การย้ายถิ่นเนื่องจากสภาพภูมิอากาศ
ผู้คนที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน
ด้วยเหตุจากภัยพิบัติที่เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พวกเขาต้องการความคุ้มครอง ประเทศที่ตกอยู่ในสภาวะสังคมสูงอายุ ที่ขาดแคลนคนทำงาน
ประเทศเหล่านั้นต้องการแรงงานจากพวกเขา
ความวุ่นวายครั้งใหญ่กำลังจะมาถึง
การเคลื่อนย้ายของผู้คนที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-driven movement) กำลังเพิ่มการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ให้พวกเขาเดินทางไปยังเมืองต่างๆ
ของโลก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนผู้อพยพทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า
และประเด็นปัญหาที่ว่าเราจะทำอย่างไรกันดีกับจำนวนผู้พลัดถิ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีสภาพเร่งด่วนมากขึ้นๆ
เพื่อความอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเราจึงจำเป็นจะต้องมีการวางแผนและการอพยพย้ายถิ่นอย่างตั้งใจ
อย่างที่มนุษยชาติไม่เคยทำมาก่อน
กาญ่า วินเซอ คอลัมนิสต์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บอกกล่าวเอาไว้ในบทความเรื่อง ‘The
century of climate migration: why we need to plan for the great upheaval’ ใน
The Guardian เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2022 บอกกล่าวเรื่องสำคัญนี้ว่า โลกของเราได้พบเห็นจำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่า
50 เซลเซียส เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 2 เท่า
เมื่อเทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อน ความร้อนระดับนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อมนุษย์
และยังเป็นปัญหาใหญ่หลวงต่ออาคาร ถนน และโรงไฟฟ้า มันทำให้พื้นที่ไม่น่าอยู่ เรื่องน่าทึ่งที่เกิดขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงนี้ระเบิดขึ้นตามความต้องการการตอบสนองของมนุษย์ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง
เราต้องช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากอันตรายและความยากจนไปสู่ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย
เพื่อสร้างสังคมโลกที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน
ประชากรจำนวนมากจะต้องย้ายถิ่นฐาน ไม่ใช่แค่การเคลื่อนย้ายไปยังเมืองที่ใกล้ที่สุดเท่านั้น
แต่ยังจะต้องอพยพเคลื่อนย้ายข้ามทวีปกันเลยทีเดียว ประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีสภาพที่พอทนได้
โดยเฉพาะประเทศในละติจูดเหนือ จะต้องมีความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป ให้สามารถรองรับผู้อพยพหลายล้านคนที่จะอพยพเข้ามา
ขณะเดียวกันก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการในยามที่เกิดวิกฤตจากสภาพภูมิอากาศด้วย
นอกจากนี้ยังจะต้องสร้างเมืองใหม่ทั้งหมดที่อยู่ใกล้ขั้วโลกที่หนาวกว่าบริเวณอื่นๆ
ของโลก ซึ่งเป็นดินแดนที่น้ำแข็งจะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น
บางส่วนของไซบีเรียกำลังประสบกับปัญหาอุณหภูมิสูง 30 เซลเซียส เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
พื้นที่ในย่านอาร์กติกกำลังร้อนจนเกือบจะลุกไหม้
อีกทั้งยังมีลูกไฟขนาดใหญ่เผาผลาญไซบีเรีย กรีนแลนด์ และอลาสกา
แม้แต่ในเดือนมกราคม 2022 ไฟป่าในพรุก็ยังลุกไหม้เผาผลาญมณฑลของน้ำแข็งในไซบีเรีย
(Siberian cryosphere) แม้ว่าอุณหภูมิจะต่ำกว่า –50 เซลเซียส ก็ตาม ซอมบี้ร้ายเหล่านี้ลุกเป็นไฟตลอดทั้งปีในพรุที่ใต้พื้นดินในพื้นที่ทั้งภายในและบริเวณรอบๆ
เขตอาร์กติกเซอร์เคิล ที่ระเบิดเป็นเปลวเพลิงขนาดใหญ่ โหมกระหน่ำไปทั่วป่าทางเหนือของไซบีเรีย
อลาสกา และแคนาดา
ในปี 2019 เกิดไฟป่าขนาดใหญ่มากเข้าทำลายป่าไทกาไซบีเรียกว่า 4 ล้านเฮกตาร์ เปลวเพลิงลุกโชนยาวนานกว่าสามเดือน สร้างกลุ่มควัน เขม่า และเถ้าถ่าน
มีขนาดใหญ่เท่าๆ กับทุกประเทศที่รวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปทั้งหมด
แบบจำลองทำนายว่าไฟป่าในเขตป่าบอเรียลและเขตทุนดราอาร์กติก จะเกิดเพิ่มมากขึ้นถึงสี่เท่าตัวภายในปี
2100
ณ ขณะนี้ไม่ว่าพวกเราจะอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้
การย้ายถิ่นจะส่งผลกระทบต่อพวกเราและลูกหลานของเราอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เป็นที่คาดเดาได้ว่าบังคลาเทศ
ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรหนึ่งในสามอาศัยอยู่ตามชายฝั่งที่ราบลุ่มและกำลังจะจมลงใต้น้ำที่เพิ่มระดับสูงขึ้นมา
พวกเขากำลังจะกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย (คาดว่าชาวบังกลาเทศมากกว่า 13 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด จะเดินทางออกจากประเทศภายในปี
2050) และภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
ประเทศที่ร่ำรวยทั้งหลายจะได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของมนุษย์ด้วย โดยที่ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษต่อๆ
ไป โดยอาจมีจำนวนประชากรถึงจุดสูงสุด 10,000 ล้านคนในทศวรรษ
2060 การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นี้จะเกิดขึ้นในภูมิภาคเขตร้อนซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากภัยพิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่จะทำให้ผู้คนที่นั่นต้องหนีขึ้นไปทางเหนือ ทั้งนี้ภูมิภาคส่วนเหนือทั่วโลกเผชิญกับปัญหาที่มีลักษณะตรงกันข้าม
นั่นคือ เกิดวิกฤตประชากร (demographic crisis) ที่หนักหน่วงที่สุด ซึ่งประชากรสูงอายุจำนวนมากได้รับการสนับสนุนจากประชากรวัยแรงงานที่มีอยู่จำนวนน้อยเกินไป
ในอเมริกาเหนือและยุโรปมีประชากรราว 300 ล้านคน ที่มีอายุมากกว่าวัยเกษียณ
(65 ปีขึ้นไป) และภายในปี 2050 อัตราการพึ่งพาของผู้สูงอายุทางเศรษฐกิจ
คาดว่าจะอยู่ที่ผู้สูงอายุ 43 คนต่อคนวัยทำงาน (20-64
ปี) 100 คน เมืองสำคัญต่างๆ ของโลก นับตั้งแต่มิวนิกไปจนถึงบัฟฟาโล
ก็จะเริ่มแข่งขันกันดึงดูดผู้อพยพเข้ามาเพื่อสนับสนุนภาวะแรงงานดังกล่าว
การอพยพที่กำลังจะมาถึง ดูเหมือนว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะยากจนที่สุดในโลก
ที่พวกเขาจะต้องหนีคลื่นความร้อนร้ายแรง และหนีความล้มเหลวของการเพาะปลูกพืชผล
นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้มีการศึกษา คนชั้นกลาง และคนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตตามที่วางแผนไว้ได้อีกต่อไป
เพราะไม่สามารถรับจำนองหรือประกันทรัพย์สินได้ เพราะย้ายงานไปที่อื่นแล้ว
วิกฤตสภาพอากาศได้ถอนรากถอนโคนไปแล้วหลายล้านคนในสหรัฐ โดยในปี 2018 ประชากรกว่า
1.2 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นจากสภาวะที่รุนแรงจากอัคคีภัย
พายุและน้ำท่วม ภายในปี 2020 จำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น
1.7 ล้านคน ทั้งนี้เฉลี่ยแล้ว
ต้องตกอยู่ในความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติ เป็นปริมาณมหาศาลถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในรอบทุกๆ สิบแปดวัน
มีพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของดินแดนในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ
ที่กำลังเผชิญกับภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง และเกษตรกรในลุ่มน้ำคลาแมธของรัฐโอเรกอน
ที่กำลังกล่าวถึงการใช้กำลังอย่างผิดกฎหมายเพื่อที่จะเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนเพื่อปล่อยน้ำให้เข้าสู่ระบบชลประทาน
อีกด้านหนึ่ง ก็น้ำท่วมอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้คนหลายพันคนติดอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่หุบเขามรณะเรื่อยไปจนถึงรัฐเคนตักกี้
ภายในปี 2050 จะมีบ้านเรือนกว่าครึ่งล้านหลังในสหรัฐ ที่จะติดอยู่บนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อยปีละครั้ง
ตามข้อมูลจากศูนย์กลางความสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate
central) ซึ่งเป็นความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์และผู้สื่อข่าว ในสหรัฐอเมริกานั้น
พื้นที่เปราะบางอย่างเกาะจองชาร์ลส์ (Isle de Jean Charles)
เป็นพื้นที่เกาะยาวคล้ายสะพานแคบๆ ตั้งอยู่ในแตแรบอนน์ปารีสของรัฐลุยเซียนา ได้รับการจัดสรรเงินภาษีของรัฐบาลกลาง
48 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำการเคลื่อนย้ายชุมชนออกทั้งหมด
เนื่องจากการกัดเซาะชายฝั่งและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่วนในอังกฤษ ชุมชนชาวเวลส์ในแฟร์บอร์น (Welsh
villagers of Fairbourne) ได้รับแจ้งว่าบ้านของพวกเขาควรถูกทิ้งให้อยู่ในทะเลที่รุกล้ำ
เนื่องจากหมู่บ้านทั้งหมดจะถูกปลดประจำการในปี 2045 อีกทั้งเมืองชายฝั่งขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง
ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน โดยมีการคาดกันว่าพื้นที่สองในสามของกรุงคาร์ดิฟฟ์เมืองหลวงของเวลส์
น่าจะจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2050
Isle
de Jean Charles เกาะที่จะจมหายไปในอนาคต น้ำท่วมทำให้ชุมชนแห่งนี้ต้องสูญหายตามไปด้วย
https://www.desmog.com/2019/01/11/isle-de-jean-charles-tribe-turns-down-funds-relocate-climate-refugees-louisiana/
หมู่บ้านแฟร์บอร์นของเวลส์ มีความเสี่ยงสูงที่จะจมอยู่ใต้น้ำจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
และชาวบ้านได้รับแจ้งว่าพวกเขาจำเป็นต้องย้าย แต่หลายคนปฏิเสธที่จะจากไป
https://www.bbc.com/future/article/20220506-the-uk-climate-refugees-who-wont-leave
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานแห่งสหประชาชาติ
(UN International Organization for Migration) ได้อ้างถึงการประมาณการว่าในอีก
30 ปีข้างหน้า จะมีผู้อพยพย้ายถิ่นเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
มากถึง 1 พันล้านคน ขณะที่การคาดการณ์ล่าสุดชี้ไปที่ตัวเลข 1.2
พันล้านคน ในปี 2050 และ 1.4 พันล้านคน ในปี 2060 โดยคาดว่าหลังจากปี 2050
ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะที่โลกร้อนขึ้นอีก และตามสัดส่วนจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดตามการคาดการณ์ที่ให้ไว้
ณ ช่วงกลางทศวรรษ 2060
คำถามสำคัญสำหรับมนุษยชาติจะถูกถามอย่างท้าทายว่า
โลกที่ยั่งยืนมีลักษณะอย่างไร? ซึ่งภายใต้คำถามอันยากเย็นแสนเข็ญนี้
พวกเราจะต้องพัฒนาวิธีใหม่ทั้งหมดในการจัดสรรอาหาร การเติมเชื้อเพลิง
และรักษาวิถีชีวิตของพวกเรา ขณะเดียวกันก็จะต้องลดระดับการสะสมตัวของก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศด้วย
พวกเราจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่นขึ้นในเมืองที่ที่มีพื้นที่น้อยลง
ขณะเดียวกันก็จะต้องหาทางลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประชากรที่แออัด รวมถึงการขาดแคลนไฟฟ้า
ปัญหาสุขอนามัย ความร้อนสูงเกินไป มลพิษต่างๆ และโรคติดเชื้อ
อย่างน้อยที่สุดความท้าทายก็คืองานที่จะเอาชนะความคิดที่ว่า
พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนใดดินแดนหนึ่ง และดินแดนที่ว่านั้นเป็นล้วนเป็นดินแดนของพวกเราอย่างไม่สามารถแยกส่วนออกจากกันได้
พวกเราจึงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีความหลากหลายทั่วโลก
อาศัยอยู่ในเมืองใหม่ทางขั้วโลก พวกเราจะต้องมีความพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายอีกครั้ง เมื่อถึงเวลาจำเป็น
และพึงจำไว้ด้วยว่าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุกๆ องศา ผู้คนประมาณ 1 พันล้านคน จะถูกผลักให้เดินทางออกจากเขตที่มนุษย์เคยอาศัยอยู่มานานนับพันปี
พวกเรากำลังหมดเวลาในการจัดการกับกลียุคที่กำลังจะมาถึงก่อนที่มันจะท่วมท้นและถึงแก่ชีวิต
การโยกย้ายไม่ใช่ปัญหา
แต่มันคือทางออก
วิธีที่พวกเราจะใช้จัดการวิกฤตโลกครั้งนี้
และวิธีที่พวกเราจะถือปฏิบัติต่อกันอย่างมีมนุษยธรรมเมื่อพวกเราจำเป็นจะต้องอพยพย้ายถิ่น
เหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในศตวรรษนี้จะดำเนินไปอย่างราบรื่น
หรือเป็นไปด้วยความขัดแย้งที่รุนแรงและการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็น
การจัดการที่ถูกต้องสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ อาจนำไปสู่การสร้างเครือจักรภพใหม่ของมนุษยชาติ
เชื่อได้เลยว่า การย้ายถิ่นคือทางออกของเราจากวิกฤตนี้
การย้ายถิ่นไม่ว่าจะเกิดจากภัยพิบัติเพื่อเดินทางไปสู่พื้นที่ที่มีความปลอดภัย
หรือเพื่อไปยังดินแดนแห่งโอกาสใหม่ ล้วนเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งด้วยความร่วมมือกันของหลายๆ
ฝ่าย การย้ายถิ่นฐานที่เป็นการดำเนินการผ่านความร่วมมืออย่างกว้างขวางของพวกเราเท่านั้นจึงจะสามารถย้ายถิ่นฐานได้อย่างสมบูรณ์
และการย้ายถิ่นของพวกเรานั้นได้หล่อหลอมสังคมโลกในปัจจุบันให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ
มากมาย อย่างไรก็ตาม การอพยพทำให้เอกลักษณ์ประจำชาติและพรมแดนมีความผิดปกติ
แนวคิดในการกีดกันคนต่างชาติออกไปโดยใช้พรมแดนนั้น
ดูเหมมือนว่าจะเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานมานี้ ในอดีตรัฐต่างๆ
เคยเป็นกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการหยุดยั้งไม่ให้ผู้คนของรัฐเดินทางออกไปนอกเขตอธิปไตย
เป็นแบบนั้นมากกว่าการขัดขวางการมาถึงของผู้คนจากภายนอกรัฐ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพวกเขาต้องการแรงงานและภาษี
บางคนอาจคิดว่าธงชาติ เพลงชาติ และกองทัพที่ทำหน้าที่ปกป้องดินแดนของพวกเรานั้น
เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาสำนึกความเป็นชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ควรยกเครดิตให้ระบบราชการที่ประสบความสำเร็จ
การแทรกแซงของรัฐบาลชีวิตของผู้คนมากขึ้นและการสร้างระบบราชการที่เป็นระบบ เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินสังคมอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน
และสิ่งเหล่านี้ยังหล่อหลอมอัตลักษณ์ของชาติในตัวพลเมืองด้วย ตัวอย่างเช่น
ปรัสเซียเริ่มจ่ายผลประโยชน์สำหรับการว่างงานในทศวรรษ 1880 ซึ่งเริ่มจ่ายในหมู่บ้านบ้านเกิดของคนงาน
ซึ่งผู้คนและสถานการณ์ของพวกเขาเป็นที่ทราบกันดี
แต่ก็มีการจ่ายให้กับผู้คนที่พวกเขาอพยพไปทำงานด้วย ซึ่งหมายถึงระบบราชการชั้นใหม่ที่จะกำหนดว่าใครเป็นชาวปรัสเซียและดังนั้นจึงมีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์
ส่งผลให้มีเอกสารสัญชาติและพรมแดนควบคุม เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจควบคุมมากขึ้น
ประชาชนก็ได้รับผลประโยชน์จากภาษีของตนมากขึ้น และมีสิทธิมากขึ้น เช่น
การลงคะแนนเสียง ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐ กลายเป็นชนชาติของพวกเขา
รัฐประชาชาติเป็นโครงสร้างทางสังคมที่อาจประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามตำนานที่ว่าโลกประกอบด้วยกลุ่มที่แตกต่างกันแต่เป็นเนื้อเดียวกัน
ซึ่งครอบครองส่วนต่างๆ ของโลก และอ้างความจงรักภักดีหลักของคนส่วนใหญ่
ความจริงนั้นยุ่งเหยิงยิ่งกว่านั้นมาก คนส่วนใหญ่พูดภาษาของหลายกลุ่ม
และคนส่วนใหญ่มีเชื้อชาติและวัฒนธรรมเป็นบรรทัดฐาน
แนวคิดที่ว่าอัตลักษณ์และความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคลนั้น เชื่อมโยงกับกลุ่มชาติที่คิดค้นขึ้นมานั้นเป็นเรื่องไกลตัว
แม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศจะคาดการณ์ไว้ก็ตาม เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงได้บรรยายรัฐชาติว่าเป็น
‘ชุมชนในจินตนาการ’
ครอบครัวชาวอัฟกันย้ายจากพื้นที่แห้งแล้งในจังหวัดแบกดิสของประเทศในปี
2021 Photograph:
Hoshang Hashimi/AFP/Getty Images
ไม่น่าแปลกใจเลยที่รูปแบบรัฐชาติมักจะล้มเหลว ทำให้มีสงครามกลางเมืองมากมายกว่า
200 ครั้ง
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม
มีตัวอย่างมากมายของรัฐชาติที่ทำงานได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะประกอบด้วยชนกลุ่มต่างๆ
หลากหลาย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และแทนซาเนีย หรือประเทศที่สร้างขึ้นมาจากผู้อพยพทั่วโลก
เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในระดับหนึ่ง
รัฐชาติทั้งหมดได้ก่อตัวขึ้นจากการผสมผสานของกลุ่มต่างๆ
เมื่อรัฐชาติล้มลุกคลุกคลานหรือล้มเหลว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความหลากหลาย แต่ยังขาดความครอบคลุมอย่างเป็นทางการเพียงพอ
โดยเฉพาะความเสมอภาคในสายตาของรัฐ โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจัดอยู่ในกลุ่มใด
รัฐบาลที่ไม่มั่นคงเป็นเพราะรัฐบาลนั้นเป็นพันธมิตรกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ
เมื่อรัฐบาลหันไปสนับสนุนกลุ่มอื่นๆ จึงสร้างความไม่พอใจและเสนอกลุ่มหนึ่งต่อกลุ่มอื่นๆ
ซึ่งส่งผลให้ผู้คนถอยกลับไปหาพันธมิตรที่เชื่อถือได้ตามเครือญาติ
ประชาธิปไตยที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนโดยทั่วไปจะมีเสถียรภาพมากกว่า
แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากระบบราชการที่ซับซ้อน ชาติต่างๆ ที่ได้ดำเนินแนวทางนี้ด้วยวิธีการต่างๆ
เช่น มอบอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่น
ให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงและมีสิทธิ์ในกิจการของตนเองภายในรัฐชาติ อย่างเช่นในกรณีของแคนาดาหรือมณฑลของสวิตเซอร์แลนด์
ประเทศอย่างแทนซาเนียสามารถทำหน้าที่เป็นผสมผสานกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาต่างๆ ภายในชาติ ได้อย่างน้อย 100 กลุ่มชาติพันธุ์และภาษา
ด้วยการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
ในสิงคโปร์ซึ่งมีการบูรณาการประชากรหลายเชื้อชาติอย่างมีสติและรอบคอบ โดยจะพบว่าปฏิสัมพันธ์ของคนในต่างชาติพันธุ์ในชาตินั้น
อย่างน้อยหนึ่งในห้าของการแต่งงานเป็นการข้ามเชื้อชาติ ไม่เหมือนกับลำดับชั้นที่ไม่เป็นธรรมระหว่างกลุ่มทำให้สิ่งนี้ยากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำหนดโดยเสียงข้างมากโดยเสียงข้างน้อย
ในเดือนเมษายน 2021 คริสตี นอเอม ผู้ว่าการรัฐเวาท์ดาโกตา ได้ทวีตข้อความว่า
“เซาท์ดาโคตาจะไม่รับผู้อพยพผิดกฎหมายที่ฝ่ายบริหารของโจไบเดนต้องการจะย้ายเข้ามา
ข้อความของฉันนี้ขอส่งไปถึงผู้อพยพผิดกฎหมาย … โทรหาฉันเมื่อคุณเป็นคนอเมริกัน”
เรื่องนี้คงพอพิจารณาได้ว่าเซาท์ดาโคตามีอยู่ได้เพียงเพราะผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารจำนวนหลายพันคนจากยุโรปใช้พระราชบัญญัติที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี
1860-1920 เพื่อยึดครองที่ดินจากชนพื้นเมืองอเมริกันอย่างไร้จริยธรรม โดยไม่มีค่าชดเชยหรือฟื้นฟู
ทัศนคติแบบผูกขาดจากผู้นำแบบนี้ ทำให้สำนึกของการเป็นพลเมืองร่วมกันอ่อนแอลง
สร้างความแตกแยกระหว่างผู้อยู่อาศัยที่ถือว่าเป็นเจ้าของและผู้ที่ไม่ใช่
การรวมตัวอย่างเป็นทางการโดยระบบราชการแห่งชาติเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการสร้างเอกลักษณ์ของชาติในพลเมืองทุกคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา
แต่มรดกของความอยุติธรรมที่ตกทอดมานานหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษยังคงมีอยู่ทั้งทางสังคม
เศรษฐกิจ และการเมือง
แนวหน้าในสงครามต่อต้านผู้อพยพของยุโรป คือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ซึ่งมีการลาดตระเวนโดยเรือรบอิตาลี ที่ได้รับมอบหมายให้สกัดกั้นเรือขนาดเล็กที่มุ่งหน้าไปยังสหภาพยุโรป
และบังคับให้พวกเขาหันหัวไปยังท่าเรือในลิเบียบนชายฝั่งแอฟริกาเหนือแทน
เรือคาเปรราเป็นเรือรบลำหนึ่งที่ได้รับการชื่นชมจากรัฐมนตรีกิจการภายในของอิตาลี โดยได้กล่าวถึงเรือลำนี้ว่า
เป็นการทำหน้าที่ต่อต้านผู้อพยพและคอยปกป้องความมั่นคงของประเทศด่านหน้าแห่งนี้ ด้วยการสกัดกั้นเรือผู้อพยพมากกว่า
80 ลำ
ซึ่งบรรทุกคนมากกว่า 7 พันคน พร้อมนี้เขายังได้ทวีตและโพสต์ภาพของตัวเองกับทีมงานในปี
2018 ด้วยการเขียนสดุดีวีรกรรมครั้งนี้ว่า ‘ภารกิจเกียรติยศ!’
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตรวจสอบเรือคาเปรราในปีเดียวกันนั้น
ตำรวจพบบุหรี่เถื่อนมากกว่า 7
แสนมวน และสินค้าหนีภาษีอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่ลูกเรือนำเข้ามาจากลิเบียเพื่อขายทำกำไรในอิตาลี
ในการสืบสวนเพิ่มเติม องค์กรที่ลักลอบขนสินค้ากลับพบว่า เกี่ยวข้องกับเรือทหารอีกหลายลำ
‘ผมรู้สึกเหมือนตกลงไปในไฟนรก’ กาเบรียล
การ์กาโน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้นำการสืบสวนกล่าว
กรณีนี้เน้นให้เห็นถึงความไร้เหตุผลที่สำคัญเกี่ยวกับทัศนคติต่อการย้ายถิ่นฐานในปัจจุบัน
การควบคุมการเข้าเมืองถือเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่สำหรับผู้คนแล้ว พวกเขาไม่ใช่สิ่งของ
ความพยายามอย่างมากในการทำให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และเงินข้ามพรมแดนได้
ทุกๆ ปีมีการขนส่งสิ่งของไปทั่วโลกมากกว่า 1.1 หมื่นล้านตัน หรือเทียบเท่ากับ 1.5 ตันต่อคนต่อปี
ขณะที่มนุษย์ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดนี้
ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
ประเทศอุตสาหกรรมที่มีความท้าทายด้านประชากรและการขาดแคลนแรงงานที่สำคัญถูกขัดขวางไม่ให้จ้างแรงงานข้ามชาติที่สิ้นหวังในการทำงาน
ผลพวงจากไฟป่าที่เผาผลาญพื้นที่ป่ากว่า 1 ล้านเฮกตาร์ ในดินแดนครัสโนยาสค์ของไซบีเรียเมื่อปี
2019 Photograph: Donat Sorokin/Tass
ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรระดับโลกที่ดูแลการเคลื่อนย้ายของผู้คนทั่วโลก
รัฐบาลของชาติต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน
แต่นี่กลับกลายเป็นองค์กรอิสระจากองค์การสหประชาชาติ แทนที่จะเป็นหน่วยงานที่แท้จริงขององค์การสหประชาชาติ
รัฐบาลของแต่ละประเทศไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของสมัชชาใหญ่และไม่สามารถกำหนดนโยบายร่วมกันที่จะช่วยให้ประเทศสามารถทำงานเพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ผู้อพยพเป็นผู้นำเสนอเข้ามา
ผู้ย้ายถิ่นมักได้รับการจัดการโดยกระทรวงต่างประเทศของแต่ละประเทศ แทนที่จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน
ดังนั้น การตัดสินใจจึงทำโดยไม่มีข้อมูลหรือนโยบายที่ประสานกันเพื่อจับคู่ผู้คนกับตลาดงาน
เราต้องการกลไกใหม่ในการจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
เพราะท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของพวกเรา
การเจรจาระหว่างกันเกี่ยวกับการโยกย้ายกลายเป็นสิ่งที่ควรได้รับอนุญาต
มากกว่าการวางแผนสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น นานาประเทศจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดในการควบคุมไปสู่การจัดการการย้ายถิ่นฐาน
อย่างน้อยที่สุด เราต้องการกลไกใหม่สำหรับการอพยพและเคลื่อนย้ายแรงงานทางเศรษฐกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย
และการคุ้มครองที่ดีกว่ามากสำหรับผู้ที่หลบหนีอันตราย
ภายในไม่กี่วันหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์
2022 ผู้นำสหภาพยุโรปได้ประกาศใช้นโยบายเปิดพรมแดนสำหรับผู้ลี้ภัยที่หนีความขัดแย้ง
โดยให้สิทธิในการใช้ชีวิตและทำงานข้ามกลุ่มเป็นเวลาสามปี
และช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา การขนส่ง และความต้องการอื่นๆ นโยบายนี้ช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ยิ่งไปกว่านั้น
ด้วยการที่ผู้คนหลายล้านคนไม่ต้องผ่านกระบวนการขอลี้ภัยที่ยืดเยื้อ
ผู้ลี้ภัยจึงสามารถแยกย้ายกันไปยังสถานที่ที่พวกเขาสามารถช่วยตัวเองได้ดีขึ้นและได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนท้องถิ่น
ผู้คนทั่วสหภาพยุโรปรวมตัวกันในชุมชนของตน บนสื่อสังคมออนไลน์ และผ่านสถาบันต่างๆ
เพื่อจัดระเบียบวิธีการรับผู้ลี้ภัย
พวกเขาเสนอห้องพักในบ้านของพวกเขา
รวบรวมเสื้อผ้าและของเล่นที่บริจาค ตั้งค่ายภาษาและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต
ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกกฎหมายเนื่องจากนโยบายเปิดพรมแดน สิ่งนี้ช่วยลดภาระของรัฐบาลกลาง
เมืองเจ้าภาพ และผู้ลี้ภัย
การย้ายถิ่นต้องใช้เงินทุน
การติดต่อ และความกล้าหาญ โดยปกติจะมีความยากลำบากในระดับหนึ่ง
อย่างน้อยก็ในขั้นต้น เนื่องจากผู้คนถูกกีดกันจากครอบครัว สภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย
และภาษา บางประเทศแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะย้ายที่ทำงาน และในบางประเทศ
พ่อแม่ถูกบังคับให้ทิ้งลูกที่อาจไม่มีวันเติบโตเอาไว้เบื้องหลัง เด็กชาวจีนทั้งรุ่นที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
จะได้เห็นหน้าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเพียงหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ปีละครั้งนั้นในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ
ในประเทศจีน ผู้คนหลายร้อยล้านคนติดอยู่ในพื้นที่รกร้างระหว่างหมู่บ้านและเมือง
ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากติดกับดักกฎหมายที่ดินโบราณ รวมถึงการขาดแคลนที่อยู่อาศัยทางสังคม
การดูแลเด็ก โรงเรียน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะอื่นๆ ในเมือง หมู่บ้านเหล่านี้ยังชีพอยู่ได้ด้วยเงินส่งกลับจากแรงงานที่ขาดงาน
ซึ่งพวกเขาไม่สามารถขายที่นาของตนได้ เพราะกลัวว่าจะสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันทางสังคมเพียงอย่างเดียวของพวกเขา
เด็กที่ถูกทิ้งและถูกแยกตัวออกไปจะได้รับการดูแลจากญาติสูงวัยของพวกเขาเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติไม่มีความสามารถที่จะซื้อบ้านในเมืองได้ พวกเขาจึงต้องกลับไปที่หมู่บ้านเมื่อเกษียณอายุ
และเริ่มต้นวงจรแบบนี้ใหม่อีกหลายรอบ
ในกรณีอื่นๆ ผู้ย้ายถิ่นจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าธรรมเนียมต่างๆ
จำนวนมหาศาลให้กับนักค้ามนุษย์ เพื่อเป็นใบเบิกทางให้สามารถเดินทางไปทำงานในเมืองหรืองานต่างประเทศ
เพียงเพื่อจะให้ได้พบว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ดีกว่าการเป็นทาสเล็กน้อย
โดยทำงานตามสัญญาของพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะได้หนังสือเดินทางคืนและกลับบ้าน เงินจำนวนเล็กน้อยที่พวกเขาหาได้จะถูกส่งกลับบ้าน
ซึ่งรวมถึงคนงานก่อสร้างชาวเอเชียและคนทำงานบ้านในตะวันออกกลางและยุโรปด้วยที่ได้รับการคุ้มครองเพียงเล็กน้อย
และอาจจบลงด้วยการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมทางเพศ หรือในสภาพที่ไร้มนุษยธรรมในโรงงานแปรรูปอาหารหรือเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่พยายามปรับปรุงชีวิตของพวกเขา เช่นเดียวกับพวกเราทุกคน
โดยการย้ายถิ่นฐาน บางคนอพยพเพื่อช่วยชีวิตพวกเขา
กายา วินเซอ เล่าว่าเคยไปเยี่ยมผู้คนในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ
ทั่วทั้งสี่ทวีป ในสถานที่เหล่านั้นที่ผู้คนนับล้านอาศัยอยู่ภายในพื้นที่กักบริเวณเป็นระยะเวลาที่ไม่แน่นอนเพื่อรอการตัดสินใจหรือการลงมติอย่างมีเงื่อนไข
บางครั้งบางทีพวกเขาอยู่ที่นั่นมาหลายชั่วอายุคนแล้วด้วยซ้ำ
ไม่ว่าค่ายผู้ลี้ภัยจะเต็มไปด้วยชาวซูดาน ชาวทิเบต ชาวปาเลสไตน์ ชาวซีเรีย
ชาวซัลวาดอร์ หรือชาวอิรัก ปัญหาก็เหมือนกัน ผู้คนล้วนต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
ซึ่งหมายถึงการได้มีโอกาสใช้ความสามารถในการหาเลี้ยงครอบครัว ได้รับอนุญาตให้ทำงาน
ย้ายไปมา และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ในปัจจุบัน มีหลายชาติที่ขอพรแบบนี้
แม้ว่าจะดูเรียบง่ายและเป็นประโยชน์ร่วมกันก็ตาม แต่โอกาสเป็นไปได้กลับมีน้อยมากสำหรับผู้ที่ต้องการมากที่สุด
เมื่อสภาพแวดล้อมของพวกเราเปลี่ยนไป
ความเสี่ยงอีกนับล้านที่จะจบลงในสถานที่เหล่านี้ ทั่วโลก ระบบปิดพรมแดนและนโยบายการย้ายถิ่นที่ไม่เป็นมิตรนี้
ทำงานอย่างผิดปกติและไม่ได้ทำงานเพื่อประโยชน์ของใคร
พวกเรากำลังพบเจอการพลัดถิ่นของมนุษย์ในระดับสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
และปรากฏการณ์แบบนี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ในปี 2020 ผู้ลี้ภัยทั่วโลกมีเกิน 100 ล้านคน จำนวนนี้มีเพิ่มขึ้นอีกสามเท่า
นับตั้งแต่ปี 2010 และครึ่งหนึ่งของผู้อพยพเหล่านี้เป็นเด็ก
ซึ่งหมายความว่า 1 ใน 78 คนบนโลก ถูกบีบบังคับให้ต้องหนี
ผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนเป็นทางการเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผู้ที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านเนื่องจากสงครามหรือภัยพิบัติ
นอกเหนือจากนี้ ยังมีผู้อพยพที่ยังไม่มีเอกสารถึง
350 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่าในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีจำนวนสูงอย่างน่าประหลาดใจถึง
22 ล้านคน ทั้งหมดนี้รวมถึงแรงงานนอกระบบและผู้ที่ย้ายไปตามเส้นทางโบราณที่ข้ามพรมแดนของประเทศ
คนเหล่านี้พบว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ อาศัยอยู่ชายขอบ
และไม่ได้รับประโยชน์จากระบบสนับสนุนทางสังคม
ตราบใดที่ประชากร 4.2 พันล้านคน ยังต้องอยู่อย่างยากจน และช่องว่างทางรายได้ระหว่างประเทศมั่งคั่งกับประเทศยากจนยังคงเพิ่มขึ้น
ผู้คนจะต้องย้ายถิ่นฐาน
และผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศจะได้รับผลกระทบอย่างไม่สมส่วน
ประเทศต่างๆ มีพันธกรณีในการเสนอที่ลี้ภัยให้กับผู้ลี้ภัย
แต่ภายใต้คำนิยามทางกฎหมายของผู้ลี้ภัยซึ่งเขียนไว้ในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี 1951
ไม่รวมถึงผู้ที่ต้องออกจากบ้านเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
สิ่งต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไป แม้ว่าการตัดสินที่สำคัญในปี
2020 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตัดสินว่าไม่สามารถส่งผู้ลี้ภัยจากสภาพอากาศกลับบ้านได้
หมายความว่า รัฐจะละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน หากดำเนินการส่งคนกลับประเทศที่เผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
เพราะชีวิตของพวกเขาจะต้องตกอยู่ในอันตราย อย่างไรก็ตาม
คำตัดสินของคณะกรรมการไม่มีผลผูกพันระหว่างประเทศ
ทุกวันนี้ ผู้พลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภูมิอากาศมีราว
50 ล้านคน นับได้ว่ามีจำนวนมากกว่าผู้ที่หลบหนีการประหัตประหารทางการเมือง
ความแตกต่างระหว่างผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทางเศรษฐกิจนั้นแทบจะแยกไม่ออกอย่างชัดเจน
และยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่การทำลายล้างครั้งใหญ่ของพายุเฮอริเคนที่พัดถล่มหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านสามารถทำให้ผู้คนลี้ภัยได้ในชั่วข้ามคืน
แต่บ่อยครั้งที่ผลกระทบของสภาพอากาศแปรปรวนต่อชีวิตของผู้คนนั้นค่อยเป็นค่อยไป การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ดีอีกครั้งหรืออีกฤดูที่ร้อนจนทนไม่ได้
ซึ่งกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา/วิกฤตที่ผลักดันให้ผู้คนแสวงหาทำเลที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวที่ดีกว่า
อย่างไรก็ดีสิ่งนี้ควรให้เวลาโลกในการปรับตัวให้เข้ากับการอพยพจำนวนมากที่จะมาถึง
นั่นคือ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศขั้นสูงสุด ทางกลับกัน
ในขณะที่สภาพแวดล้อมมีอันตรายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกกลับใช้จ่ายมากขึ้นในการเสริมกำลังทหารบริเวณพรมแดนของตน
สร้างกำแพงกั้นความเดือนร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate
wall) - มากกว่าที่พวกเขาพึงกระทำในภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ
การเติบโตของศูนย์กักกันและการประมวลผลนอกชายฝั่งสำหรับผู้ขอลี้ภัยไม่เพียงเพิ่มยอดผู้เสียชีวิตเท่านั้น
แต่ยังเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่น่าชิงชังที่สุดของความล้มเหลวของประเทศที่ร่ำรวยในการบรรเทาผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคที่ยากจนที่สุด
พวกเราต้องพากันตื่นตัวต่อการสร้างลัทธิใหม่ที่เรียกว่า ‘ชาตินิยมสภาพภูมิอากาศ’ (climate nationalists) ซึ่งต้องการสนับสนุนการจัดสรรดินแดนที่ปลอดภัยกว่าในโลกของพวกเราอย่างไม่เท่าเทียมกัน
นี่เป็นวิกฤตระดับดาวเคราะห์ที่ต้องการข้อตกลงการอพยพย้ายถิ่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก
แต่ในเวลาเดียวกัน ข้อตกลงการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีระดับภูมิภาคในแบบที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปปฏิบัติอย่างน่าชื่นชม
จะสามารถช่วยได้ ข้อตกลงดังกล่าวช่วยให้ผู้อยู่อาศัยในหมู่เกาะแคริบเบียนที่ประสบภัยพิบัติสามารถหาที่หลบภัยได้อย่างปลอดภัย
ความเป็นจริงแล้วผู้คนส่วนใหญ่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เพียงแต่ว่าเป็นนโยบายบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนของพวกเราเท่านั้น ที่จะกลายเป็นอาวุธสังหารผู้ฆ่าคน
และเมื่อการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์จำนวนมากในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
กำลังจะเกิดขึ้น และจะครอบงำศตวรรษนี้ทั้งศตวรรษ นี่จึงอาจเป็นหายนะ หรือหากมีการจัดการให้ดีได้
ก็อาจเป็นทางรอดของพวกเรา
สามเดือนต่อมา กาญ่า วินเซอ อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องวางแผนจัดการแบบใหม่ในบทความเรื่อง
‘Is the world ready for
mass migration due to climate change?’ ในบีบีซีออนไลน์
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2022 โดยย้อนกลับไปถึงอดีตของตัวเองว่า ชีวิตวัยเด็กเธอหมกมุ่นอยู่กับแผนที่มาตั้งแต่ครั้งแรก
เธอค้นหาทิศทางของเขาในป่า ‘ฮันด์เรด เอเคอร์ วู้ด’ ของหมีพูวินนี
โดยพยายามค้นหาว่าที่ไหนเหมาะสำหรับปิคนิค รวมถึงค้นหาตำแหน่งบ้านของตัวละครแต่ละตัว วัยเด็กจึงหมดไปกับการเรียนและวาดแผนที่ขุมทรัพย์ วาดแผนที่ดินแดนในจินตนาการ และวางแผนเส้นทางไปยังสถานที่ห่างไกลที่อยากจะเดินทางไป
ทุกวันนี้ บ้านของวินเซอเต็มไปด้วยแผนที่ที่เก็บรวบรวมเองหรือไม่ก็ได้รับมาจากคนอื่นๆ
เธอบอกว่า นี่เองที่เป็นการย้ำเตือนถึงสถานที่ที่มีความพิเศษมากๆ จนทำให้เธอสนใจอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
รวมถึงข้างๆ โต๊ะทำงานก็ยังมีแผนที่โลกขนาดใหญ่ แสดงพื้นที่ของทวีปต่างๆ
ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากมหาสมุทรด้วยโมเสกหลากสี แต่ละแถบสี คือ ประเทศที่แยกจากเพื่อนบ้านด้วยเส้นที่วาดอย่างประณีตบนการแสดงสองมิติของโลกของเรา
พรมแดนถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน น้ำหมึกทำหน้าที่แบ่งแยกเชื้อชาติที่มีชะตากรรมแตกต่างกันออกจากกัน
สำหรับวินเซอแล้วแนวเส้นกั้นเขตพรมแดนเหล่านี้มันช่างแสดงถึงความเป็นไปได้ที่น่าตื่นเต้น
พร้อมๆ กับมีศักยภาพชวนให้ทำการสำรวจและผจญภัยเป็นอย่างยิ่ง การเดินทางผ่านเข้าไปเยี่ยมชมวัฒนธรรมต่างประเทศ
ทั้งอาหาร ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ภายใต้แนวที่เปรียบเป็นเหมือนกับกำแพงคุกที่คอยทำหน้าที่จำกัดความเป็นไปได้ทั้งหมดเอาไว้ในนั้น
พรมแดนเป็นเส้นกำหนดชะตากรรม กำหนดอายุขัย ระบุตัวตนของเรา และอื่นๆ
อีกมากมาย ถึงกระนั้นพรมแดนก็ยังคงเป็นสิ่งประดิษฐ์เช่นเดียวกับแผนที่ที่พวกเราเคยบรรจงวาดมันขึ้นมา
พรมแดนไม่ได้มีอยู่จริงในภูมิประเทศที่เปลี่ยนรูปไม่ได้ พรมแดนไม่ใช่ส่วนที่เป็นธรรมชาติของโลก
แต่พรมแดนเพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
อย่างไรก็ตาม
เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเส้นจินตภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับโลกในศตวรรษที่ 21 ที่มีประชากรเพิ่มสูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีมากขึ้นทุกวันๆ รวมถึงภาวะการขาดแคลนทรัพยากรที่เกิดความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
อันที่จริง
แนวคิดในการกีดกันคนต่างชาติออกไปโดยใช้พรมแดนนั้นค่อนข้างจะเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้
รัฐต่างๆ
เคยเป็นกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการหยุดไม่ให้ผู้คนออกไปมากกว่าการขัดขวางการเข้ามาถึง
พวกเขาต้องการแรงงานและภาษี และการย้ายถิ่นฐานยังคงสร้างปัญหาปวดหัวให้กับหลายรัฐ
อย่างไรก็ตาม พรมแดนของมนุษย์ที่แท้จริงไม่ได้ถูกกำหนดโดยการเมืองหรืออำนาจอธิปไตยของชาติพันธุ์ด แต่กำหนดขึ้นมาโดยคุณสมบัติทางกายภาพของโลก พรมแดนบนดาวเคราะห์สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเราๆ เหล่านี้ ถูกกำหนดโดยลักษณะทางภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่นตัวอย่างที่ว่ามนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในทวีปแอนตาร์กติกาหรือในทะเลทรายซาฮารา เป็นต้น เมื่ออุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และสภาพอากาศที่รุนแรงในทศวรรษหน้า พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดจะยากต่อการอยู่อาศัยมากขึ้น ทั้งพื้นที่ที่เป็นชายฝั่ง รัฐที่เป็นเกาะ และเมืองใหญ่ในเขตร้อน สถานที่เหล่านั้นจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดตามการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ
เมื่อไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่รุนแรงขึ้นได้
ผู้คนนับล้านหรืออาจจะหลายพันล้านคนก็จะต้องย้ายถิ่น
พรมแดนมักเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว
แต่ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? (Credit: Nicolas Economou/Getty Images)
พื้นที่บนโลกส่วนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดกระจุกตัวอยู่รอบๆ
เส้นขนานที่ 25-26 ทางเหนือ
ซึ่งแต่เดิมเป็นละติจูดที่มีสภาพอากาศสบายที่สุด และผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การผลิตอาหาร
ผู้คนทั้งหมดประมาณ 279 ล้านคน อัดแน่นกันอาศัยอยู่ในบริเวณผืนแผ่นดินเล็กๆ
แห่งนี้ ซึ่งตัดผ่านประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ จีน สหรัฐอเมริกา
และเม็กซิโก
แต่เงื่อนไขของบริเวณแถบนี้กำลังจะเปลี่ยนไป โดยเฉลี่ยแล้ว ภูมิอากาศที่เหมาะเฉพาะ (nitch
climate) ซึ่งเป็นช่วงของเงื่อนไขที่ชนิดพันธุ์ต่างๆ จะสามารถอยู่ได้ตามปกติทั่วโลกจะเคลื่อนที่ขึ้นไปทางขั้วโลกด้วยอัตราความเร็ว 1.15 เมตรต่อวัน แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ที่เคลื่อนที่เร็วกว่านั้นมากก็ตาม ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ซึ่งหมายถึงการไล่ตามพื้นที่เฉพาะส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงของเราเอง ซึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในช่วงอุณหภูมิ -11°C ถึง 15°C (12°F ถึง 59°F) ขณะที่เขตพื้นที่เฉพาะนี้อพยพขึ้นไปทางเหนือจากแนวศูนย์สูตร ขีดจำกัดความน่าอยู่ที่แท้จริง (livability limits) คือ
พรมแดนที่เราต้องกังวลในขณะที่โลกร้อนขึ้นในศตวรรษนี้ อันจะนำมาซึ่งความร้อนที่รุนแรงจนไม่อาจทนได้ ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ และการกัดเซาะชายฝั่ง
ทำให้ไม่วามารถทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารได้
และทำให้ผู้คนต้องกลายสภาพเป็นคนพลัดถิ่น
มีการบันทึกจำนวนผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านทุกปีๆ ที่ผ่านไป
โดยปี 2021 มีประชากรผู้ถูกบีบบังคับให้ย้ายถิ่นออกไปราว
89.3 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเทียบจากเมื่อ 10
ปีที่แล้ว และในปี 2022 ประชากรที่อพยพย้ายถิ่นมีจำนวนสูงถึง
100 ล้านคน
ภัยพิบัติจากสภาพอากาศทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องพลัดถิ่นมากกว่าความขัดแย้ง
อุทกภัยทำให้ชาวปากีสถาน 33 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นในปี 2022
ที่ผ่านมานี้
ขณะที่อีกนับล้านในแอฟริกาได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและภัยจากความอดอยาก ตั้งแต่พื้นที่ที่เป็นดินแดนจะงอยแอฟริกาไปจนถึงชายฝั่งตะวันตกของทวีป
นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ร้องขอต่อผู้นำระดับโลกในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
COP27 ให้ดำเนินการอย่างกล้าหาญเพื่อจัดการกับผลกระทบด้านมนุษยธรรมของภาวะโลกร้อน
การเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต้องเป็น ‘การเปลี่ยนแปลง’ ตามหลักการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
โดยกรันดีกล่าวว่า ‘เราไม่สามารถปล่อยให้ผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนและพวกเขาที่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม
ต้องเผชิญกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเพียงลำพัง’
หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ผู้คนหลายร้อยล้านคนจะต้องออกจากบ้านภายในปี
2050 ตามการประมาณการบางอย่าง การศึกษาเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะเฉพาะของมนุษย์ เรื่อง
‘Future of the human
climate niche’ ของซู
โคห์เลอร์ เลนตัน และเชฟเฟอร์ (Xu, Kohler, Lenton
& Scheffer 2020) ที่ได้คาดการณ์เอาตามสถานการณ์การเติบโตของประชากรและภาวะโลกร้อนว่าปี 2070 ‘ประชากรจำนวนหนึ่งถึงสามพันล้านคน จะถูกทิ้งให้อยู่นอกเขตภูมิภาคที่มีสภาพอากาศเหมาะสมสำหรับมนุษยชาติ
ที่พวกเขาเคยอาศัยอยู่มาตลอด 6,000 ปีที่ผ่านมา’
ด้วยการมีผู้คนจำนวนมากที่จะต้องเคลื่อนย้าย อันนี้หมายความว่า พรมแดนทางการเมืองที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างชัดเจน เพื่อความมั่นคงของชาติ
พรมแดนดังกล่าวนี้จะไร้ความหมายมากขึ้นหรือไม่ ? ภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางสังคม
ทำให้ความมั่นคงของชาติที่อยู่รอบๆ แคบลง และคลื่นความร้อนได้คร่าชีวิตผู้คนมากกว่าผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในสงครามแล้ว
เมื่อรวมเข้ากับสิ่งที่กล่าวมาแล้วนี้
การที่ประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยากจน
ดูเหมือนว่าประชากรในแอฟริกาจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเกือบสามเท่าภายในปี 2100 และแม้ว่าภูมิภาคอื่นๆ จะเติบโตช้ากว่านั้นก็ตาม ซึ่งหมายความว่า
จะมีผู้คนจำนวนมากขึ้นในพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด
ภูมิภาคที่มีภัยแล้งและภัยพิบัติจากพายุ ผู้คนจำนวนมากที่ต้องการอาหาร น้ำ พลังงาน
ที่อยู่อาศัย และทรัพยากร สิ่งเหล่านี้จะหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน ประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นประเทศร่ำรวย
พวกเขาก็กำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร (demographic crisis) ซึ่งมีทารกน้อยไม่เพียงพอที่จะรองรับประชากรสูงอายุ
การย้ายถิ่นฐานที่มีการจัดการที่ดีสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในโลกหลายปัญหา
ช่วยลดจำนวนผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ภายใต้ภาวะความยากจนและการทำลายล้างของสภาพภูมิอากาศ
รวมถึงจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศที่มั่งคั่งด้วยการสร้างกำลังแรงงานทดแทนที่ขาดได้เป็นอย่างดี
แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ระบบการจัดการพรมแดนที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ กลายเป็นข้อจำกัดอย่างมากสำหรับการเคลื่อนย้าย
ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นมาโดยรัฐบางรัฐหรือโดยรัฐที่ต้องการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตรงนั้น
ความจริงแล้วทุกวันนี้ ประชากรทั่วโลกกว่าร้อยละ 3 เป็นผู้อพยพข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม
แรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมราวร้อยละ 10 ของผลผลิตมวลรวมของโลก หรือคิดเป็น 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่พวกเขาจะผลิตได้ในประเทศต้นทางราวการอพยพถึง
3 ล้านล้านดอลลาร์ มิชาเอล เกลมองส์
นักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์พัฒนาโลก (Center
for Global Development) คำนวณว่า การเปิดให้มีการย้ายถิ่นอย่างเสรีสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตมวลรวมโลกได้มากถึงสองเท่า
นอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษาแสดงให้เห็นว่า
การย้ายถิ่นจะช่วยปรับปรุงนวัตกรรม
ในเวลาที่เราต้องแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การย้ายถิ่นอาจเป็นเพียงสิ่งที่จำเป็นที่จะสามารถนำเอาประสบการณ์ของผู้คนที่ย้ายถิ่นเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหราชอาณาจักรสนับสนุนการอพยพจากประเทศในเครือจักรภพ
เพื่อช่วยชดเชยการขาดแคลนแรงงาน (Credit: Haywood
Magee/Hulton Archive/Getty Images)
การลบเส้นพรมแดนหรือทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกระแสแรงงานข้ามชาติ
มีศักยภาพในการปรับปรุงความยืดหยุ่นของมนุษยชาติต่อความเครียดและความตื่นตระหนกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
เชื่อได้อย่างมั่นใจว่า ด้วยการจัดการที่ดี การย้ายถิ่นจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
จะเป็นอย่างไรหากพวกเราคิดว่าโลกเป็นเครือจักรภพของมนุษยชาติทั่วโลก
ซึ่งผู้คนมีอิสระที่จะย้ายไปที่ไหนก็ได้ที่พวกเขาต้องการ
พวกเราต้องการกลไกใหม่ในการจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
เพราะท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเรา
มีข้อตกลงการค้าระดับโลกที่หลากหลายอยู่แล้วสำหรับการเคลื่อนย้ายทรัพยากรและผลิตภัณฑ์อื่นๆ
แต่มีเพียงไม่กี่รายที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ประมาณร้อยละ 60
ของประชากรโลกมีอายุต่ำกว่า 40 ปี
ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ (และกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ) มีอายุต่ำกว่า 20
ปี และพวกเขาจะเป็นผู้สร้างประชากรส่วนใหญ่ของโลกไปตลอดช่วงที่เหลือของศตวรรษนี้
คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่หางานทำด้วยความกระตือรือร้นจำนวนมากเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะอยู่ในกลุ่มที่จะเคลื่อนย้ายตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จึงเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้
หรือว่าพวกเราจะปล่อยให้ความสามารถพิเศษของพวกเขาจะสูญเปล่าไป?
การสนทนาเกี่ยวกับการย้ายถิ่นว่าควรจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องได้รับอนุญาต มากกว่าที่เป็นเพียงแค่การวางแผนตอบสนองสิ่งที่จะกำลังเกิดขึ้น ประเทศต่างๆ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแนวคิดในการควบคุมการย้ายถิ่นไปสู่แนวคิดในการจัดการการย้ายถิ่น อย่างน้อยที่สุด ก็จะมีต้องการกลไกใหม่สำหรับรองรับการอพยพและเคลื่อนย้ายแรงงานทางเศรษฐกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการคุ้มครองที่ดีกว่าเดิมสำหรับผู้ที่หลบหนีอันตราย ทุกคนสามารถได้รับสัญชาติอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติ
นอกเหนือจากสัญชาติโดยกำเนิด สำหรับบางคน เช่น ผู้ที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัย ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนเอกสาร หรือพลเมืองของรัฐที่เป็นเกาะเล็กๆ ที่จะต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐลงในศตวรรษนี้ การเป็นพลเมืองของสหประชาชาติอาจเป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาจะได้รับการยอมรับ และได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ แม้ว่าการเป็นพลเมืองที่มีสิทธิมนุษยชนจะสามารถออกหนังสือเดินทางได้ที่ด้านหลังนี้ก็ตาม
อย่างไรก็ดี เดวิด เฮลด์ (Held
& McCraw 1998) นักทฤษฎีการเมือง ยืนยันต่อเรื่องนี้ว่า
พวกเราเติบโตขึ้นเกินเขตแดนของประเทศของพวกเรา ผ่านกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทวีกำลังเพิ่มมากขึ้น
และตอนนี้กำลังอาศัยอยู่ใน
‘ชุมชนแห่งชะตากรรมที่ทับซ้อนกัน’ (overlapping communities of fate) จากที่ที่พวกเราควรสร้างประชาธิปไตยที่เป็นสากลในระดับโลก ทุกวันนี้ พวกเรากำลังประสบกับวิกฤตการณ์ของดาวเคราะห์ และเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะเห็นตัวเราเป็นสมาชิกของกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่กระจายไปทั่วโลก ที่ต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอด ขนาดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องการความร่วมมือระดับโลกแบบใหม่
นอกจากนี้เฮลด์ยังเชื่ออีกว่า การเป็นพลเมืองระหว่างประเทศแบบใหม่กับองค์กรระดับโลกเพื่อการย้ายถิ่นฐานและสำหรับชีวมณฑล หน่วยงานใหม่ที่จ่ายภาษีของเราและรัฐชาติต้องรับผิดชอบ
ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติไม่มีอำนาจบริหารเหนือรัฐชาติ แต่อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากพวกเราต้องการลดอุณหภูมิโลก
ลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
ธรรมาภิบาลระดับโลกยังมีประโยชน์ในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานนอกสถานที่จำนวนมหาศาล
ซึ่งอาจใช้ระบบโควตาระหว่างประเทศเพื่อช่วยจัดสรรคนให้อยู่ในตำแหน่งระหว่างการอพยพย้ายถิ่นของสภาพอากาศจำนวนมากในศตวรรษนี้ แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากระบบราชการ การคอร์รัปชั่น
และการล็อบบี้ขององค์กรที่มีอำนาจต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนธรรมาภิบาลระดับโลก
จำเป็นต้องมีรัฐที่เข้มแข็งด้วย ความตึงเครียดระหว่างความปรารถนาและความต้องการของบุคคลและสังคมนั้น
เป็นเรื่องจริงสำหรับพวกเราทุกคน และยากมากที่จะสร้างปรองดองกันได้
เมื่อสังคมของพวกเราเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่เกาะตัวกันแน่นแฟ้น
ไม่ต้องพูดถึงประชากรของโลกทั้งใบ
เป็นเรื่องยากที่ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้มีอำนาจจะหันมาสนใจเกี่ยวกับคนแปลกหน้าที่ไร้ชื่อและไร้ความคุ้นเคยใบหน้าในประเทศที่พวกเราไม่เคยเดินทางไป
เมื่อต้องเลือกเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองในเมืองที่อยู่ห่างจากพวกเขาหลายพันไมล์
จึงเป็นการยากที่คนส่วนใหญ่จะสามารถสร้างความสมดุลให้กับความต้องการของคนแปลกหน้าที่อยู่ห่างออกไป
รัฐชาติที่ประสบความสำเร็จช่วยจัดการสิ่งนี้ด้วยโครงสร้างและสถาบันที่รับประกันระดับความร่วมมือที่มีประโยชน์ระหว่างคนแปลกหน้าซึ่งหล่อเลี้ยงสังคมที่เข้มแข็งซึ่งเราทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้
พวกเราเต็มใจเสียสละเวลา พลังงาน และทรัพยากรเล็กๆ น้อยๆ ทุกวันในฐานะปัจเจกบุคคล
เช่น การจ่ายภาษี เพื่อให้แน่ใจว่าสังคมของเราดำเนินไป
พวกเราส่วนใหญ่ทำสิ่งนี้เพราะเป็นสังคมของเรา ครอบครัวของเรา รัฐชาติของเรา
การคิดค้นรัฐชาติเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่งในการช่วยให้พวกเราเพื่อนร่วมชาติร่วมมือกันได้เป็นอย่างดี
ดังที่เดวิด มิลเลอร์ นักทฤษฎีการเมืองกล่าวไว้ว่า ‘ประเทศชาติ คือ
ชุมชนที่ทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน’
ดูเหมือนจะไม่เป็นการฉลาดนัก
ที่จะพยายามรื้อหรือละทิ้งระบบภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ของพวกเราในเวลาอันสั้น
พวกเราจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการหยุดชะงักครั้งใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในศตวรรษนี้
รัฐชาติที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะสามารถจัดตั้งระบบการปกครองที่จะช่วยให้เผ่าพันธุ์ของเราอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รัฐชาติที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะสามารถจัดการการเคลื่อนย้ายจำนวนมหาศาลของผู้อพยพจากภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปยังประชากรพื้นเมือง
น้ำท่วมในบังกลาเทศ
อินเดีย และปากีสถาน ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นในปี 2022 (Credit: Biju Boro/AFP/Getty Images)
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
การเติบโตอย่างรวดเร็วและรุนแรงของโลกาภิวัตน์ได้นำไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น
พลเมืองของลอนดอนมักจะรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดากับพลเมืองของอัมสเตอร์ดัมหรือไต้หวัน
ความรู้สึกแบบนั้นมีมากกว่ากับการมีต่อคนที่มาจากเมืองชนบทเล็กๆ ในอังกฤษ
สิ่งนี้อาจไม่สำคัญสำหรับชาวเมืองที่ประสบความสำเร็จหลายคน แต่ชาวพื้นเมืองในพื้นที่ชนบทอาจรู้สึกว่าถูกทิ้งโดยประเทศของตนเมื่ออุตสาหกรรมที่โดดเด่นลดลง
และพื้นที่ทางสังคมและประเพณีวัฒนธรรมลดน้อยลง
สิ่งนี้สร้างความขุ่นเคืองและความหวาดกลัวที่อาจนำไปสู่อคติต่อผู้อพยพดังที่เห็นได้ในหลายส่วนของสหราชอาณาจักรระหว่างการอภิปรายเรื่องการออกจากประชาคมยุโรปหรือเบร็กซิต
พรมแดนเปิดไม่ได้หมายความว่าไม่มีพรมแดนหรือการล้มล้างรัฐชาติ
อาจจำเป็นต้องสำรวจรัฐชาติประเภทต่างๆ พร้อมตัวเลือกการปกครองที่แตกต่างกัน
รัฐที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดจะซื้อหรือเช่าพื้นที่ในที่ปลอดภัยกว่าหรือไม่? หรือเราจะเห็นเมืองในกฎบัตรที่ดำเนินการภายใต้เขตอำนาจศาลและกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปยังดินแดนที่อยู่รอบๆ
หรือรัฐลอยน้ำ (floating states) ที่สร้างอาณาเขตใหม่บนคลื่น?
จะต้องทำงานเพื่อสร้างแนวคิดของรัฐชาติขึ้นใหม่ เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น
เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็เป็นไปเพื่อหล่อหลอมเครือข่ายทั่วโลกที่กว้างขวางและเท่าเทียมมากขึ้น
มีประโยชน์มากมายในการส่งเสริมให้คนธรรมดาสามัญ เครือญาติกับเพื่อนของเราโดยอิงจากโครงการทางสังคมที่ใช้ร่วมกัน
ภาษาและวัฒนธรรมของเรา
คุณลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญต่อผู้คนมากพอที่จะทำให้ความรักชาติเป็นแหล่งเอกลักษณ์ที่ทรงพลัง
เหตุใดจึงไม่สร้างความรู้สึกรักชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอากาศ
ผืนดิน และผืนน้ำของชาติเราเข้าไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนดูแลธรรมชาติเหล่านี้? แนวทางหนึ่งเนื่องจากเราทุกคนเผชิญกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม
อาจใช้กองทัพและสถาบันความมั่นคงอื่นๆ ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริการระดับชาติสำหรับพลเมืองอายุน้อยและผู้อพยพเพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ
การฟื้นฟูธรรมชาติ
ความพยายามด้านการเกษตรและสังคมอาจเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
และพวกเราอาจจำเป็นต้องฟื้นฟูหรือคิดค้นประเพณีประจำชาติใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมหรือสังคม
ซึ่งพลเมืองสามารถรู้สึกภาคภูมิใจและเคารพร่วมกันได้
สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงกลุ่มสังคมและสโมสรที่ร้องเพลง สร้างสรรค์
เล่นกีฬาหรือแสดงร่วมกัน และสมาชิกสามารถเป็นสมาชิกได้ตลอดชีวิต
ประเพณีเหล่านี้สามารถช่วยรักษาศักดิ์ศรีในช่วงเวลาที่ยากลำบากและให้ความหมายความรักชาติแก่ผู้อพยพที่จะซึมซับ
เรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักชาติแนวใหม่อาจเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมของพลเมือง
โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม สิทธิและหน้าที่
และความผูกพันทางวัฒนธรรมอันแรงกล้าต่อธรรมชาติ
และการปกป้องและอนุรักษ์สถานที่สำคัญของชาติ (หรือระหว่างประเทศ)
ตัวอย่างเช่น ชาวคอสตาริกายอมรับคำว่า pura vida ซึ่งมีความหมายอย่างกว้างๆ ว่า ‘ชีวิตที่ดี’ ในฐานะที่เป็นความเชื่อ เป็นมนต์ และอัตลักษณ์ร่วมของคนทั้งชาติ พวกเขาเริ่มให้และแพร่หลายตั้งแต่ปี 1970 เมื่อผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้งรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัวเตมาลา นิการากัว และเอลซัลวาดอร์ ย้ายถิ่นฐานมายังประเทศนี้เป็นจำนวนมาก คอสตาริกาเป็นประเทศเล็กๆ ในอเมริกากลางที่ไม่มีกองทัพประจำการ แต่แทนที่จะลงทุนอย่างมหาศาลในการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่ไปกับบริการสังคม เช่น สุขภาพและการศึกษา แต่พวกเขาใช้มุมมองเกี่ยวกับชีวิตแบบนี้เพื่อช่วยกำหนดลักษณะนิสัยและการอยู่ร่วมรวมกันกับผู้อพยพเข้ามาใหม่
‘บุคคลที่เลือกใช้วลีนี้
ไม่ใช่เพียงแค่กล่าวถึงอุดมการณ์และอัตลักษณ์ที่มีร่วมกันนี้เท่านั้น
แต่ยังได้สร้างอัตลักษณ์แบบนั้น
ด้วยการแสดงออกมาให้เห็นเป็นประจักษ์กันอย่างชัดเจน’ แอนนา มาเรีย เทรสเตอร์
มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค (Trester 2003) ให้ความกระจ่างต่อเรื่องนี้
พร้อมทั้งบอกอีกว่า ‘ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการสร้างตัวตน’
เป็นวิธีใหม่ในการมองความภาคภูมิใจของชาติ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการมองว่า ‘คนของเรา’ ดีกว่าชาติอื่น และไม่ได้หมายถึงการรวมศูนย์ของความหมายและอำนาจ แต่สามารถเกี่ยวข้องกับการละทิ้งประเพณีและการเห็นคุณค่าของภูมิภาคและคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างมหาศาลของพลเมืองใหม่ สหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างของอัตลักษณ์เหนือชาติ (supranational identity) ที่ช่วยให้พลเมืองรู้สึกว่าตนเป็นชาวยุโรป
และระบุตัวตนด้วยค่านิยมของสหภาพยุโรป แต่ยังไม่ต้องละทิ้งเอกลักษณ์ประจำชาติของตน
แนวคิดที่คล้ายกันนี้ สามารถนำไปใช้ภายในประเทศและระหว่างพวกเขาได้
ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร
ไชน่าทาวน์ในลอนดอนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้มาเยี่ยมชมมากพอสมควร
เช่นเดียวกับย่านลิตเติ้ลอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ของประเทศ
แม้ว่าชาวอังกฤษเชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดียมักเผชิญกับอคติและข้อเสียเปรียบทางสังคมเศรษฐกิจ
เพื่อให้ได้รับความภาคภูมิใจในชาติ
แทนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากการแตกแยกของชนเผ่า ประเทศต่างๆ
จำเป็นต้องลดความเหลื่อมล้ำ รัฐต้องลงทุนในด้านประชากรเพื่อให้ประชาชนรู้สึกได้ถึงการลงทุนของรัฐในรัฐ
นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก
เพื่อประโยชน์ของทุกคน แทนที่จะเป็นประโยชน์เฉพาะเผ่าพันธุ์เล็กๆ
ที่เป็นผู้ดีระดับโลก ข้อตกลงใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เสนอในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของนโยบายที่มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
จัดหางาน และส่งเสริมศักดิ์ศรี
ในขณะที่ช่วยรวมผู้คนในโครงการทางสังคมที่ใหญ่กว่าของการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม
หากพวกเราต้องการให้พยายามกำจัดความคิดที่ว่าผู้คนควรจะต้องถูกตรึงเอาไว้ให้อยู่กับสถานที่ที่พวกเขาเกิด
ราวกับว่ามันส่งผลกระทบต่อคุณค่าของคุณในฐานะบุคคลหรือสิทธิของพวกเราในฐานะปัจเจกบุคคล
ราวกับว่าสัญชาติเป็นมากกว่าการขีดเส้นบนแผนที่
แทนที่จะมองว่าเส้นเหล่านี้เป็นการหลอมรวมความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม
การเปลี่ยนผ่านแทนที่จะเป็นอุปสรรคขวางกั้นความเป็นไปได้ที่ผืนดินของโลกมอบให้พวกเราทุกคน
เอกสารอ้างอิง
Anna Marie Trester.
(2003). “Bienvenidos a Costa Rica, la tierra de la pura vida: A Study of the
Expression 'pura vida'in the Spanish of Costa Rica.”
Chi Xu, Timothy A. Kohler,
Timothy M. Lenton & Marten Scheffer. (2020). “Future of the human climate
niche.” PANAS – Proceedings of the National Academy of Sciences of the Unite
States of America. May 4, 117 (21): pp.11350-11355. https://doi.org/10.1073/pnas.1910114117
David Held and Anthony
McCrew. (1998). “The End of the Old Order ? Globalization and the Prospects for
World Order.” British International Studies Association. 24 (3 December):
pp.219-243. https://doi.org/10.1017/S0260210598002198
David Miller. (1995). On Nationality. NY: Oxford University Press.
Gaia Vince. (2022). “Is
the world ready for mass migration due to climate change?” BBC Online.
November 18. Available on https://www.bbc.com/future/article/20221117-how-borders-might-change-to-cope-with-climate-migration
Gaia Vince. (2022). “The
century of climate migration: why we need to plan for the great upheaval.” The
Guardian. August 18. Available on https://www.theguardian.com/news/2022/aug/18/century-climate-crisis-migration-why-we-need-plan-great-upheaval
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น