หน้าเว็บ

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โกหก

โกหก: เป็นโรคจิตหรือว่าเป็นนิสัย 
ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ผู้จัดการ online วันที่ 3 มิถุนายน 2559

คำถาม: การที่ชอบโกหก โกหกแทบจะทุกเรื่อง ไม่กล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงให้ใครรู้ และมักระแวงคนรอบข้าง ภายนอกดูปกติดี แต่เมื่อสนิทได้พูดคุยพบว่า ไม่ว่าทำอะไรผิด ไม่เคยยอมรับผิด และมักโยนความผิดให้ผู้อื่นเสมอ บางครั้งเหมือนเขาสะกดจิตตนเอง จนเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองโกหกเป็นเรื่องจริง แบบนี้เรียกว่าเป็นโรคทางจิตหรือไม่? และถ้าเป็น จะมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

คำตอบ สาเหตุ: ลักษณะการพูดโกหกมีได้จากหลายสาเหตุ อย่างหนึ่งคือเป็นสาเหตุจากโรคทางสมองบางชนิดและทางร่างกายบางอย่างได้ หรือเกิดจากโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น โรคหลงผิด คนกลุ่มนี้ เขาไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่เป็นจากความผิดปกติของสารเคมีเกี่ยวกับความคิดในสมอง ทำให้เขาหลงผิด ความคิดเขาจะบิดเบือนจากความเป็นจริงไปเอง โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่เขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ 

สาเหตุต่อมา...เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวน คนกลุ่มนี้ เขาไม่ได้ตั้งใจโกหกเช่นกันค่ะ แต่เกิดจากสารเคมีในสมองด้านอารมณ์เสียสมดุล ทำให้เขามองสิ่งต่างๆ บวกหรือลบเกินความเป็นจริงไปตามอารมณ์ที่ขึ้นหรือลงของเขา เมื่ออารมณ์เขากลับมาเป็นปกติ พฤติกรรมการพูดไม่ตรงกับความจริงก็จะหายไป

อีกหนึ่งสาเหตุ คือเกิดจากปัญหาด้านบุคลิกภาพบางชนิด หรือที่เรียกว่าเป็นนิสัย ดังนี้ คือ ชอบพูดเท็จจนเป็นนิสัยซึ่งมักพบได้กับคนที่มีบุคลิกภาพที่ชอบสร้างภาพลักษณ์ให้ตนดูดีเสมอ ไม่ชอบให้ตนดูแย่ในสายตาของคนอื่น ไม่ชอบรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรือเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ความขี้กลัว ขี้กังวล จนไม่กล้ารับความจริงบางอย่างที่ตนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำลงไป คือไม่มั่นใจว่าตนจะมีความสามารถในการจัดการปัญหานั้นได้ คนเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่ค่อยมีศีลธรรม จึงทำให้ใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องนี้เพื่อเอาตัวรอด ถ้าบางคนที่ไม่มีคุณธรรมประจำใจเลย อาจพูดโกหกโดยไม่รู้สึกผิดตะขิดตะขวงใจใดๆ เลย ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมโกหกสม่ำเสมอ ด้านหนึ่งเขาจะระแวงใจอยู่เรื่อยๆ ว่าคนจะจับได้ ทำให้บางทีต้องโกหกต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อซ่อนความผิด และบางที พอโกหกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตนดูดีนั้น บางทีก็ติดภาพความดูดีที่ตนสร้างขึ้นมานั้นไปด้วย ทำให้เกิดอาการหลงเชื่อคำโกหกที่ตนสร้างขึ้นมาว่าเป็นเรื่องจริง วิธีรักษา การรักษาเริ่มจากการประเมินก่อนค่ะว่าสาเหตุของพฤติกรรมโกหกเกิดจากอะไร เป็นจากความเจ็บป่วย หรือเป็นจากปัญหาบุคลิกภาพ เมื่อทราบสาเหตุแล้ว ดำเนินการรักษากันตามสาเหตุ

1.การรักษาด้วยยา คือการใช้ยาที่ช่วยรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ เช่น เกิดจากโรคทางสมอง เกิดจากโรคทางจิต เช่น โรคหลงผิด หรือโรคอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

2.การรักษาทางจิตใจ สำหรับผู้ที่โกหกเพราะมีปัญหาทางจิตใจ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจที่มาในจิตใจก่อนว่าต้องโกหกบ่อยๆ เพราะอะไร ที่ไม่กล้าพูดความจริงเพราะอะไร จากนั้นค่อยๆ ปรับวิธีคิด มุมมอง ที่มองว่า ถ้าพูดความจริงจะเกิดสิ่งไม่ดีบางอย่าง เลยเลือกพูดโกหก ให้เข้าใจใหม่ว่า การพูดความจริง ผลที่ตามมาอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และให้เห็นข้อดีที่เกิดจากการพูดความจริง ที่สำคัญ คือการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าในตนเองของเขา จะทำให้เขาเชื่อในตนเองมากขึ้นว่าเขามีศักยภาพพอที่จะเผชิญกับความจริงนั้นๆ และดูแลตนเองได้ จะช่วยให้เขาเกิดความกล้าเผชิญความจริงได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น