หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

โรคห่าที่ท่าโฉลง โรคห่าเฮติ และโรคห่าปีระกา

 

โรคห่าที่ท่าโฉลง โรคห่าเฮติ และโรคห่าปีระกา


เวลาเช้าตรู่ 04.53 น. ของวันที่ 12 มกราคม 2553 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขนาด 7.0 ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศเฮติที่อยู่ในย่านทะเลแคริบเบียน ราว 25 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อประชาชน 3.5 ล้านคนของประเทศนี้อย่างมาก ความรุนแรงทำให้เกิดซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการ ศาสนสถาน แม้กระทั่งทำเนียบประธานาธิบดี มียอดผู้เสียชีวิตมาก 2.2-2.3 แสนคน ผู้บาดเจ็บ 3 แสนคน และผู้คนไร้ที่อยู่กว่า 1 ล้านคน

 

นอกจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขของประชาชนแล้ว ยังได้สร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการระบาดของโรคติดเชื้อที่สำคัญขึ้นมาอย่างไม่มีใครทันตั้งตัว เก้าเดือนต่อมาหลังจากเกิดแผ่นดินไหว การระบาดของอหิวาตกโรคเริ่มแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ วันที่ 7 มกราคม 2557 มีผู้ไข้เสียชีวิต 8 พันห้าร้อยคน และมีผู้ป่วยอหิวาตกโรครวม 7 แสนคน องค์การอนามัยโลกได้บันทึกเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ของการระบาดที่รุนแรงที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา กระทรวงสาธารณสุขและประชากรของประเทศเฮติ ระบุว่า ก่อนปี 2553 ไม่มีรายงานประวัติอหิวาตกโรคในประเทศเฮติ แม้จะเคยเกิดการระบาดอย่างรุนแรงในภูมิภาคแคริบเบียนในศตวรรษที่ 19 ก็ตาม หลายคนจึงสงสัยว่าอหิวาตกโรคในเฮติครั้งนี้มาจากไหน มีสมมติฐานสองข้อ ข้อแรกเป็นสมมติฐานที่เชื่อกันว่า เชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในดินใต้น้ำจะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ด้วยแผ่นดินไหวทำให้มีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและพัฒนาเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรค ขณะที่อีกสมมติฐานหนึ่ง เห็นว่าน่าจะมีการส่งผ่านเชื้อแบคทีเรียของมนุษย์ โดยเชื่อว่าอหิวาตกโรคที่ระบาดอยู่นี้ถูกนำเข้ามาโดยผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ

 

ความจริงมีข้อสมมุติฐานที่สามอย่างไม่เป็นทางการพ่วงเข้ามาด้วย คือ ธรรมชาติแล้วชนพื้นเมืองเฮติมีความเชื่อหมอผีวูดูอย่างจริงจัง แต่ละหมู่บ้านแต่ละกลุ่มชนจะมีวูดูเป็นของตนเอง ทีนี้การเสียชีวิตของประชาชนจากโรคร้ายนี้ หมู่บ้านที่ไม่ค่อยถูกกันก็เลยเชื่อว่าถูกคุณไสยของหมอผีจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง เมื่อคนในหมู่บ้านเสียชีวิตกันมากขึ้นๆ หมอผีประจำกลุ่มเผ่าก็ถูกลอบสังหารมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการบอกว่า มีหมอผีถูกฆ่าด้วยเหตุนี้ไปแล้ว 3 พันคน

 

เวลาผ่านไป การทำงานของกลุ่มแพทย์ควบคู่ขนานกันระหว่างการรักษาผู้ไข้โรคห่าเฮติกับการค้นหาต้นเหตุของการระบาด สมมติฐานข้อที่หนึ่งเป็นอันตกไป ส่วนอันที่สามนั่นวงวิทยาศาสตร์ไม่เชื่ออยู่แล้ว หมอผีจึงตายฟรี และสมมติฐานข้อที่สองก็ได้รับการยอมรับ คือ ยอมรับว่าเชื้อโรคร้ายนี้มีผู้นำเข้าจากต่างประเทศ คำถามจึงเกิดขึ้นต่ออีกว่า “ใครเป็นผู้นำเข้ามา” มองซ้ายมองขวา ใกล้ที่สุดก็อเมริกันชนงัยละ อยู่ใกล้ๆ แค่นี้ ด้วยตามประวัติศาสตร์ที่นั่น ระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 เคยมีอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ 7 ครั้ง แต่ก็ได้รับการพิสูจน์โครโมโซมของเชื้อโรคแล้วว่าเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดที่ประเทศเฮติ

 

พอดีกับคณะแพทย์จากเดนมาร์กที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคเขตร้อน เคยมีประสบการณ์ไปทำงานในประเทศเนปาล เคยได้พบเห็นการระบาดของโรคนี้ จึงตั้งประเด็นสงสัยใหม่ว่า อาจจะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มาจากประเทศเนปาลก็เป็นได้ แล้วก็เริ่มลงมือตรวจสอบโครโมโซม โดยขอให้เพื่อนแพทย์ที่ยังทำงานอยู่ในเนปาลส่งตัวอย่างเชื้อมาให้วินิจฉัยในห้องปฏิบัติการในสหรัฐอเมริกา จนได้ข้อสรุปว่า โป๊ะเช๊ะ! เชื้อแบคทีเรียอหิวาตกโรคที่ระบาดในประเทศเฮติเป็นชนิดเดียวเชื้อแบคทีเรียอหิวาตกโรคที่ระบาดในประเทศเนปาล

 

คำถามต่อมาจึงไม่ยาก เพราะองค์การสหประชาชาติระดมกำลังพลจากทั่วโลกมาช่วยเหลือความเสียหายจากแผ่นดินไหวเฮติ แล้วก็มีกองทหารจากประเทศเนปาลด้วยที่มาช่วยกู้ซากปรักหักพังและค้นหาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ค่ายของกองทหารเนปาลตั้งอยู่บนที่ราบสูงตอนกลางมิเรบาไลส์ ต้นสายของแม่น้ำเมย่าที่ไหลขึ้นเหนือไปรวมกับแม่น้ำสายใหญ่เพื่อไปลงสู่อ่าวเม็กซิโกทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเส้นทางระบาดของโรคห่าเฮติ แล้วก็ชัดเจนเมื่อมีคนเห็นว่ามีทหารเนปาลนำเอาปฏิกูลทางทิ้งในแม่น้ำ

 

โรคห่าที่ระบาดแถบปากน้ำโพธิ์ อินทร์บุรี และท่าโฉลง จนทำให้หมอทองเอกเกือบต้องเสียแม่ชบาเมียรักไป เพราะติดโรคห่าจากผู้ไข้ที่มารักษากินนอนอยู่ที่บ้านหมอทองอินทร์หลังป่าช้า ในละครฮิต “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” ช่อง 33 อยู่ในขณะนี้ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Vibrio Cholerae ที่ลำไส้เล็ก ผู้ไข้จะมีอาการท้องร่วง ถ่ายเป็นของเหลว ถ่ายไม่หยุด และอาเจียนจนหมดเรี่ยวแรง ร่างกายเกิดการเสียน้ำจำนวนมาก ทำให้หมดแรงและซีดจนเสียชีวิตได้

 

สำหรับการระบาดของอหิวาตกโรคในประเทศไทยที่รุนแรงที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 2 ชาวบ้านเรียกกันว่า “ปีมะโรงห่าลง” มีชาวสยามเสียชีวิตด้วยโรคร้ายนี้กว่าสามหมื่นคน มีบันทึกของหมอสมิธ (Samuel John Smith) เรื่อง แพทย์ในราชสำนักกรุงสยามว่า “โรคนี้เริ่มเมื่อปี 2363 แพร่มาจากเกาะปีนังเข้าสู่หัวเมืองชายฝั่งทะเล ราษฎรจึงพากันอพยพหนีเข้าพระนคร บ้างก็แยกย้ายไปตามหัวเมืองอื่นๆ” หลังจากนั้นโรคร้ายก็แพร่เข้าไปยังกลางพระนคร ผู้คนตายเป็นเบือเผาศพไม่ทัน ปล่อยให้แร้งทึ้งไปก็มาก จนเป็นที่มาของคำว่า “แร้งวัดสระเกศ”

 

สมัยรัชกาลที่ 3 เกิดห่าลงอีกครั้ง โดยระบุชัดเป็นวันที่ 6 มิถุนายน 2392 ปีระกา คราวนี้เริ่มต้นมาจากประเทศแถบทะเลทางฝ่ายตะวันตกระบาดเข้ามา คราวนี้เรียกว่า “ห่าลงปีระกา” โรคร้ายนี้ระบาดมาถึงพระนครวันที่ 15 มิถุนายนปีเดียวกัน แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะน้อยกว่าครั้งก่อน แต่เฉพาะในพระนครก็นับจำนวนได้มากถึง 6,153 คน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคอย่างหนักถคงสองครั้ง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2415 ซึ่งมีความรุนแรงกว่าการระบาดในเดือนกรกฎาคม 2424 ในวงการแพทย์ถือว่าสยามโชคดีที่มีแพทย์ชาวตะวันตกเข้ามาทำงานในประเทศ พร้อมๆ กับการให้ความรู้เรื่องสุขภาวะและโภชนาการ ความรุนแรงของโรคจึงถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ

 

อีกครั้งหนึ่งที่มีการระบาดรุนแรงในประเทศไทยของเรา คือ ปี 2501-2502 ที่มีผู้ป่วยตรงเขตราชบูรณะ กรุงเทพมหานคร แล้วแพร่กระจายออกไปไกลถึง 38 จังหวัด คราวนั้นมีผู้ป่วยเสียชีวิตมากเหมือนกัน 2,372 คน

 

วิชาภูมิศาสตร์ที่สนใจเรื่องแบบนี้ โดยที่ผ่านมาเคยเขียนชื่อวิชาภูมิศาสตร์การแพทย์เอาไว้ทำการศึกษา แต่ปัจจุบันขยายขอบเขตความคิดให้ครอบคลุมประเด็นสุขภาพมากขึ้น ประกอบด้วย availability, accessibility, affordability, acceptability และ accommodation แล้วจึงเขียนชื่อวิชาใหม่ว่า “ภูมิศาสตร์สุขภาพ” ให้เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางชีวสังคมที่ก่อให้เกิดการระบาดของโรค การมีสิ่งอำนวยการดูแลรักษาสุขภาพ การเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพ การจัดระบบสุขอนามัยและสุขาภิบาล ฯลฯ ซึ่งมีผู้รู้วางระเบียบวิธีและทำการศึกษากรณีตัวอย่างการแพร่ระบาดของโรคเอาไว้ เป็นแบบแผนให้ได้ใช้ทำการศึกษาแก่คนรุ่นหลัง มีการนำเอาแบบจำลองระบาดวิทยา - epidemic model ทั้งที่เป็นแบบมาตรฐานทั่วไปมาแสดงรูปแบบการระบาดของโรคบนหลักการ distance-decay ที่ว่าเมื่อระยะทางห่างออกไป ความเข้มข้นของปรากฏการณ์จะค่อยๆ ลดลงอย่างเป็นสัดส่วนกัน หรือแม้กระทั่งการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ตามรูปแบบของบาร์เลตต์ รูปแบบโครงข่ายของราโรพอร์ต และรูปแบบห่วงโซ่สองสูงของรีดส์และฟอร์ส

 

ที่ประเทศเฮติ ดูเหมือนองค์การสหประชาชาติจะทำคุณแต่ถูกบูชาโทษ ส่วนทหารกล้าจากประเทศเนปาลกับกลายเป็นจำเลยของสังคมเฮติอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ส่วนหมอผีวูดูในเฮติสามพันกว่าคนก็ถูกสังเวยเซ่นความเชื่อไปอย่างอ้างว้าง เช่นเดียวกับแม่หมอมั่นแห่งท่าโฉลง คุณแม่จอมโลภของผ่องคนสวย ที่สุดท้ายก็เป็นผู้แพ้ทุกครั้งทุกกรณี ปล่อยให้ “หมอทองเอกรับบทพระเอกคนเดียว” ในฐานะผู้ยืดหยัดต่อสู้โรคร้ายร่วมกับภริยาและเพื่อนๆ โดยไม่มีฝ่ายรัฐมาเหลียวแลแม้แต่น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น