะเลือกใช้วิธีการใด ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการเข้าถึงตัวผู้ตอบแบบสอบถาม ระยะเวลาและงบประมาณสำหรับการทำงานวิจัยชิ้นนั้น ทั้งนี้แต่ละแบบจะได้ผลตอบรับในอัตราส่วนที่แตกต่างกันออกไป อันนี้ก็ต้องยอมรับด้วย และสุดท้ายของเรื่องนี้ เป็นการเลือกตัวอย่างที่จะเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม ตรงนี้ได้บรรยายให้นิสิตฟังว่า ก่อนที่จะไปถึงขนาดตัวอย่างและการเข้าถึงตัวอย่าง เราจะต้องย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการวิจัยอย่างหนึ่ง คือ หน่วยของการวิเคราะห์ข้อมูล (unit of analysis) ที่หมายถึงว่า งานวิจัยที่จะทำนั้นต้องการวิเคราะห์ข้อมูลภายในกรอบอะไร เป็นบุคคล เป็นครัวเรือน เป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชน เป็นตำบล เป็นอำเภอ เป็นจังหวัด เป็นประเทศ หรือว่าเป็นย่านภูมิภาค ในตอนต้นของการออกแบบงานวิจัย นักวิจัยทางภูมิศาสตร์จะต้องใส่ใจกับประเด็นที่กล่าวมานี้ให้มาก เพื่อที่ว่าจะได้สร้างคำถามในแบบสอบถามให้ตรงกับหน่วยของการวิเคราะห์ข้อมูล และที่สำคัญในตอนสำเร็จเก็บข้อมูลจะได้มุ่งเป้าไปยังผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น ตัวจริงเสียงจริง เป็นบุคคล เป็นหัวหน้าครัวเรือน เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน เป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น เรื่องขนาดตัวอย่างและการเข้าถึงตัวอย่าง สองอันนี้ไม่ได้บรรยายให้ฟัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ เพียงแต่ว่าการกำหนดขนาดตัวอย่างสามารถหาอ่านและคำนวณได้ไม่ยาก และการสุ่มตัวอย่างที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ก็สามารถหาอ่านเองได้ไม่ยากเช่นกัน ยังมีเรื่องราวตามที่กล่าวมาแต่ต้นอีก 9 เรื่อง ที่ได้ใช้เวลาพอสมควรบรรยายให้นิสิตฟัง ซึ่งขอกล่าวถึงย่อๆ ดังนี้ * การใช้ข้อมูลทุติยะสำหรับทำงานวิจัยทางภูมิศาสตร์ (making use of secondary data) เขียนโดย paul white, professor of EURO urban geography at the university of sheffield ข้อมูลทุติยภูมิประกอบด้วยข้อมูลที่ได้รับการเก็บรวบรวมไว้แล้วเพื่อจุดประสงค์อื่น แต่ที่มีอยู่ให้ผู้อื่นใช้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นแหล่งสำคัญของข้อมูลสำหรับโครงการของนักศึกษาจำนวนมาก ที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาและงบประมาณดำเนินการวิจัย มีสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาทำความเข้าใจให้กระจ่างเกี่ยวกับลักษณะของข้อมูลทุติยภูมิ คือ ใครเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลชุดนั้น ข้อมูลประกอบด้วยอะไรบ้าง และทำไมจึงเป็นที่สนใจของนักภูมิศาสตร์ จากนั้นจึงจะต้องพิจารณาว่าจะค้นหาข้อมูลทุติยภูมิได้อย่างไร ข้อมูลที่ว่านั้นอยู่ที่ไหน (เป็นข้อมูลระดับนานาชาติหรือว่าระดับท้องถิ่น) และใช้ประโยชน์จากแหล่งอินเทอร์เน็ต และสุดท้ายก็มองไปที่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลทุติยภูมิ ว่าจะใช้เพื่อเป็นบริบทเบื้องต้นสำหรับการศึกษาวิจัย สำหรับการเปรียบเทียบ และเป็นหลักฐานสำคัญในการวิเคราะห์ การค้นหาข้อมูลจากแหล่งประวัติศาสตร์ (finding historical sources) เขียนโดย miles ogborn, professor of geography at queen mary, university of london แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในวิชาภูมิศาสตร์ คือ วัสดุที่สามารถนำมาใช้เพื่อให้การตีความและวิเคราะห์ในประเด็นทางภูมิศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา การค้นพบข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ดังกล่าว จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการดำรงอยู่ และการค้นพบที่พวกเขาจะถูกเก็บไว้ในขณะนี้และวิธีการที่พวกเขาสามารถได้รับการประเมิน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงบางสิ่งบางอย่างที่พบในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ แต่ยังรวมถึงตัวอักษรสมุดบันทึกส่วนตัวรูปภาพ แผนที่ วัตถุและผลงานศิลปะ การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างและการประชุมกลุ่ม (semi-structured interviews and focus groups) เขียนโดย robyn longhurst, professor of geography at the university of waikato, new zealand การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างเป็นการแลกเปลี่ยนทางวาจาที่คนๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ พยายามจะล้วงเอาข้อมูลจากบุคคลอื่นโดยการถามคำถาม แม้ว่าผู้สัมภาษณ์เตรียมรายการของคำถามที่กำหนดไว้แล้ว แต่การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างก็จะยังเปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงประเด็นอื่นที่สำคัญเพิ่มเติมได้อีก ส่วนการประชุมกลุ่มเป็นการรวมกลุ่มบุคคลขนาด 6-12 คน ให้พวกเขามาประชุมร่วมกันในประเด็นที่มีการกำหนดเอาไว้แล้วเป็นการเฉพาะโดยนักวิจัย ระหว่างการประชุมกลุ่มจะมีผุ้อำนวยการประชุม (facilitator) ทำหน้าที่ควบคุมประเด็นการสนทนา แต่จะไม่ทำการชี้นำ เพียงแต่คอยช่วยให้กลุ่มสามารถค้นหาประเด็นสำคัญในหลายๆ มุมมอง การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล (participant observation) เขียนโดย eric laurier, senior research fellow at the university of edinburgh, UK การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการใช้เวลาส่วนหนึ่งเข้าไปเป็นอยู่ เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วม หรือเข้าไปทำงานร่วมกับผู้คนหรือชุมชนที่นักวิจัยต้องการทำความเข้าใจ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นวิธีการที่จะต้องใช้การมีส่วนร่วมและการสังเกตผสมผสานกัน เพื่อทำการบันทึกข้อมูลจากพื้นที่การบันทึกภาพ และการบันทึกภาพเคลื่อนไหว พื้นฐานของวิธีนี้คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง หรือเข้าไปอยู่ใกล้ๆ กับปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ ที่ต้องการทำการศึกษา ... สำหรับประเด็นนี้ได้เพิ่มตัวอย่างของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลออกมาทำการวิเคราะห์ให้งานวิจัยบรรลุผล โดยยกตัวอย่างงานวิจัยรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของศุลีมาน (นฤมล) วงศ์สุภาพ (2537) เรื่อง นางงามตู้กระจก: การศึกษากระบวนการกลายเป็นหมอนวดไทย ซึ่งผู้วิจัยได้แฝงกายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ออกมา ภูมิศาสตร์และการตีความจากภาพ (geography and the interpretation of visual imagery) เขียนโดย rob bartram, lecturer of geography at the university of sheffield, UK 'ภาพ' (Visual Imagery) เป็นคำกว้างที่ใช้อธิบายถึงภาพยนตร์ ภาพถ่าย สื่อส่งเสริมการขาย เกมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งนักภูมิศาสตร์มีความสนใจเกี่ยวกับแนวความคิดสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับภาพ อย่างเช่น พื้นที่ (space) สถานที่ (place) และภูมิทัศน์ (landscape) ที่มีการใช้และสร้างขึ้นในภาพ วิธีการเกี่ยวกับภาพ (visual methodologies) ยึดโยงอย่างแน่นแฟ้นกับหลักการพื้นฐานทางปรัชญาและแนวความคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการตีความหมายของภาพ ที่ได้รับการพัฒนามาจากสาขาอื่นๆ วิธีการทางความคิดเกี่ยวกับภาพนี้ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการเลือกและการผลิตภาพและความสวยงามของภาพ แต่ยังเกี่ยวกับผู้ชมภาพและมีผลกระทบต่อประสาทสัมผัสของภาพด้วย การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory research methods) เขียนโดย myrna m. breitbart, professor of geography at hampshire college, UK การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ถือเป็นความพยายามที่จะออกแบบงานวิจัยให้สอดรับกับความเป็นประชาธิปไตย ด้วยการศึกษาปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่มีการดำเนินการทุกด้านที่จะส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเต็มรูปแบบ งานวิจัยแบบนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกันในการพัฒนาวาระการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ประเด็นที่สำคัญ และการออกแบบกิจกรรมสำหรับดำเนินการปรับปรุงชีวิตของผู้คน หรือให้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม การวิจัยโดยใช้อินเตอร์เนตเป็นสื่อ (internet mediated research) เขียนโดย clare madge, senior lecturer in geography at the university of leicester, UK อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางการวิจัย โดยเป็นการวิจัยที่จะดำเนินการผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นวิธีการใหม่อันหนึ่งที่นักภูมิศาสตร์เพิ่งให้การยอมรับว่ามีศักยภาพที่ดีในการเก็บรวบรวมข้อมูลในลักษณะที่เป็นนวัตกรรม นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงให้เห็นลักษณะ 3 ประเภทของการวิจัยที่ใช้เครื่องมืออินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย แบบสอบถามออนไลน์ (online questionnaire) การสัมภาษณ์เสมือนจริง (virtual interviews) และเสมือน (virtual ethnographies) ไดอารีเป็นเครื่องมือสำหรับการวิจัย (diaries as a research method) เขียนโดย alan latham, lecturer in geography at the university of london, UK ไดอารี่เป็นชิ้นส่วนของการเขียนอัตชีวประวัติ เป็นการอธิบายอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตของแต่ละบุคคล ไดอารี่ที่เขียนเอาไว้อาจสอดรับกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยโดยนักวิจัยบันทึกการสังเกตของตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม หรืออาจเป็นประเด็นวิจัยที่นักวิจัยจงใจเขียนขึ้นมาให้สอดรับกันก็ได้ ไดอารี่ของผู้รับให้ใช้ในงานวิจัยได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะช่วยให้นักวิจัยที่จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้บันทึกกับงานประจำ การปฏิบัติการตามจังหวะที่เหมาะสม และรายละเอียดของชีวิตบุคคล หรือส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเขาในช่วงระยะเวลาที่กำหนดของเวลา การทำงานวิจัยข้ามกลุ่มวัฒนธรรม (working with different cultures) เขียนโดย fiona m. smith, lecturer in human geography at the university of dundee, UK การวิจัยข้ามวัฒนธรรมเป็นคำที่ใช้ในการอธิบายถึงการวิจัยที่ทำในขอบเขตวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ใช้ภาษาอื่นๆ มักจะการทำในสถานที่ห่างไกล รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนอื่นๆ ใกล้บ้าน จึงมีความอ่อนไหวต่อความคล้ายคลึงและความแตกต่างของวัฒนธรรม อาจมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน จะต้องให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการทำงานภาคสนาม ต้องให้ความใส่ใจกับการใช้ระบบระเบียบ การเมือง และภาษา การวางตัวของนักวิจัย ความร่วมมือหรือการวิจัยแบบมีส่วนร่วม และการให้ความสนใจในการเขียนรายงานวิจัยที่อ่อนไหว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น