รายงาน เรื่อง “ระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการของเมืองพิษณุโลก” ฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยรองศาสตราจารย์พัฒนา ราชวงศ์ สาขาวิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนำเสนอสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) สำรวจความต้องการเดินทางของคนพิการ และการให้บริการของผู้ประกอบการ/คนขับแท็กซี่ 2) ทบทวนข้อกำหนด/มาตรฐานบริการเดินทางของคนพิการนานาประเทศและประเทศไทย 3) วิเคราะห์หาความเหมาะสมของการสนับสนุนและอุดหนุนระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ และ 4) ออกแบบและทดลองโปรแกรมระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ
การเดินทางของคนพิการ
การเดินทางของคนพิการในเมืองพิษณุโลก ทั้งคนพิการร่างกาย คนตาบอด และคนหูหนวก ซึ่งมีความสามารถเพียงพอที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไม่ต้องอยู่ในความดูและและช่วยเหลือจากผู้อื่นเกินจำเป็น สรุปได้ว่า ส่วนใหญ่มีการเดินทางอย่างเป็นประจำ ในจำนวนการเดินทางเหล่านี้ ราวๆ ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 47.5 เป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวที่คนพิการสามารถขับได้ด้วยตัวเองและมีญาติหรือคนอื่นเป็นผู้ขับให้ อีกราวครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 43.75 เป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป้าหมายของการเดินทางของคนพิการที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว คือ เดินทางไปประกอบอาชีพ และเดินทางไปพักผ่อนและทำธุระ อย่างละเท่าๆ กัน คือ ร้อยละ 38.84 ส่วนเป้าหมายการเดินทางของคนพิการที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนั้น ร้อยละ 65.0 เป็นการเดินทางไปพักผ่อนและทำธุระเป็นหลัก
การสำรวจความเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งองค์กรคนพิการ กลุ่มคนพิการ หน่วยงานราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาควิชาการ ซึ่งเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญของการเดินทางของคนพิการได้ดังนี้
ประเด็นที่มีความสำคัญมาก มี 3 ประเด็น คือ การเดินทางทำให้คนพิการพยายามก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง การเดินทางเป็นการเปิดโลกทัศน์ของคนพิการ และอุปนิสัยของคนรถแท็กซี่มีความสำคัญต่อการใช้บริการของคนพิการ โดยสองประเด็นแรกทั้งการเดินทางทำให้คนพิการพยายามก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง และการเดินทางเป็นการเปิดโลกทัศน์ของคนพิการ เป็นความเห็นที่จะสามารถนำพาคนพิการให้ออกสู่สังคมมากขึ้น เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองในการอยู่ร่วมในสังคมอย่างอิสระ
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นร่วมกันในประเด็นที่สามว่า “อุปนิสัยของคนรถแท็กซี่มีความสำคัญต่อการใช้บริการของคนพิการ” เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของชนิดการเดินทาง (mode of transport) ชนิดนี้ที่จะสามารถเติมเต็มให้กับการเดินทางของคนพิการได้เป็นย่างดี
ประเด็นที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก มี 3 ประเด็น คือ การเดินทางทำให้คนปรกติทั่วไปได้เห็นศักยภาพของคนพิการ รถแท็กซี่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเดินทางของคนพิการ และคนพิการในเมืองพิษณุโลกสามารถเดินทางได้สะดวกในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการที่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายให้ความเห็นว่า “การเดินทางทำให้คนปรกติทั่วไปได้เห็นศักยภาพของคนพิการ” นั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำลงไปอีกขั้นหนึ่งว่า การเดินทางของคนพิการเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากจะเป็นไปเพื่อตัวคนพิการเองแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับสังคมได้มองคนพิการอย่างเป็นธรรม ด้วยจะให้ให้คนทั่วไปเห็นว่า คนพิการมีศักยภาพในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจกรรมอย่างอื่นๆ ได้เทียบเท่ากับคนปรกติทั่วไป อีกทั้งความเห็นสองประการหลังยังเป็นการเสริมให้ความเห็นประการที่สามข้างบนมีความสำคัญเด่นชัดยิ่งขึ้น
การให้บริการของแท็กซี่พิษณุโลก
ระบบให้บริการแท็กซี่เมืองพิษณุโลก มีภาคธุรกิจประกอบการอยู่ 4 บริษัท ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจแท็กซี่พิษณุโลก-สองแคว จำนวน 3 ใบอนุญาต และกลุ่มธุรกิจแท็กซี่คิงดอม จำนวน 1 ใบอนุญาต มีแท็กซี่ประเภทรถยนต์นั่ง 4 ประตู ที่สามารถให้บริการผู้โดยสารรวมกันทั้งสิ้น 173 คัน คนขับแท็กซี่เป็นทั้งเจ้าของรถและเป็นผู้เช่าแท็กซี่ขับ ราคาค่าโดยสารอิงตามประกาศ คสช โดยมีจุดจอดรับผู้โดยสารหลักๆ อยู่ที่ บขส 1 บขส 2 ศูนย์การค้าปทุมทอง รพ.พุทธชินราช ม.นเรศวร และเซ็นทรัลพลาซ่าพิษณุโลก
การสำรวจระดับของการให้บริการของแท็กซี่เมืองพิษณุโลก 10 รายการ จากคนขับแท็กซี่ทั้งสองบริษัท จำนวน 35 ราย พบว่า มีเพียงสองรายการเท่านั้น ที่คนขับแท็กซี่เพียงรายเดียวที่เห็นด้วยในระดับต่ำกว่าระดับ 4 คือ ความเห็นที่ว่า “แท็กซี่สะอาดเป็นจุดดึงดูดให้มีคนใช้บริการ” และ “ยินดีให้คำแนะนำที่ดีแก่คนขับแท็กซี่คนอื่น”
ขณะเดียวกัน การสำรวจระดับของการบริการการขนส่งเพื่อสนับสนุนของแท็กซี่เมืองพิษณุโลก 6 รายการ จากคนขับแท็กซี่ทั้งสองบริษัท จำนวน 35 ราย ก็ยังพบในลักษณะเดียวกันอีกว่า ประเด็น “ความสามารถให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน” ประเด็นเดียวเท่านั้นที่คนขับแท็กซี่เห็นว่า ยังไม่สามารถให้บริการคนพิการได้ นอกนั้นในประเด็นอื่น คนขับแท็กซี่มีความเห็นสามารถให้บริการได้เป็นอย่างดี
สำหรับการให้บริการการเดินทางแก่คนในสังคมนั้น การสำรวจทำให้สามารถสรุปได้ว่า คนขับแท็กซี่เมืองพิษณุโลกมีความรู้สึกที่ดีในการให้บริการการเดินทางแก่สังคม โดยแท็กซี่ตัวอย่างทุกคนเห็นว่าแท็กซี่เป็นระบบขนส่งเพื่อคนในสังคมอนาคต สังคมอนาคตต้องการบริการที่มีคุณภาพสูง และคนพิการมีสิทธิเท่าเทียมคนปรกติทุกประการ โดยมีคนขับแท็กซี่เพียงรายเดียวและสองรายเท่านั้นที่เห็นว่า “การขนส่งเป็นพันธะสัญญาที่ดีของผู้สูงอายุ” และ “บริการเสริมเพื่อสร้างสินค้าการขนส่งแบบใหม่” ไม่ใช่ประเด็นที่มีความสำคัญในระดับ 4 ตามลำดับ
การสำรวจความเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งองค์กรคนพิการ กลุ่มคนพิการ หน่วยงานราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาควิชาการ ซึ่งเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ทำให้สามารถจัดลำดับศักยภาพการบริการของแท็กซี่เมืองพิษณุโลกเพื่อการเดินทางของคนพิการ ที่มีความสำคัญมาก มี 3 ประเด็น คือ สาธารณะชนเมืองพิษณุโลกชื่นชมยกย่องแท็กซี่ที่ให้บริการคนพิการ เมืองพิษณุโลกมีศักยภาพเป็นเมืองที่คนพิการเดินทางสะดวกสบาย และอุปกรณ์ช่วยให้เกิดความปลอดภัยสำหรับคนพิการที่ต้องการพิเศษ
สรุปแล้วอุตสาหกรรมแท็กซี่ของเมืองพิษณุโลกมีแท็กซี่ไว้สำหรับบริการประชาชนคนพิษณุโลกทั้งหมด 173 คัน ผู้ประกอบการและคนขับล้วนมีความยินดีและมีจิตสาธารณะในการให้คนบริการการเดินทางแก่คนพิการ
ยิ่งกว่านั้น นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2558 เป็นต้นมา บริษัทแท็กซี่พิษณุโลก-สองแคว ยังได้จัดโครงการผู้สูงอายุและคนพิการนั่งแท็กซี่ฟรี และดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนี้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากการสอบถามทั้งระหว่างการอบรมฯ การประชุม และการสอบถาม คนขับแท็กซี่ล้วนให้ความเห็นว่า สามารถให้บริการคนพิการได้ในมาตรฐานการบริการและราคาเดียวกับการให้บริการคนปรกติ แต่เนื่องจากการให้บริการคนพิการอาจต้องให้บริการบางอย่างมากกว่าคนปรกติ คนขับแท็กซี่อาจยังมองไม่เห็นภาพ จึงยังไม่สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าโดยสารปรกติ จึงมีความจำเป็นต้องนำประเด็นดังกล่าวนี้กลับมาพิจารณาให้ถี่ถ้วนต่อไป
ระบบฐานข้อมูลการสื่อสารและให้บริการ
อาจารย์ ดร.สิทธิชัย ชูสำโรง สาขาวิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการออกแบบระบบระบบฐานข้อมูลการสื่อสารและให้บริการนี้ เรียกว่า TODIS: Taxi on Demand Information System มุ่งเน้นการออกแบบให้แสดงข้อมูลที่สามารถเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนของข้อมูล การออกแบบในส่วนนี้ได้ทำการออกแบบให้ข้อมูลถูกแสดงผ่านหน้าจอได้ 2 รูปแบบ คือ 1) แสดงในรูปแบบแผนที่ และ 2) แสดงในรูปแบบข้อมูลโดยสรุป โดยส่วนหน้าจอเว็บหลักมีส่วนการแสดงผลอยู่ 3 ส่วน คือ 1) ซ้ายมือสุด เป็นส่วนที่แสดงข้อมูลรถแท็กซี่ที่ให้บริการ โดยเจ้าหน้าที่ Call Center สามารถเลือกหมายเลขแท็กซี่และเลือกหมายเลขผู้ขอใช้บริการจากนั้นกด ตกลง ระบบก็จะทำการส่งข้อมูลไปเก็บบันทึกในฐานข้อมูลการให้บริการว่าแท็กซี่คนใด ไปรับผู้โดยสารหมายเลขใด ณ วัน เวลาที่เท่าไร จากไหนไปไหน ฯลฯ 2) ส่วนกลางของหน้าเวบ แสดงข้อมูลชุดเดียวกันกับที่แสดงบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และ 3) การแสดงสถานะและจำนวนผู้ขอใช้บริการ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าไปศึกษาและทดลองใช้ได้ในส่วนของ User (Mobile Iinterface) และส่วนของเจ้าหน้าที่ Call Center ดังนี้
User (Mobile Iinterface):
http://www.wearehappy.sci.nu.ac.th/plk/taxi4dp/
Call Center: http://www.wearehappy.sci.nu.ac.th/plk/taxi4dp/taxiservice.html
และอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความรายงานการวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์และออกแบบระบบฐานข้อมูลการสื่อสารและให้บริการการเดินทางด้วยแท็กซี่สำหรับคนพิการเมืองพิษณุโลก” ที่จะตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยนเรศวรต่อไป
ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริการแท็กซี่สำหรับคนพิการเมืองพิษณุโลก
รายงาน “ระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการของเมืองพิษณุโลก” ฉบับนี้ ที่ได้จัดทำเป็นข้อสรุปตามวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ คือ 1. สำรวจความต้องการเดินทางของคนพิการ และการให้บริการของผู้ประกอบการ/คนขับแท็กซี่ 2. ทบทวนเพื่อหาข้อกำหนด/มาตรฐานบริการเดินทางของคนพิการนานาประเทศและประเทศไทย 3. วิเคราะห์หาความเหมาะสมของการสนับสนุนและอุดหนุนระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ และ 4. ออกแบบและทดลองโปรแกรมระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ แล้วในบทนี้
ส่วนสุดท้ายต่อไปนี้จะเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการจัดตั้งระบบแท็กซี่เพื่อคนพิการ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นต้องพิจารณา และ/หรืออาจจะต้องทำการศึกษารายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้การพิจารณามีความรอบรอบครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ดำเนินการไปเพื่อให้เป็นระบบบริการที่ดีต่อไปในอนาคต
การปรับปรุงสภาพของแท็กซี่เพื่อให้เหมาะกับการบริการคนพิการ
1. ประเด็นการปรับปรุงสภาพของแท็กซี่เพื่อให้เหมาะกับการบริการคนพิการนั้น มีข้อเสนอจากการประชุมว่า อปท. ที่เป็นผู้ให้บริการคนพิการในพื้นที่ของตนเองต้องเป็นผู้ลงทุนจัดซื้อแท็กซี่เพื่อคนพิการต้นต้นแบบ แต่มีข้อท้วงติงว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจะผิดระเบียบว่าด้วยการดำเนินการแข่งขันกับภาคเอกชน จึงมีผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งเสนอว่ายังไม่ต้องปรับปรุงอะไร ให้ใช้แบบเดิมที่มีอยู่นี้ไปก่อน ทั้งนี้จะการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าหลายประเทศมีการนำแท็กซี่ที่มีลักษณะเฉพาะที่สามารถให้บริการคนพิการได้อย่างเหมาะสม และเห็นว่ามีต้นทุนสูง ไม่จูงใจภาคธุรกิจในการลงทุน จึงจำเป็นจะต้องให้ อปท. ที่มีงบประมาณเพียงพอ หรือให้ อบจ. ที่มีงบประมาณมาก ให้การสนับสนุน อปท. อยู่รอบเทศบาลนครพิษณุโลก อาจจะเป็น ทต.อรัญญิก ทต.บ้านคลอง หรือ ทต.พลายชุมพล เพื่อจัดหาต้นแบบมาให้บริการในระยะเริ่มต้น เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง จึงปล่อยให้ภาคธุรกิจเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งการที่ อปท เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญมากในการบริการเดินทางของคนพิการ ด้วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จึงควรที่จะพัฒนาฐานข้อมูลการเดินทางคนพิการเพื่อเตรียมการจัดระบบสวัสดิการเกี่ยวกับการเดินทางเพิ่มเติม
การอบรมให้ความรู้/ทัศนคติของคนขับรถแท็กซี่ในการให้บริการคนพิการ
2. แม้ว่าจะมีการอบรมให้ความรู้และปรับทัศนคติของคนขับรถเกี่ยวกับการให้บริการการเดินทางของคนพิการไปแล้ว 2 รูปแบบ ในกิจกรรมโครงการนี้แล้ว แต่ว่าเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นให้ได้รู้จักคนพิการและความพิการเท่านั้น รายละเอียดเชิงลึกในการให้ความช่วยเหลือระหว่างการเดินทางจำเป็นต้องให้ผู้มีความรู้ทางด้านกายวิภาคและอาการของโรคแต่ละอย่างมาอธิบาย สาธิต และฝึกปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องจัดในรูปของอบรมเชิงปฏิบัติการ และจัดให้มีใบรับรองความรู้ความสามารถในการให้บริการการเดินทางแก่คนพิการเป็นการเฉพาะ สำหรับผู้เข้าร่วมการอบรมฯ โดยมีหน่วยงานด้านการสาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรคนพิการ ธุรกิจแท็กซี่ และสถาบันอุดมศึกษา ร่วมกันดำเนินงาน
การพัฒนาระบบเรียกใช้บริการแท็กซี่ด้วยโทรศัพท์เข้าศูนย์ฯ
3. การพัฒนาฐานข้อมูลการเรียกและใช้บริการแท็กซี่ด้วยโทรศัพท์เข้าศูนย์ฯ ควรได้รับการพัฒนา เพื่อให้คนขับแท็กซี่ได้รับรู้ลักษณะลูกค้า และเตรียมความพร้อมในการให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งนี้ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับศูนย์บริการคนพิการ พ.ศ.2556 ที่กำหนดให้จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานเกี่ยวกับการจัดบริการของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป และดำเนินการอื่น เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการภายในจังหวัด ด้วยหลักการคิดที่ว่า “การได้มีโอกาสเดินทางไปไหนมาไหน ได้อย่างสะดวก จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น” จึงควรที่ศูนย์บริการฯ จะได้รับเอาภารกิจในการเป็นศูนย์เชื่อมความต้องการเดินทางของคนพิการเข้ามาไว้ด้วย ทั้งนี้ โดยมีสถานที่ปรึกษาและพัฒนาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบดังกล่าวต่อยอดไปจากระบบที่ได้นำเสนอไว้ในรายงานฉบับนี้
บทบาทของ อปท. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในพื้นที่
4. แม้ว่า อปท จะเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญมากในการบริการเดินทางของคนพิการ ด้วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ที่เป็นอยู่ อปท. มักดำเนินกิจกรรมในเชิงตั้งรับเป็นส่วนมาก ไม่ได้มองว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้นมีขอบข่ายกว้างไปถึงครอบครัวของคนพิการด้วย พิจารณาเฉพาะการเดินทางของคนพิการ จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดถูกปล่อยให้เป็นภาระของครอบครัว ซึ่งหากเป็นครอบครัวที่ยากจน การเดินทางของคนพิการจะมีกำแพงอันใหญ่ขวางกั้นอย่าหนาแน่นมาก
การเดินทางของคนพิการเท่าที่ได้จากการสำรวจ จะเห็นได้ว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของคนพิการเองแทบทั้งสิ้น และจากความเห็นของคนพิการอย่างน้อยสองกลุ่ม (กายพิการและพิการทางการมองเห็น) มีความรู้สึกที่ดีการกับการเดินทางด้วยแท็กซี่ และมีความคาดหวังจากการเดินทางด้วยแท็กซี่ อาจถือเป็นบรรทัดฐานได้ว่าแท็กซี่เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะกับการเดินทางของคนพิการ ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้ระบบขนส่งระบบนี้สามารถทำหน้าที่ให้บริการการเดินทางแก่คนพิการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการขยายกรอบคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของ อปท. ให้กว้างออกไปจากการจัดสวัสดิการตามความจำเป็น ไปสู่การสนับสนุนระบบการเดินทางเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวคนพิการ จำเป็นจะต้องเร่งทำให้เกิดขึ้น โดย สปสช. ที่เป็นองค์กรสนับสนุนงบประมาณให้กับ อปท. ในการดูและและฟื้นฟูสภาพคนพิการ ควรจะต้องแสดงบทบาทเพิ่มเติมในส่วนนี้
ความจำเป็นในการกำหนดค่าโดยสารเพิ่มเติม
5. แม้ว่าผู้ประกอบการและคนขับแท็กซี่ในเมืองพิษณุโลก จะให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการให้บริการการเดินทางของคนพิการ จากราคาที่กำหนดสำหรับให้บริการประชาชนทั่วไป ก็ตาม แต่การบริการคนพิการนั้นเป็นการบริการพิเศษ ดังได้แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ที่คนขับแท็กซี่อาจต้องเผชิญหน้ากับอาการไม่ปรกติของคนพิการที่เป็นผู้โดยสาร และจะต้องใช้ความสามารถพิเศษที่ได้รับการอบรม/ฝึกฝนมาอย่างดีให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาของการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าโดยสารปรกติ นอกจากนี้ การบริการดังกล่าวถือเป็นลักษณะจิตสาธารณะที่ควรค่าแก่การยกย่องและให้ประโยชน์ตอบแทนบางอย่างเท่าที่ควรจะทำ จึงจะต้องพิจารณากฎระเบียบว่าด้วยการลดหย่อนภาษีรายได้ หรือการให้สิทธิประโยชน์บางอย่างแก่ผู้มีจิตสาธารณะทั้งเป็นรายบุคคลและองค์กรธุรกิจ
โดยการกำหนดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าโดยสารปรกติที่เหมาะสมนี้ จะต้องมีหลายภาคส่วนทั้ง สนง.ขนส่งจังหวัด พมจ. อปท. สสจ. สปสช. องค์กรคนพิการ หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบดูแลคนพิการแต่ละประเภทแต่ละระดับ สถาบันอุดมศึกษา ฯลฯ มาร่วมพิจารณา 2 ประเด็น คือ อัตราค่าโดยสารเพิ่ม และผู้ที่มีส่วนร่วมจ่ายค่าโดยสารเพิ่ม ซึ่งประเด็นแรกนั้น อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นว่าหลายฝ่ายยังเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บส่วนนี้เพิ่ม จึงจะต้องนำมาพิจารณาใหม่ให้ทุกฝ่ายได้เห็นค่าใช้จ่ายจริงที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในการให้บริการการเดินทางแก่คนพิการ และประเด็นที่สองที่สอดคล้องคล้องกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของ อปท. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หมายถึงว่า นอกเหนือจากการจ่ายเบี้ยคนพิการแล้ว อปท. ควรที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการเดินทางของคนพิการที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองตามความจำเป็นด้วย
ทั้งนี้แหล่งงบประมาณที่จะนำมาจ่ายในดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งมาจากภาษีและเงินรายได้ของ อปท. เอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ทั้งนี้รูปแบบการจ่ายเบิกจ่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าโดยสารปรกติ อาจยึดเอาระบบการจ่ายตรงที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจ่ายให้กับรถกู้ชีพแบบต่างๆ เป็นแบบอย่าง โดยใช้ระบบข้อมูลเรียกใช้บริการแท็กซี่ของคนพิการเมืองพิษณุโลก ที่สถานที่ปรึกษาและพัฒนาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาขึ้นมาในงานวิจัยฉบับนี้เป็นฐาน
สำหรับข้อเสนอการดำเนินการวางแผนพัฒนาระบบแท็กซี่เพื่อคนพิการเมืองพิษณุโลกในระยะต่อไปนั้น ควรนำเอาขั้นตอนที่ 7 ของการดำเนินงาน ที่กำหนดให้มีการติดตั้งระบบบริการคนพิการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การกำหนดรูปแบบและโครงสร้างของระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ ทั้งด้านการจัดองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่และมีระบบระเบียบในการให้บริการการเดินทางคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม ระยะที่ 2 การจัดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเอื้อการเดินทางของคนพิการ โดยเน้นบริเวณที่เป็นพื้นที่เป้าหมายการเดินทางของคนพิการที่ได้จากการสำรวจในโครงการนี้ ทั้งนี้รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมอย่างจริงจังด้วย และระยะที่ 3 การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของเมืองพิษณุโลกเพื่อเอื้อต่อการเดินทางและท่องเที่ยวของประชากรกลุ่มพิเศษ ซึ่งอันหลังนี้จะยังไม่ใช่เป้าหมายของการดำเนินการ เนื่องจากมีขอบข่ายการดำเนินงานกว้างขวาง และเกี่ยวเนื่องกับองค์กรหลายองค์กร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น