หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เมืองตรงขอบ

ทศวรรษ 1920 ด้วยระบบคมนาคมขนส่งในสหรัฐอมริกายังไม่ก้าวหน้า ไปไหนมาไหนต้องเดินเท้า อย่างดีสำหรับคนมั่งมีก็ใช้รถเทียมม้า มีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ สามารถไปไหนได้ทุกทิศทาง จะไปซ้ายไปขวา ไปตะวันตกตะวันออกเหนือใต้ ไปได้ทั้งนั้น เออร์เนสต์ เบอร์เจสส์ จึงนำเสนอแบบจำลองย่านพื้นที่แบบวงแหวน (concentric zone model) แสดงโครงสร้างการใช้ที่ดินของเมืองเป็นวงๆ ไล่เรียงกันออกจากศูนย์กลางที่เรียกว่า “ย่านกลางธุรกิจ” หรือ CBD: central business district

ครั้นเมื่อสังคมพัฒนาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การคมนาคมมีความสะดวกขึ้นด้วยมีรถราง รถไฟ ในช่วงปลายทศวรรษ 1930 รูปแบบโครงสร้างของเมืองจึงอธิบายให้ด้วยการปรับเปลี่ยนและขยายตัวไปตามเส้นทางขนส่ง โดยโอมเมอร์ ฮ้อยต์ ได้นำเสนอแบบจำลองรูปลิ่ม (sector zone model) หลังจากที่ค้นพบว่า ค่าเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยการค้า และอุตสาหกรรม จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแบบเดียวกันออกจากศูนย์กลางย่านธุรกิจเพียงแห่งเดียวไปจนถึงบริเวณขอบนอกของเมือง ทศวรรษ 1940 ชวนซี แฮร์รีส และเอดวาร์ด อูลแมน วิพากษ์ว่าแบบจำลองสองแบบที่ใช้อธิบายโครงสร้างของเมืองในสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงเสนอแบบจำลองหลายศูนย์กลาง (multi nuclei model) ขึ้นมาใหม่

แบบจำลองนี้มีพื้นฐานความคิดอยู่ว่า ศูนย์กลางที่เป็นย่านกลางธุรกิจเดิมถูกลดความโดดเด่นเดี่ยวที่เคยเป็นมาแต่เดิมลง เกิดศูนย์กลางเป็นจุดๆ ใหม่ขึ้นในหลายพื้นที่ของเมือง ด้วยความเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นเมืองสมัยใหม่ และเป็นเมืองสมัยใหม่ที่มีลักษณะซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน จึงทำให้แบบจำลองของเบอร์เจสต์และฮ้อยต์ไม่สามารถอธิบายได้ดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งจะใช้อธิบายก็จะมีความถุกต้องน้อยมาก 

เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาเมืองของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของบ้านเรา ยังคงใช้หลักการตามแบบจำลองอเมริกัน ๓ แบบนี้เป็นกรอบอยู่ ทั้งๆ ที่ระบบสังคมเปลี่ยนแปลงไปแทบไม่เหมือนเดิมแล้ว ศูนย์กลางเดี่ยวศูนย์กลางเดียวแทบหน้าไม่ได้แล้ว รวมทั้งการกระจายออกไปตามบริเวณต่างๆ ของศูนย์กลางย่านธุรกิจการค้าแบบที่อธิบายไว้ในทศวรรษ 1940 ก็ไม่อาจนำมาอธิบายได้อีกต่อไป จึงได้มีข้อเสนอแบบจำลองแสดงโครงสร้างการใช้ที่ดินของเมืองใหม่ เป็นแบบจำลองย่านบริเวณของเมือง (urban realms model) ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีองค์ประกอบเชิงบทบาทหน้าที่แยกออกจากกันชัดเจน แต่ก็จะเชื่อมโยงต่อกันเป็นมณฑลมหานคร โดยในช่วงช่วงทศวรรษ 1950 หลังสงครามโลกสงบลงใหม่ๆ ประชากรแพร่กระจายออกสู่บริเวณชานเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และลดปริมาณและระดับปฏิสัมพันธ์ที่เคยมีกับศูนย์กลางเมืองเดิมลง ทำให้เกิดการเติบโตของย่านบริเวณชานเมืองขึ้นในหลายๆ เมือง

โดยในช่วงทศวรรษ 1970 บริเวณพื้นที่รอบนอกของเมืองกำลังพัฒนากลายเป็นพื้นที่อิสระจากศูนย์กลางย่านธุรกิจกลางเมืองเดิม เมื่อมีการสร้างศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ของภูมิภาค (regional shopping mall) ในย่านชานเมือง จึงเกิดเป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจแห่งใหม่ขึ้น เป็นศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่ย่านกลางเมือง นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “เมืองตรงขอบ” (edge city) ที่ถูกเขียนขึ้นมาครั้งแรกโดยโจเอล การ์รู (Joel Garreau) นักหนังสือพิมพ์ของวอชิงตัน โพสต์ ในหนังสือ Edge City: Life on the New Frontier เมื่อปี ค.ศ.1991 ทำให้เราสามารถเขียนสมการแสดงการเติบโตของเมืองบริเวณพื้นที่ที่อยู่ตรงขอบของเมือง ณ จุดเชื่อมต่อของทางหลวงแผ่นดินระหว่างเมืองของอเมริกา

การเกิดขึ้นของเมืองใหม่ที่ว่านี้ ทำให้เกิดย่านพื้นที่สำหรับตั้งเป็นสำนักงานจำนวนมาก เป็นศูนย์การค้าขนาดมหึมา ทั้งนี้การ์รูได้เสนอกฎสำคัญของการเป็นเมืองตรงขอบว่าจะต้องมีลักษณะอย่างน้อย 4 ประการ คือ

1. พื้นที่ตรงขอบนั้นจะต้องมีบริเวณกว้างขวางมากกว่า 5 ล้านตารางฟุต ไว้เป็นที่สร้างอาคารสำนักงานที่สำคัญ และในจำนวนนั้นจะต้องแบ่งไว้ให้มากกว่า 6 แสนตารางฟุตเพื่อเป็นพื้นที่ค้าปลีกที่สำคัญ (ศูนย์การค้าระดับภูมิภาคขนาดใหญ่)

2. จำนวนประชากรในย่านบริเวณตรงขอบเมืองนั้น จะต้องมีลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเช้า และลดลงเกือบหมดในช่วงเย็น หรือนัยหนึ่งจะต้องมีแหล่งงานมากกว่ามีบ้าน

3. จะต้องเป็นสถานที่ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นปลายทางที่มีทุกอย่างพร้อม (single end destination: the place has it all) มีทั้งสวนสนุก แหล่งบันเทิง จับจ่ายสินค้า และบริการการเงินและธุรกิจ

4. พื้นที่นั้นจะต้องไม่มีอะไรที่เหมือนกับเมืองในทศวรรษ 1960 เลย พูดง่ายๆ คือ ต้องไม่มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสำหรับทำปศุสัตว์

การ์รูย้ำในหนังสืออีกกล่าวว่า ถือได้ว่าเมืองตรงขอบเป็นคลื่นลูกที่สามของพัฒนาการแบบจำลองอธิบายโครงสร้างการใช้ที่ดินในเมือง ที่ผลักชาวอเมริกันออกไปสู่ย่านบริเวณใหม่ในช่วงเวลาครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 โดยขั้นแรกพวกเขาเคลื่อนย้ายออกจากบ้านในเมืองที่เป็นอดีตแบบที่เคยอยู่กันต่อๆ กันมา ย้ายออกมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งสอง นั่นทำให้บริเวณชานเมืองของอเมริกาเติบโตขึ้น แล้วพวกเขาก็เบื่อหน่ายที่จะกลับเข้าไปทำธุรกิจ/ทำงาน/ไปอยู่/ไปใช้ชีวิตในย่านใจกลางเมือง พวกเขาจึงพากันย้ายตลาดออกมาด้วย ย้ายออกมาอยู่ใกล้ๆ กับย่านบริเวณที่พวกเขาอาศัยอยู่ นับได้ว่าทศวรรษ 1960 และ 1970 เป็นช่วงเวลาแห่งการเกิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของสังคมอเมริกันเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ ถือได้ว่าชาวอเมริกันได้เคลื่อนย้ายตัวเองออกมาสร้างความมั่งคั่ง สร้างสังคมเมือง สร้างงานของพวกเขา นอกย่านบริเวณพื้นที่ที่พวกเขาเคยอยู่ เคยทำงาน และเคยจับจ่ายมากว่าสองรุ่นคน และนี่เองที่นำไปสู่การเติบโตขึ้นของเมืองตรงขอบ มีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการอธิบายโครงสร้างการใช้ที่ดินของเมือง นั่นคือ บทบาทหน้าที่ของเมือง (urban functions) หมายถึงฐานเศรษฐกิจรองรับกิจกรรมหลักของเมือง ยกตัวอย่างเช่น คนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอันเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจหลัก (basic sectors) ของเมือง พวกเขาทำงานผลิตสินค้าเพื่อส่งออกและสร้างกระแสเงินไหลเวียนเข้า ส่วนคนงานอีกกลุ่มหนึ่งทำงานในภาคส่วนที่ไม่ได้เป็นเศรษฐกิจหลัก (nonbasic sectors) อาจเรียกว่าภาคบริการก็ได้ พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อกิจกรรมส่วนอื่นๆ ของเมือง เช่น เป็นครู คนทำความสะอาดถนน พนักงานในสำนักงาน ฯลฯ สัดส่วนของคนงานภาคส่วนเศรษฐกิจหลักกับภาคส่วนที่ไม่ใช่เศรษฐกิจหลัก แสดงถึงบทบาทหน้าที่หลักของเมืองนั้นๆ โดยสัดส่วนดังกล่าวสำหรับเมืองขนาดใหญ่เท่ากัน 1 ต่อ 2 ตัวอย่างเช่น เมื่อธุรกิจอย่างหนึ่งของเมืองสามารถสร้างงานให้กับคนงานในภาคการผลิตหลักได้ 50 คน นั่นเท่ากับว่าจะช่วยเพิ่มการจ้างงานให้กับคนงานในภาคส่วนอื่นอีก 100 คน เป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ผลกระทบทวีคูณ” จากการจ้างงาน และประชากรของเมืองที่เพิ่มขึ้น (เป็นผู้คนที่ต้องพึ่งพาคนงานเหล่านั้น เช่น เด็กอยู่ในการเลี้ยงดู ที่จะต้องจับจ่ายและบริโภคสินค้าและบริการในเมืองนั้นๆ)

ทั้งนี้ข้อมูลประชากรของเมืองที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจหลักและที่ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจหลัก (เรียกว่า โครงสร้างการจ้างงาน (employment structure)) จะทำให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองมองเห็นบทบาทหน้าที่หลักของเมืองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของเมืองในปัจจุบันจะมีลักษณะไม่เรียบง่ายอย่างที่กล่าวมาข้างบน แต่ว่าก็มีบางเมืองที่มีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งโดดเด่นด้วยกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว อย่างนี้เรียกว่า “มีบทบาทหน้าที่โดดเด่นเฉพาะอย่าง” (functional specialization) เช่น เมืองดีทรอยท์กับบทบาทอุตสาหกรรมยานยนต์ เมืองพิตต์สเบอร์กกับอุตสาหกรรมเหล็ก เมืองฮุสตันกับอุตสาหกรรมอากาศยาน แต่ว่าก็จะมีเมืองอยู่ไม่กี่แห่งที่มีบทบาทเด่นชัดอย่างที่กล่าว โดยทั่วไปเมืองทุกวันนี้จะมีบทบาทหลากหลายมาก แต่ก็อาจมีเมืองโดดเด่นเฉพาะอย่างให้เห็นบ้าง เช่น เมืองโอลันโดกับสวนสนุกและกิจกรรมวันหยุด เมืองลาสเวกัสกับการสิโน เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เคมาล อตาเตอร์ก - จิ้งจอกสีเทา

ตลอดสามสัปดาห์ปลายเดือนสิงหาคมต่อต้นเดือนกันยายน ของปี 2558 มีเรื่องที่ต้องการค้นหาคำตอบหลายอย่าง เช่นว่า ทำไมประเทศตุรกีจึงเป็นเอเชียด้วยเป็นยุโรปด้วย ทำไมไฟจึงไหม้คอนสแตติโนเปิลไม่รู้จักหยุดหย่อน ทำไมตุรกีจึงมีอังการาที่กันดารแร้นแค้นเป็นเมืองหลวง ทำไมประชาชนของตุรกีจึงไม่เหมือนมอสเล็มทั้งหลายในอาหรับ ได้คำตอบหลายอย่างเหมือนกัน แต่ว่าก็ยังได้สรุปในเชิง theoretic แต่อย่างใด พอดีเกิดเหตุการณ์ทหารถูกประชาชนจับฐานกบฎ นายพลนายพันแปดร้อยนายถูกปลดถอดยศ ด้วยไปหลงคารมใครบางคนที่อยากได้อำนาจ มีคนอยู่เบื้องหลังคือชาติมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก ท่านประธานาธิบดีของตุรกี "รีเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน" นั่งประกาศศักดาเหนือกองทัพแตกแถว ด้านหลังแขวนรูปบิดาตุรกีสมัยใหม่จอมเผด็จการ ฉายาจิ้งจอกสีเทา "เคมาล อตาเตอร์ก" เลยมีเรื่องของท่านนายพลเคมาล มาเล่าสู่กันฟังตรงนี้

เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตุรกีสมัยใหม่ สารคดีเก่าเก็บ กระดาษข้างในเปื่อยยุ่ย หน้าไม่มีรูปแล้ว ปกในระบุว่าตีพิมพ์เป็นครั้งที่สาม 2522 (พิมพ์ครั้งแรก 2487) ผู้เขียนเป็นนักการเมืองรุ่นเก๋ากึ๊ก อดีต รมว ยุติธรรม "เลียง ไชยกาล" สารคดีเก่าเก็บเล่มนี้ มีเพียงเล่มเดียวที่วางอยู่ในสำนักหอสมุด ในเวบหนังสือเก่าประกาศขาย 1 พัน 2 ขณะที่ในเล่มกำหนดราคาค่อนข้างแพง 46 บาท ราคาในสมัยนั้น ถึงวันนี้ขณะนั่งอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ต้องทนร้อนด้วยเปิดพัดลมไม่ได้ กระดาษเปื่อยพร้อมพลิวได้ทุกส่วนของแต่ละหน้า ทั้งยังต้องใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูกปิดฝุ่นและความฉุนกลิ่นเก่าของกระดาษ หนังสือหนา 728 หน้าเล่มนี้ช่วยให้อะไรบางอย่างในนี้กระจ่างได้บ้าง

"เคมาล" เด็กดื้อด้วยสันดานมารดา พอใจกับอิสระเสรีในงานวิ่งไล่นกในไร่ถั่ว มากกว่าการนั่งสำรวมฟังครูสอนอัลกูรอาน เด็กชายมุสตาฟาเข้าเป็นนักเรียนทหารที่เรียนเก่งสุดๆ ทรนงไม่ยอมก้มหัวให้กับใครทั้งปวง นายทหารตุรกีขี้เมานักพนันนักเที่ยวผู้หญิงหากิน แต่ในจิตใจของเขา "มุสตาฟา เคมาล" มีแต่ความเด็ดเดี่ยว ทำทุกอย่างเพื่อตุรกีที่เขารัก อาณาจักรออตโตมานนั้นยิ่งใหญ่จริง แต่วันนั้นมันไม่ใช่ มันผ่านไปแล้ว มันไม่มีแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ความเกรียงไกรแต่เดิมที่เคยเป็นไปเพื่อสุลต่านและกาหลิบ ไม่ได้เพื่อชาวเตอร์กทั้งหมดทั้งมวล จึงไม่ควรไปหวลคิดคร่ำครวญถึงอดีตให้ขื่นขม ควรละทิ้งอะไรที่ทำให้คนเตอร์กไม่ก้าวหน้า ควรปล่อยวางอะไรที่ทำให้คนเตอร์กไม่มีอนาคต

การเอาชนะอังกฤษที่ต้องการยึดครองแล้วแบ่งแยก การรักษาระยะห่างของความสัมพันธ์กับเยอรมันได้อย่างเหมาะสม และการเอาชนะกองทัพกรีกที่บ้าคลั่ง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ด้วยปัญญาและความเด็ดเดี่ยว ทำให้ "จิ้งจอกสีเทา" ตัวนั้น ครองหัวใจนักรบและประชาชนชาวเตอร์ก ซ้ำเหิมเกริมด้วยสำคัญว่า "ตุรกีคือข้า ข้าคือตุรกี" เป็นอย่างนั้นมั่นคง ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวอันใด มีแต่ตุรกีเท่านั้นที่ต้องทัดเทียมอารยะ มุสตาฟา เคมาล เอาอย่างนโปเลียน โบนาปาร์ด ที่ว่า เมื่อคิดอะไรแล้ว ให้ทำสิ่งนั้นโดยเร็ว อย่ารีรอ และให้ทำอย่างกล้าหาญ

เขาล้มเลิกตำแหน่งสุลต่านด้วยเห็นว่าเป็นระบบที่ล้าหลัง ขับไล่กาหลิบด้วยข้อกล่าวหาว่านำพาประชาชนหลงเชื่องมงาย เป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อม สถาปนาสาธารณรัฐขึ้นมาทดแทนระบอบสุลต่านกาหลิบ ตั้งตนเป็นประธานาธิบดีเพื่อเป็นศูนย์กลางใหม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของตุรกี ยกเลิกหมวกแขกที่มอสเล็มสวมใส่อาจิณให้มาสวมหมวกปีกแบบยุโรป สั่งให้ปั้นรูปเหมือนของตนติดตั้งไว้ ณ แหลมโกลเด็นฮอร์น สินธุทวารแห่งตุรกี ซึ่งขัดกับหลักสอนของศาสนาอย่างสิ้นเชิง ตั้งอังการาที่แสนกันดารเป็นเมืองหลวงใหม่แทนคอนสแตนติโนเปิลนครตัวแทนของสุลต่าน กาหลิบ มอสเล็ม และคริสเตียน มุสตาฟา เคมาล ไม่นับถืออะไรเลย นอกจากตุรกี

เคมาล เขานับถือแต่ตุรกี เพียงอย่างเดียว ตุรกีอย่างเดียวเท่านั้น

เขาตั้งตนเป็นตุรกีบุรุษ

ทุกอย่างที่เกิดจากเขาคือความถูกต้อง เขาลงนามคำสั่งแขวนคออารีฟเพื่อนรัก ด้วยเข้าใจว่าอยู่ตรงข้าม เขาหันหลังให้ฟิคริเย ฮานุม ผู้ภักดี เพราะความเบื่อหน่าย จนเธอต้องฆ่าตัวตาย เขาลงนามในใบหย่ากับแลติฟา ฮานุม ผู้หญิงคนเดียวที่เขารัก รองลงมาจากแม่ ด้วยความวุ่นวายขอประโยชน์จากคนในครอบครัวของเธอ เคมาลเชื่อว่าความคิดของเขาเท่านั้นที่ถูกต้อง "ใครขวาง ใครข้องใจ แขวนคอมัน" 

เท่าที่นับดูเห็นว่ามีเพียงเหล้าบุหรี่ สำรับไพ่ หญิงบริการที่ยอมตามทุกอย่าง และพวกชายสอพลอ เท่านั้น เท่านั้นเอง ที่เป็นเครื่องบันเทิงของมุสตาฟา เคมาล หมาป่าสีเทาตัวนั้น สิ่งเหล่านี้มันทำให้เขาอยู่ได้ไปวันๆ ในยามที่ไม่ต้องรบกับชาติใด หรือในเวลาที่ไม่ต้องมาวางแต้มทางการเมืองกับใคร เขาใช้เวลาหามรุ่งหามค่ำกับสิ่งเหล่านี้ วนเวียนอยู่อย่างนั้น หากไม่มีใครตกต้องมาเป็นข้าศึกให้เขาต้องห่ำหั่น 

ซูไบดา ฮานุม บุตรีของกรรมกรเตอร์ก มารดาของเคมาล เป็นคนเดียวเท่านั้น ที่เขาอาจมีความเชื่อถือหลงเหลืออยู่บ้าง แต่นางก็เสียชีวิตไปแล้ว หลังจากที่ต้องรอนแรมไปหลายที่ จากสโลนิกะบ้านเกิด (ปัจจุบันอยู่ในเขตกรีซ) ไปอยู่อิสตันบูล เพื่อหลบสงคราม ย้ายเข้าไปอังการา เพื่ออยู่ใกล้ๆ ลูกชาย และไปอยู่ที่อิสเมียร์ ดินแดนที่มีอากาศสบายยามบั้นปลายชีวิต ที่ตาทั้งสองข้างมองอะไรไม่เห็นแล้ว นางหลงเหลือแมกบูลาน้องสาวต่างบิดาไว้ให้คอยช่วยเหลือเคมาลด้วยความเป็นห่วง 

เคมาลเป็นผู้มีสติอยู่กับสิ่งที่มุ่งมั่นอย่างยิ่ง เขาเล่นไพ่ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่เสีย มีแต่ได้ ขณะเล่นไพ่เคมาลจะไม่สนใจสิ่งใดเลย ไม่ว่าเรื่องราวทั้งหลายจะสำคัญแค่ไหน แต่กับปัญหาของตุรกี เคมาลจำเป็นต้องละวางทุกสิ่ง

เพื่อให้มีสมาธิกับปัญหาของตุรกี เขาเห็นแล้ว เขาเห็นว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่หลุดพ้น ไม่ยอมปลดแอกออกจากร่มเงาของกาหลิบซ่ะที น่าจะมาจากตัวอักษรอารบิคที่ยากเกินไปต่อการเรียนรู้และการสร้างองค์ความรู้ เคมาลจึงเปลี่ยนระบบอักษรอารบิคที่เคยเรียนรู้และเข้าใจกันแต่เฉพาะในมัสยิด เป็นภาษาละตินที่เป็นสากล และสามารถสร้างความเข้าใจกับประชาชนของเขาได้มากกว่า เพื่อก้าวสู่ความเป็นตุรกีใหม่ เคมาลสร้างและสอนประวัติศาสตร์ใหม่แก่เหล่าเสนาบดีและประชาชนของเขา เคมาลออกประกาศสงวนอาชีพทนายความกับแพทย์ เอาไว้ให้เฉพาะคนเตอร์ก

เคมาลรับเด็กผูหญิงกำพร้าหลายร้อยคนเป็นบุตรบุญธรรม หลายคนมองด้วยจิตฝ่ายต่ำ แต่ตรงกันข้ามเขาเลี้ยงดูสนับสนุนเด็กเหล่านั้นให้กลายเป็นกำลังสำคัญของชาติ

นอกจากนี้เขายังได้เปลี่ยนชื่อเมืองหลายเมืองให้สอดคล้องกับภาษาแบบใหม่ที่จะนำไปสู่ความเป็นสากลที่นานาชาติให้การยอมรับ ไม่ใช่อยู่กันอย่างเป็นลูกไล่อย่างนี้กันต่อไป แม้แต่ชื่อ "มุสตาฟา" ของเขาๆ ก็ละทิ้งเสีย ด้วยเป็นคำที่ใช้เรียกมอสเล็ม บั้นปลายชีวิตเพียงแค่อายุ 52 ปี การเมืองที่เขาสร้างไว้แบบพรรคเดียว ทำให้เิกิดเผด็จการรัฐสภา นำความเดือดร้อนทุกข์ยากมาสู่ประชาชน ระบบถ่วงอำนาจจึงถูกเขาสร้างขึ้น แม้ไม่สำเร็จด้วยประชาชนไม่เข้าใจว่ามีฝ่ายคัดฝ่ายค้านไปทำไม รังแต่จะทำให้การพัฒนาประเทศชะงักล่าช้า แต่เขาก็พยายาม พยายามอีกครั้ง จนกระทั่งร่างกายที่ทานทนกับโรคตับมายาวนานหมดสภาพลง

 แล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่ 11 พฤศจิกายน 1940 แผ่นดินตุรกีสิ้นเคมาลแล้ว มุสตาฟา เคมาล ปาชา อะตาเตอร์ก "ผู้มีจิตใจสุจริตต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชาติตุรกีอย่างแท้จริง"

หมายเหตุ - ความรู้และบทเรียนจาก "จิ้งจอกสีเทา" จอมเผด็จการเคมาล อะตาเตอร์ก 

1. ตามประวัติศาสตร์ ชาวเตอร์กอพยพหนีการรุกรานของมองโกลจากเอเชียไปอยู่บนรอยต่อยูเรเชีย อาณาจักรออตโตมานที่ยิ่งใหญ่ต้องล่มสลายลงเพราะความเขลาของผู้นำ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พันธมิตร โดยอังกฤษ อเมริกัน และฝรั่งเศส ใช้กรีซ (ที่ต้องการครอบครองคอนสแตนติโนเปิล) เข้ากำหลาบตุรกี แต่ก็ต้องสู้รบกันอย่างดุเดือด สุดท้ายมุสตาฟา เคมาล ปาชา ก็นำทหารของเตอร์กต่อสู้อย่างเข้มแข็ง และได้รับชัยชนะในที่สุด

2. ช่องแคบบอสฟอรัส คือ แดนของสุลต่านและกาหลิบ

3. บ้านเรือนในอิสตันบูล กล่าวกุนว่าไม่มีหลังไหนที่ไม่เคยถูกไฟไหม้ นั่นเป็นผลพวงของอำนาจการทำลายล้าง ความเกลียดชังของมอสเล็ม (สุลต่าน/กาหลิบ) คริสเตียน (อิตาลี กรีก และอังกฤษ) และพวกนอกรีด (เคมาลและอิสเม็ต)

4. อิสเมียร์ เมืองอากาศดีดินดี มีรูปเคารพของเคมาลที่ขัดหลักศาสนาตั้งตระหง่านอยู่

5. แม้ว่าจะเป็นดินแดนทุรกันดาร อากาศแปรปวน ฝุ่นเยอะมาก แต่กรุงอังการาที่ตั้งอยู่ในฝั่งอนาโตเลีย ก็เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงของตุรกีใหม่ ที่ห่างไกลจากการโจมตีของข้าศึก "จิ้งจอกสีเทา" เป็นฉายาที่ อาร์โรลด์ คูร์เทเนย์ อาร์มสตรอง แห่งนิตยสารข่าวไทม์ เรียกขานเคมาลจอมเผด็จการบิดาแห่งเตอร์ก เมื่อปี 1923 เปรียบเปรยกับ "จิ้งจอกสีแดง" ที่หมายถึงสุลต่าน อับดุลฮามิดที่ 1 ผู้กระหายเลือด เจ้าอาณาจักรออตโมานอันเกรียงไกร ... เผด็จการเคมาลถือเป็นความจำเป็นสำหรับตุรกีในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ที่มหาอำนาจต้องการแบ่งกันครอบครอง แต่เผด็จการไม่มีความรู้เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างสรรค์สังคม เมื่อชาติหมดสงคราม ความขัดแย้งในชาติก็ไม่ใช่เรื่องชาตินิยม แต่เป็นเรื่องปากเรื่องท้อง ซึ่งเผด็จการไม่รู้ไม่ถนัดและทำไม่เป็น

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

Euro 2016 France

ผมเชียร์อิตาลี เพราะทีมนั้นมีเปาโล รอสซี่ มีโรแบโต้ บักโจ้ ผมเชียร์ฮอลแลนด์ ทุกครั้ง เพราะมีกลิ่นอายของท่านนายพลลูกหนังและโยฮัน ครัฟฟ์ ผมเชียร์เยอรมนี เพราะในทีมมีนักฟุตบอลมาจากบาเยอร์น มิวนิค ผมเชียร์อาร์เจนตินา ทุกครั้ง เพราะทีมนี้ไม่เคยขาดนักฟุตบอลพรสวรรค์ ผมเชียร์สเปน เพราะทีมนี้มีพลพรรคมีพัฒนาการสูงมาก และพัฒนาตลอดเวลา ผมเคยเชียร์อังกฤษ แบบที่คนไทยเป็นกัน แต่นั่นมันสมัย "พอล แกสคอย"

ผมเคยเชียร์ปอร์ตุเกส เพราะในทีมมี "หลุยส์ ฟีโก้" ผมไม่เชียร์อังกฤษเลย ตั้งแต่ทั้งเบคแฮมทั้งเจอร์ราดไม่เคยสร้างจุดเปลี่ยนอะไรได้เลย ผมไม่เชียร์ปอร์ตุเกส ตั้งแต่มีหัวหน้าทีมโชว์พาว ไม่ว่าเขาจะเก่งเดี่ยวแค่ไหนก็ตาม ผมไม่เชียร์บราซิลเลย เพราะสมัยก่อนช่อง ๕ เอาบอลลีกส์บราซิลมาให้ดูตอนบ่ายวันเสาร์ บอลจืดเคยดูไหมครับ ลีกส์บอลจืด แล้วที่สำคัญมาก ทีมบราซิลนี้ทุกคนเก่งเกิน ไม่ต้องเชียร์ก็ได้ แต่ตอนหลังนี้ ไม่รู้จะเชียร์ทำไม แต่ละคนพื้นๆ แบบเดียวกับทีมชาติอังกฤษ

 มาคราวนี้ ผมเชียร์โครแอต เพราะทีมนี้เก่งทุกคน สร้างจุดเปลี่ยน สร้างบารมีข่มทีมคู่ต่อสู้ได้ทุกคน ผมเชียร์อิตาลี เพราะทีมนี้ไม่มีขี้แอ๊ค ไม่มีคนไม่ฟิต มีแต่คนทุ่มเทให้ชาติตนเอง ทุกคนเก่งได้เท่ากันหมด ผมเชียร์เบลเยียม เพราะทีมนี้มีตัวเก่งๆ มากเหลือเกิน เล่นบอลสนุก ยูโรคราวนี้ บอกตรงๆ ผมแอบกาชื่อฝรั่งเศสจะเถลิงแชมป์ตั้งแต่ต้นแล้วละ แต่ด้วยหลงไหลกลุ่ม E ที่มีอิตาลี เบลเยียม และสวีเดน อย่างที่ได้วิเคราะห์ไปตั้งแต่แรก ซึ่งอย่างไรเสีย หากเป็นไปตามความเห็นผมทั้งหมด อิตาลีผ่านสเปนได้ และผ่านเยอรมนีได้ (ตรงนี้ความเห็นผมผิดพลาด อิตาลีจอดตรงนี้)

สุดท้ายก็ต้องมาแพ้เจ้าภาพในรอบเซมิไฟนอลอยู่ดี ผมเชียร์ฝรั่งเศส เพราะหลงไหลความสวยงามของเกมส์ "บราซิล-ฝรั่งเศส 120 นาที ที่พลาตินี ซิโก้และโซเครตีส ยิงจุดโทษพลาดคนละลูก" ในฟุตบอลโลก 1986 ที่เม็กซิโก เกมส์นั้นมันสุดๆ และคลั่งไคล้กระบวนยุทธ์ของ "ซีนาดีน ซีดาน"

แล้ววันนี้ทีมนี้มี "พอล ป๊อกบา" ที่ผนวกกับดิมิตริ ปาเยต์ คอยป้อนคอยสอดเสริมให้กับออริวิเยร์ ชีรูด์ กองหน้าชั้นเลิศจากอาร์เซนอล และอองตวน กรีซแมนน์ ดาวซัลโวยูโร 2016 จากแอตเลติโก มาดริด ไปรษณียบัตร ๒ ใบที่ ป.ปลางาม แถมมาจากที่จ่ายค่าอาหารสุนัข ผมเขียนชื่อทีม "ฝรั่งเศส" ไปแล้วครับ

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการของเมืองพิษณุโลก

รายงาน เรื่อง “ระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการของเมืองพิษณุโลก” ฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยรองศาสตราจารย์พัฒนา ราชวงศ์ สาขาวิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนำเสนอสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) สำรวจความต้องการเดินทางของคนพิการ และการให้บริการของผู้ประกอบการ/คนขับแท็กซี่ 2) ทบทวนข้อกำหนด/มาตรฐานบริการเดินทางของคนพิการนานาประเทศและประเทศไทย 3) วิเคราะห์หาความเหมาะสมของการสนับสนุนและอุดหนุนระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ และ 4) ออกแบบและทดลองโปรแกรมระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ

การเดินทางของคนพิการ 

การเดินทางของคนพิการในเมืองพิษณุโลก ทั้งคนพิการร่างกาย คนตาบอด และคนหูหนวก ซึ่งมีความสามารถเพียงพอที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไม่ต้องอยู่ในความดูและและช่วยเหลือจากผู้อื่นเกินจำเป็น สรุปได้ว่า ส่วนใหญ่มีการเดินทางอย่างเป็นประจำ ในจำนวนการเดินทางเหล่านี้ ราวๆ ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 47.5 เป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวที่คนพิการสามารถขับได้ด้วยตัวเองและมีญาติหรือคนอื่นเป็นผู้ขับให้ อีกราวครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 43.75 เป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป้าหมายของการเดินทางของคนพิการที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว คือ เดินทางไปประกอบอาชีพ และเดินทางไปพักผ่อนและทำธุระ อย่างละเท่าๆ กัน คือ ร้อยละ 38.84 ส่วนเป้าหมายการเดินทางของคนพิการที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนั้น ร้อยละ 65.0 เป็นการเดินทางไปพักผ่อนและทำธุระเป็นหลัก

การสำรวจความเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งองค์กรคนพิการ กลุ่มคนพิการ หน่วยงานราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาควิชาการ ซึ่งเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญของการเดินทางของคนพิการได้ดังนี้ ประเด็นที่มีความสำคัญมาก มี 3 ประเด็น คือ การเดินทางทำให้คนพิการพยายามก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง การเดินทางเป็นการเปิดโลกทัศน์ของคนพิการ และอุปนิสัยของคนรถแท็กซี่มีความสำคัญต่อการใช้บริการของคนพิการ โดยสองประเด็นแรกทั้งการเดินทางทำให้คนพิการพยายามก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง และการเดินทางเป็นการเปิดโลกทัศน์ของคนพิการ เป็นความเห็นที่จะสามารถนำพาคนพิการให้ออกสู่สังคมมากขึ้น เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองในการอยู่ร่วมในสังคมอย่างอิสระ

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นร่วมกันในประเด็นที่สามว่า “อุปนิสัยของคนรถแท็กซี่มีความสำคัญต่อการใช้บริการของคนพิการ” เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของชนิดการเดินทาง (mode of transport) ชนิดนี้ที่จะสามารถเติมเต็มให้กับการเดินทางของคนพิการได้เป็นย่างดี ประเด็นที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก มี 3 ประเด็น คือ การเดินทางทำให้คนปรกติทั่วไปได้เห็นศักยภาพของคนพิการ รถแท็กซี่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเดินทางของคนพิการ และคนพิการในเมืองพิษณุโลกสามารถเดินทางได้สะดวกในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการที่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายให้ความเห็นว่า “การเดินทางทำให้คนปรกติทั่วไปได้เห็นศักยภาพของคนพิการ” นั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำลงไปอีกขั้นหนึ่งว่า การเดินทางของคนพิการเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากจะเป็นไปเพื่อตัวคนพิการเองแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับสังคมได้มองคนพิการอย่างเป็นธรรม ด้วยจะให้ให้คนทั่วไปเห็นว่า คนพิการมีศักยภาพในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจกรรมอย่างอื่นๆ ได้เทียบเท่ากับคนปรกติทั่วไป อีกทั้งความเห็นสองประการหลังยังเป็นการเสริมให้ความเห็นประการที่สามข้างบนมีความสำคัญเด่นชัดยิ่งขึ้น

การให้บริการของแท็กซี่พิษณุโลก 

ระบบให้บริการแท็กซี่เมืองพิษณุโลก มีภาคธุรกิจประกอบการอยู่ 4 บริษัท ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจแท็กซี่พิษณุโลก-สองแคว จำนวน 3 ใบอนุญาต และกลุ่มธุรกิจแท็กซี่คิงดอม จำนวน 1 ใบอนุญาต มีแท็กซี่ประเภทรถยนต์นั่ง 4 ประตู ที่สามารถให้บริการผู้โดยสารรวมกันทั้งสิ้น 173 คัน คนขับแท็กซี่เป็นทั้งเจ้าของรถและเป็นผู้เช่าแท็กซี่ขับ ราคาค่าโดยสารอิงตามประกาศ คสช โดยมีจุดจอดรับผู้โดยสารหลักๆ อยู่ที่ บขส 1 บขส 2 ศูนย์การค้าปทุมทอง รพ.พุทธชินราช ม.นเรศวร และเซ็นทรัลพลาซ่าพิษณุโลก

การสำรวจระดับของการให้บริการของแท็กซี่เมืองพิษณุโลก 10 รายการ จากคนขับแท็กซี่ทั้งสองบริษัท จำนวน 35 ราย พบว่า มีเพียงสองรายการเท่านั้น ที่คนขับแท็กซี่เพียงรายเดียวที่เห็นด้วยในระดับต่ำกว่าระดับ 4 คือ ความเห็นที่ว่า “แท็กซี่สะอาดเป็นจุดดึงดูดให้มีคนใช้บริการ” และ “ยินดีให้คำแนะนำที่ดีแก่คนขับแท็กซี่คนอื่น” ขณะเดียวกัน การสำรวจระดับของการบริการการขนส่งเพื่อสนับสนุนของแท็กซี่เมืองพิษณุโลก 6 รายการ จากคนขับแท็กซี่ทั้งสองบริษัท จำนวน 35 ราย ก็ยังพบในลักษณะเดียวกันอีกว่า ประเด็น “ความสามารถให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน” ประเด็นเดียวเท่านั้นที่คนขับแท็กซี่เห็นว่า ยังไม่สามารถให้บริการคนพิการได้ นอกนั้นในประเด็นอื่น คนขับแท็กซี่มีความเห็นสามารถให้บริการได้เป็นอย่างดี

สำหรับการให้บริการการเดินทางแก่คนในสังคมนั้น การสำรวจทำให้สามารถสรุปได้ว่า คนขับแท็กซี่เมืองพิษณุโลกมีความรู้สึกที่ดีในการให้บริการการเดินทางแก่สังคม โดยแท็กซี่ตัวอย่างทุกคนเห็นว่าแท็กซี่เป็นระบบขนส่งเพื่อคนในสังคมอนาคต สังคมอนาคตต้องการบริการที่มีคุณภาพสูง และคนพิการมีสิทธิเท่าเทียมคนปรกติทุกประการ โดยมีคนขับแท็กซี่เพียงรายเดียวและสองรายเท่านั้นที่เห็นว่า “การขนส่งเป็นพันธะสัญญาที่ดีของผู้สูงอายุ” และ “บริการเสริมเพื่อสร้างสินค้าการขนส่งแบบใหม่” ไม่ใช่ประเด็นที่มีความสำคัญในระดับ 4 ตามลำดับ

การสำรวจความเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งองค์กรคนพิการ กลุ่มคนพิการ หน่วยงานราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาควิชาการ ซึ่งเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ทำให้สามารถจัดลำดับศักยภาพการบริการของแท็กซี่เมืองพิษณุโลกเพื่อการเดินทางของคนพิการ ที่มีความสำคัญมาก มี 3 ประเด็น คือ สาธารณะชนเมืองพิษณุโลกชื่นชมยกย่องแท็กซี่ที่ให้บริการคนพิการ เมืองพิษณุโลกมีศักยภาพเป็นเมืองที่คนพิการเดินทางสะดวกสบาย และอุปกรณ์ช่วยให้เกิดความปลอดภัยสำหรับคนพิการที่ต้องการพิเศษ สรุปแล้วอุตสาหกรรมแท็กซี่ของเมืองพิษณุโลกมีแท็กซี่ไว้สำหรับบริการประชาชนคนพิษณุโลกทั้งหมด 173 คัน ผู้ประกอบการและคนขับล้วนมีความยินดีและมีจิตสาธารณะในการให้คนบริการการเดินทางแก่คนพิการ

ยิ่งกว่านั้น นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2558 เป็นต้นมา บริษัทแท็กซี่พิษณุโลก-สองแคว ยังได้จัดโครงการผู้สูงอายุและคนพิการนั่งแท็กซี่ฟรี และดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนี้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากการสอบถามทั้งระหว่างการอบรมฯ การประชุม และการสอบถาม คนขับแท็กซี่ล้วนให้ความเห็นว่า สามารถให้บริการคนพิการได้ในมาตรฐานการบริการและราคาเดียวกับการให้บริการคนปรกติ แต่เนื่องจากการให้บริการคนพิการอาจต้องให้บริการบางอย่างมากกว่าคนปรกติ คนขับแท็กซี่อาจยังมองไม่เห็นภาพ จึงยังไม่สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าโดยสารปรกติ จึงมีความจำเป็นต้องนำประเด็นดังกล่าวนี้กลับมาพิจารณาให้ถี่ถ้วนต่อไป

ระบบฐานข้อมูลการสื่อสารและให้บริการ 

อาจารย์ ดร.สิทธิชัย ชูสำโรง สาขาวิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการออกแบบระบบระบบฐานข้อมูลการสื่อสารและให้บริการนี้ เรียกว่า TODIS: Taxi on Demand Information System มุ่งเน้นการออกแบบให้แสดงข้อมูลที่สามารถเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนของข้อมูล การออกแบบในส่วนนี้ได้ทำการออกแบบให้ข้อมูลถูกแสดงผ่านหน้าจอได้ 2 รูปแบบ คือ 1) แสดงในรูปแบบแผนที่ และ 2) แสดงในรูปแบบข้อมูลโดยสรุป โดยส่วนหน้าจอเว็บหลักมีส่วนการแสดงผลอยู่ 3 ส่วน คือ 1) ซ้ายมือสุด เป็นส่วนที่แสดงข้อมูลรถแท็กซี่ที่ให้บริการ โดยเจ้าหน้าที่ Call Center สามารถเลือกหมายเลขแท็กซี่และเลือกหมายเลขผู้ขอใช้บริการจากนั้นกด ตกลง ระบบก็จะทำการส่งข้อมูลไปเก็บบันทึกในฐานข้อมูลการให้บริการว่าแท็กซี่คนใด ไปรับผู้โดยสารหมายเลขใด ณ วัน เวลาที่เท่าไร จากไหนไปไหน ฯลฯ 2) ส่วนกลางของหน้าเวบ แสดงข้อมูลชุดเดียวกันกับที่แสดงบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และ 3) การแสดงสถานะและจำนวนผู้ขอใช้บริการ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าไปศึกษาและทดลองใช้ได้ในส่วนของ User (Mobile Iinterface) และส่วนของเจ้าหน้าที่ Call Center ดังนี้ User (Mobile Iinterface):

http://www.wearehappy.sci.nu.ac.th/plk/taxi4dp/ Call Center: http://www.wearehappy.sci.nu.ac.th/plk/taxi4dp/taxiservice.html

และอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความรายงานการวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์และออกแบบระบบฐานข้อมูลการสื่อสารและให้บริการการเดินทางด้วยแท็กซี่สำหรับคนพิการเมืองพิษณุโลก” ที่จะตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยนเรศวรต่อไป

ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริการแท็กซี่สำหรับคนพิการเมืองพิษณุโลก 

รายงาน “ระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการของเมืองพิษณุโลก” ฉบับนี้ ที่ได้จัดทำเป็นข้อสรุปตามวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ คือ 1. สำรวจความต้องการเดินทางของคนพิการ และการให้บริการของผู้ประกอบการ/คนขับแท็กซี่ 2. ทบทวนเพื่อหาข้อกำหนด/มาตรฐานบริการเดินทางของคนพิการนานาประเทศและประเทศไทย 3. วิเคราะห์หาความเหมาะสมของการสนับสนุนและอุดหนุนระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ และ 4. ออกแบบและทดลองโปรแกรมระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ แล้วในบทนี้

ส่วนสุดท้ายต่อไปนี้จะเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการจัดตั้งระบบแท็กซี่เพื่อคนพิการ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นต้องพิจารณา และ/หรืออาจจะต้องทำการศึกษารายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้การพิจารณามีความรอบรอบครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ดำเนินการไปเพื่อให้เป็นระบบบริการที่ดีต่อไปในอนาคต การปรับปรุงสภาพของแท็กซี่เพื่อให้เหมาะกับการบริการคนพิการ

1. ประเด็นการปรับปรุงสภาพของแท็กซี่เพื่อให้เหมาะกับการบริการคนพิการนั้น มีข้อเสนอจากการประชุมว่า อปท. ที่เป็นผู้ให้บริการคนพิการในพื้นที่ของตนเองต้องเป็นผู้ลงทุนจัดซื้อแท็กซี่เพื่อคนพิการต้นต้นแบบ แต่มีข้อท้วงติงว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจะผิดระเบียบว่าด้วยการดำเนินการแข่งขันกับภาคเอกชน จึงมีผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งเสนอว่ายังไม่ต้องปรับปรุงอะไร ให้ใช้แบบเดิมที่มีอยู่นี้ไปก่อน ทั้งนี้จะการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าหลายประเทศมีการนำแท็กซี่ที่มีลักษณะเฉพาะที่สามารถให้บริการคนพิการได้อย่างเหมาะสม และเห็นว่ามีต้นทุนสูง ไม่จูงใจภาคธุรกิจในการลงทุน จึงจำเป็นจะต้องให้ อปท. ที่มีงบประมาณเพียงพอ หรือให้ อบจ. ที่มีงบประมาณมาก ให้การสนับสนุน อปท. อยู่รอบเทศบาลนครพิษณุโลก อาจจะเป็น ทต.อรัญญิก ทต.บ้านคลอง หรือ ทต.พลายชุมพล เพื่อจัดหาต้นแบบมาให้บริการในระยะเริ่มต้น เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง จึงปล่อยให้ภาคธุรกิจเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งการที่ อปท เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญมากในการบริการเดินทางของคนพิการ ด้วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จึงควรที่จะพัฒนาฐานข้อมูลการเดินทางคนพิการเพื่อเตรียมการจัดระบบสวัสดิการเกี่ยวกับการเดินทางเพิ่มเติม การอบรมให้ความรู้/ทัศนคติของคนขับรถแท็กซี่ในการให้บริการคนพิการ

2. แม้ว่าจะมีการอบรมให้ความรู้และปรับทัศนคติของคนขับรถเกี่ยวกับการให้บริการการเดินทางของคนพิการไปแล้ว 2 รูปแบบ ในกิจกรรมโครงการนี้แล้ว แต่ว่าเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นให้ได้รู้จักคนพิการและความพิการเท่านั้น รายละเอียดเชิงลึกในการให้ความช่วยเหลือระหว่างการเดินทางจำเป็นต้องให้ผู้มีความรู้ทางด้านกายวิภาคและอาการของโรคแต่ละอย่างมาอธิบาย สาธิต และฝึกปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องจัดในรูปของอบรมเชิงปฏิบัติการ และจัดให้มีใบรับรองความรู้ความสามารถในการให้บริการการเดินทางแก่คนพิการเป็นการเฉพาะ สำหรับผู้เข้าร่วมการอบรมฯ โดยมีหน่วยงานด้านการสาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรคนพิการ ธุรกิจแท็กซี่ และสถาบันอุดมศึกษา ร่วมกันดำเนินงาน การพัฒนาระบบเรียกใช้บริการแท็กซี่ด้วยโทรศัพท์เข้าศูนย์ฯ

3. การพัฒนาฐานข้อมูลการเรียกและใช้บริการแท็กซี่ด้วยโทรศัพท์เข้าศูนย์ฯ ควรได้รับการพัฒนา เพื่อให้คนขับแท็กซี่ได้รับรู้ลักษณะลูกค้า และเตรียมความพร้อมในการให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งนี้ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับศูนย์บริการคนพิการ พ.ศ.2556 ที่กำหนดให้จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานเกี่ยวกับการจัดบริการของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป และดำเนินการอื่น เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการภายในจังหวัด ด้วยหลักการคิดที่ว่า “การได้มีโอกาสเดินทางไปไหนมาไหน ได้อย่างสะดวก จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น” จึงควรที่ศูนย์บริการฯ จะได้รับเอาภารกิจในการเป็นศูนย์เชื่อมความต้องการเดินทางของคนพิการเข้ามาไว้ด้วย ทั้งนี้ โดยมีสถานที่ปรึกษาและพัฒนาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบดังกล่าวต่อยอดไปจากระบบที่ได้นำเสนอไว้ในรายงานฉบับนี้ บทบาทของ อปท. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในพื้นที่

4. แม้ว่า อปท จะเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญมากในการบริการเดินทางของคนพิการ ด้วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ที่เป็นอยู่ อปท. มักดำเนินกิจกรรมในเชิงตั้งรับเป็นส่วนมาก ไม่ได้มองว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้นมีขอบข่ายกว้างไปถึงครอบครัวของคนพิการด้วย พิจารณาเฉพาะการเดินทางของคนพิการ จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดถูกปล่อยให้เป็นภาระของครอบครัว ซึ่งหากเป็นครอบครัวที่ยากจน การเดินทางของคนพิการจะมีกำแพงอันใหญ่ขวางกั้นอย่าหนาแน่นมาก การเดินทางของคนพิการเท่าที่ได้จากการสำรวจ จะเห็นได้ว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของคนพิการเองแทบทั้งสิ้น และจากความเห็นของคนพิการอย่างน้อยสองกลุ่ม (กายพิการและพิการทางการมองเห็น) มีความรู้สึกที่ดีการกับการเดินทางด้วยแท็กซี่ และมีความคาดหวังจากการเดินทางด้วยแท็กซี่ อาจถือเป็นบรรทัดฐานได้ว่าแท็กซี่เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะกับการเดินทางของคนพิการ ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้ระบบขนส่งระบบนี้สามารถทำหน้าที่ให้บริการการเดินทางแก่คนพิการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการขยายกรอบคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของ อปท. ให้กว้างออกไปจากการจัดสวัสดิการตามความจำเป็น ไปสู่การสนับสนุนระบบการเดินทางเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวคนพิการ จำเป็นจะต้องเร่งทำให้เกิดขึ้น โดย สปสช. ที่เป็นองค์กรสนับสนุนงบประมาณให้กับ อปท. ในการดูและและฟื้นฟูสภาพคนพิการ ควรจะต้องแสดงบทบาทเพิ่มเติมในส่วนนี้ ความจำเป็นในการกำหนดค่าโดยสารเพิ่มเติม

5. แม้ว่าผู้ประกอบการและคนขับแท็กซี่ในเมืองพิษณุโลก จะให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการให้บริการการเดินทางของคนพิการ จากราคาที่กำหนดสำหรับให้บริการประชาชนทั่วไป ก็ตาม แต่การบริการคนพิการนั้นเป็นการบริการพิเศษ ดังได้แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ที่คนขับแท็กซี่อาจต้องเผชิญหน้ากับอาการไม่ปรกติของคนพิการที่เป็นผู้โดยสาร และจะต้องใช้ความสามารถพิเศษที่ได้รับการอบรม/ฝึกฝนมาอย่างดีให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาของการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าโดยสารปรกติ นอกจากนี้ การบริการดังกล่าวถือเป็นลักษณะจิตสาธารณะที่ควรค่าแก่การยกย่องและให้ประโยชน์ตอบแทนบางอย่างเท่าที่ควรจะทำ จึงจะต้องพิจารณากฎระเบียบว่าด้วยการลดหย่อนภาษีรายได้ หรือการให้สิทธิประโยชน์บางอย่างแก่ผู้มีจิตสาธารณะทั้งเป็นรายบุคคลและองค์กรธุรกิจ

โดยการกำหนดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าโดยสารปรกติที่เหมาะสมนี้ จะต้องมีหลายภาคส่วนทั้ง สนง.ขนส่งจังหวัด พมจ. อปท. สสจ. สปสช. องค์กรคนพิการ หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบดูแลคนพิการแต่ละประเภทแต่ละระดับ สถาบันอุดมศึกษา ฯลฯ มาร่วมพิจารณา 2 ประเด็น คือ อัตราค่าโดยสารเพิ่ม และผู้ที่มีส่วนร่วมจ่ายค่าโดยสารเพิ่ม ซึ่งประเด็นแรกนั้น อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นว่าหลายฝ่ายยังเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บส่วนนี้เพิ่ม จึงจะต้องนำมาพิจารณาใหม่ให้ทุกฝ่ายได้เห็นค่าใช้จ่ายจริงที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในการให้บริการการเดินทางแก่คนพิการ และประเด็นที่สองที่สอดคล้องคล้องกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของ อปท. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หมายถึงว่า นอกเหนือจากการจ่ายเบี้ยคนพิการแล้ว อปท. ควรที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการเดินทางของคนพิการที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองตามความจำเป็นด้วย

ทั้งนี้แหล่งงบประมาณที่จะนำมาจ่ายในดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งมาจากภาษีและเงินรายได้ของ อปท. เอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้รูปแบบการจ่ายเบิกจ่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าโดยสารปรกติ อาจยึดเอาระบบการจ่ายตรงที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจ่ายให้กับรถกู้ชีพแบบต่างๆ เป็นแบบอย่าง โดยใช้ระบบข้อมูลเรียกใช้บริการแท็กซี่ของคนพิการเมืองพิษณุโลก ที่สถานที่ปรึกษาและพัฒนาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาขึ้นมาในงานวิจัยฉบับนี้เป็นฐาน

สำหรับข้อเสนอการดำเนินการวางแผนพัฒนาระบบแท็กซี่เพื่อคนพิการเมืองพิษณุโลกในระยะต่อไปนั้น ควรนำเอาขั้นตอนที่ 7 ของการดำเนินงาน ที่กำหนดให้มีการติดตั้งระบบบริการคนพิการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การกำหนดรูปแบบและโครงสร้างของระบบบริการแท็กซี่เพื่อคนพิการ ทั้งด้านการจัดองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่และมีระบบระเบียบในการให้บริการการเดินทางคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม ระยะที่ 2 การจัดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเอื้อการเดินทางของคนพิการ โดยเน้นบริเวณที่เป็นพื้นที่เป้าหมายการเดินทางของคนพิการที่ได้จากการสำรวจในโครงการนี้ ทั้งนี้รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมอย่างจริงจังด้วย และระยะที่ 3 การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของเมืองพิษณุโลกเพื่อเอื้อต่อการเดินทางและท่องเที่ยวของประชากรกลุ่มพิเศษ ซึ่งอันหลังนี้จะยังไม่ใช่เป้าหมายของการดำเนินการ เนื่องจากมีขอบข่ายการดำเนินงานกว้างขวาง และเกี่ยวเนื่องกับองค์กรหลายองค์กร

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การสำรวจข้อมูลภูมิศาสตร์มนุษย์ด้วยแบบสอบถาม

การสำรวจข้อมูลภูมิศาสตร์มนุษย์ด้วยแบบสอบถาม 22 กรกฎาคม 2014 เวลา 0:37 น.

ได้รับมอบหมายให้อ่านหนังสือและใช้ประสบการณ์จากการทำงานวิจัย เพื่อมาบรรยายตามหัวเรื่องข้างบนนี้ ให้นิสิตสาขาวิชาภูมิศาสตร์ฟังในช่วงบ่ายวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา มีปัญหาอยู่นิดหนึ่ง ตรงที่ว่าหนังสือ key methods in geography เล่มใหญ่ ที่มี nicholas clifford, shaun french และ gill valentine (2010) เป็นบรรณาธิการนี้

หนังสือเล่มนี้มีสาระรวมๆ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ การวิจัยทางภูมิศาสตร์ (จำนวน 4 บท) การจัดการข้อมูลภูมิศาสตร์มนุษย์ (จำนวน 10 บท) การจัดการข้อมูลภูมิศาสตร์กายภาพ (จำนวน 6 บท) และการนำเสนอ/ตีความข้อมูลภูมิศาสตร์ (จำนวน 12 บท)

ปัญหาก็คือ ถ้าจะให้บรรยายเรื่องการสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถามอย่างเดียว ก็เท่ากับบรรยายแค่เนื้อหาบทเดียวในส่วนที่สอง ซึ่งมีเนื้อทั้งหมดตั้งสิบเรื่อง นั่นจึงเป็นที่มาของการใช้เวลาหลายวัน พยายามอ่านเนื้อหาในส่วนที่สองให้ครอบคลุมทั้ง 10 บท แล้วเอามาบรรยายให้นิสิตฟังภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับระดับความสนใจของนิสิต .. เดี๋ยวนี้การเรียนการสอนต้องพิจารณาตามความสนใจของนิสิตครับ ไม่สามารถทำตามความต้องการของผู้สอนทั้งหมดได้ เพราะไม่อย่างงั้นจะกลายเป็นสอนได้สอนไป จะคุยซะอย่าง ฟังไม่รู้เรื่องหลับดีกว่า อะไรแบบนั้น ซึ่งเท่ากับสูญเปล่า)

ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ได้อธิบายให้นิสิตได้รับรู้ถึงเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ โดยเขียนขึ้นมาเป็นกรอบแนวความคิด (conceptual framework) ให้เห็นดังภาพข้างบน และภาพนี้นิสิตสามารถใช้เป็นกรอบแสดงขั้นตอนการทำวิจัยทางภูมิศาสตร์ได้ด้วย โดยจะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การกำหนดปัญหาการวิจัย ซึ่งได้บอกนิสิตไปว่าปัญหาการวิจัยทางภูมิศาสตร์มี 2-3 รูปแบบด้วยกัน คือ ปัญหาที่ว่ามีปรากฏอยู่ข้างหน้าแล้วเราจะต้องหาคำอธิบายในรูปแบบเชิงพื้นที่ให้กระจ่าง (ทั้งในเชิงการวิเคราะห์พื้นที่ การแสดงรูปลักษณ์ของสถานที่ และการเกาะกลุ่มหรือแตกกลุ่มออกเป็นภูมิภาค) และปัญหาที่ว่ามีปรากฏการณ์อยู่ตรงนี้แล้วเราจะต้องทำนายการเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์นี้เมื่อเวลาผ่านไปสู่อนาคต

หลังจากที่ได้ประเด็นปัญหาแล้ว จะต้องทำการค้นคว้าวรรณกรรม หรือเอกสารงานเขียน (รวมถึงผลงานในรูปแบบอื่นๆ ด้วย) ที่เกี่ยวเนื่อง สอดคล้อง และ/หรือขัดแย้งกับประเด็นวิจัยที่กำหนด ตรงนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการทำวิจัย เรื่องนี้มีอาจารย์ได้บรรยายให้นิสิตฟังไปแล้วก่อนหน้านี้ เพียงแต่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ขั้นตอนนี้สำคัญต่อการวิจัยจริงๆ โดยการอ่านทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องพิจารณาใน 5 ส่วนสำคัญ คือ ชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ วิธีการวิจัย ผลลัพธ์ที่ได้ และข้อเสนอแนะจากงานชิ้นนั้น ซึ่งขอให้ระลึกไว้เสมอว่า เราเองเราก็ต้องการพิจารณาในห้าประเด็นที่กล่าว ดังนั้นเมื่อเราทำงานวิจัยเสร็จแล้ว หากมีคนสนใจงานของเรา เขาก็ย่อมต้องการพิจารณาห้าอย่างที่กล่าวมีนี้ด้วยเช่นกัน จึงจะต้องทำงานวิจัยให้ดีมีส่วนต่างๆ ให้ครบถ้วน

หลังจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นวิจัยของเราพอประมาณแล้ว คำว่าพอประมาณนี้หมายถึงพอได้น้ำได้เนื้อ พอได้สาระ สำหรับอธิบายประเด็นที่กำลังสนใจทำวิจัยอยู่นี้ ซึ่งจากการอ่านก็จะทำให้พบว่า ภายใต้ประเด็นวิจัยดังกล่าวนั้น ในแวดวงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (หรือเกือบทั้งหมด) มีสารัตถะสำคัญอะไรบ้างที่เป็นส่วนย่อยของประเด็นวิจัยของเรา ซึ่งอันนั้นละ คือ สิ่งที่จำเป็นจะต้องทำการศึกษาเพื่อให้สามารถอธิบายปัญหาการวิจัยได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน ถ้าจับเข้าไปอยู่ในกระบวนการวิจัย นี่ก็เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยแล้วละ จะมีวัตถุประสงค์กี่ข้อก็ว่าไปตามเหมาะสม หลังจากที่ได้วัตถุประสงค์การวิจัยแล้ว ยังจะไม่สามารถทำงานวิจัยได้ทันที เพราะวัตถุประสงค์ดูจะเป็นการเขียนข้อความกว้างเกินไป ไม่สามารถลงลึกถึงวิธีการในละเอียดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลที่จะนำมาใช้สนับสนุนประเด็น วิธีวิเคราะห์ข้อมูล และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำวัตถุประสงค์แต่ละข้อมาแตก spectrum สาระปลีกย่อยให้หมด แล้วเลือกส่วนที่สนใจและสามารถอธิบายวัตถุประสงค์ข้อนั้นๆ ได้จริงๆ หากจะถามว่าเลือกมาเท่าไหร่ ก็ไม่มีเกณฑ์ตายตัว อยู่ที่ความเหมาะสมเหมือนเดิม การดำเนินการส่วนนี้เรียกว่า “ขอบเขตการวิจัย” ซึ่งคนละความหมายกับ “พื้นที่ศึกษาวิจัย” หรือ “ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย” การสร้างและทำงานกับข้อมูลภูมิศาสตร์มนุษย์และภูมิศาสตร์กายภาพ ตรงนี้มีสองประเด็นใหญ่ แต่อยู่ในกรอบเดียวกัน คือการจัดการเกี่ยวกับข้อมูล ทั้งนี้ข้อมูลในการวิจัยภูมิศาสตร์มนุษย์จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากข้อมูลสำหรับการวิจัยภูมิศาสตร์กายภาพ นั่นจึงทำใหนังสือเล่มที่ว่านี้ ต้องแยกประเด็นนี้ออกเป็นสองส่วน โดยในส่วนของภูมิศาสตร์มนุษย์ได้บรรยายสิ่งสำคัญทั้ง 10 เรื่องให้นิสิตฟังแล้ว และได้นำมากล่าวถึงอย่างละเอียดอีกครั้งเกี่ยวกับการสำรวจด้วยแบบสอบถามในบทความนี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกเก้าเรื่องที่ได้คัดลอกส่วนสำคัญมาให้อ่านในตอนท้ายของบทความนี้ การตีความหมายและนำเสนอผลการดำเนินงานเกี่ยวกับข้อมูล หมายถึงว่า เมื่อจัดการกับข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดการฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิควิธีการที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และขอบเขตการวิจัย นักวิจัยทางภูมิศาสตร์จะต้องทำการตีความผลลัพธ์ที่ได้ทั้งหมด พร้อมๆ กับหารูปแบบการนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้นั้น อาจนำเสนอด้วยรูปแบบตารางแบบต่างๆ กราฟหรือชาร์ต ฮีสโตรแกรมแสดงการกระจาย รูปภาพ และสำคัญสุดสำหรับงานวิจัยทางภูมิศาสตร์ คือ การนำเสนอในรูปแผนที่แบบต่างๆ สุดท้ายของกระบวนการในภาพที่กล่าวมาเสียยืดยาวข้างต้น เป็นการสรุปผลการวิจัย นักวิจัยทางภูมิศาสตร์จะต้องย้อนกลับไปที่วัตถุประสงค์ของงานวิจัย พิจารณาให้ดีอีกครั้งว่า งานวิจัยที่ทำอยู่นี้มีวัตถุประสงค์อะไร แล้วก็มาพิจารณาผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด ค่อยๆ นำผลลัพธ์ที่ได้มาเขียนเป็นข้อสรุปให้ได้ใจความครบถ้วนตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อ มีอีกนิดหนึ่งในกล่องสุดท้ายของภาพข้างบน จะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการทบทวนวรรณกรรมกับการอภิปรายผลการวิจัย กล่าวคือ หลังจากที่ได้ผลการวิจัยเรียบร้อยและทำการสรุปผลมาเขียนรวบยอดแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำ คือ การอภิปรายผล (คำว่า discussion บางสาขาวิชาใช้คำว่าวิจารณ์ผล) ซึ่งหมายถึงการเทียบเคียงผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยครั้งนั้น กับงานวิจัยฉบับอื่นๆ ที่จัดทำไปก่อนหน้า ที่ได้มีการทบทวนนำมากล่าวอ้างไว้ในงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ ขั้นตอนนี้แม้ว่าจะอยู่ในกรอบเล็กๆ ของภาพข้างต้นบทความนี้ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเป็นการยืนยันว่ามีหลักฐานแน่นหนาถึงความสำคัญของงานวิจัยที่กำลังทำอยู่นี้อีกครั้งหนึ่ง เป็นการยืนยันว่างานวิจัยในประเด็นนี้มีนักวิชาการในสายที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจทำวิจัยกันอย่างจริงจัง มีผลลัพธ์การวิจัยเหมือนกันหรือแตกต่างกันตรงไหน อย่างไร กรณีที่ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันจึงเป็นการยืนยันถึงความน่าเชื่อถือ (reliability) และความคงที่ (consistency) ของเงื่อนไขที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ส่วนกรณีที่ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน นั่นเป็นเป็นการบ่งบอกให้ทราบว่า การค้นพบสิ่งใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว สำหรับเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้มาบรรยายจริงๆ ในวันนี้ หยิบยกมาจากบทที่ 6 ของหนังสือเล่มนี้ ชื่อบทว่า การสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถาม (conducting questionnaire surveys) เขียนโดยซารา แมคลาฟเฟอร์ตี (sara l. maclafferty) ศาสตราจารย์สาขาวิชาภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ที่เออบานา สหรัฐอเมริกา ซาราเขียนไว้ในบทเกริ่นนำว่า การวิจัยที่ใช้วิธีการสำรวจด้วยแบบสอบถาม เป็นวิธีการวิจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวทำการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณลักษณะ พฤติกรรม และ/หรือทัศนคติของประชากร โดยเครื่องมือที่ว่านี้เป็นชุดคำถามที่มีรูปแบบมาตรฐาน หรือเป็นแบบสอบถามสำหรับสอบถามกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งเป็นรายบุคคล ในสาขาวิชาภูมิศาสตร์นั้น การสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถามมักจะใช้เพื่อการค้นหาการรับรู้ (perception) ทัศนคติ (attitude) ประสบการณ์ (experience) พฤติกรรม (behaviour) และปฏิสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (spatial interaction) ที่ปรากฏอยู่อย่างหลากหลายบนพื้นที่ต่างๆ ก่อนเริ่มดำเนินการทำงานวิจัยด้วยการสำรวจแบบสอบถาม นักวิจัยทางภูมิศาสตร์จะต้องระบุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน เห็นไหม ว่าต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น และก็อย่าลืมว่า ภายใต้วัตถุประสงค์การวิจัย เราอาจจะยังไม่สามารถไปเก็บข้อมูลได้ทันที แต่จะต้องกำหนดขอบเขตการวิจัยในแต่ละวัตถุประสงค์เสียก่อน เพื่อให้แน่ชัดว่า วัตถุประสงค์แต่ละข้อนั้น เราต้องการอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ หรืออาจจะห้า หัวใจสำคัญของการสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถาม มี 3 อย่าง คือ การออกแบบแบบสอบถาม (designing the questionnaire) การเลือกกลยุทธ์ในการสำรวจ (choose a survey strategy) และการเลือกตัวอย่างที่จะเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม (choose the survey respondents) อย่างแรกที่เป็นการออกแบบแบบสอบถามนั้น ต้องเข้าใจร่วมกันถึงรูปแบบพื้นฐานของแบบสอบถามเสียก่อนว่า มีสองแบบด้วยกัน คือ แบบปลายเปิด (open ended questions) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบคำถามได้ตอบคำถามได้อย่างอิสระ อันนี้ถือว่าดี เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นความจริงอย่างครบถ้วน แต่ก็จะวุ่นวายในขั้นตอนการวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการวิเคราะห์สถิติด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป อีกแบบเป็นแบบปลายปิด (fixed response questions) อันนี้ผู้ออกแบบคำถามจะต้องสร้างตัวเลือกคำตอบให้กับผู้ตอบคำถาม ตรงนี้วันที่บรรยายได้กล่าวแบบรวมๆ อาจทำให้นิสิตไม่เข้าใจในสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญ นั่นก็คือ รูปแบบของคำตอบคำถามปลายปิดจะสอดคล้องกับมาตรวัดข้อมูล ซึ่งนิสิตเคยเรียนมาแล้วในวิชาหลักสถิติและวิชาการวิเคราะห์สถิติทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ มาตรวัดข้อมูลมี 4 ระดับ ประกอบด้วย ระดับแรกเป็นมาตรนาม (nominal scale) ที่ผู้ออกแบบคำถามจะสร้างตัวเลือกเป็นคำตอบให้เป็นประเภทๆ เช่น แบ่งกลุ่มอาชีพ ประเภทถือครองที่ดิน ประเภทการใช้ที่ดิน อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ระดับที่สองเป็นมาตรอันดับ (ordinal scale) อันนี้ใช้กันมาก เพราะการสำรวจการรับรู้ ทัศนคติ ประสบการณ์ ฯลฯ ไม่สามารถวัดระดับได้โดยตรง จึงต้องสร้างระดับความรู้สึกของผู้ตอบแบบสอบถามออกมาให้อยู่ในมาตรนี้ อาจแบ่งระดับออกเป็นสามหรือห้าก็ได้แล้วแต่ว่าต้องการความละเอียดแค่ไหน แต่การจัดระดับแบบนี้ก็เสี่ยงที่ผู้ตอบแบบสอบถามจะเลือกตอบตรงกลางเสียเป็นส่วนใหญ่ นักสังคมวิทยาบางท่านจึงแนะนำให้แบ่งออกเป็นสี่ระดับ เป็นการบังคับไม่ให้ผู้ตอบแบบสอนถามมีแนวโน้มจะเลือกคำตอบที่เป็นกลางๆ และระดับสามและสี่ สองอันนี้รวมกันเป็นมาตรช่วงและอัตราส่วน (interval/ratio scale) จะเป็นการสร้างคำตอบที่แสดงค่าที่แท้จริงของข้อมูลที่เป็นคำตอบ เช่น ระดับรายได้ ขนาดถือครองที่ดิน เป็นต้น แต่ว่าอย่างไรก็ตาม แบบสอบถามที่ใช้ในการเก็บข้อมูลมักไม่ได้มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่จะผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการข้อมูลของนักวิจัย มีข้อแนะนำสำหรับการออกแบบคำถามง่ายๆ 2 ประการ ประการแรกเป็นหลักการเบื้องต้น ในส่วนนี้ให้ตั้งคำถามง่ายๆ คำที่ใช้ในคำถามต้องชัดเจน และผูกประโยคให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ และประการที่สองเป็นสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยง มีห้าอย่างที่ต้องหลีกเลี่ยง คือ คำถามที่ยาวและซับซ้อน การใช้คำถามซ้อนและซ่อนในคำถามเดียวกัน คำถามที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ไม่ต้องเอาเข้ามา คำถามที่แสดงถึงความลำเอียงหรือแสดงอารมณ์ก็ไม่ควรใช้ และคำถามเชิงลบประเภท “ไม่อย่างโง้นอย่างงี้” ไม่ควรนำมาบรรจุในแบบสอบถามเด็ดขาด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การเลือกกลยุทธ์ในการสำรวจ หรือนัยหนึ่งคือวิธีการที่จะใช้สำหรับสอบถามกลุ่มตัวอย่างนั่นเอง อันนี้ในหนังสือ ก็กล่าวเหมือนๆ กับตำราการวิจัยทั่วไปว่า เป็นแบบสอบถามโดยตรง (face to face interview) การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (telephone interviews) การส่งแบบสอบถามไปทางไปรษณีย์แล้วให้ผู้ตอบแบบสอบถามส่งกลับ (postal surveys) การไปแจกแบบสอบถามไว้และกลับมาเก็บภายหลัง (drop and pick-up questionnaire) และการสำรวจด้วยแบบสอบถามทางอินเตอร์เนต (internet surveys) แต่ละวิธีการมีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่านักวิจัยจะเลือกใช้วิธีการใด ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการเข้าถึงตัวผู้ตอบแบบสอบถาม ระยะเวลาและงบประมาณสำหรับการทำงานวิจัยชิ้นนั้น ทั้งนี้แต่ละแบบจะได้ผลตอบรับในอัตราส่วนที่แตกต่างกันออกไป อันนี้ก็ต้องยอมรับด้วย และสุดท้ายของเรื่องนี้ เป็นการเลือกตัวอย่างที่จะเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม ตรงนี้ได้บรรยายให้นิสิตฟังว่า ก่อนที่จะไปถึงขนาดตัวอย่างและการเข้าถึงตัวอย่าง เราจะต้องย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการวิจัยอย่างหนึ่ง คือ หน่วยของการวิเคราะห์ข้อมูล (unit of analysis) ที่หมายถึงว่า งานวิจัยที่จะทำนั้นต้องการวิเคราะห์ข้อมูลภายในกรอบอะไร เป็นบุคคล เป็นครัวเรือน เป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชน เป็นตำบล เป็นอำเภอ เป็นจังหวัด เป็นประเทศ หรือว่าเป็นย่านภูมิภาค ในตอนต้นของการออกแบบงานวิจัย นักวิจัยทางภูมิศาสตร์จะต้องใส่ใจกับประเด็นที่กล่าวมานี้ให้มาก เพื่อที่ว่าจะได้สร้างคำถามในแบบสอบถามให้ตรงกับหน่วยของการวิเคราะห์ข้อมูล และที่สำคัญในตอนสำเร็จเก็บข้อมูลจะได้มุ่งเป้าไปยังผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น ตัวจริงเสียงจริง เป็นบุคคล เป็นหัวหน้าครัวเรือน เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน เป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น เรื่องขนาดตัวอย่างและการเข้าถึงตัวอย่าง สองอันนี้ไม่ได้บรรยายให้ฟัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ เพียงแต่ว่าการกำหนดขนาดตัวอย่างสามารถหาอ่านและคำนวณได้ไม่ยาก และการสุ่มตัวอย่างที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ก็สามารถหาอ่านเองได้ไม่ยากเช่นกัน ยังมีเรื่องราวตามที่กล่าวมาแต่ต้นอีก 9 เรื่อง ที่ได้ใช้เวลาพอสมควรบรรยายให้นิสิตฟัง ซึ่งขอกล่าวถึงย่อๆ ดังนี้ * การใช้ข้อมูลทุติยะสำหรับทำงานวิจัยทางภูมิศาสตร์ (making use of secondary data) เขียนโดย paul white, professor of EURO urban geography at the university of sheffield ข้อมูลทุติยภูมิประกอบด้วยข้อมูลที่ได้รับการเก็บรวบรวมไว้แล้วเพื่อจุดประสงค์อื่น แต่ที่มีอยู่ให้ผู้อื่นใช้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นแหล่งสำคัญของข้อมูลสำหรับโครงการของนักศึกษาจำนวนมาก ที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาและงบประมาณดำเนินการวิจัย มีสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาทำความเข้าใจให้กระจ่างเกี่ยวกับลักษณะของข้อมูลทุติยภูมิ คือ ใครเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลชุดนั้น ข้อมูลประกอบด้วยอะไรบ้าง และทำไมจึงเป็นที่สนใจของนักภูมิศาสตร์ จากนั้นจึงจะต้องพิจารณาว่าจะค้นหาข้อมูลทุติยภูมิได้อย่างไร ข้อมูลที่ว่านั้นอยู่ที่ไหน (เป็นข้อมูลระดับนานาชาติหรือว่าระดับท้องถิ่น) และใช้ประโยชน์จากแหล่งอินเทอร์เน็ต และสุดท้ายก็มองไปที่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลทุติยภูมิ ว่าจะใช้เพื่อเป็นบริบทเบื้องต้นสำหรับการศึกษาวิจัย สำหรับการเปรียบเทียบ และเป็นหลักฐานสำคัญในการวิเคราะห์ การค้นหาข้อมูลจากแหล่งประวัติศาสตร์ (finding historical sources) เขียนโดย miles ogborn, professor of geography at queen mary, university of london แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในวิชาภูมิศาสตร์ คือ วัสดุที่สามารถนำมาใช้เพื่อให้การตีความและวิเคราะห์ในประเด็นทางภูมิศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา การค้นพบข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ดังกล่าว จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการดำรงอยู่ และการค้นพบที่พวกเขาจะถูกเก็บไว้ในขณะนี้และวิธีการที่พวกเขาสามารถได้รับการประเมิน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงบางสิ่งบางอย่างที่พบในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ แต่ยังรวมถึงตัวอักษรสมุดบันทึกส่วนตัวรูปภาพ แผนที่ วัตถุและผลงานศิลปะ การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างและการประชุมกลุ่ม (semi-structured interviews and focus groups) เขียนโดย robyn longhurst, professor of geography at the university of waikato, new zealand การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างเป็นการแลกเปลี่ยนทางวาจาที่คนๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ พยายามจะล้วงเอาข้อมูลจากบุคคลอื่นโดยการถามคำถาม แม้ว่าผู้สัมภาษณ์เตรียมรายการของคำถามที่กำหนดไว้แล้ว แต่การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างก็จะยังเปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงประเด็นอื่นที่สำคัญเพิ่มเติมได้อีก ส่วนการประชุมกลุ่มเป็นการรวมกลุ่มบุคคลขนาด 6-12 คน ให้พวกเขามาประชุมร่วมกันในประเด็นที่มีการกำหนดเอาไว้แล้วเป็นการเฉพาะโดยนักวิจัย ระหว่างการประชุมกลุ่มจะมีผุ้อำนวยการประชุม (facilitator) ทำหน้าที่ควบคุมประเด็นการสนทนา แต่จะไม่ทำการชี้นำ เพียงแต่คอยช่วยให้กลุ่มสามารถค้นหาประเด็นสำคัญในหลายๆ มุมมอง การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล (participant observation) เขียนโดย eric laurier, senior research fellow at the university of edinburgh, UK การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการใช้เวลาส่วนหนึ่งเข้าไปเป็นอยู่ เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วม หรือเข้าไปทำงานร่วมกับผู้คนหรือชุมชนที่นักวิจัยต้องการทำความเข้าใจ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นวิธีการที่จะต้องใช้การมีส่วนร่วมและการสังเกตผสมผสานกัน เพื่อทำการบันทึกข้อมูลจากพื้นที่การบันทึกภาพ และการบันทึกภาพเคลื่อนไหว พื้นฐานของวิธีนี้คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง หรือเข้าไปอยู่ใกล้ๆ กับปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ ที่ต้องการทำการศึกษา ... สำหรับประเด็นนี้ได้เพิ่มตัวอย่างของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลออกมาทำการวิเคราะห์ให้งานวิจัยบรรลุผล โดยยกตัวอย่างงานวิจัยรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของศุลีมาน (นฤมล) วงศ์สุภาพ (2537) เรื่อง นางงามตู้กระจก: การศึกษากระบวนการกลายเป็นหมอนวดไทย ซึ่งผู้วิจัยได้แฝงกายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ออกมา ภูมิศาสตร์และการตีความจากภาพ (geography and the interpretation of visual imagery) เขียนโดย rob bartram, lecturer of geography at the university of sheffield, UK 'ภาพ' (Visual Imagery) เป็นคำกว้างที่ใช้อธิบายถึงภาพยนตร์ ภาพถ่าย สื่อส่งเสริมการขาย เกมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งนักภูมิศาสตร์มีความสนใจเกี่ยวกับแนวความคิดสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับภาพ อย่างเช่น พื้นที่ (space) สถานที่ (place) และภูมิทัศน์ (landscape) ที่มีการใช้และสร้างขึ้นในภาพ วิธีการเกี่ยวกับภาพ (visual methodologies) ยึดโยงอย่างแน่นแฟ้นกับหลักการพื้นฐานทางปรัชญาและแนวความคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการตีความหมายของภาพ ที่ได้รับการพัฒนามาจากสาขาอื่นๆ วิธีการทางความคิดเกี่ยวกับภาพนี้ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการเลือกและการผลิตภาพและความสวยงามของภาพ แต่ยังเกี่ยวกับผู้ชมภาพและมีผลกระทบต่อประสาทสัมผัสของภาพด้วย การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory research methods) เขียนโดย myrna m. breitbart, professor of geography at hampshire college, UK การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ถือเป็นความพยายามที่จะออกแบบงานวิจัยให้สอดรับกับความเป็นประชาธิปไตย ด้วยการศึกษาปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่มีการดำเนินการทุกด้านที่จะส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเต็มรูปแบบ งานวิจัยแบบนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกันในการพัฒนาวาระการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ประเด็นที่สำคัญ และการออกแบบกิจกรรมสำหรับดำเนินการปรับปรุงชีวิตของผู้คน หรือให้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม การวิจัยโดยใช้อินเตอร์เนตเป็นสื่อ (internet mediated research) เขียนโดย clare madge, senior lecturer in geography at the university of leicester, UK อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางการวิจัย โดยเป็นการวิจัยที่จะดำเนินการผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นวิธีการใหม่อันหนึ่งที่นักภูมิศาสตร์เพิ่งให้การยอมรับว่ามีศักยภาพที่ดีในการเก็บรวบรวมข้อมูลในลักษณะที่เป็นนวัตกรรม นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงให้เห็นลักษณะ 3 ประเภทของการวิจัยที่ใช้เครื่องมืออินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย แบบสอบถามออนไลน์ (online questionnaire) การสัมภาษณ์เสมือนจริง (virtual interviews) และเสมือน (virtual ethnographies) ไดอารีเป็นเครื่องมือสำหรับการวิจัย (diaries as a research method) เขียนโดย alan latham, lecturer in geography at the university of london, UK ไดอารี่เป็นชิ้นส่วนของการเขียนอัตชีวประวัติ เป็นการอธิบายอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตของแต่ละบุคคล ไดอารี่ที่เขียนเอาไว้อาจสอดรับกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยโดยนักวิจัยบันทึกการสังเกตของตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม หรืออาจเป็นประเด็นวิจัยที่นักวิจัยจงใจเขียนขึ้นมาให้สอดรับกันก็ได้ ไดอารี่ของผู้รับให้ใช้ในงานวิจัยได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะช่วยให้นักวิจัยที่จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้บันทึกกับงานประจำ การปฏิบัติการตามจังหวะที่เหมาะสม และรายละเอียดของชีวิตบุคคล หรือส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเขาในช่วงระยะเวลาที่กำหนดของเวลา การทำงานวิจัยข้ามกลุ่มวัฒนธรรม (working with different cultures) เขียนโดย fiona m. smith, lecturer in human geography at the university of dundee, UK การวิจัยข้ามวัฒนธรรมเป็นคำที่ใช้ในการอธิบายถึงการวิจัยที่ทำในขอบเขตวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ใช้ภาษาอื่นๆ มักจะการทำในสถานที่ห่างไกล รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนอื่นๆ ใกล้บ้าน จึงมีความอ่อนไหวต่อความคล้ายคลึงและความแตกต่างของวัฒนธรรม อาจมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน จะต้องให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการทำงานภาคสนาม ต้องให้ความใส่ใจกับการใช้ระบบระเบียบ การเมือง และภาษา การวางตัวของนักวิจัย ความร่วมมือหรือการวิจัยแบบมีส่วนร่วม และการให้ความสนใจในการเขียนรายงานวิจัยที่อ่อนไหว

โกหก

โกหก: เป็นโรคจิตหรือว่าเป็นนิสัย 
ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ผู้จัดการ online วันที่ 3 มิถุนายน 2559

คำถาม: การที่ชอบโกหก โกหกแทบจะทุกเรื่อง ไม่กล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงให้ใครรู้ และมักระแวงคนรอบข้าง ภายนอกดูปกติดี แต่เมื่อสนิทได้พูดคุยพบว่า ไม่ว่าทำอะไรผิด ไม่เคยยอมรับผิด และมักโยนความผิดให้ผู้อื่นเสมอ บางครั้งเหมือนเขาสะกดจิตตนเอง จนเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองโกหกเป็นเรื่องจริง แบบนี้เรียกว่าเป็นโรคทางจิตหรือไม่? และถ้าเป็น จะมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

คำตอบ สาเหตุ: ลักษณะการพูดโกหกมีได้จากหลายสาเหตุ อย่างหนึ่งคือเป็นสาเหตุจากโรคทางสมองบางชนิดและทางร่างกายบางอย่างได้ หรือเกิดจากโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น โรคหลงผิด คนกลุ่มนี้ เขาไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่เป็นจากความผิดปกติของสารเคมีเกี่ยวกับความคิดในสมอง ทำให้เขาหลงผิด ความคิดเขาจะบิดเบือนจากความเป็นจริงไปเอง โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่เขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ 

สาเหตุต่อมา...เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวน คนกลุ่มนี้ เขาไม่ได้ตั้งใจโกหกเช่นกันค่ะ แต่เกิดจากสารเคมีในสมองด้านอารมณ์เสียสมดุล ทำให้เขามองสิ่งต่างๆ บวกหรือลบเกินความเป็นจริงไปตามอารมณ์ที่ขึ้นหรือลงของเขา เมื่ออารมณ์เขากลับมาเป็นปกติ พฤติกรรมการพูดไม่ตรงกับความจริงก็จะหายไป

อีกหนึ่งสาเหตุ คือเกิดจากปัญหาด้านบุคลิกภาพบางชนิด หรือที่เรียกว่าเป็นนิสัย ดังนี้ คือ ชอบพูดเท็จจนเป็นนิสัยซึ่งมักพบได้กับคนที่มีบุคลิกภาพที่ชอบสร้างภาพลักษณ์ให้ตนดูดีเสมอ ไม่ชอบให้ตนดูแย่ในสายตาของคนอื่น ไม่ชอบรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรือเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ความขี้กลัว ขี้กังวล จนไม่กล้ารับความจริงบางอย่างที่ตนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำลงไป คือไม่มั่นใจว่าตนจะมีความสามารถในการจัดการปัญหานั้นได้ คนเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่ค่อยมีศีลธรรม จึงทำให้ใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องนี้เพื่อเอาตัวรอด ถ้าบางคนที่ไม่มีคุณธรรมประจำใจเลย อาจพูดโกหกโดยไม่รู้สึกผิดตะขิดตะขวงใจใดๆ เลย ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมโกหกสม่ำเสมอ ด้านหนึ่งเขาจะระแวงใจอยู่เรื่อยๆ ว่าคนจะจับได้ ทำให้บางทีต้องโกหกต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อซ่อนความผิด และบางที พอโกหกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตนดูดีนั้น บางทีก็ติดภาพความดูดีที่ตนสร้างขึ้นมานั้นไปด้วย ทำให้เกิดอาการหลงเชื่อคำโกหกที่ตนสร้างขึ้นมาว่าเป็นเรื่องจริง วิธีรักษา การรักษาเริ่มจากการประเมินก่อนค่ะว่าสาเหตุของพฤติกรรมโกหกเกิดจากอะไร เป็นจากความเจ็บป่วย หรือเป็นจากปัญหาบุคลิกภาพ เมื่อทราบสาเหตุแล้ว ดำเนินการรักษากันตามสาเหตุ

1.การรักษาด้วยยา คือการใช้ยาที่ช่วยรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ เช่น เกิดจากโรคทางสมอง เกิดจากโรคทางจิต เช่น โรคหลงผิด หรือโรคอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

2.การรักษาทางจิตใจ สำหรับผู้ที่โกหกเพราะมีปัญหาทางจิตใจ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจที่มาในจิตใจก่อนว่าต้องโกหกบ่อยๆ เพราะอะไร ที่ไม่กล้าพูดความจริงเพราะอะไร จากนั้นค่อยๆ ปรับวิธีคิด มุมมอง ที่มองว่า ถ้าพูดความจริงจะเกิดสิ่งไม่ดีบางอย่าง เลยเลือกพูดโกหก ให้เข้าใจใหม่ว่า การพูดความจริง ผลที่ตามมาอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และให้เห็นข้อดีที่เกิดจากการพูดความจริง ที่สำคัญ คือการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าในตนเองของเขา จะทำให้เขาเชื่อในตนเองมากขึ้นว่าเขามีศักยภาพพอที่จะเผชิญกับความจริงนั้นๆ และดูแลตนเองได้ จะช่วยให้เขาเกิดความกล้าเผชิญความจริงได้มากขึ้น